โผน อินทรทัต

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


โผน อินทรทัต : เสรีไทยผู้ถูก “ จับตาย ” ด้วยการเมือง

          ในบรรดานายทหารไทยที่ไปเรียนต่ออยู่ที่สหรัฐฯขณะที่ภาวะสงครามคืบเข้าประเทศไทย เมื่อปลายปี 2484 นั้น มีร.ท.โผน อินทรทัต รวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง โผนเรียนจบแล้วก่อนจะเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนก็เป็นเวลาที่ไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา และคนไทยที่อยู่ในสหรัฐฯได้รวมกลุ่มกันเป็นเสรีไทย ร.ท.โผน จึงได้เข้าร่วมเป็นเสรีไทย และได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย ส่วนการที่ท่านถูก “ จับตาย ” นั้นไม่ใช่ในขณะที่เป็นเสรีไทย แต่เป็นเรื่องการเมืองเพราะท่านได้เข้าร่วม “ ขบวนการประชาธิปไตย '26 กุมภาพันธ์ 2492 ” ที่มีการนำกำลังเข้ายึดสถานที่ราชการเพื่อล้มรัฐบาลของจอมพล. ป.พิบูลสงคราม ที่คณะรัฐประหาร ปี 2490 สนับสนุนตั้งขึ้น แต่การกระทำครั้งนั้นไม่สำเร็จ และโผน อินทรทัต ก็ถูกจับตายซึ่งเป็นที่กล่าวถึงกันมากว่าท่านถูกจับและตายได้อย่างไร ชื่อ “ โผน ” ของท่านถูกญาติสนิท คือ คุณ ทองทศ อินทรทัต ที่ชื่นชมและประทับใจในความเป็นนักสู้ผู้กล้าหาญของท่าน นำมาตั้งชื่อนักมวยหมัดดีในค่ายกิ่งเพชรว่า “ โผน กิ่งเพชร ” และนักมวยผู้นี้เก่งมาก ชกชนะจนได้เป็นแชมป์มวยโลกทำให้ผู้คนรู้จัก โผน กิ่งเพชร กันดีมาก มีชื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การกีฬาของไทย ดังนั้นชีวิตและงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบ้านการเมืองของ โผน อินทรทัต จึงมีอยู่สองกรณีได้แก่กรณีการเข้าร่วมปฏิบัติการเสรีไทยและกรณีการเข้าร่วม  “ ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ” กรณีหลังนี้เมื่อเป็นฝ่ายแพ้แล้วถูกเรียกว่า  “ กบฏวังหลวง ”  นั่นเอง

          โผน อินทรทัต เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดเมื่อปี 2454 มีบิดาเป็นนายทหารคือ  พ.อ.พระยาพิชัยภูเบนทร์ (ผ่าน อินทรทัต) และมารดาได้แก่คุณหญิง น้อม โผนได้ศึกษามาทางด้านทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกและจบการศึกษาก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 3 ปี โผน อินทรทัต ได้รับการเลื่อนยศเป็นนายร้อยโท และอีกสองปีต่อมาในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา ร.ท.โผนก็ได้รับทุนของกระทรวงกลาโหมไปศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นท่านจึงเป็นนายทหารที่เรียนเก่งคนหนึ่งเหมือนกัน เมื่อศึกษาจบและเตรียมตัวจะเดินทางกลับประเทศไทย ก็มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลไทยที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เข้าร่วมรบกับญี่ปุ่นโดยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ที่ประเทศสหรัฐฯเองทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้ตั้งกลุ่มเสรีไทยนอกประเทศขึ้นที่สหรัฐฯ ตอนนั้น ร.ท.โผน และเพื่อนนายทหารอีก 2 คน ได้แก่ ร.ท. บุญมาก เทศบุตร และร.ต.การะเวก ศรีวิจารณ์ ได้ตัดสินใจเข้าร่วมงานเสรีไทย โดยไม่ยอมเดินทางกลับประเทศไทย ในประวัติระบุว่า ร.ท.โผน ได้สมัครเป็นทหารเสรีไทย และได้เข้าฝึกหลักสูตรทางด้านบริการยุทธศาสตร์ที่เรียกกันว่า “ โอเอสเอส ” รุ่นที่ 1 ได้รับการฝึกแล้วเขาจึงส่งตัวให้เดินทางโดยเรือพร้อมกับพลพรรคเสรีไทยอีก 19 คน รอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึง 95 วัน โดยออกเดินทางตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2486 ไปขึ้นบกที่เมืองบอมเบย์ ซึ่งวันนี้เรียกว่า  “ มุมไบ  ” ของอินเดีย ครั้งนั้นโผน อินทรทัต มีชื่อรหัส หรือนามในการสงครามว่า “ พอล ” ขึ้นบกที่อินเดียซึ่งตอนนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ โผนและนายทหารเสรีไทยก็ได้เข้ารับการฝึกต่ออีกที่เมืองนาซีราที่ชายแดนทางด้านอัสสัม

