ใบส้ม ใบเหลือง ใบแดง
ผู้เรียบเรียง: รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ใบส้ม ใบเหลือง ใบแดง
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การสรรหาและได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปโดยสุจริต ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งในการลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้ที่ทำให้การจัดการเลือกตั้งเกิดความไม่สุจริตขึ้นทั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งและภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งจำแนกประเภทของอำนาจที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถดำเนินการได้ 3 ประเภทซึ่งเรียกเป็นภาษาที่เข้าใจกันดีในบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ดังนี้ 1. ใบส้ม 2. ใบเหลือง และ 3. ใบแดง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ความหมาย หรือ แนวคิด
“ใบส้ม” หมายถึง คำสั่งของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้ “ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครคนนั้นเป็นการชั่วคราวระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี” ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 มาตรา 132 ที่กำหนดว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทําการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือ เที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทํา สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจ ให้บุคคลอื่นกระทําการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วไม่ดําเนินการเพื่อระงับการกระทํานั้น ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทําการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคําสั่ง และในกรณีที่ผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลําดับที่ จะได้รับการเลือกตั้ง ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่
' ' “ใบเหลือง” หมายถึง คำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีอำนาจสั่ง “ยกเลิกการเลือกตั้งและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้” ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือ (1) ก่อนการประกาศผลเลือกตั้ง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 มาตรา 135 ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการว่าผู้ใดกระทําการใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด อันอาจทําให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีอํานาจออกคําสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทําหรือมีคําสั่งให้แก้ไขการกระทําตามเงื่อนไขและระยะเวลา ที่กําหนดได้ และ (2) เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว
ตามมาตรา 133 เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้วปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นการกระทําของผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา ในกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไป โดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สําหรับเขตเลือกตั้งนั้น และให้สมาชิกภาพของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคําวินิจฉัย และ ให้คณะกรรมการดําเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว
“ใบแดง” หมายถึง กรณีเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัคร หรือผู้ใดเพราะเหตุว่าเข้าไปมีส่วนกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี และหากศาลสั่งให้ “เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ของผู้นั้นทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่และผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งด้วย อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 มาตรา 138 เมื่อมีการดําเนินการตามมาตรา 132 หรือภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับ การกระทําของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น ประกอบกับความในมาตรา 139 ที่กำหนดว่าในกรณีที่ศาลฎีกามีคําสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดและเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ว่าจะมีคําร้องขอหรือไม่ ให้ศาลฎีกาสั่งให้ผู้นั้นรับผิดในค่าใช้จ่ายสําหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคําสั่งเช่นว่านั้น จํานวนค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ศาลฎีกาพิจารณาจากหลักฐานการใช้จ่ายที่คณะกรรมการเสนอต่อศาล[1]
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ทำหน้าที่กรรมการกลางตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการรับสมัคร ดำเนินการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกคนทุกพรรค จึงปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเป็นที่จับตามองจากทุกภาคส่วน
ในสังคมการเมืองและกลายเป็นเป้าทางการเมืองที่สำคัญเนื่องจากสามารถใช้อำนาจผ่านคำสั่งต่าง ๆ เพื่อซึ่งเป็นโทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองในการจัดการเลือกตั้งได้ ซึ่งจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้เกิดปรากฏการณ์ที่มีการออกคำสั่งของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้ต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองขึ้นดังนี้
1. เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562 ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีมติไม่รับรองสถานภาพการเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งดูเหมือนเป็นการแจก “ใบส้ม” ให้นายธนาธร กิจรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากการโอนหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด
ทำให้นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่และมือกฎหมายของพรรคออกมาให้ความเห็นว่า กระบวนการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งทำการตรวจสอบการให้ใบส้มของนายธนาธรถือว่าหมดเวลาไปแล้ว นายธนาธร เป็นผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 ของพรรคอนาคตใหม่ การตรวจสอบและการจะร้องเรียนจะทำตามมาตรา 132 ไม่ได้ เพราะใช้สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต
