17 มกราคม พ.ศ. 2484
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นวันที่มีการรบทางเรือครั้งสำคัญระหว่างกองเรือของฝรั่งเศสที่รุกเข้ามาโจมตีกองเรือของไทยในน่านน้ำไทยที่จังหวัดตราด เป็นการรบที่สืบเนื่องมาจากสงครามอินโดจีนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2484
การรบทางทะเลครั้งนี้เกิดขึ้นตอนเช้ามืดของวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 และเป็นเหตุการณ์ส่วนหนึ่งในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมอินโดจีนสมัยโน้นนั่นเอง
ฝรั่งเศสในตอนนั้นเมื่อมีการรบที่ชายแดนไทยทางบก และกองกำลังฝ่ายทหารของไทยได้รุกเข้าไปในอินโดจีนดังที่นายกรัฐมนตรีของไทยแถลงต่อสภา ทางฝรั่งเศสมีเจตนาจะกดดันไทยทางด้านตะวันออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทะเล ซึ่งฝรั่งเศสคงคิดว่าฝ่ายตนได้เปรียบ มีความชำนาญเพราะมีกองทัพเรือมานาน และฝรั่งเศสก็เคยใช้กำลังทางเรือบีบบังคับไทยมาตั้งแต่ ร.ศ.112 แล้ว เคยยึดเมืองตราด เคยยึดเมืองจันทบุรีอยู่เป็นเวลานานถึง 10 ปี คราวนี้กองเรือของตนมาอยู่ที่เมืองญวน ที่ไซ่ง่อนอันเป็นเมืองทางตอนใต้ของญวนอยู่ไม่ไกลนักจากทางด้านจังหวัดตราด
ฝรั่งเศสยกกองเรือเข้ามา 7 ลำ เรือสำคัญคือเรือลาดตระเวนลามอต์ปิเกต์ (La Motte-Picguet) ไม่เพียงแต่เท่านี้ เขาว่ากันว่ายังมีเรือดำน้ำและเรือสินค้าติดอาวุธเดินทางมารออยู่ในทะเลด้านนอกด้วย ส่วนเรือ 7 ลำนั้นบุกรุกเข้ามาในน่านน้ำไทย ตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 โดยมีเครื่องบินตรวจการณ์ของฝรั่งเศสจากฐานทัพเมืองจีนเมืองเรียมในประเทศเขมร มาบินตรวจดูกองกำลังเรือไทยว่ามีเรือประเภทใดและจำนวนเท่าใด
เมื่อรู้กำลังทางเรือฝ่ายไทยที่น้อยกว่า ทางกองเรือรบฝรั่งเศสก็บุกรุกเข้ามาโจมตีกองเรือไทย ซึ่งในวันเกิดเหตุไม่มีเรือดำน้ำอยู่ในบริเวณดังกล่าว เรือดำน้ำไทยได้เดินทางกลับไปที่ฐานทัพเรือกรุงเทพฯ การสู้รบครั้งนี้เรือรบไทยทั้งหมด 6 ลำ ได้แก่เรือรบสงขลา เรือรบชลบุรี เรือรบธนบุรี เรือรบระยอง เรือรบหนองสาหร่าย และเรือรบเทียวอุทก สองลำหลังนี้เป็นเรือเล็กที่ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวออกจากบริเวณรบ
ปรากฏว่าในการสู้รบ เรือรบสงขลาที่ยิงสู้กับเรือรบลามอตต์ปิเกต์นั้น เรือรบสงขลาถูกยิงมีทหารบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายนาย ตัวเรือเองได้รับความเสียหายหนัก จนผู้บังคับการเรือต้องสั่งสละเรือ
เรือลำที่สองคือเรือรบธนบุรี ที่ได้เข้ารบกับเรือรบลามอตต์ปิเกต์และเรือรบอื่นของฝรั่งเศสต่อจากเรือรบสงขลาก็ถูกกระสุนปืนจากเรือลามอตต์ปิเกต์ยิงเข้าไปตกในเรือ ทำให้มีทหารบาดเจ็บและล้มตายอีกหลายนาย ที่ร้ายก็คือผู้บังคับการเรือ นาวาโทหลวงพร้อมวีระพันธ์เสียชีวิตด้วย ทำให้เรือธนบุรีต้องถอยออกจากการสู้รบ หลังจากได้ยิงต่อสู้อย่างเต็มที่และทำความเสียหายแก่เรือรบลามอตต์ปิเกย์ของฝรั่งเศสด้วย เรือรบธนบุรีได้ถอยเข้ามาในบริเวณน้ำตื้น ส่วนเรือรบชลบุรีก็ถูกเรือฝรั่งเศสยิงเสียหาย มีทหารบาดเจ็บและล้มตาย จนต้องสั่งสละเรือเช่นกัน
หลังการรบประมาณ 2 ชั่วโมง กองกำลังหนุนของไทยรวมทั้งเรือดำน้ำและเครื่องบินจากกองบินที่จังหวัดจันทบุรีจึงได้มาถึงและปฏิบัติการโจมตีกองเรือของฝรั่งเศส ทำให้ผู้บังคับการเรือรบลามอตต์ปิเกต์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกองเรือฝรั่งเศสในการรบครั้งนี้ เห็นว่าฝ่ายไทยมีกำลังทั้งทางเรือและทางอากาศมาช่วย จึงสั่งให้กองเรือของตนถอยออกจากน่านน้ำไทยกลับฐานทัพของตนที่เมืองไซง่อน ประเทศญวน
ใครที่ผ่านไปประเทศฝรั่งเศสที่กรุงปารีส ขึ้นรถใต้ดินบางสายจะผ่านสถานีชื่อคล้ายกับชื่อเรือรบฝรั่งเศสคือลามอตต์ปิเกต์ แต่สถานีนี้เอาชื่อมาจากถนนชื่อ ลามอตต์ปิเกต์ ที่ติดกับอีกชื่อถนนหนึ่งมาใช้ คงไม่ได้เอามาจากชื่อเรือรบ เพราะเรือรบเองก็เอาชื่อนี้มาจากชื่อนายพลทหารเรือของฝรั่งเศสในอดีต
ยุทธนาวีครั้งนี้ กองทัพเรือเสียหายพอควร เพราะเสียเรือรบไป 3 ลำ เสียทหารไปทั้งหมด 36 นาย รวมทั้งผู้บังคับการเรือ 1 นาย แต่กองเรือรบไทยก็แสดงถึงความกล้าหาญ แม้กำลังจะน้อยกว่า เมื่อศัตรูบุกรุกเข้ามาก็ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อป้องกันประเทศ