แตกแบงค์พัน
ผู้เรียบเรียง:
1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
แตกแบงค์พัน
การเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งได้มีการนำระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่าระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม มาใช้เป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองต่างๆ ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ที่เคยได้รับความนิยมและมีฐานเสียงจากเขตเลือกตั้งต่างๆ อย่างเหนียวแน่นอาจได้เพียง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ส่วน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนั้นอาจไม่ได้รับการจัดสรรทั้งนี้เป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญที่ได้วางไว้ จึงทำให้พรรคการเมืองใหญ่บางพรรคโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้ใช้ยุทธศาสตร์ “แตกแบงค์พัน” ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ความหมาย หรือ แนวคิด
“แตกแบงค์พัน” เป็นคำศัพท์ที่สื่อใช้เรียกกลยุทธ์ในการจัดขบวนการของพรรคการเมืองในการสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ซึ่งใช้วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยเป็นระบบการเลือกตั้งหนึ่งที่ได้นำมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในการเลือกตั้งที่นำไปสู่การเกิดพรรคการเมืองเสียงข้างมากพรรคเดียว หรือได้รับความนิยมจากประชาชนเพียงพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งพรรคดังกล่าวในการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเพียงพรรค “แบงค์พัน” ที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่ซึ่งได้รับความนิยมสูง แต่ในการเลือกตั้งแบบระบบจัดสรรปันส่วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นั้น ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ที่หวังคะแนนเสียงจากประชาชนในระบบบัญชีรายชื่อจะค่อยข้างเสียเปรียบหากได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบเขตเลือกตั้งมาก ทำให้สื่อมองไปยังการปรับกลยุทธ์ของพรรคเพื่อไทย ที่ได้วางยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่จะแตกพรรคเล็กพรรคน้อยเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อรวบรวมคะแนนในเขตเลือกตั้งที่อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทยเคยแพ้คะแนนให้กับพรรคการเมืองอื่นซึ่งถูกเรียกว่า “เสียงตกน้ำ” เพื่อรวบรวมกันเป็นคะแนนเสียงในการคำนวนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่แตกออกจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้ยกวลีดังกล่าวออกมาพูดถึงในหน้าสื่อต่าง ๆ ทำให้กลายเป็นวลีที่สื่อนำไปเรียกยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นด้วยในเวลาต่อมา
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
การเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ภายใต้บทบัญญัติ
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เป็นระบบการจัดสรร
ปันส่วนผสมระหว่างระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองและระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยใช้บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 1 ใบ ทำให้พรรคการเมืองที่เคยชนะการเลือกตั้งในระบบการเลือกตั้งแบบเดิมที่เคยออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 มีการคาดการณ์ว่าพรรคการเมืองของตนอาจจะไม่ได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว เพราะการใช้บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใบเดียวเลือก ส.ส. เขต แล้วนำคะแนนเขตทั้งหมดมาคำนวนเพื่อคิดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อตามความนิยม ของพรรค เป็นสูตรที่คิดหาจำนวน “ส.ส. พึงมี” ของแต่ละพรรคการเมืองควรจะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าไหร่ โดย ณ ขณะนั้นได้มีการคาดคะเนว่า พรรคการเมืองพรรคหนึ่งจำเป็นต้องได้คะแนนเสียงเลือกตั้ง 70,000 คะแนน ถึงจะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ถ้าพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งมาก ๆ โดยที่คะแนนไม่ถึง 70,000 คะแนน เช่น 20,000 – 30,000 คะแนน พรรคนั้นก็จะได้คะแนนเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้ง ไม่ได้บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว[1]
ยกตัวอย่างจากการตรวจสอบของบีบีซีไทย ได้ทำการตรวจสอบผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปเมื่อ พ.