แนวทางไปสู่การเป็นชาตินิยม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

แนวทางสู่ความเป็นชาตินิยม

การสร้างความเข้าใจสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ทั้งภายในและภายนอกประเทศให้ประชาชนได้เข้าใจและพร้อมที่จะเผชิญสถานการณ์ร่วมกัน

แนวทางดำเนินการ การสร้างให้สังคมในประเทศเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดย การผลักดันและการสร้างแรงจูงใจให้คนในประเทศแสวงหาความรู้ ให้คนไทยมีความสามารถในการคิด การแสวงหาความจริง โดยอาศัย การคิด วิเคราะห์ พิจารณาอย่าง มีเหตุผล และ หลักฐานเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด จากสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลทั้งหลายที่มาจากสื่อ ทุกชนิด โดยมีภาครัฐมีหน้าที่กำกับดูแลและให้ข้อมูลที่เป็นจริงเพิ่มเติมจากสื่อต่าง ๆ ซึ่งประชาชนได้รับ

ระยะสั้น การปฏิรูปการศึกษา หรือ ปรับระบบการศึกษาให้เป็นระบบการศึกษาที่สอน ให้คนคิดเป็น วิเคราะห์เป็น ประยุกต์ใช้เป็น และสร้างสรรค์เป็น การเรียนการสอน ควรเน้นให้นักเรียน นักศึกษา ได้ทักษะในการคิดวิเคราะห์และได้ความรู้อย่างครบถ้วน เพื่อการสร้าง ความเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ การศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาตลอดชีวิต สำหรับการปฏิรูปสื่อมวลชนนั้น สื่อต่างๆ ในสังคมไทย ควรทำหน้าที่เป็น “ผู้นำทางความคิด” ให้กับคนในสังคม โดยทำหน้าที่ เสริมสร้าง ความคิด ความเข้าใจ ความรู้ใหม่ ๆ และสิ่งดี ๆ ให้สังคม

ระยะยาว การปฏิรูปการศึกษา และปรับระบบการศึกษา จะต้องดำเนินการให้เป็นจริง ต่อเนื่องเป็นระบบในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้โดยองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันในการพัฒนาการศึกษา การเรียนรู้ และการสร้างปัญญาให้กับคนในสังคม การปฏิรูป สื่อมวลชนให้ มีความสมดุล คือทั้ง เสรีภาพ และจรรยาบรรณสื่อมวลชน มีความสำคัญใน การเสนอข้อเท็จจริง และเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบการตั้งศูนย์อบรมภาวะผู้นำของสื่อมวลชน จะช่วยให้สื่อมวลชน มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

การสร้างจิตสำนึกความสามัคคี จิตสำนึกสาธารณะ และจิตสำนึกความมั่นคงในชาติ

แนวทางดำเนินการ การเน้นและให้ความสำคัญในวัฒนธรรมโรแมนติกมากกว่าวัฒนธรรม Rationalism , Materialism และ Utilitarianism โดยลัทธิโรแมนติกจะให้ความสำคัญในเรื่องของ Soul , Emotional , Heart หรือ Tradition ทำให้ประชาชนมีความผูกพันทางอารมณ์ เห็นคุณค่าทางศีลธรรมมีจิตใจที่ดีงาม คิดถึงส่วนรวม และสังคม และมีความเข้มแข็งทางจิตใจที่จะต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัตน์และระบบทุนนิยม ซึ่งทำให้คนหลงใหลไปกับเรื่องส่วนตัวหรือวัตถุมากเกินไป

ระยะสั้น สร้างคน สังคม ชุมชน เครือข่ายของสังคม ชุมชนให้เข้มแข็ง การสร้างคน หรือพัฒนาคนในสังคมรู้จัก คิดเป็น ทำเป็น ประยุกต์เป็น โดยการศึกษาที่มีความสมดุลที่ทางทฤษฎีและปฏิบัติ การศึกษาที่เป็นการสอนและฝึกให้คนเป็น “ คน ” ที่พ้นจากขอบเขตของความเห็นแก่ตัว การศึกษาที่ใช้ความรู้ความสามารถช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ทั้งในชุมชนและสังคม เครือข่ายของสังคม ชุมชน ประเทศชาติ ตลอดจนมนุษยชาติ

ระยะยาว วางเครือข่ายเพื่อสร้างจิตสำนึกความสามัคคี จิตสำนึกสาธารณะและจิตสำนึกความมั่นคงในชาติ การปลูกฝังแนวความคิดความเป็นชาตินิยมของคนในชาติ

