โหวตโน
ผู้เรียบเรียง: 1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ยิ่งในฐานะพลเมืองไทยการเลือกตั้งถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อีกด้วย ดังนั้นการได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือการไปโหวต (Vote) จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน แต่จะที่ออกเสียงเลือกผู้สมัครคนใด หรือพรรคการเมือง หรือจะไม่ประสงค์เลือกใครในเขตเลือกตั้งนั้นซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า โหวตโน (Vote No) นั้น ต่างเป็นสิทธิของผู้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งในส่วนนี้การโหวตโน (Vote No) สามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้
1. ความหมาย หรือ แนวคิด
ผู้ออกเสียงลงคะแนน (Voter) หมายถึง บุคคลผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย สามารถออกเสียง หรือแสดงเจตนาของตนในการเลือกตั้งหรือลงประชามติได้[1]
การเลือกตั้ง (Election) หมายถึง กระบวนการเลือกผู้แทนโดยพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่แทนประชาชนในองค์กรต่าง ๆ การเลือกตั้งเป็นกระบวนการของการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยทางผู้แทน เพื่อให้ผู้แทนทำหน้าที่ในองค์การฝ่ายนิติบัญญัติ องค์การฝ่ายบริหาร ในบางประเทศมีการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ตุลาการด้วย[2]
สำหรับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์พื้นฐานบางประการ ดังนี้[3]
1. หลักการให้สิทธิเลือกตั้งโดยทั่วไป หมายถึง การที่พลเมืองทุกคนในรัฐนั้นมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ไม่อาจจำกัดหรือกีดกันไม่ให้สิทธิการเลือกตั้งโดยใช้ข้อพิจารณาทางการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพศ ภาษา ศาสนา เผ่าพันธุ์ ฐานะทางเศรษฐกิจ รายได้ จำนวนภาษีที่เสีย ลักษณะทางการศึกษาหรืออาชีพ ความคิดทางการเมือง ฯลฯ กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคนสามารถที่จะใช้สิทธิของตน หากมีความประสงค์ที่จะใช้สิทธิ แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการจำกัดสิทธิใดๆ เลย เพียงแต่ว่าการจำกัดสิทธิซึ่งขัดต่อการให้สิทธิเลือกตั้งโดยทั่วไป จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นที่อธิบายได้โดยชอบด้วยเหตุผล
2. หลักการเลือกตั้งโดยตรง หมายถึง การลงคะแนนเสียงของผู้ออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดว่าผู้ใดจะได้เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งโดยวิธีนี้เท่านั้นที่จะกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งเป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน
3. หลักการเลือกตั้งโดยเสรี หลักการนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเลือกตั้ง ซึ่งหากการเลือกตั้งมิได้เป็นไปตามหลักการนี้แล้ว หลักการพื้นฐานอย่างอื่นก็จะหมดความหมายไปโดยปริยาย และการเลือกตั้งนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หลักการเลือกตั้งโดยเสรี หมายความว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคนย่อมสามารถใช้สิทธิของตนได้โดยปราศจากการใช้กำลังบังคับ หรือความกดดันทางจิตใจหรือใช้อิทธิพลใดๆ ที่จะมีผลต่อการตัดสินใจ ไม่ว่าการใช้อิทธิพลเหล่านี้จะมาจากฝ่ายใด กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะต้องสามารถใช้วิจารณญาณลงคะแนนเสียงได้อย่างอิสระในกระบวนการสร้างความคิดเห็นทางการเมืองที่เสรีและเปิดเผย
4. หลักการเลือกตั้งโดยเสมอภาค เป็นหลักการที่มีความสำคัญในทางปฏิบัติอย่างมากที่สุด ทำให้หลักสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งโดยทั่วไปมีความสมบูรณ์ขึ้นในแง่ที่ว่า จะทำให้คะแนนเสียงแต่ละคะแนนของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้มีโอกาสส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ อนึ่งหลักการนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการเลือกตั้งทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรับสมัคร การเตรียมการเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียง การนับคะแนน ตลอดจนการแบ่งสรรที่นั่ง ส.ส. ให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ
5. หลักการเลือกตั้งโดยลับ เป็นสิ่งสำคัญของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและเป็นหลักที่คุ้มครองหลักการเลือกตั้งโดยเสรี เพราะถ้าหากการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับแล้ว การเลือกตั้งนั้นไม่อาจที่จะเป็นการเลือกตั้งโดยเสรีได้ ตามหลักการในข้อนี้จะต้องดำเนินการโดยไม่ให้ผู้ใดทราบได้เลยว่า ผู้ลงคะแนนออกเสียงแต่ละคนตัดสินใจเลือกใคร แม้ว่าตัวผู้เลือกตั้งจะไม่ประสงค์ให้การเลือกตั้งของตนเป็นความลับก็ไม่อาจปฏิเสธหลักการนี้ และจะต้องดำเนินการเลือกตั้งของตนให้เป็นไปตามกติกาทั้งหลายที่ออกมาเพื่อรักษาความลับของการเลือกตั้งทุกประการ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เลือกตั้งจะปลอดจากการถูกข่มขู่ ซึ่งอาจมีขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย[4] มาตรา 50 บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ ตาม (7) ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้นการได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือการไปโหวต (Vote) จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนแต่จะที่ออกเสียงเลือกผู้สมัครคนใด