ไม่ใช่บัตรเสียแต่นับคะแนนไม่ได้

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง      
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม 
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต  แก้วหานาม
3.นายอธิพงษ์ ภูมีแสง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ


ไม่ใช่บัตรเสียแต่นับคะแนนไม่ได้

1.ความนำ

          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งกระบวนการให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้แตกต่างจากการเลือกตั้งในอดีต นับตั้งแต่การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ การลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีหลักการสำคัญคือ “ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีค่า ไม่มีคะแนนใดตกน้้าเลย” วิธีการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี ทั้งหมดนี้ถือเป็นวิธีการใหม่ที่ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นครั้งแรกและกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง[1] ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ขยายเวลาลงคะแนนเป็น 08.00-17.00 น. จากเดิม 08.00-15.00 น. ภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในเวลา 17.00 น.ที่หน่วยเลือกตั้งก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นจุดนับคะแนนโดยกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วย ก่อนจะรวบรวมผลการนับคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งภายในเขต และประกาศผลรวมคะแนนพร้อมปิดประกาศไว้ในสถานที่ที่กำหนด พร้อมรายงานต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อประกาศและรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป ภายหลังการนับคะแนนเสร็จสิ้นได้เกิดกรณีบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จากประเทศนิวซีแลนด์ ที่ส่งมาไม่ทันนับคะแนนในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ต่อมา กกต.วินิจฉัยชี้ว่าบัตรลงคะแนนประเทศนิวซีแลนด์นั้น ไม่สามารถนับคะแนนได้ เนื่องจากพ้นกำหนดเวลาการนับคะแนนแล้ว นอกจากนี้ กกต.ยังกล่าวต่อว่าในคำวินิจฉัย ไม่เรียกว่า “บัตรเสีย” แต่เรียกว่า “เป็นบัตรที่นำไปนับคะแนนไม่ได้” จนนำไปสู่ข้อสงสัยของสังคมถึงกรณีที่เกิดขึ้นดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

 

2.ปรากฏการณ์ “ไม่ใช่บัตรเสียแต่นับคะแนนไม่ได้”

          จากกรณีบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กว่า 1,500 ใบ ที่ถูกนำส่งมาจากประเทศนิวซีแลนด์ และไม่สามารถนำมานับคะแนนได้ กลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมถึงสาเหตุว่าแท้จริงแล้วเกิดจากเหตุใดการจัดส่งถึงล่าช้าจนไม่สามารถคัดแยกและนับคะแนนได้ทัน ซึ่งต่อกรณีนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกเอกสารข่าวระบุว่าในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้พิจารณากรณีถึงเมลล์การทูตที่บรรจุซองใส่บัตรเลือกตั้ง (ส.ส5/2) ของสถานทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ โดย กกต. มีมติว่าบัตรเลือกตั้งดังกล่าวไม่สามารถนำมานับคะแนนได้ เพราะการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้งซึ่งเป็นสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในแต่ละเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการนับคะแนนได้ดำเนินการนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว และได้มีการประกาศผลการนับคะแนนแล้วด้วย ขณะที่ประธาน กกต.กล่าวถึงกรณีดังกล่าว
ว่า มติ กกต.ที่ชี้ว่าบัตรลงคะแนนประเทศนิวซีแลนด์นั้น ไม่สามารถนับคะแนนจากบัตรของนิวซีแลนด์ได้ เนื่องจากพ้นกำหนดเวลาการนับคะแนนแล้ว ย้ำไม่ได้ชี้ว่าเป็นบัตรเสีย เนื่องจากเป็นคนละส่วนตามกฎหมาย แต่เอามานับไม่ได้เพราะไม่มีระเบียบรองรับ[2] เช่นเดียวยกับเลขาธิการ กกต. ที่เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กตต. วินิจฉัยสถานะของบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จากประเทศนิวซีแลนด์ ที่ส่งมาไม่ทันนับคะแนนในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยระบุว่า ในคำวินิจฉัย ไม่เรียกว่า “บัตรเสีย” แต่เรียกว่า “เป็นบัตรที่นำไปนับคะแนนไม่ได้” จากคำพูดดังกล่าวได้สร้างความสงสัยให้แก่สังคมว่าคำแถลงของ กกต. แท้จริงแล้วถูกต้องหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้คุณสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ให้ความเห็นในมุมมองทางกฏหมาย โดยระบุว่า