          ต่อมาผู้ควบคุมซึ่งเป็นนายทหารอเมริกัน คือ ร.อ.นิคอล สมิธ จึงได้นำโผนและนายทหารเสรีไทยเดินทางออกจากอินเดีย บินไปที่จุงกิงที่เป็นเมืองหลวงของจีนในขณะนั้นและที่เมืองจุงกิงนี่เอง โผนจึงได้พบ กับนาย สงวน ตุลารักษ์ ตัวแทนของนาย ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้ากลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ถูกส่งให้ลอบเดินทางมาจีนเพื่อหาทางติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร การพบกันครั้งนั้นมีความสำคัญมากเพราะทำให้ฝ่ายที่อยู่นอกประเทศทราบได้อย่างแน่นอนว่าในประเทศไทยได้มีกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นดำรงอยู่ และสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั้งยังทำให้เสรีไทยนอกประเทศกับเสรีไทยในประเทศติดต่อกันได้ ดังนั้นต่อมาเสรีไทยนอกประเทศจึงได้ลอบเข้าประเทศไทยโดยได้รับการประสานและช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากเสรีไทยในประเทศที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ และพลพรรค ร.ท.โผน กับนายทหารหลายคนในกลุ่มเสรีไทยสายอเมริกา จึงได้ทยอยกันเดินทางอย่างลับๆ เข้าไปปฏิบัติงานในประเทศไทย งานที่บุคคลเหล่านี้ทำไม่ใช่งานง่าย เพราะบางทีก็ไม่ค่อยจะได้รับความร่วมมือจากฝ่ายจีนในบางระดับจนทำให้เกิดความล่าช้า และความยุ่งยากในการทำงานด้วย และในบางกรณีก็ต้องเสี่ยงชีวิตเพราะความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่ไทยบางรายในระดับล่างที่ไม่รู้และไม่เข้าใจการทำงาน “ ใต้ดิน ” ของคนไทยที่เป็นเสรีไทย จึงทำให้บางรายต้องเสียชีวิตลงในขณะปฏิบัติหน้าที่ เช่นกรณีของร.ต.การะเวก ศรีวิจารณ์ และ ร.ท.สมพงษ์ ศัลยพงษ์

          แม้การเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางด้านจีนจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในที่สุด  โผน อินทรทัต ก็เดินทางเข้าไทยได้ที่จังหวัดน่านในตอนกลางปี 2487 และได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ถูกส่งตัวไปพบกับอธิบดีกรมตำรวจ พล ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส จากนั้นโผนจึงได้เข้าพบหัวหน้าขบวนการใต้ดิน นายปรีดี พนมยงค์ เขาจึงได้รับรู้ข่าวสารของขบวนการเสรีไทยในประเทศ  ที่จะนำไปแจ้งแก่เสรีไทยสายอเมริกาที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำ การเดินทางกลับออกไปจากประเทศครั้งนั้นของ โผน อินทรทัต ก็ยังต้องย้อนรอยเดิมกลับไปที่จีนอีกครั้งแล้วจึงได้กลับ ไปสหรัฐฯอเมริกา

          โผน อินทรทัต เดินทางออกจากประเทศไทยกลับไปกรุงวอชิงตันของสหรัฐอเมริกา เพื่อรายงานและอธิบายให้ทางเสรีไทยสายอเมริกาได้ทราบถึงขบวนการเสรีไทยในประเทศ และได้ช่วยทำให้การประสานงานกับฝ่ายรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาจนทางหัวหน้าใหญ่ของเสรีไทยในประเทศ นายปรีดี พนมยงค์ สามารถส่งผู้แทนของท่านเดินทางไปติดต่อโดยตรงกับฝ่ายอเมริกันที่กรุงวอชิงตันได้โดยตัวแทนสำคัญที่เดินทางออกไปติดต่อกับทางสหรัฐอเมริกาในตอนต้นปี 2488 คือ พระพิศาลสุขุมวิทและหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ และต่อมาก็คือนาย กนตธีร์ ศุภมงคล ข้าราชการคนสำคัญจากกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ไปประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอเมริกัน

          ครั้นหมดภาระที่กรุงวอชิงตันแล้ว โผน อินทรทัต ยังเดินทางกลับมาปฏิบัติงานเสรีไทยที่ ศรีลังกา ซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและเป็นแหล่งฝึกหน่วยปฏิบัติการของทางฝ่ายอังกฤษ และท่านได้อยู่ที่นั่นมาจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2488 ซึ่งเป็นวันที่ไทยประกาศสันติภาพ ท่านจึงได้เดินทางกลับเข้าไทย รัฐบาลขณะนั้นเป็นรัฐบาลของนาย ควง อภัยวงศ์ ที่เข้ามารับหน้าที่ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ปี 2487 หลังจากจอมพล ป. ลาออกจากนายกรัฐมนตรี เมื่อ ร.อ.โผน อินทรทัต ได้กลับมารับราชการทหารต่อมาในประเทศไทยท่านได้รับยศเป็นนายพันตรีของกองทัพไทย นับว่าสูงกว่านายทหารเสรีไทยคนอื่นๆ ทั้งนี้เพราะในบรรดานายทหารที่ร่วมงานเสรีไทยนอกประเทศนั้น โผน อินทรทัต เป็นนายทหารที่มีอาวุโสมาก เพียงแต่รองจากพันตรี ม.ล.ขาบ กุญชร เท่านั้น สำหรับชีวิตครอบครัว พันตรี โผน อินทรทัต ได้สมรสกับ ม.ล.กันยา สุทัศน์