ศ. 2554 พบว่า มีเพียง 32 เขตเลือกตั้งจากจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด 375 เขต ที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกิน 70,000 คะแนน แบ่งเป็นเขตเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย 18 เขตซึ่งทั้งหมดอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพรรคประชาธิปัตย์ 14 เขต ซึ่งอยู่ในภาคใต้ ขณะที่มีการคิดค่าเฉลี่ยของอดีตสามาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ 40,000 – 50,000 คะแนน นั้นหมายความว่าแม้ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้ง แต่คะแนนเลือกระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอยู่ในระดับติดลบ กลายเป็นการคิดยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน ร่วมกันตี” ที่ถูกสื่อมวลชนเรียกกลยุทธ์การต่อสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทยว่า “แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย” เพื่อกระจายอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคในระบบเขตเลือกตั้งที่ถูกจัดอยู่ในเกรด B (บี) ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองอื่นที่จัดเป็น “แบงค์ร้อย” เพื่อไปเก็บคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้กับระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้น แล้วกลับมารวมกันกับพรรค “แบงค์พัน” เพื่อเป้าหมายในการรวมกันจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง[2]
ทั้งนี้คำว่า “แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย” เริ่มมีการถูกพูดถึงครั้งแรกๆ ในช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ในฐานะยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่จะแตกพรรคเล็กพรรคน้อยเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อรวบรวมคะแนนในเขตเลือกตั้งที่อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทยเคยแพ้คะแนนให้กับพรรคการเมืองอื่นซึ่งถูกเรียกว่า “เสียงตกน้ำ” เพื่อรวบรวมกันเป็นคะแนนเสียงในการคำนวนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่แตกออกจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้ยกวลีดังกล่าวออกมาพูดถึงในหน้าสื่อต่าง ๆ ทำให้กลายเป็นวลีที่สื่อนำไปเรียกยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นด้วยในเวลาต่อมา
3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
กลยุทธ์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ถือเป็นยุทศาสตร์สำคัญของพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรที่ใช้เป็นตัวชี้วัดถึงอนาคตทางการเมืองและโอกาสการจัดตั้งรัฐบาล และถือเป็น "ทางเลือก" ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด สำหรับกฎกติกาการเมืองในระบบการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งทุกคะแนนมีผลต่อการนำมาคำนวณทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ
โดยเฉพาะเมื่อวิเคราะห์ระบบเลือกตั้งแล้ว จะพบว่าพรรคการเมือง ซึ่งเคยได้ ส.ส.ในระบบเขตเลือกตั้งจำนวนมาก ย่อมจะไปลดทอนโอกาสการได้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ จนยากจะมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบเดิม ด้วยเหตุนี้จึงแนวทางการจัดทัพเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เป็น “แบงค์พัน” เพื่อแตกเป็นพรรค “แบงค์ร้อย” แล้วเมื่อภายหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จพรรค “แบงค์ร้อย” ต่างๆ เหล่านั้นก็ค่อยรวมตัวกันสนับสนุนพรรค “แบงค์พัน” ในการจัดตั้งเป็นรัฐบาลขึ้น ซึ่งที่เห็นได้ชัด ตามที่สื่อมวลชนมองว่าเป็นพรรคแบ๊งก์ร้อยที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย มีดังนี้
1. พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่กำเนิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองที่เคยจดแจ้งจัดตั้งไว้เดิมตั้งแต่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 เดิมแรกจดแจ้งได้ใช้ชื่อพรรคการเมืองว่า พรรครัฐไทย ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคใหม่เป็นพรรคไทยรวมพลัง ซึ่งเคยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จนกระทั่งพรรคไทยรวมพลังได้จัดประชุมใหญ่ขึ้นเมื่อวันที่ 7ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคใหม่เป็นพรรคไทยรักษาชาติ ที่มีตัวย่อ ทษช. พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค อุดมการณ์ของพรรค นโยบายของพรรค รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งมี ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค และมีนักการเมืองอีกหลายคนที่ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ล้วนเป็นระดับแกนนำเดิมของพรรคเพื่อไทย
ทั้งนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช นายแพทย์ เชิดชัย ตันติศิรินทร์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสุธรรม แสงประทุม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ และนางสาวขัตติยา สวัสดิผล ทำให้พรรคไทยรักษาชาติ ถูกมองว่าอาจเป็นพรรคที่จะมาร่วมเก็บคะแนนพรรค เพื่อนำคะแนนไปรวมกับพรรคเพื่อไทยหลังเลือกตั้ง ด้วยกติกาการเลือกตั้งที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้พรรคขนาดใหญ่อย่างเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติซึ่งเป็นพรรคที่แตกออกมา จึงมีหน้าที่เก็บคะแนนเขตที่พรรคเพื่อไทยเคยแพ้เลือกตั้ง เพื่อนำคะแนนดิบไปแลกเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเห็นได้ชัดจากอดีตแกนนำพรรคจากเพื่อไทย ที่ย้ายพรรคไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติต่างลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักษาชาติ แต่น่าเสียดายที่ต่อมาได้มีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญให้มีการยุบพรรคไทยรักษาชาติและตัดสิทธิทางการเมือง
ของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ[3]
