โครงการอวกาศของสหภาพโซเวียต
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
โครงการอวกาศของสหภาพโซเวียต เป็นโครงการอวกาศระดับชาติของสหภาพโซเวียต โดยดำเนินการตั้งแต่ปี ค.ศ.1955 ถึง ค.ศ. 1991 โดยสหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างมากในหลายด้านในช่วงเวลาดังกล่าว
ที่มา
สหภาพโซเวียตมีความคิดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศตั้งแต่สมัยทศวรรษที่ 1930 โดยมีผู้บุกเบิกอย่าง คอนสแตนติน ซีออลคอฟสกี (Konstantin Tsiolkovsky) ในการวิจัยเรื่องจรวด [1]

ภาพ : คอนสแตนติน ซีออลคอฟสกี[2]
ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสหภาพโซเวียตเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชาติสัมพันธมิตรและกลายเป็นกำลังสำคัญในการสู้รบกับนาซีเยอรมันจนได้รับชัยชนะ
สหภาพโซเวียตในฐานะหนึ่งในชาติผู้ชนะสงครามได้รับเทคโนโลยีจรวดที่ล้ำสมัยเหนือชาติสัมพันธมิตรของเยอรมัน เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาก็ได้รับเทคโนโลยีจรวดที่ล้ำสมัยจากนาซีเยอรมัน จนนำมาสู่การวิจัยขีปนาวุธและขีปนาวุธข้ามทวีปในเวลาต่อมา
ดาวเทียม สปุกนิก
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตได้ให้ เซอร์เกย์ โคโรเลฟ (Sergei Korolev) ดูแลโครงการพัฒนาจรวดและอวกาศ โดยสหภาพโซเวียตได้ทำการให้นักโทษชาวเยอรมันสร้างขีปนาวุธเลียนแบบจรวด V2 ของเยอรมัน เรียกว่า R1 ต่อมาโคโรเลฟได้ทำการพัฒนาแบบจรวด V2 ของเยอรมันให้ดียิ่งขึ้น เมื่อจรวดกลายเป็นรุ่น R2 จรวด R2 ก็สามารถเดินทางได้ไกลกว่าจรวด R1 ถึงเท่าตัว การพัฒนาจรวดของสหภาพโซเวียตดำเนินต่อไปจนถึงจรวด R7 ซึ่งเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นแรกของโลก และสามารถส่งวัตถุขึ้นไปในอวกาศด้วยจรวดนี้ได้ [3]
ซึ่งภายใต้การดูแลของโคโรเลฟ เพียงสองเดือนหลังจากการสร้างจรวด R7 โคโรเลฟก็สามารถส่งวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นสู่อวกาศได้เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรก [4]วัตถุนั้นคือ ดาวเทียมดวงแรกที่ชื่อว่า สปุกนิก 1 ซึ่งเป็นภาษารัสเซียแปลได้ว่าเพื่อนร่วมทาง ทำให้โครงการอวกาศของโซเวียตได้พัฒนาจนรุดหน้าแซงประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นจุดเริ่มต้นการแข่งขันด้านอวกาศระหว่างสองประเทศ[5]

ภาพ : ดาวเทียม สปุกนิก
สหภาพโซเวียตส่งดาวเทียมสปุกนิกขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ ในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1957 และในเดือนต่อมา วันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1957 สหภาพโซเวียตส่งดาวเทียม สปุตนิก 2 พร้อมกับสุนัขชื่อไลก้าขึ้นสู่อวกาศ ก่อนที่คู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกาจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1958 ต่อมาสหภาพโซเวียตก็ได้เริ่มโครงการอวกาศอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงโครงการส่งมนุษย์ไปท่องอวกาศ
โครงการวอสตอค
โครงการวอสตอค (Vostok program) เป็นโครงการอวกาศของสหภาพโซเวียตที่มีเป้าหมายหลักในการส่งคนขึ้นไปยังอวกาศ โดยโครงการวอสตอคสามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปสู่อวกาศได้เป็นผลสำเร็จ โดย ยูริ กาการิน กลายเป็นมนุษย์อวกาศคนแรก ในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961 และ ต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1961 สหภาพโซเวียตก็ได้ส่ง เจอแมน ติตอฟ ขึ้นไปในอวกาศและกลายเป็นนักบินอวกาศคนแรกที่ใช้เวลาอยู่ในอวกาศหนึ่งวันเต็ม ๆ
ต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1962 สหภาพโซเวียตส่งยานอวกาศ วอสตอค 3 และ วอสตอค 4 ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจร่วมกันนับเป็นการทำภารกิจร่วมกันครั้งแรกของยานอวกาศสองลำ และในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1963 สหภาพโซเวียตก็ได้ส่ง วาเลรี่ ไบคอฟสกี้ ขึ้นไปทำภารกิจในอวกาศนานห้าวันและกลายเป็นสถิติทำภารกิจการบินในอวกาศนานที่สุด ณ เวลานั้น สองวันต่อมา วันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1963 สหภาพโซเวียตส่ง วาเลนตีนา เตเรชโควา ขึ้นไปทำภารกิจร่วมกันในอวกาศทำให้ วาเลนตีนา เตเรชโควา กลายเป็นมนุษย์อวกาศหญิงคนแรก[6]
โครงการอวกาศภายหลังโครงการวอสตอค
หลังจากความสำเร็จของโครงการวอสตอค สหภาพโซเวียตก็ได้ดำเนินโครงการอวกาศต่อไปอีก คือ โครงการวอสคุด (Voskhod Program) โดยสหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการสร้างยานอวกาศที่สามารถรับผู้โดยสารได้มากกว่าหนึ่งคนเป็นครั้งแรก ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1965 ขณะทำภารกิจวอสคุด อเลคเซย์ เลโอนอฟ ก็ได้ทำการเคลื่อนไหวในอวกาศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ [7]และต่อมาสหภาพโซเวียตก็ได้ทำโครงการชื่อว่าโครงการโซยุซ (Soyuz Programme) [8]โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ แต่ก็ล้มเหลวในท้ายที่สุดและไม่สามารถส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์ได้ก่อนสหรัฐอเมริกา ต่อมาโซเวียตได้หันความสนใจไปที่การสร้างสถานีอวกาศโดยใช้ชื่อโครงการว่าโครงการซัลยุท (Salyut programme) และสามารถสร้างสถานีอวกาศแห่งแรกได้เป็นผลสำเร็จ[9]
หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ประเทศรัสเซียก็รับมรดกด้านเทคโนโลยีอวกาศต่อจากสหภาพโซเวียต โดยในปี 2566 รัสเซียได้ดำเนินภารกิจ “ลูนา-25 (Luna-25)” ซึ่งเป็นภารกิจส่งยานอวกาศไปลงจอดขั้วใต้ของดวงจันทร์ และนับเป็นภารกิจส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์ครั้งแรกของรัสเซียในรอบ 47 ปี หลังจากได้ส่ง ยานลูนา-24 (Luna-24) ไปลงจอดบนดวงจันทร์ เมื่อปี 2519 หรือตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม ยานสำรวจลูนา-25 ของรัสเซียประสบเหตุตกลงบนดวงจันทร์ หลังสูญเสียการควบคุมขณะบินเข้าสู่วงโคจร ส่งผลให้ความหวังที่จะเป็นประเทศแรกในโลกที่ได้สำรวจบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ต้องล้มเหลวไป การที่รัสเซียสูญเสีย ยานลูนา-25 ในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการตอกย้ำถึงความถดถอยด้านอวกาศของรัสเซียเป็นอย่างมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหภาพโซเวียตเคยยิ่งใหญ่จนสามารถส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก สปุตนิก 1 (Sputnik 1) เข้าสู่วงโคจรโลกได้สำเร็จ ทั้งยังเป็นชาติแรกที่ส่งมนุษย์เดินทางไปยังอวกาศได้สำเร็จ[10]
บรรณานุกรม
Crashed Russian mission left a crater on the moon, NASA images show. Reuters, September 1, 2023. Retrieved from https://www.reuters.com/technology/space/crashed-russian-mission-left-crater-moon-nasa-images-show-2023-09-01/
European Space Agency. (2007). Sergei Korolev: Father of the Soviet Union’s success in space. Retrieved from https://www.esa.int/About_Us/ESA_history/50_years_of_humans_in_space/Sergei_Korolev_Father_of_the_Soviet_Union_s_success_in_space
Laurence Tognetti. (2023). A brief history of Soviet and Russian human spaceflight. Retrieved from https://www.astronomy.com/space-exploration/a-brief-history-of-soviet-and-russian-human-spaceflight/
Royal Air Force Museum. (n.d.) The Soviet Space Program Retrieved from https://www.nationalcoldwarexhibition.org/schools-colleges/national-curriculum/space-race/soviet-space-program.aspx
Royal Air Force Museum. (n.d.) The Soyuz Programme. Retrieved from https://www.nationalcoldwarexhibition.org/schools-colleges/national-curriculum/space-race/soyuz.aspx
Tim Radford. (2015). Space travel: When Soviets ruled the Great Beyond. Retrieved from https://www.nature.com/articles/525452a
อ้างอิง
[1] Tim Radford. (2015). Space travel: When Soviets ruled the Great Beyond. Retrieved from https://www.nature.com/articles/525452a
[2] คอนสตันติน ซีออลคอฟสกี https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99_%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B5
[3] Royal Air Force Museum. (n.d.) The Soviet Space Program Retrieved from https://www.nationalcoldwarexhibition.org/schools-colleges/national-curriculum/space-race/soviet-space-program.aspx
[4] The European Space Agency. (2007). Sergei Korolev: Father of the Soviet Union’s success in space. Retrieved from https://www.esa.int/About_Us/ESA_history/50_years_of_humans_in_space/Sergei_Korolev_Father_of_the_Soviet_Union_s_success_in_space
[5] Ibid.
[6] Laurence Tognetti. (2023). A brief history of Soviet and Russian human spaceflight. Retrieved from https://www.astronomy.com/space-exploration/a-brief-history-of-soviet-and-russian-human-spaceflight/
[7] Ibid.
[8] Royal Air Force Museum. (n.d.) The Soyuz Programme. Retrieved from https://www.nationalcoldwarexhibition.org/schools-colleges/national-curriculum/space-race/soyuz.aspx
[9] Laurence Tognetti. (2023). A brief history of Soviet and Russian human spaceflight. Retrieved from https://www.astronomy.com/space-exploration/a-brief-history-of-soviet-and-russian-human-spaceflight/
[10] Crashed Russian mission left a crater on the moon, NASA images show. Reuters, September 1, 2023. Retrieved from https://www.reuters.com/technology/space/crashed-russian-mission-left-crater-moon-nasa-images-show-2023-09-01/