โต๊ะจีน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียง:      

1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม         

2.อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด

3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ


ในช่วงเวลาก่อนการจัดการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ได้มีการกล่าวถึงคำว่า “โต๊ะจีน” อยู่บ่อยครั้ง เพราะโต๊ะจีน ในทางการเมืองแล้วถือเป็นรูปแบบการระดมทุนทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง แต่การจัดโต๊ะจีนของพรรคพลังประชารัฐที่ปรากฏตามสื่อมวลชน มีการเปิดเผยมูลค่าราคาโต๊ะจีนที่จัดขึ้นรวมทั้งมีการส่อผิดกฎหมายจากพฤติการณ์ต่างๆ ซึ่งกลายมาเป็นปรากฏข้อเท็จจริงและข้อท้วงติงจำนวนมากจากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคดังกล่าวผ่าน “โต๊ะจีน” โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. ความหมาย หรือ แนวคิด

พรรคการเมืองมีความสำคัญในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว ประชาชนทุกคนในประเทศไม่สามารถจะเข้าไปบริหารประเทศได้ด้วยกันทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นประชาชนจะเลือกผู้แทนของตนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสภา แต่การที่จะเลือกใครเข้าไปนั้นผู้มีสิทธิในการเลือกจะต้องเลือกเอาบุคคลที่มีแนวความคิด มีนโยบายบริหารประเทศตรงกับความต้องการหรือเจตจำนงของตนและผู้ที่สมัคร เข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นจะสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เมื่อสมาชิกพรรคการเมืองใด ได้เสียงข้างมากพรรคการเมืองนั้นก็จะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศต่อไป ฉะนั้นพรรคการเมืองจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อระบอบการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย เพราะถ้าไม่มีพรรคการเมืองแล้ว ประชาชนจะเลือกใครเข้าไปสักคนก็ไม่มั่นใจว่าเลือกไปแล้วจะสามารถนำแนวความคิดหรือนโยบายของบุคคลนั้นๆ ไปปฏิบัติได้ แต่ถ้าพรรคการเมืองประชาชนก็จะมั่นใจมากขึ้นเพราะเลือกผู้ที่ตน ศรัทธาและพรรคการเมืองที่มีนโยบายตรงกับความคิดความต้องการของตน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้อนุวัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญกระบวนการและขั้นตอนเป็นจำนวนมาก เช่น การจัดตั้งพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง
การแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดกรณีที่เขตเลือกตั้งในจังหวัดใดที่มิได้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสาขาพรรคการเมืองและมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นเกินหนึ่งร้อยคน เป็นต้น
ซึ่งบางเรื่องเป็นเรื่องที่กำหนดขึ้นมาใหม่ ไม่เคยมีในกฎหมายพรรคการเมืองมาก่อน

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 22 (7) กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจกำกับและติดตามการใช้จ่ายเงินอุดหนุนที่พรรคการเมือง ได้รับการจัดสรรตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่อให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งมีความรู้ความเข้าใจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และมติของกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีการติดตามประเมินผล และการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง[1]

 

2.  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ที่อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี พรรคพลังประชารัฐวันงานจัดระดมทุนโต๊ะจีน โดยได้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบรายละเอียด 4 ประเด็น ดังนี้[2]

1. จำนวนยอดเงินสนับสนุนระดมทุน 2 ล็อต 84 รายการ 352 ล้านบาท โดยสำนักข่าวอิศรา ได้รายงานผลการตรวจสอบพบว่า พรรคพลังประชารัฐแบ่งการแจ้งยอดเงินระดมทุนออกเป็น 2 ล็อต ล็อตแรกเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 จำนวน 24 รายการ วงเงินรวม 90 ล้านบาท โดยมีบุคคล และนิติบุคคลชื่อดังร่วมจ่ายเงินระดมทุน เช่น เครือคิงพาวเวอร์ 3 แห่ง 24 ล้านบาท เครือน้ำตาลมิตรผล 9 ล้านบาท เครือล็อกซ์เล่ย์ 6 ล้านบาท เป็นต้น  ต่อมาช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พรรคพลังประชารัฐเผยแพร่ยอดเงินระดมทุนล็อตที่สอง รวม 60 รายการ 262 ล้านบาท แบ่งเป็นนิติบุคคล 22 แห่ง 58.1 ล้านบาท และบุคคลธรรมดา 38 ราย 203.9 ล้านบาท เช่น นายประยุทธ มหากิจศิริ นักธุรกิจชื่อดัง อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จ่ายเงิน 10 ล้านบาท นายสรรเสริญ จุฬางกูร เจ้าของอาณาจักรซัมมิท 10 ล้านบาท บริษัท อิตาเลี่ยนไทย เดเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 64 และ 65 เขียนไว้ชัดว่า เมื่อจัดงานระดมทุนพรรคการเมืองจะต้องแจ้งยอดเงินระดมทุนภายใน 30 วัน นั่นคือภายในวันที่ 18 มกราคม 2562 แต่พรรคพลังประชารัฐกลับแบ่งแจ้งยอดเป็น 2 ล็อต