หรือพรรคการเมือง หรือจะไม่ประสงค์เลือกใครในเขตเลือกตั้งนั้นซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า โหวตโน (Vote No) นั้น ต่างเป็นสิทธิของผู้สิทธิเลือกตั้งซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 85 ที่กำหนดให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เขตละหนึ่งคน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ และในวรรคสอง ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ประกอบกับความตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 ระบุว่า “เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น ให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่และมิให้นับคะแนนที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนได้รับไปใช้ในการคํานวณตามมาตรา 91 ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดําเนินการให้มีการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น”
ดังนั้น การโหวตโนในการเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จึงมีความหมายมาก เพราะ หากเขตเลือกตั้งที่มีผู้ลงคะแนนโหวตโน มากกว่าคะแนนของผู้สมัคร ส.ส. ที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตนั้น จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และไม่ให้นับคะแนนในเขตนั้นเข้าไปรวมในแบบบัญชีรายชื่อด้วย โดยผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเดิมในเขตนั้นทุกคนที่แพ้โหวตโน ไม่มีสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งซ้ำอีก
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
การเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมานั้น ประเด็นเรื่องของตัวเลือก “โหวตโน” หรือ การกากบาทช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครใด” เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ปรากฏในการเลือกตั้งสำหรับคนที่ไม่ถูกใจผู้สมัครคนใดในเขตเลือกตั้งของตัวเองเลย ซึ่งสามารถยกปรากฏการณ์การโหวตโนที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นพูดถึงในสังคม จากกรณีที่มีการรณรงค์ให้ประชาชนในจังหวัดแพร่ กาช่องโหวตโน เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งจังหวัดแพร่ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 1 นายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ และเขตเลือกตั้งที่ 2 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ซึ่งทั้งสองเป็นอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ปรระกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งและรณรงค์หาเสียงในฐานะผู้สมัครสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งต่อมาพรรคดังกล่าวได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคในวันที่ 7 มีนาคม 2562 ก่อนที่จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงทำให้ผู้สมัครทั้งสองในนามพรรคไทยรักษาชาติไม่สามารถลงแข่งขันรักษาฐานเสียงจังหวัดแพร่ในครั้งนี้ได้ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะเลือกอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักษาชาติไม่รู้ว่าจะไปกากบาทให้ใคร จึงเกิดกระแสชักชวนกันในบรรดาหัวคะแนนของผู้สมัครที่ถูกเพิกถอนเพื่อไป "โหวตโน" ซึ่งก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการแสดงเจตนารมย์ของประชาชน[5]
สำหรับการรณรงค์ให้ “โหวตโน” ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของทุกพรรคการเมืองต่างต้องทำการหาเสียง หรือการทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจเลือกตัวเองนั้น การหาเสียงให้ทำการโหวตโนก็สามารถกระทำได้เช่นเดียวกัน เพราะหากใครเห็นว่าในเขตเลือกตั้งนั้น ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่่ควรค่าแก่การลงคะแนนเสียงเลือกเลย ก็สามารถรณรงค์ชักชวนให้คนอื่นไปร่วมกันโหวตโนในวันเลือกตั้งที่จัดขึ้น เพราะถ้าคะแนนโหวตโนชนะคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตนั้น จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และไม่ให้นับคะแนนในเขตนั้นเข้าไปรวมในแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองด้วย และทำให้ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเดิมในเขตนั้นทุกคนที่แพ้โหวตโน ไม่มีสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งซ้ำอีก แต่หากใครต้องการรณรงค์ให้โหวตโน ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเดียวกับการรณรงค์หาเสียงของทุกพรรคการเมือง คือ ห้ามให้ทรัพย์สิน หรืเสนอจะให้เพื่อแลกกับการโหวตโน ห้ามหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ให้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ จูงใจให้เข้าใจผิด ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อห้าม ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยเลือกตั้ง นอกจากการกระทำที่ถูกห้ามตามกฎหมายเหล่านี้แล้ว ก็ต้องถือว่า ประชาชนมีสิทธิทำได้ทุกอย่าง ดังนั้น เมื่อไม่มีกฎหมายห้าม การรณรงค์ให้คนไปโหวตโน ก็เป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ทุกคนสามารถทำได้เช่นกัน และการไปโหวตโน คือ “สิทธิ” ของประชาชน ที่สามารถทำได้ ไม่มีผิดหรือถูก อยู่ที่ว่าเจตนารมณ์เป็นแบบไหน หากไม่มีตัวเลือก และไม่ถูกใจตัวเลือกที่มีอยู่จริงๆ ก็สามารถไปกาช่องโหวตโนได้