"ข้อกฎหมายเป็นไปตามมาตรา 114 ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยบัตรที่มาหลังจากที่นับคะแนนถือว่าให้เป็นบัตรเสีย การพิจารณาของ กกต.ในครั้งนี้ก็เป็นการทำให้การนับคะแนนของ กกต. มีประเด็นปัญหายิ่งขึ้น ทาง กกต. ก็ต้องรับผิดชอบในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การส่งบัตรมาจากต่างประเทศแต่เมื่อกระบวนการต่างจากนอกประเทศถึงไทยแล้วนั้น การรับผิดชอบของ กกต. ในเรื่องเกี่ยวกับการรับบัตรเพื่อนำมานับคะแนนนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญที่ กกต. ต้องรับผิดชอบ"[3]

         

          ขณะที่หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์นี้ก็ได้ออกมาชี้แจง ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่ กกต. ระบุว่าสาหตุที่ทำให้บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรกว่า 1,500 ใบ จากกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ขนส่งมาถึงไทยไม่ทันเวลา 17.00 น.ของวันที่ 24 มีนาคม 2562 ตามกำหนดและอาจกลายเป็นบัตรเสีย โดยระบุว่าเกิดจากขั้นตอนการขนส่งล่าช้า ผ่านสายการบินนิวซีแลนด์ และการบินไทย โดยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2562 บัตรเลือกตั้งยังตกค้างอยู่ที่คลังสินค้าของการบินไทย จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า บัตรเลือกตั้งได้ขนส่งผ่านเที่ยวบินในประเทศของสายการบินนิวซีแลนด์ จากเมืองเวลลิงตัน มายังเมืองออกแลนด์ โดยสายการบินไทยเป็นผู้รับช่วงต่อสินค้าจากสายการบินนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 แต่การบินไทยไม่สามารถขนสินค้าได้ในวันดังกล่าว เพราะต้องรอขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าภายในของสายการบินนิวซีแลนด์ ทำให้การบินไทยรับมอบสินค้าล่าช้ามาเป็นวันที่ 22 มีนาคม 2562 ทั้งนี้ ภายหลังรับมอบแล้ว การบินไทยได้ขนส่งสินค้าดังกล่าวออกจากท่าอากาศยานออกแลนด์ มายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยเที่ยวบิน TG492 โดยสินค้ามาถึงเมืองไทยเมื่อเวลาประมาณ 20.50 น. ของวันที่ 23 มีนาคม 2562 ซึ่งตามปกติแล้ว ผู้ว่าจ้างให้ขนสินค้าต้องเป็นผู้มารับสินค้าจากคาร์โก้เอง ซึ่งก็สามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าได้ตลอดเวลา ว่าขณะนี้สินค้าอยู่ที่ไหน และขนส่งถึงไทยหรือยัง แต่ในกรณีดังกล่าวไม่พบว่ามีการมาติดต่อขอรับสินค้าดังกล่าว

"ปกติการรับจ้างขนของผ่านคาร์โก้ของการบินไทย หากสินค้าที่ขนส่งไม่ใช่วัตถุอันตราย สายการบินจะไม่ทราบว่าสินค้าที่รับขนส่งที่บรรจุอยู่ในถุง ในกล่องเป็นอะไร และไม่สามารถเปิดดูได้หากสินค้าดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนตรวจสอบความปลอดภัยมาเรียบร้อยแล้ว 'นอกจากนี้บริการคาร์โก้ของการบินไทยโดยทั่วไปเราให้บริการรับขนสิงค้าส่งถึง ณ 'ท่าอากาศยานเท่านั้น ไม่มีการจัดส่งสินค้าต่อไปยังที่อยู่ของผู้รับ ซึ่งกรณีนี้ ผู้ว่าจ้างต้องมาติดต่อรับสินค้าเอง"[4]