และเที่ยงธรรม[2]
2. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติแจก “ใบส้ม” หรือการสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. เขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ไว้เป็นการชั่วคราว 1 ปี ภายหลังจากการพิจารณาสำนวนการสืบสวน กกต.เชียงใหม่ได้เข้ามารายงานแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของนายสุรพล เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา73 (2) ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิวัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์
หรือสถาบันอื่นใด ดังนั้น กกต. จึงสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันจัดการเลือกตั้งทั่วไป นายสุรพล ได้คะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 1 จำนวน 52,165 คะแนน และจะไม่นำมารวมนับเป็นคะแนนที่จะคำนวณเพื่อจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมือง และยังต้องดำเนินการเอาผิดนายสุรพล ตามมาตรา 138 โดยร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) ต่อไป[3]
3. เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เว็บไซต์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยของ กกต. มีคำสั่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดสมุทรปราการ ขึ้นใหม่ จากกรณีที่นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคพลังประชารัฐและได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดสมุทรปราการ และบุคคลอื่นตามที่ถูกร้อง ว่าได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 วรรค 1(1) ประกอบกับมาตรา 158 และมาตรา 133 โดย กกต. ชี้แจงว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต. ได้รับคำร้องและกรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อ กกต. ว่านายกรุงศรีวิไล ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขตเลือกตั้งที่ 5 จ.สมุทรปราการ หมายเลข 7 พรรคพลังประชารัฐ และผู้ถูกร้องอื่นอีก 4 ได้มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 วรรค 1 และ 5 ประกอบกับมาตรา 78 และมาตรา 80 กรณีให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวนเป็นเงินได้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคพลังประชารัฐ เหตุคนใกล้ชิดไปมอบพวงหรีดและเงินใส่ซองช่วยงานศพ 1,000 บาท ต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่[4]
3.หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
จากหลักการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ที่ได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งในการลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้ที่ทำให้การจัดการเลือกตั้งเกิดความไม่สุจริตขึ้นทั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งและภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว สามารถอธิบายหลักการหรือความสำคัญของ 1. ใบส้ม 2. ใบเหลือง และ 3. ใบแดง ดังนี้[5]
1) หลักการของ “ใบส้ม” เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะดึงผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามออกจากการเลือกตั้งชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามายุ่งเหยิงกับการเลือกตั้งครั้งนั้น หรือการเลือกตั้งใหม่ที่จะขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลาดังนี้
ช่วงแรก ก่อนวันเลือกตั้ง หากคณะกรรมการเลือกตั้ง ตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัครก่อนประกาศผลเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นกรณีผู้ไม่ชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นให้ตัดคะแนนเฉพาะคนนั้นออกไปโดยไม่นำมาคำนวณบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ผู้นั้นสังกัด แต่ไม่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
ช่วงที่สอง ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำหลังประกาศผลเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่าผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นทุจริต รู้เห็นให้มีการทุจริต หรือรู้แต่ไม่ยับยั้ง ให้ระงับสิทธิผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตนั้นชั่วคราวเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี พร้อมทั้งให้ยกเลิกผลเลือกตั้งและจัดเลือกตั้งใหม่ และถ้าพบเหตุผลดังกล่าวนี้
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อพิจารณา กรณีที่ถูกใบส้มและต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิมในเขตนั้นจากทุกพรรคจะเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ยกเว้นผู้สมัครที่ถูกระงับสิทธิด้วยการให้ใบส้ม และพรรคการเมืองที่ผู้สมัครดังกล่าวสังกัดไม่สามารถส่งผู้สมัครคนใหม่ลงแทนได้ด้วย
สำหรับกรณี “ใบส้ม” หากคณะกรรมการการเลือกตั้งพบการกระทำใดของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริต คณะกรรมการเลือกตั้งสามารถสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร แต่หากพบการกระทำดังกล่าวเป็นของบุคคลทั่วไป ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป และในกรณีที่พบการกระทำใดของบุคคลที่มีดหตุอันควรสงสัยว่าทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง แจก “ใบส้ม” หรือการระงับสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว (ไม่เกิน 1 ปี) ทั้งนี้ให้อำนาจดังกล่าวให้ถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้
2) หลักการของ “ใบเหลือง” คืออำนาจในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่พบชัดเจนว่ามีผู้ใดกระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือพบเห็นการกระทำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยวธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจหน้าที่สั่ง ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 137 ซึ่งพฤติการณ์แบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลาดังนี้
ช่วงแรก ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง หากคณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนหรือไต่สวนแล้วหรือพบเห็นการกระทำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ให้มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งได้