แนวทางดำเนินการ การปลูกฝังแนวความคิดเป็นชาตินิยมของคนในชาติที่เหมาะสมกับสังคมไทย คือ ชาตินิยมแนวอนุรักษ์ (Conservative nationalism) โดยมีแนวทางที่ให้ ความสำคัญต่อวัฒนธรรมโรแมนติก ภาษา เศรษฐกิจ และ ศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นวัฒนธรรมโรแมนติก จะเป็นพื้นฐานความเข้มแข็งแก่จิตใจในความเป็นชาตินิยมที่ได้รับการพิสูจน์มาตลอดประวัติศาสตร์การตั้งขึ้นและมีอยู่ของชาติไทย การยกย่องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความโดดเด่นของชาติ

ระยะสั้น และระยะยาว ส่งเสริมการศึกษาและบำรุงพระพุทธศาสนา เนื่องจากศาสนาเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน ที่เป็นเอกลักษณ์ สืบเนื่องจากการมีพระพุทธศาสนาเป็นหลักประจำชาติ ประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาพุทธ ประมาณ 95 % ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งภาครัฐ เอกชน ทุกองค์กรต้องให้การสนับสนุน โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องเป็นผู้ประสาน และการจัดการงบประมาณที่เป็นธรรม

จุดเด่นที่เป็นข้อได้เปรียบในการส่งเสริมความเป็นชาตินิยม

•ไทยเป็นแหล่งพุทธศาสนาสำคัญของโลก

•ประชาชนไทยโดยทั่วไปมีอัธยาศัยดี

•ไทยเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์

•ไทยเป็นชนชาติที่มีทักษะในการบริการ

•ภูมิประเทศของไทยไม่ตั้งอยู่ในแหล่งภัยธรรมชาติรุนแรง

•สังคมไทยมีความกลมกลืนมีความแตกต่างน้อย

จุดเด่นที่จะส่งเสริมความเป็นชาตินิยมเชิงวัฒนธรรมและเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก ไทยเป็นแหล่งพุทธศาสนาที่สมบูรณ์ และพุทธธรรมก็แทรกอยู่ในผลงานของท่านเหล่านั้น ในรูปแบบต่าง ๆ ศาสนาพุทธเป็นที่นิยมกันในเกือบทุกทวีป เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ พม่า ลาว อเมริกาเหนือ อังกฤษ เยอรมัน เดนมาร์ก ออสเตรีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ประเทศเป็นแหล่งรวมความรู้ทางพุทธศาสนาทุกนิกาย (เถรวาท มหายาน เซ็น) ทุกระดับความเชื่อที่มุ่งเพื่อความหลุดพ้น เพื่อพัฒนาสังคมและวิถีชีวิต เป็นพื้นฐานที่งดงามของ วัฒนธรรมไทย ทำให้ประชาชนไทยมีอัธยาศัยดีที่สุดในโลก มีทักษะในการบริการ คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความโอบอ้อมอารี มีมิตรไมตรีปรากฎอยู่บนใบหน้า ท่าทาง รอยยิ้ม และปฏิสัมพันธ์ระดับต่าง ๆ ชาวต่างประเทศที่มาเมืองไทยจำนวนมากชอบคนไทยแม้เมื่อ คนไทยไปอยู่ในสังคมนานาชาติ ชนต่างชาติก็นิยมคบคนไทยเป็นเพื่อนมากเป็นอันดับแรก ไทยเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ประเทศหนึ่งในโลก มีความสมบูรณ์ด้านผลิตผลทางการเกษตร เป็นประเทศที่เลี้ยงตนเองได้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยไม่ ตั้งอยู่ในแหล่ง ภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด ไทยมีสังคมที่กลมกลืนมีความแตกต่างน้อย ชนชาติไทยมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นส่วนใหญ่ ไม่มีความแตกแยกทางศาสนารุนแรง

การปฏิรูปสังคมเพื่อลดจุดด้อยที่เป็นข้อเสียเปรียบในการส่งเสริมความเป็นชาตินิยม

จุดด้อยหรือข้อจำกัดที่เป็นข้อเสียเปรียบในการส่งเสริมความเป็นชาตินิยม คือ เราไม่นำจุดเด่นหรือข้อได้เปรียบมาใช้อย่างคุ้มค่าและไม่ได้พัฒนาให้ได้ประโยชน์สูงสุด เรายังไม่ได้ มีเป้าหมายที่ชัดเจนและแน่นอนในการสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ การเมืองของไทยยังไม่เข้มแข็ง สังคมไทยไม่มีระบบการสร้างผู้นำที่ดี ระบบราชการไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ วัฒนธรรมแกว่งตัวมากเกินไป ความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของระเบียบสังคม ความย่อหย่อนในทางวินัยสังคม และสังคมไทย ยังมิใช่สังคมแห่งการเรียนรู้