3.หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
หากกล่าวถึงความสำคัญของการโหวตโน (Vote No) หรือ "กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน" ในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่ามีความสำคัญน้อยมากต่อการนับคะแนนผลการเลือกตั้ง เพราะเป็นเพียงแสดงเจตนาว่าไม่เลือกผู้ลงสมัคร ส.ส.เขตนั้น และไม่ส่งผลกระทบต่อ ส.ส. เลย แต่สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 เพื่อทำให้เกิดการตอบโจทย์ของการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ "ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย" จึงได้เพิ่มบทบาท "โหวตโน" ขึ้น โดยหาก ส.ส.เขตใดที่ชนะการเลือกตั้ง แต่กลับได้คะแนนน้อยกว่า"โหวตโน" เท่ากับว่า การเลือกตั้งเขตนั้นเป็นโมฆะ ต้องเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นสามารถอธิบายหลักการได้ดังนี้
นายอุดม รัฐอมฤต[6] อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงหลักการโหวตโนที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า หากผลการเลือกตั้งในเขตใด มีคะแนน "โหวตโน" มากกว่าคะแนน ส.ส.ที่ชนะการเลือกตั้ง เท่ากับว่า ประชาชนเขตนั้นไม่ประสงค์เลือกบุคคลใดเลย ดังนั้นจึงสมควรให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกรอบ โดยที่ผู้สมัครคนเดิมของทุกพรรค ไม่สามารถกลับมาลงสมัครได้
ประเด็นแก้ปัญหาจึงให้โหวตโนชนะแทน สส.เขต โดยสมมติว่า พื้นที่ A เขต 1 มีผู้ลงสมัคร ส.ส. 3 คน หลังปิดหีบนับคะแนน ปรากฎว่า ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 1 มีคะแนนรวม 5,000 คะแนน แต่ปรากฎว่าผู้มาใช้สิทธิ์ กากบาทในช่องโหวตโน 6,000 คะแนน มากกว่าคะแนนที่ผู้สมัครทุกคนได้รับ แต่ในระบบเดิม คะแนนโหวตโน จะไม่ถูกนำมาคิด ดังนั้น ผู้สมัครที่มีคะแนนเป็นอันดับที่ 1 จะได้รับเลือกเป็น ส.ส.
แต่หากเป็นการเลือกตั้งปี 2562 ผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จะไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. เขตนั้น เพราะได้คะแนนน้อยกว่า "โหวตโน" ทำให้การเลือกตั้งเขตนั้นเป็น "โมฆะ" ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่ง ส.ส.กลุ่มนี้ จะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครแข่งขันอีก และหากการเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นโมฆะอีกครั้ง กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่เรื่อยๆ จนกว่าจะได้บุคคลที่ประชาชนยอมรับ
4. สรุป
การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือการไปโหวต (Vote) เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แต่จะที่ออกเสียงเลือกผู้สมัครคนใด หรือพรรคการเมือง หรือจะไม่ประสงค์เลือกใครในเขตเลือกตั้งนั้นซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า โหวตโน (Vote No) นั้น ต่างเป็นสิทธิของผู้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ และยังกำหนดด้วยว่า เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น ให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่และมิให้นับคะแนนที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนได้รับไปใช้ในการคํานวณคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และห้คณะกรรมการการเลือกตั้งดําเนินการให้มีการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น ดังนั้น การโหวตโนในการเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จึงมีความหมายมากทั้งต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้น และพรรคการเมืองที่ไม่สามารถนำคะแนนของผู้สมัคร ส.ส. ไปคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อได้
5. บรรณานุกรม
บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ. (2530). กฎหมายเลือกตั้งเยอรมัน. วารสารนิติศาสตร์ 17 (3): 14 – 20.
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,
ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81
พีพีทีวีออนไลน์. (2561).“VOTE NO” มีความหมายครั้งแรก ถ้าสูงกว่าคะแนนผู้สมัคร ส.ส.ให้เลือกตั้งใหม่
สืบค้นจาก https://www.pptvhd36.com/news/, เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2563
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :
ราชบัณฑิตยสถาน.
ไอลอว์. (2562). เลือกตั้ง 62: โหวตโน อีกหนึ่งทางเลือก เมื่อไม่มีผู้สมัครที่อยากจะเลือก. สืบค้นจาก
https://ilaw.or.th/node/5223, เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2563
[1] ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :
ราชบัณฑิตยสถาน. น.279
[2]ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :
ราชบัณฑิตยสถาน. น.105
[3]บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ. (2530). กฎหมายเลือกตั้งเยอรมัน. วารสารนิติศาสตร์ 17 (3): 14 – 20.
[4] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
[5] ไอลอว์. (2562). เลือกตั้ง 62: โหวตโน อีกหนึ่งทางเลือก เมื่อไม่มีผู้สมัครที่อยากจะเลือก. สืบค้นจาก
https://ilaw.or.th/node/5223, เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2563
[6] อ้างถึงในพีพีทีวีออนไลน์ (2561).“VOTE NO” มีความหมายครั้งแรก ถ้าสูงกว่าคะแนนผู้สมัคร ส.ส.ให้เลือกตั้งใหม่
สืบค้นจาก https://www.pptvhd36.com/news/, เข้าถึงเมื่อ 16 เมษายน 2563