 

          ทางด้านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ก็ได้ออกประกาศ ที่ 5/2562 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2562 ชี้แจงกรณีซองบัตรเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในนิวซีแลนด์ถึงประเทศไทยล่าช้ากว่ากำหนด โดยระบุว่าสถานทูตเอกอัครราชทูตฯ เข้าใจความรู้สึกของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทุกคนและรู้สึกผิดหวัง รวมทั้งเสียใจอย่างยิ่งต่อกรณีที่เสียงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและของพวกเราในนิวซีแลนด์ อาจไม่สะท้อนออกมาในผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งที่พวกเราทุกคนพร้อมทั้งอาสาสมัครช่วยเหลืองานเลือกตั้งทุกท่านได้ร่วมเตรียมการและร่วมแรงรวมใจจัดการเลือกตั้งครั้งนี้มานานกว่า 2 เดือน โดยหวังที่จะให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในนิวซีแลนด์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและราบรื่น สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 4-16 มีนาคม 2562 โดยได้ดำเนินการครบทั้ง 3 วิธี คือ 1.วิธีคูหาที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
2.วิธีไปรษณีย์ และ 3.วิธีคูหาเคลื่อนที่ (วิธีอื่น) ที่นครโอ๊คแลนด์และเมือง Blenheim เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในนิวซีแลนด์ให้ได้มากที่สุด โดยมีผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในนิวซีแลนด์ทั้งสิ้น 1,862 คน และมีผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งรวม 1,542 คน หรือเท่ากับร้อยละ 82.81 โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดการเลือกตั้งที่เมือง Blenheim เมื่อวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2562 เป็นแห่งสุดท้าย และได้ดำเนินการคัดแยกซองบัตรเลือกตั้งจนแล้วเสร็จใน วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2562 และได้ส่งบัตรเลือกตั้งออกจากกรุงเวลลิงตัน ในวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2562 โดยการขนส่งทางอากาศ ซึ่งมีกำหนดถึงประเทศไทยในวันอังคารที่ 19 มีนาคม อย่างไรก็ดี กระบวนการจัดส่งนี้อยู่เหนือการควบคุมของสถานเอกอัครราชทูตฯ[5]

 

3.คนไทยในนิวซีแลนด์ หลัง กกต. ลงมติ “ไม่ใช่บัตรเสียแต่นับคะแนนไม่ได้”

          หลังจากที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดการเลือกตั้งที่เมือง Blenheim เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2562 เป็นแห่งสุดท้ายและได้ดำเนินการคัดแยกซองบัตรเลือกตั้งจนแล้วเสร็จในวันที่ 17 มีนาคม 2562 จึงได้ส่งซองบัตรเลือกตั้งออกจากกรุงเวลลิงตันในวันที่ 18 มีนาคม โดยการขนส่งทางอากาศ ซึ่งมีกำหนดถึงประเทศไทยในวันที่ 19 มีนาคม 2562 แต่บัตรเลือกตั้งทั้งหมดถึงประเทศไทยในวันที่ 23 มีนาคม 2562 ล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ กกต. มีมติเอกฉันท์ ให้บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จากนิวซีแลนด์ ทั้ง 1,542 ใบ เป็นบัตรที่นำมานับคะแนนไม่ได้ เนื่องจากจัดส่งไม่ทันเวลานับคะแนน พร้อมกับบัตรเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยอ้างอิง มาตรา 114 ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งหรือการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักรที่ใด มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีการส่งบัตรเลือกตั้งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งใดหลังจากเริ่มนับคะแนนแล้ว หรือหีบห่อที่ส่งบัตรเลือกตั้งมีลักษณะถูกเปิดมาก่อน โดยมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเกิดจากการกระทําที่ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีบัตรเลือกตั้งจากที่ใดสูญหาย หลังจากทราบมติ กกต. ที่ระบุว่า “ไม่ใช่บัตรเสียแต่นับคะแนนไม่ได้” ประชาชนได้สะท้อนความรู้สึกผ่านการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนบีบีซีไทย โดยนางรัตติญา โรเจอร์ วัย 52 ปี ซึ่งแต่งงานและย้ายมาอยู่ที่เมืองเนลสัน แห่งเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ มาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนไทยที่ใช้สิทธิเลือกตั้งในนิวซีแลนด์ ครั้งนี้รู้สึกเสียใจและผิดหวังในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยเรียกร้องให้ กกต. รับผิดชอบ ระบุว่า