2. นิติบุคคลบางแห่งขาดทุน-รายได้น้อย เอาเงินที่ไหนมาจ่ายสนับสนุน จากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศราพบว่า มีเอกชนหลายแห่ง ที่ระบุว่าไม่มีรายได้ หรือมีรายได้น้อย หรือบางแห่งขาดทุนมาโดยตลอด แต่กลับมีเงินจ่ายค่าระดมทุนโต๊ะจีนพรรคพลังประชารัฐหลัก 1-5 ล้านบาท ขณะเดียวกันกรรมการนิติบุคคลเหล่านี้มักอ้างว่า ที่ผ่านมารายได้น้อย หรือขาดทุนจริง แต่เพิ่งได้รับงานเป็นคู่สัญญารัฐในช่วงปี 2561 (ก่อนการจัดงานระดมทุนโต๊ะจีน) และนำเงินในส่วนนั้นมาจ่ายเงินค่าระดมทุน เนื่องจากต้องการเห็นประเทศสงบ และเห็นด้วยกับแนวทางของพรรคพลังประชารัฐ ประเด็นนี้ถือเป็นเงื่อนปมสำคัญ เนื่องจากเอกชนเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนไม่มีรายได้ รายได้น้อย หรือขาดทุน แล้วนำเงินจากไหนมาจ่าย แม้อ้างว่าเพิ่งได้รับงานรัฐปี 2561
ก็ตาม ทำไมถึงไม่เก็บเงินเหล่านั้นไว้ปรับปรุงสถานะของบริษัท แต่กลับนำเงินดังกล่าวมาสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ

3. มีบุคคล-นิติบุคคลต่างชาติมาจ่ายเงินสนับสนุนหรือไม่ จากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศราพบว่า มีนิติบุคคลอย่างน้อย 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท สกายไฮ จำกัด สนับสนุนเงินให้พรรคพลังประชารัฐ 1 ล้านบาท
ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท รายได้ปี 2560 กว่า 1.2 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 8.5 แสนบาทเศษ บริษัทแห่งนี้
เป็นคู่สัญญาของรัฐ (รวมในส่วนเป็นกิจการร่วมค้ายิบอินซอย-สกายไฮ) อย่างน้อย 6 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงินประมาณพันล้านบาทเศษ ซึ่งรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท สกายไฮ จำกัด นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2558 ปรากฏชื่อ Velocity Wealth INC (เวลล์โลซิตี้ เวลล์ อิ้งค์) นิติบุคคลสัญชาติไอซ์แลนด์ ตั้งอยู่บนเกาะ
บริติช เวอร์จิ้นส์ (British Virgins) ถือหุ้นด้วย 10% จนถึงปัจจุบัน  ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 74 บัญญัติไว้สรุปได้ว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจาก บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ นิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติเกิน 49% เป็นต้น แม้ว่าบริษัท สกายไฮ จำกัด จะมีนิติบุคคลสัญชาติไอซ์แลนด์ถือหุ้นแค่ 10% ซึ่งยังไม่เข้าข่ายก็ตาม แต่ กกต. ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินหรือไม่ว่า เงินที่บริษัท สกายไฮ จำกัด สนับสนุนให้พรรคพลังประชารัฐนั้น เป็นเงินของบริษัทจริงหรือว่าเป็นเงินจากไหน?

