ใบสั่ง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
(เปลี่ยนทางจาก ใบสั่ง(รศ.ดร.ปรีชา))

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.อนันต์ เกตุวงศ์


ใบสั่ง

“ใบสั่ง” เป็นคำพังเพยที่ล้อเลียนกระทบกระเทียบเปรียบเปรยการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) ของไทยที่ไม่เป็นไปตามหลักการอิสระเสรีในการออกเสียงลงมติของสมาชิกตามหลักการประชาธิปไตย หากแต่ออกเสียงลงมติไปตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจและอิทธิพลเหนือเสียงส่วนใหญ่ของสภานั้น

คำ “ใบสั่ง” มีที่มาจากการปฏิบัติงานทางการเมืองของนักการเมืองไทยในอดีต ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจและอิทธิพลและเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมักใช้อำนาจและอิทธิพลในการสั่งการโดยตรงและโดยอ้อมให้สมาชิกสภาในสังกัดพรรคการเมืองของตน (หรือพรรคการเมืองอื่นในบางกรณี) ในสภาผู้แทนราษฎรให้ออกเสียงไปตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจนั้น ซึ่งเรียกว่า “ออกเสียงตามใบสั่ง” หรือ “ใบสั่ง” นั่นเอง

คำ “ใบสั่ง” ได้มีการนำไปใช้กับการออกเสียงในวุฒิสภาที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้งซึ่งรัฐธรรมนูญในสมัยนั้น ๆ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการรับสนองพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ส่วนใหญ่นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นมักแต่งตั้งข้าราชการประจำ (ทั้งทหารและพลเรือน) พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการบำนาญ นักธุรกิจ และบุคคลอื่นที่ตนไว้วางใจและควบคุมได้ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ทำให้การลงมติใด ๆ ของสมาชิกวุฒิสภามักเป็นไปตาม “ใบสั่ง” ของนายกรัฐมนตรีผู้นั้น รวมทั้งวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งถ้าการลงมติของวุฒิสภาเรื่องใดก็ตามที่ไม่เป็นไปตามหลักการอิสระเสรีตามหลักประชาธิปไตย หากแต่ออกเสียงลงมติไปตามความประสงค์ของนักการเมืองที่มีอำนาจและอิทธิพลเหนือสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่แล้ว ก็เรียกเปรียบเปรยว่าเป็นการออกเสียงตาม “ใบสั่ง” ของผู้มีอำนาจนั้น