2. พรรคเพื่อธรรมได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนว่าเป็นพรรคการเมืองที่ถูกเตรียมไว้เพื่อรองรับพรรคเพื่อไทย โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561 ทางพรรคเพื่อธรรมได้จัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งปรากฏว่า นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แกนนำของพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พรรคเพื่อธรรมได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2561 โดยมีวาระสำคัญในการเลือกคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 11 คนและการรับรองรายงานการประชุมในการเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค
และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จำนวน 7 คน นอกจากนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงตราโลโก้หรือสัญลักษณ์ของพรรคเป็นรูป พ ลายธงชาติไทย ซึ่งในเวลาต่อมาไม่นานนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคได้ขอลาออก ทำให้พรรคเพื่อธรรมได้เรียกประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2561 ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกนางนลินี ทวีสิน เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ สำหรับนายสมพงษ์ อดีตหัวหน้าพรรคได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในสังกัดพรรคเพื่อไทย ในเขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้ายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ด้วย ส่วนพรรคเพื่อธรรมนั้นแม้จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้ง และระบบัญชีรายชื่อ แต่ไม่มีที่นั่งสมาชิกผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎร เพราะคะแนนรวมที่ได้ไม่ถึงเกณฑ์คำนวนที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
3. พรรคเพื่อชาติ ถูกมองว่าเป็นพรรคสำรองของพรรคเพื่อไทยต่อจากพรรคเพื่อธรรม รวมถึงอีกกระแสหนึ่งเชื่อว่าเป็นพรรคตัวแทน (นอมินี) ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพราะมีกระแสข่าวว่าแกนนำ นปช. จะเข้ามานั่งบริหารพรรคส่วนหัวหน้าพรรคจะเป็นผู้รู้ทางด้านเศรษฐกิจ โดยผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเพื่อชาติ มีนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้สนับสนุน โดยได้มีการจัดประชุมสามัญใหญ่ของพรรคครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561 และเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าอิมพิเรียลสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมักถูกมองว่าเป็นแหล่งชุมนุมของผู้ที่ชื่มชมแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งก็พบว่าผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงเดิม เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค โลโก้พรรค รวมถึงย้ายที่ทำการพรรค อีกทั้งยังได้กำหนดการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ใรวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์
อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชน จังหวัดสมุทรปราการ และเคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปีเนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนซึ่งถูกยุบพรรค และยังมีความใกล้ชิดกับ
ดร. ทักษิณ ชินวัตร มาหลายปี เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ทั้งนี้พรรคเพื่อชาติได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้ง และระบบบัญชีรายชื่อ แม้ไม่ได้ที่นั่งสมาชิกผู้แทนราษฎรจากระบบเขตเลือกตั้ง แต่เนื่องจากคะแนนเลือกตั้งจากระบบเขตทั้งประเทศมีถึง 419,393 คะแนน และเมื่อคำนวนที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อแล้วทำให้พรรคเพื่อชาติได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 5 คน
4. สาระบัญญัติ หรือ เนื้อหาหลัก (อาจมีการวิเคราะห์ หรือ เสนอแนะความเห็นของผู้เขียน)
ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เคยได้รับคะแนนนิยม และชนะการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา และได้จำนวน ส.ส. จำนวนมากพอที่จะสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อนหน้านี้
ย่อมทำให้พรรคเพื่อไทยต้องคิดหนักว่าจะยอมเสียที่นั่ง ส.ส. ที่จะหายไปตามระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ หรือจะยอมเสี่ยงปรับแผนลดขนาดของพรรค โดยการกระจายแกนนำไปอยู่พรรคอื่นเพื่อให้ได้เก้าอี้ ส.ส. มากขึ้น แต่ถือเป็นการยอมแลกกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาต่าง เริ่มตั้งแต่พลังความเข้มแข็งที่จะลดลงไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความเข้มแข็งของพรรคเพื่อไทยในอดีตนั้นส่วนสำคัญมาจากการผนึกกำลังของบรรดาแกนนำ อดีต ส.ส.จากทั่วประเทศเข้ามาทำงานร่วมกันจนมีจำนวนมากถึงขั้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเพียงพอที่จะผลักดันนโยบายสำคัญได้สำเร็จ แต่หากการสู้ศึกเลือกตั้งรอบนี้จำเป็นต้องแบ่งแกนนำออกไปเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้กับพรรคพันธมิตรอื่นๆ ย่อมทำให้ความเข้มแข็งที่เคยมีต้องถูกลดทอนลงไป ตามจำนวนแกนนำและอดีต ส.ส.ที่ออกไป ยิ่งออกไปมากเท่าไร