4. มีการใช้สถานะตำแหน่งหน้าที่เพื่อให้บุคคลและนิติบุคคลมาจ่ายเงินระดมทุนหรือไม่ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ในการจัดงานระดมทุนโต๊ะจีนพรรคพลังประชารัฐ ตรวจสอบพบแผนผังการจัดงานระดมทุนโต๊ะจีนดังกล่าว พบว่ามีชื่อโต๊ะคล้ายหน่วยงานรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ คลัง ททท และ กทม รวม 33 โต๊ะ คิดเป็นมูลค่า 99 ล้านบาท (ตกโต๊ะละ 3 ล้านบาท) ต่อมาผู้บริหารในกระทรวงการคลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อปฏิเสธว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปร่วมงานวันดังกล่าว ขณะเดียวกันนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ยืนยันว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาร่วมงาน และแผนผังที่สำนักข่าวอิศรามี กับที่เขามีเป็นคนละชุดกัน อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานฯ กกต. พบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปร่วมในวันงานระดมทุนโต๊ะจีนจริง แต่ไม่ทราบว่ามาในสถานะผู้จ่ายเงินระดมทุน หรือมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองปกติ ถ้ามาร่วมงานปกติตามกฎหมายสามารถทำได้ แต่ถ้าพบว่ามาร่วมงานในสถานะผู้จ่ายเงินระดมทุน อาจผิดกฎหมายได้

ต่อมาได้มีการนำเรื่องดังกล่าวยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้คำตอบว่า เรื่องการระดมทุน มีประเด็นต้องตรวจสอบ เช่น ที่มาของเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีจำนวนยอดบริจาคเท่าไร
และผู้ที่บริจาคมีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีชาวต่างชาติเข้ามาบริจาคหรือไม่ และยังมีข้อสงสัยว่าการระดมทุนเป็นการแสวงหากำไร หรือใช้ตำแหน่งหน้าที่ทำให้คนมาสนับสนุนมาบริจาคหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการระดมทุน แต่เป็นเหตุสงสัยที่เกิดจากการระดมทุน ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่ง กกต.จะต้องตรวจสอบให้ครบทุกประเด็น จึงทำให้มีความล่าช้าไปบ้าง เป็นคำยืนยันจากนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการตรวจสอบกรณีการจัดเงินระดมทุนโต๊ะจีนของพรรคพลังประชารัฐ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2561 พร้อมระบุว่า คนร้องแค่สงสัย แต่ไม่มีข้อมูล และ กกต. เตรียมจะแถลงผลการสอบเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวถึงการพิจารณาคดีพรรคพลังประชารัฐจัดโต๊ะจีนระดมทุน ว่าได้ตรวจสอบผู้บริจาคแล้ว ซึ่งมีนิติบุคคล 40 แห่ง และบุคคล 84 คนไม่พบบุคคลต่างชาติร่วมบริจาคเงิน จึงถือว่าไม่มีความผิดและไม่เข้าข่ายถึงขั้นยุบพรรค หลังจากนี้จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ต่อไป[3] และที่ประชุม กกต. ได้รายงานข่าวการพิจารณาประเด็นดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ในกรณีพิจารณาพรรคพลังประชารัฐจัดโต๊ะจีนระดมทุนว่า ตอนนี้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปรากฏชื่อหน่วยงานรัฐอยู่ในผังโต๊ะจีนก็รอการตอบกลับการชี้แจงของหน่วยงานนั้นๆ อยู่ ซึ่งยังเหลือบางหน่วยงานยังไม่ตอบกลับมา ทั้งนี้ตราบใดที่เงินยังไม่เข้าบัญชีของพรรคการเมือง จะยังถือว่าไม่มีความผิด ซึ่งต้องดูประเด็นนี้ด้วย[4]

 

3.  หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีพรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้[5]

(1) เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง

(2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ

(3) เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง

(4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง

(5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค

(6) เงินอุดหนุนจากกองทุน

(7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง การได้มาซึ่งรายได้ตาม (2) (3) (4) และ (5) ต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐาน การได้มาซึ่งรายได้นั้นเป็นหนังสือ ทั้งนี้
ตามแบบของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

การจำหน่ายสินค้าและบริการตาม (3) และการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองตาม (4)
ต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 รายได้ของพรรคการเมืองจะนำไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากการดำเนินการของพรรคการเมืองมิได้ สำหรับรายได้จัดกิจกรรมระดมทุนขอพรรคการเมืองนั้น กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้

1) การจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองต้องกระทำโดยเปิดเผยและแสดง วัตถุประสงค์ว่าเป็นการระดมทุนของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน

2) สถานที่จัดกิจกรรมระดมทุน ได้แก่ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคการเมือง ที่ตั้ง สำนักงานสาขาพรรคการเมือง บริเวณสถานที่จัดประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง สถานที่ทำการตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสถานที่ที่พรรคการเมืองเห็นสมควร

3) ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่จัดกิจกรรมระดมทุนสิ้นสุดลง ให้หัวหน้าพรรคการเมือง จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมระดมทุน และจำนวนเงินที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมระดมทุนและให้หัวหน้าพรรคการเมืองประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป พร้อมทั้งแจ้งให้นายทะเบียนทราบด้วย

4) เมื่อพรรคการเมืองดำเนินการจัดกิจกรรมระดมทุนให้ออกใบเสร็จรับเงินตามแบบ พ.ก.9 ให้แก่ผู้สนับสนุนเงิน

5) การจัดกิจกรรมระดมทุนให้บันทึกบัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับและนำไป แสดงในงบการเงินประจำปีของพรรคการเมืองให้ครบถ้วนและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

6) การจัดกิจกรรมระดมทุนต้องไม่กระทำในช่วงเก้าสิบวันก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรและต้องไม่กระทำในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากเหตุอื่น นอกจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ กำหนดข้อห้ามสำหรับการรับบริจาคของพรรคการเมือง กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้

1) บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง มีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว ซึ่งพรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน
หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินดังกล่าวมิได้เช่นกัน

2) ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน
หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัย ว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3) ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่รวมถึงการที่ข้าราชการการเมือง
ผู้นั้นเข้าร่วมกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง โดยมิได้กระทำหรือมีส่วนกระทำ การอันเป็นการต้องห้ามนั้น

4) ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดจาก

(1) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

(2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือ จดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร

(3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร โดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย มีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้า ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ให้พิจารณาตามที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว หุ้นที่ไม่ปรากฏชื่อผู้ถือ หรือถือโดยตัวแทนของบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ ให้ถือว่าเป็นหุ้นที่ถือโดยผู้ไม่มีสัญชาติไทย

(4) คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือซึ่งมีผู้จัดการหรือกรรมการ เป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

(5) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับบริจาคเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจากบุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

(6) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับ (1) (2) (3 (4) หรือ (5) ตามที่คณะกรรมการกำหนด

5) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือสมาชิกเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมิได้

6) ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่บริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามมาตร 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ในที่นี้ให้หมายถึงกิจการที่รัฐเป็นหุ้นส่วน หรือถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในบรรดาผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ หรือมีจำนวนถึงหนึ่งในสาม ของหุ้นส่วนหรือหุ้นทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น

4.  สรุป

โต๊ะจีน เป็นวิธีการระดมทุนทางการเมืองรูปแบบหนึ่งของพรรคการเมืองต่างๆ แต่โต๊ะจีนที่กลายมาเป็นประเด็นความสนใจเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ที่พรรคพลังประชารัฐได้จัดงานระดมทุนโต๊ะจีนของพรรค ที่อิมแพค ฟอรั่ม ฮอลล์ 9 เมืองทองธานี โดยพบว่า มีนักการเมือง และนักธุรกิจชื่อดังมาร่วมงานเป็นจำนวนไม่น้อย โดยภายในงานมีการตรวจสอบเอกสารที่เป็นผังการจัดงาน แต่ไม่ได้เผยแพร่ต่อสื่อ รวมถึงได้รับการยืนยันจากหนึ่งในคณะผู้จัดงาน สรุปได้ว่า มีการแบ่งโซนโต๊ะจีนออกเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝั่งวีไอพี (VIP) และฝั่งบุคคลธรรมดา โดยฝั่ง VIP จะอยู่ฝั่งซ้ายของเวที แบ่งโต๊ะเป็นสี รวม 99 โต๊ะ และฝั่งบุคคลธรรมดาอยู่ฝั่งขวาของเวที แบ่งโต๊ะเป็นสีขาว รวม 101 โต๊ะ สำหรับฝั่ง VIP ถูกระบุว่า เป็นโต๊ะของผู้หลักผู้ใหญ่ภายในพรรค รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรค เช่น โต๊ะหัวหน้าพรรค (นายอุตตม สาวนายน) โต๊ะท่านเลขา (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) โต๊ะมาดามเดียร์ (นางวทันยา วงษ์โอภาสี) เป็นต้น อย่างไรก็ดีพบว่า โต๊ะฝั่ง VIP ปรากฏชื่อบุคคลที่ซื้อโต๊ะ คล้ายคลึงกับหน่วยงานรัฐ 3 แห่ง 33 โต๊ะ บริจาครวม 99 ล้านบาท ได้แก่ คลังซื้อ 20 โต๊ะ 60 ล้านบาท ททท ซื้อ 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท และ กทม 10 โต๊ะ 30 ล้านบาท  หากพิจารณาจากเอกสารแผนผังงานข้างต้น จึงมีข้อสังเกตจากสื่อมวลชนเห็นได้ว่า มีการจัดผังโซน และปรากฏชื่อที่คล้ายหน่วยงานรัฐ 3 แห่งดังกล่าวในผังงานจริง อย่างไรก็ดีไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ทั้ง '3 โต๊ะดังกล่าว เป็นโต๊ะของหน่วยงานรัฐจริงหรือไม่ หรือมาในฐานะอะไร นำเงินจากไหนมาจ่ายเงินระดมทุนให้พรรคพลังประชารัฐ' หากไม่ใช่หน่วยงานของรัฐจริง การที่ซื้อโต๊ะโดยอ้างชื่อคล้ายคลึงกับหน่วยงานรัฐ มีเหตุผลอะไร ทำไมต้องทำเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำเป็นต้องนำไปตรวจสอบต้นตอที่มาที่ไปว่า ในงานระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ ใช้เงินจากไหน สามารถทำได้หรือไม่ซึ่งท้ายที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้งรายงานว่าการจัดโต๊ะจีนเพื่อระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐดังกล่าวยังไม่ถือเป็นความผิดแต่ประการใด จึงเป็นเหตุแห่งการกล่าวอ้างถึงเรื่อง “โต๊ะจีน” ในครั้งนี้