"ท่านสมัครเข้ามาทำงานระดับชาติท่านต้องมีความพร้อมมากกว่านี้ จะโทษใครก็ไม่ใช่หน้าที่ของเขา กกต. ต้องรับผิดชอบทุกความผิดพลาดที่เกิดขึ้น" เธอกล่าว "และงานระดับชาติที่สำคัญมากแบบนี้ ควรมีหน่วยงานเฉพาะที่ติดตามการส่งบัตรจากต่างประเทศ ไม่ใช่ทำแบบนี้"[6]

 

          ด้าน แพท หญิงวัย 30 ปี ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562
โดยเลือกวิธีลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ เนื่องจากสถานที่เลือกตั้งที่วัดญาณประทีปอยู่ไกลจากที่พักแต่ก็ไม่ได้รับการจัดส่งรับบัตรเลือกตั้งให้ส่งผลให้ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งได้สะท้อนความรู้สึก ว่า

"นี่เราไม่ได้เลือกตั้งแต่ยังรู้สึกแย่ขนาดนี้ แต่คนที่ถ่อไปวัดไทยซึ่งมันไม่ได้อยู่ในซิตี้ (ตัวเมือง) มันก็ไม่ได้ใกล้ ๆ แล้ว 1',500 เสียงไม่ใช่เรื่องเล็ก หรือแม้แต่เสียงเดียวที่หายไปมันเรื่องใหญ่มาก สำหรับแพท การเลือกตั้งของแพททุกครั้งสำคัญ แต่ครั้งนี้มันเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศ ด้วยความที่ว่าเราเจอรัฐประหารมาแล้ว มันเหมือนกับทุกคนรอเวลานี้ รอเวลาให้บ้านเรากลับมาเป็นประชาธิปไตยเหมือนเดิม"[7]

 

4.แนวคิด กฎหมาย กับกรณี “ไม่ใช่บัตรเสียแต่นับคะแนนไม่ได้”

          ผู้เขียนขออ้างอิงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้กำหนดไว้ในหมวด 5 การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน ส่วนที่ 2 การออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง มาตรา 114 ความว่า

"ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งหรือการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักรที่ใด มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีการส่งบัตรเลือกตั้งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งใดหลังจากเริ่มนับคะแนนแล้ว หรือหีบห่อที่ส่งบัตรเลือกตั้งมีลักษณะถูกเปิดมาก่อน โดยมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเกิดจากการกระทําที่ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือมีบัตรเลือกตั้งจากที่ใดสูญหาย ให้คณะกรรมการมีอํานาจสั่งมิให้นับคะแนนนั้นโดยให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย

ในกรณีที่มีการนับคะแนนนอกราชอาณาจักร ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการออกเสียงลงคะแนนที่ใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ถือว่าการนับคะแนนนั้นเป็นโมฆะและให้ถือว่าบัตรเหล่านั้นเป็นบัตรเสีย"

 