ข้อเสนอในการปฏิรูปสังคม

การปฏิรูปคุณธรรมและจริยธรรม

การพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของคนในสังคมมี จุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ การ มุ่งเปลี่ยนแปลงที่รากฐานความคิดของคนในสังคมให้ถูกต้องเพื่อให้คนในสังคมมีค่านิยม และมีพฤติกรรมที่ถูกต้องตามมา เพราะเมื่อเขากระทำเช่นนั้น เขาก็จะสามารถมีเสถียรภาพในการดำเนินชีวิตได้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการวางรากฐานทาง คุณธรรมและจริยธรรม ของประเทศอย่างเร่งด่วน สังคมของเราต้องการผู้นำที่มีคุณธรรม และ จริยธรรม ตั้งแต่ระดับ สูงสุด จนถึงระดับหน่วยย่อยที่สุดของสังคม ตลอดรวมไปถึงประชาชนทุกคนที่จะได้รับการสั่งสม และการปลูกฝังให้เกิดมีมาตรฐานทางจริยธรรม และคุณธรรม ที่สูงส่ง

การปฏิรูปทางการศึกษา

การศึกษาของเรายังอยู่ห่างไกลจากการพัฒนาคุณภาพของคนให้เต็มตามศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ยังไม่ได้ระดมทรัพยากรทางสังคมทั้งมวลมามีส่วนใน การจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ ยังไม่ได้สร้างคนที่คิดเป็น ทำเป็น และมีคุณธรรมและจริยธรรมอย่างที่ควรจะเป็น มีความจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาให้เป็นการศึกษาสำหรับคนทั้งมวลอย่างแท้จริง สังคมทั้งมวลต้องมีสิทธิเสรีภาพและบทบาทในการเข้ามาจัดการศึกษาและปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้จริง

การปฏิรูประบบรัฐ

ระบบรัฐประกอบด้วย ระบบการเมือง และระบบราชการ หากระบบรัฐขาดความถูกต้องสังคม ทั้งหมดย่อมวิกฤติอย่างยิ่ง ไม่ว่าพระจะสอนธรรมะสักเพียงใด หากไม่ปฏิรูประบบให้ถูกต้อง ศีลธรรมย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ระบบการเมืองของเราได้เริ่มปฏิรูปไปแล้วส่วนหนึ่ง ด้วยการมีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ยังต้องปฏิรูปต่อไป ส่วนระบบราชการ ซึ่งขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้นจำเป็นต้องมีการปฎิรูปบทบาทของทางราชการจากการเป็นผู้ปฏิบัติเองไปสู่การทำงานเชิงนโยบายและส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้อื่นทำโดยการกระจายอำนาจที่ควรกระจาย แต่เพิ่มความสามารถในการกำหนดกติกาที่เป็นธรรม มีการประเมินผลและการจัดทรัพยากรที่ถูกต้องให้เป็นระบบราชการที่กระฉับกระเฉง มีคุณค่าและจิตสำนึก มีความสามารถสูง มีความโปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตรวจสอบได้

การปฏิรูปเศรษฐกิจ

การปฏิรูปเศรษฐกิจของไทยเป็นการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ใน การพัฒนาเศรษฐกิจ ให้การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและ มุ่งประโยชน์แก่คนส่วนรวม

การปฏิรูปสื่อมวลชน

สื่อมวลชนเป็นผู้ให้ข่าวที่สำคัญมากในการนำเสนอข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ให้ประชาชนทราบ เป็นทั้งผู้ปลุกความคิด ให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมแก่มวลชน ดังนั้น บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของสื่อมวลชนจึงควรมีมาตรฐานสูงพอในฐานะที่เป็นผู้ชี้นำทางความคิดของสังคม อย่างมี ประสิทธิภาพ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมควรเป็นหลักประกันสิทธิและ เสรีภาพของประชาชนและเป็นผู้ผลักดันให้ประชาชนรู้จักสิทธิของตนเองไม่ตกอยู่ภายใต้การใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมของเจ้าพนักงานของรัฐ

พ.อ.ยุทธนาสินธุ์ ศรีนุรัตน์เดชา