          หลังจากโผน อินทรทัต กลับมาเมืองไทยไม่นาน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทย สายอเมริกาก็ได้เดินทางกลับมารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย การเมืองตอนนั้นก็มีความพยายามที่จะฟื้นบรรยากาศประชาธิปไตยในบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ เพราะในช่วงสงครามได้ต่ออายุสภาฯโดยไม่มีการเลือกตั้งมานาน ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงดำเนินการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม ปี 2489 เมื่อเลือกตั้งเสร็จสภาฯก็ได้เลือก นายควง อภัยวงศ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังสงครามอีกครั้ง หลังจากเป็นนายกฯในช่วงสงครามมาด้วยความยากลำบากมาแล้ว แต่รัฐบาลของนาย ควง ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะรัฐบาลแพ้เสียงในสภาฯ นาย ควง จึงลาออกจากตำแหน่งนายกฯ สภาฯจึงได้มีมติเลือก  นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าใหญ่ขบวนการเสรีไทยให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การเมืองในยามที่ประชาธิปไตยกำลังฟื้นตัวนั้นเสถียรภาพทางการเมืองก็ไม่มั่นคง โผน อินทรทัต เอง แม้จะไม่ได้เข้าไปเล่นการเมืองด้วยก็ตาม แต่ก็ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปดูแลงานที่โรงงานยาสูบ เพราะมีความรู้ทางด้านวิศวกรรม ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ แต่การเมืองที่ไม่มั่นคงในช่วงเวลาที่ยากลำบากหลังภาวะสงครามนั้นได้ทำให้ “ คณะรัฐประหาร ” ที่นำโดยนายทหารนอกราชการ   พลโท ผิน ชุณหะวัน ที่มีจอมพล ป. อยู่ข้างหลัง ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เข้ามารับช่วงงานต่อจากนายปรีดี พนมยงค์ ที่ลาออกไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2489 การรัฐประหารเกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 การรัฐประหารครั้งนี้มีผลกระทบต่อ โผน อินทรทัต โดยตรงเพราะถูกปลดจากตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ

          คณะรัฐประหาร ได้จับมือกับ นายควง อภัยวงศ์ ให้นายควง เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาล ช่วยดำเนินการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ในตอนต้นปี 2491 ครั้นเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย นายควง ก็กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง แต่คราวนี้อยู่ได้สั้นมากเพราะคณะรัฐประหารที่เคยหนุน นายควง มาก่อน ได้ส่งนายทหารมาบีบให้นายควง ลาออกจากนายกฯ และจอมพล ป. จึงได้เข้ามาเป็นนายกฯจัดตั้งรัฐบาล ในเดือนเมษายน ปี 2491 ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนี่เองท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองก็เกิดมีความพยายามที่จะยึดอำนาจของนายทหารฝ่ายเสนาธิการที่ไม่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหาร แต่ล้มเหลวจึงถูกจับกุมโดยฝ่ายรัฐบาล นายทหารสำคัญของฝ่ายกบฏนั้นคือ พลตรีหลวงสรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน และในครั้งนี้ก็มีการอ้างชื่อว่า พันตรี โผน เข้าร่วมด้วยแต่ก็ไม่มีข่าวการจับกุมตัว จนมาถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2492 

          ในวันดังกล่าว มีคณะบุคคลใช้ชื่อว่า “ ขบวนการประชาธิปไตย '26 กุมภาพันธ์ 2492 ”นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ได้นำกำลังผู้ร่วมก่อการเข้ายึดกระทรวงการคลังที่ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และหน่วยงานอื่นอีกบางแห่งเพื่อบีบให้รัฐบาลออก พันตรี โผน อินทรทัต จึงได้ปรากฏตัวเป็นโฆษกของคณะผู้ก่อการนี้ และเป็นผู้นำกำลังเข้ายึดวิทยุของกรมโฆษณาการ ออกประกาศปลดจอมพล ป. ออกจากนายกรัฐมนตรี มีความว่า

          “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ล้มเลิกรัฐบาลจอมพล  ป.พิบูลสงคราม เสียและคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วย และได้แต่งตั้งนาย ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทาวงต่างประเทศและกระทรวงการคลัง ให้นาย ทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ”

         แต่ความพยายามที่จะยึดอำนาจล้มรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนั้นล้มเหลวกำลังของฝ่ายทหารเรือส่วนที่สนับสนุนในการยึดอำนาจมาถึงล่าช้า กองกำลังฝ่ายรัฐบาลรวมกันได้จึงตอบโต้การยึดอำนาจอย่างรุนแรง และได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาด พันตรี โผน อินทรทัต ถูกฝ่ายรัฐบาลจับตัวได้โดยถูกยิงเสียชีวิตไปในตอนเช้ามืดวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี 2492