 

5.  บรรณานุกรม

ข่าวสนุก. (2562). จบนะ! โต๊ะจีนพลังประชารัฐไม่ผิด - สถานะ “บิ๊กตู่” รอชงกกต. สืบค้นจาก

https://www.sanook.com/news/7708270/?fbclid=IwAR3DtyKkcPFBCclYHS3QSNXcvQtkFou2jhMR56DG6yAKzM37qLJes1cqy0, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563

คู่มือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของพรรคการเมือง สาขา

พรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด (2561) สืบค้นจาก https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=3659, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก

https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563

ไลน์ทูเดย์. (2562). “โต๊ะจีนพลังประชารัฐ” อาจรอด? กกต. ชี้ช่อง เงินยังไม่เข้าบัญชีพรรค ไม่ผิด!!, สืบค้นจาก

https://today.line.me/th/pc/article, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563

สำนักข่าวอิศรา. (2561). เปิดเอกสารผังงานโต๊ะจีน 650 ล. พปชร. ชื่อคล้าย‘คลัง-ททท-กทม’หรา บริจาครวม

99 ล. สืบค้นจาก https://www.isranews.org/isranews-scoop/72189-isranews-72189.html?fbclid=IwAR3YBVWQkbHXU8xHV8i4Dejk859zTsN-O88G54zlYOLNBCaF5qu2koSCYTU, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563

อ้างอิง

[1]คู่มือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด (2561) สืบค้นจาก https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=3659, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563

[2]สำนักข่าวอิศรา. (2561). เปิดเอกสารผังงานโต๊ะจีน 650 ล. พปชร. ชื่อคล้าย‘คลัง-ททท-กทม’หรา บริจาครวม 99 ล. สืบค้นจาก https://www.isranews.org/isranews-scoop/72189-isranews-72189.html?fbclid=IwAR3YBVWQkbHXU8xHV8i4Dejk859zTsN-O88G54zlYOLNBCaF5qu2koSCYTU, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563

[3]จบนะ! โต๊ะจีนพลังประชารัฐไม่ผิด - สถานะ “บิ๊กตู่” รอชงกกต. สืบค้นจากhttps://www.sanook.com/news/7708270/?fbclid=IwAR3DtyKkcPFBCclYHS3QSNXcvQtkFou2jhMR56DG6yAKzM37qLJes1cqy0, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563

[4] ไลน์ทูเดย์. (2562). “โต๊ะจีนพลังประชารัฐ” อาจรอด? กกต. ชี้ช่อง เงินยังไม่เข้าบัญชีพรรค ไม่ผิด!!, สืบค้นจาก https://today.line.me/th/pc/article, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563

[5] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก

https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf, เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2563