ช่วงที่สอง หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้วปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ไม่ได้ความที่ชัดเจนว่าเป็นการกระทำของผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น และให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว
3) หลักการของ“ใบแดง” คือการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยการเพิกถอนนี้เป็นอำนาจของศาลฎีการแผนกคดีเลือกตั้ง ซึ่งจะดำเนินการได้ในกรณีหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีการแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น โดยกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ศาลฎีกาจะสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลาห้าปี และหากการที่ต้องสั่งเช่นนั้นทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ศาลจะสั่งให้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้มีคำสั่งเช่นว่านั้นด้วย โดยการเพิกถอนนี้เป็นอำนาจของศาลฎีกา ซึ่งจะดำเนินการได้ในกรณีหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้าหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือบุคคลใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น โดยหากในกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ศาลฎีกาจะสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลาสิบปี ตามความในกฎหมายรับธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 138 และหากการที่ต้องสั่งเช่นนั้นทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ศาลจะต้องสั่งให้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้มีคำสั่งเช่นว่านั้นด้วยตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 139
กรณีถูกใบแดง ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นจากทุกพรรคการเมืองจะเข้าสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่อกีครั้ง ยกเว้นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) และพรรคการเมืองไม่สามารถส่งผู้สมัครคนใหม่ลงแทนได้เช่นกัน
4. สรุป
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งในการลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้ที่ทำให้การจัดการเลือกตั้งเกิดความไม่สุจริตขึ้นทั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งและภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งจำแนกประเภทของอำนาจที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถดำเนินการได้ 3 ประเภทซึ่งเรียกเป็นภาษาที่เข้าใจกันดีในบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ดังนี้
1. “ใบส้ม” หมายถึง คำสั่งของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้ “ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครคนนั้นเป็นการชั่วคราวระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี”ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 มาตรา 132
2. “ใบเหลือง”' หมายถึง คำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีอำนาจสั่ง “ยกเลิกการเลือกตั้งและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้” ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือ (1) ก่อนการประกาศผลเลือกตั้ง และ (2) เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว
3. “ใบแดง” หมายถึง กรณีเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัคร หรือผู้ใดเพราะเหตุว่าเข้าไปมีส่วนกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี และหากศาลสั่งให้ “เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ของผู้นั้นทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่และผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งด้วย
5. บรรณานุกรม
ณวัตน์ ศรปัดถา. (2562). อำนาจสารพัด “ใบ” ที่ใช้กับการเลือกตั้ง. (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://kpi-
corrwe.com/content/5595/content070162-1, เข้าถึงเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563
นิวทีวี. (2562). “กกต.แจกใบส้ม "สุรพล"เลือกตั้งใหม่เขต 8 เชียงใหม่” สืบค้นจาก
https://www.newtv.co.th/news/34002, เข้าถึงเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563
แนวหน้า. (2562). ‘ปิยบุตร’งัดกฎหมายเบรก‘กกต.’ไร้อำนาจแจกใบส้ม‘ธนาธร’ สืบค้นจาก
https://www.naewna.com/politic/409544, เข้าถึงเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563
ประชาชาติธุรกิจ. (2562). แจก “ใบส้ม-ใบแดง-ใบเหลือง” ปิดจ๊อบ กกต. หลังเลือกตั้ง. (ออนไลน์) สืบค้นจาก
https://prachachat.net/politics/news-320374, สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2563
ผู้จัดการออนไลน์. (2562). ปิดคำวินิจฉัย กกต.แจกใบเหลือง "กรุงศรีวิไล" เหตุคนใกล้ชิดให้หรีด-เงินช่วยงาน
ศพ สืบค้นจาก https://mgronline.com/politics/detail/9620000111562, เข้าถึงเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563
[1] ประชาชาติธุรกิจ. (2562). แจก “ใบส้ม-ใบแดง-ใบเหลือง” ปิดจ๊อบ กกต. หลังเลือกตั้ง. (ออนไลน์) สืบค้นจาก https://prachachat.net/politics/news-320374, สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2563
[2] แนวหน้า. (2562). ‘ปิยบุตร’งัดกฎหมายเบรก‘กกต.’ไร้อำนาจแจกใบส้ม‘ธนาธร’ สืบค้นจาก https://www.naewna.com/politic/409544, เข้าถึงเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563
[3] นิวทีวี. (2562). “กกต.แจกใบส้ม "สุรพล"เลือกตั้งใหม่เขต 8 เชียงใหม่” สืบค้นจาก https://www.newtv.co.th/news/34002, เข้าถึงเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563
[4] ผู้จัดการออนไลน์. (2562). ปิดคำวินิจฉัย กกต.แจกใบเหลือง "กรุงศรีวิไล" เหตุคนใกล้ชิดให้หรีด-เงินช่วยงานศพ สืบค้นจาก https://mgronline.com/politics/detail/9620000111562, เข้าถึงเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563
[5] ณวัตน์ ศรปัดถา. (2562). อำนาจสารพัด “ใบ” ที่ใช้กับการเลือกตั้ง. (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://kpi-corrwe.com/content/5595/content070162-1, เข้าถึงเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563