15 มิถุนายน พ.ศ. 2492

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2492 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมเลือก พระราชธรรมนิเทศหรือ นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 8 และเลือกนายยกเสียง เหมะภูติ ผู้แทนราษฎรจังหวัดระนองเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ พระราชธรรมนิเทศนี่ก็เป็นต่อจาก นายเกษม บุญศรี และเป็นการเลือกหลังจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมขึ้นใน 19 จังหวัด จำนวน 71 คน

นายเพียร ราชธรรมนิเทศ ผู้นี้เพิ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากเลือกตั้งในจังหวัดปทุมธานีเป็นครั้งแรก หลังจากที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ผู้ที่ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรหลังการเลือกตั้งครั้งนี้เสร็จใหม่ ๆ คือ นายเกษม บุญศรี การขึ้นมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2492 นั้นเป็นเวลาที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจทางการเมืองที่มีฐานสำคัญทางทหาร เชื่อกันว่าทางจอมพล ป.พิบูลสงคราม คงจะสนับสนุนพระราชธรรมนิเทศ ซึ่งมีผู้ให้ฉายาว่าเป็น “ปราชญ์คู่บารมีของจอมพล ป.” เพราะเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามมีอำนาจวาสนาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ใช้งานคุณพระราชธรรมนิเทศทางด้านภาษาและวัฒนธรรมและเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามตกเป็นจำเลย คดีอาชญากรรมสงคราม คุณพระราชธรรมนิเทศ ตกเป็นจำเลยด้วย และรอดพ้นคดีมาด้วยกัน การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นก็เป็นการแข่งขัน 2 คน ระหว่างพลโทชิต มั่นศิลปสินาดโยธารักษ์ อดีตรัฐมนตรีของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ ที่เสนอชื่อโดย นายใหญ่ ศวิตชาติ กับพระราชธรรมนิเทศที่เสนอชื่อโดย นายกว้าง ทองทวี ผู้แทนราษฎรจังหวดกาฬสินธุ์

ด้วยเหตุนี้พระราชธรรมนิเทศจึงเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรตลอดมาจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เมื่อวันที่คณะทหาร 9 นาย ที่เรียกพวกตนว่า “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” ได้ใช้กำลังยึดอำนาจเวียนประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 และยกเลิกรัฐสภา