5. บทสรุป

          การที่จะตัดสินชี้ขาดว่าบัตรเลือกตั้งใดเป็นบัตรเสียนั้นย่อมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งจากกรณีข้างต้นบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กว่า 1,500 ใบ ที่ถูกนำส่งมาจากประเทศนิวซีแลนด์และไม่สามารถนำมานับคะแนนได้นั้น หากพิจารณาตามข้อกฎหมายมาตรา 114 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 โดยระบุบัตรที่มาหลังจากเริ่มนับคะแนนไปแล้วให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย ด้วยระยะเวลาที่จำกัดผนวกกับการที่ กกต.ถูกตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ในหลายเรื่องอย่างต่อเนื่องและในกรณีก็เช่นเดียวกัน กกต.ไม่ได้มีความชัดเจน เด็ดขาดในการตีความข้อกฎหมาย ส่งผลให้การสื่อสารมีประเด็นปัญหามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการวิจารณ์จากกระแสสังคมออนไลน์ ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดเกิดขึ้นในการทำหน้าที่ หากมีการวางแผนที่รัดกุมและมีการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับ-ส่งบัตรเลือกตั้งอย่างใกล้ชิดอาจจะช่วยลดปัญหาจากหนักเป็นเบาได้

 

 

บรรณานุกรม

 

“การเลือกตั้งวิถีแห่งประชาธิปไตย," สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, เข้าถึงจาก
            https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=57231
              สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563.

“คุณสดศรี อดีต กกต. เผยบัตรเลือกตั้ง 1,500 ใบ ไม่เสียแต่ไม่นับ," Teenee (27 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก        <http://tnews.teenee.com/politic/151985.html> สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563.

“บัตรเลือกตั้ง 1.5 พันใบออกจากเวลลิงตันตั้งแต่ 18 มี.ค.62," พีพีทีวีออนไลน์ (25 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก        <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/100421> สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563.

“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561.”
            ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 77.

“ไม่ใช่บัตรเสีย! ปธ.กกต.แจง'บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์'นับเป็นคะแนนไม่ได้," แนวหน้า (26 มีนาคม 2562),
              เข้าถึงจาก     <https://www.naewna.com/politic/404229> สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม
              2563.

“รู้แล้วความผิดใคร? การบินไทยแจงแล้ว ปมขนบัตรเลือกตั้ง ตปท.ส่งไม่ทัน," ข่าวสดออนไลน์ (25 มีนาคม
               2562),  เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2345386> สืบค้น
               เมื่อ 17 พฤษภาคม 2563.

“เลือกตั้ง 2562: คนไทยในนิวซีแลนด์ “เสียใจ” หลัง กกต. ลงมติให้บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรกว่า
               1,500 ใบเป็น          บัตรที่นำมานับคะแนนไม่ได้," บีบีซีไทย (26 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก
                <https://www.bbc.com/thai/thailand-    47706924> สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563.

 

อ้างอิง


            [1] “การเลือกตั้งวิถีแห่งประชาธิปไตย," สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, เข้าถึงจาก <https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=57231> สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563.

            [2] “ไม่ใช่บัตรเสีย! ปธ.กกต.แจง'บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์'นับเป็นคะแนนไม่ได้," แนวหน้า (26 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/politic/404229> สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563.

            [3] “คุณสดศรี อดีต กกต. เผยบัตรเลือกตั้ง 1,500 ใบ ไม่เสียแต่ไม่นับ," Teenee (27 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <http://tnews.teenee.com/politic/151985.html> สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563.

            [4] “รู้แล้วความผิดใคร? การบินไทยแจงแล้ว ปมขนบัตรเลือกตั้ง ตปท.ส่งไม่ทัน," ข่าวสดออนไลน์ (25 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2345386> สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563.

            [5] “บัตรเลือกตั้ง 1.5 พันใบออกจากเวลลิงตันตั้งแต่ 18 มี.ค.62," พีพีทีวีออนไลน์ (25 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/100421> สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563.

            [6] “เลือกตั้ง 2562: คนไทยในนิวซีแลนด์ “เสียใจ” หลัง กกต. ลงมติให้บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรกว่า 1,500 ใบเป็นบัตรที่นำมานับคะแนนไม่ได้," บีบีซีไทย (26 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-47706924> สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563.

            [7] เรื่องเดียวกัน