หรือยิ่งแตกไปตั้งหลายพรรคเท่าไรพลังความเข้มแข็งย่อมต้องถูกลดทอนไปเท่านั้น รวมทั้งในทางปฏิบัติแล้วคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถแบ่งพื้นที่กันได้ชัดเจนว่า พื้นที่นี้พรรคไหนจะคว้าชัยชนะได้ ส.ส.เขต หรือพรรคไหน แพ้แต่จะได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อลงสนามเลือกตั้งกันจริงๆ ทุกฝ่ายต่างต้องการหวังชัยชนะเป็น ส.ส.ด้วยกันทุกคน เช่น ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคอื่นที่เป็น “แบงค์ร้อย” ของพรรคเพื่อไทยตัดคะแนนผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคอื่นชนะการเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้งนั้น เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อฐานเสียงที่เคยเหนียวแน่นกับพรรคเพื่อไทยมาเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้ย่อมต้องคิดหนักว่าจะเลือกลงคะแนนให้ใคร หรือจะยึดปัจจัยใดมาเป็นเหตุผลในการตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคแบงก์พันหรือพรรคแบงก์ร้อย ที่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา หลายเขตเลือกตั้งต้องมาเป็นคู่แข่งกันเอง ยิ่งหากพิจารณาต่อไปถึงเรื่องการนำเสนอนโยบายของแต่ละพรรคแล้ว การที่พรรคเพื่อไทยจะต้องชูนโยบายหาเสียงของตัวเอง ขณะที่พรรคพันธมิตรจะมีนโยบายเป็นของตัวเองที่แตกต่างออกไปย่อมทำให้เกิดความสับสนในพื้นที่ ในขณะที่ประชาชนท่ามกลางความสับสนว่าพรรคไหนควรจะเป็นตัวจริงเสียงจริง ที่ประชาชนจะตัดสินใจเลือกเพื่อไปทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงในสภาผู้แทนราษฎร หรือเลือกไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ผลักดันนโยบายที่จะได้ออกแคมเปญหาเสียงกับชาวบ้านต่อไปอันอาจกลายเป็นจุดอ่อนเมื่อคนกันเองต้องมาลงสนามช่วงชิงเก้าอี้ โอกาสที่ฐานเสียงเดิมจะถูกแบ่งคะแนนกลายเป็นจุดอ่อนเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามอาศัยจังหวะนี้เข้ามาเป็น "ตาอยู่" คว้าชัยชนะไปแบบเหนือความ คาดหมายก็ย่อมมีความเป็นไปได้
5. สรุป
จากการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ทำให้พรรคการเมืองซึ่งเคยได้ ส.ส. ในระบบเขตเลือกตั้งจำนวนมากในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ แต่ในระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ พรรคการเมืองนั้นจะมีโอกาสการได้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อน้อยมาก หรือไม่ได้รับ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อเลย ด้วยเหตุนี้จึงมีการวางแผนการใช้แนวทางการจัดทัพเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่ หรือเรียกว่า “แบงค์พัน” เพื่อแตกเป็นพรรค “แบงค์ร้อย” แล้วเมื่อภายหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จพรรค “แบงค์ร้อย” ต่างๆ เหล่านั้นก็ค่อยรวมตัวกันสนับสนุนพรรค “แบงค์พัน” ในการจัดตั้งเป็นรัฐบาลขึ้น
ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นได้จากการที่สื่อมวลชนนำเสนอกรณีการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองที่มีแกนนำของพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น อาทิ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อธรรม หรือพรรคอื่นๆ เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ซึ่งพรรคต่างๆ เหล่านี้ถูกเรียกว่าพรรค “แบ๊งก์ร้อย” ของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็น “แบงค์พัน” นั่นเอง
6. บรรณานุกรม
พงศ์พิพัฒน์ บานชนนท์. (2562). แตกแบงพันค์เป็นแบงค์ร้อย หวังจะมีเลขศูนย์ทวีคูณ แต่อาจไม่เหลือสักสลึง.
สืบค้นจาก https://thematter.co/pulse/thairaksachart-party-destiny/71265,เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
พีพีทีออนไลน์ (2561). กลยุทธ์! เพื่อไทย –ไทยรักษาชาติ แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แก้เกมรัฐธรรมนูญ.
สืบค้นจากhttps://www.pptvhd36.com/news/, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
โพสต์ทูเดย์. (2561). กลยุทธ์แตกแบงก์พัน เพื่อไทยเสี่ยงอ่อนแอสูง. สืบค้นจาก
https://www.posttoday.com/politic/analysis/572405,เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (2561). เพื่อไทย: ถอดบทเรียนเลือกตั้ง 2562 กับสถานการณ์ใหม่ ชนะเลือกตั้ง
แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-48950003, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[1]หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (2561). เพื่อไทย: ถอดบทเรียนเลือกตั้ง 2562 กับสถานการณ์ใหม่ ชนะเลือกตั้ง
แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-48950003, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[2]อ้างถึงใน พงศ์พิพัฒน์ บานชนนท์. (2562). แตกแบงพันค์เป็นแบงค์ร้อย หวังจะมีเลขศูนย์ทวีคูณ แต่อาจไม่เหลือสักสลึง. สืบค้นจาก https://thematter.co/pulse/thairaksachart-party-destiny/71265,เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[3] พีพีทีออนไลน์ (2561). กลยุทธ์! เพื่อไทย –ไทยรักษาชาติ แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แก้เกมรัฐธรรมนูญ.
สืบค้นจากhttps://www.pptvhd36.com/news/, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563