แตกพรรค
เรียบเรียง:
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2.อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
แตกพรรค
การเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งได้มีการนำระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่าระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม มาใช้เป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองต่างๆ ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ที่เคยได้รับความนิยมและมีฐานเสียงจากเขตเลือกตั้งต่างๆ อย่างเหนียวแน่นอาจได้เพียง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ส่วน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนั้นอาจไม่ได้รับการจัดสรรทั้งนี้เป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญที่ได้วางไว้ จึงทำให้พรรคการเมืองใหญ่บางพรรคโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้เกิดการปรับตั้ง - แตกพรรค ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ความหมาย หรือ แนวคิด
“พรรคการเมือง” มีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย โดยส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมกันอยู่สามประการ ดังนี้[1]
1. เป็นกลุ่มบุคคลที่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมกัน
2. มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน คือ สมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นในทางการเมือง เศรษฐกิจ
และสังคมในแนวทางกว้างๆคล้ายๆกัน
3. มีวัตถุประสงค์ให้ได้มาซึ่งอำนาจมหาชน และใช้อำนาจนั้นดำเนินการหรือบริหารประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น ลักษณะประการนี้สำคัญยิ่งเพราะโดยธรรมชาติในสังคมอาจมีการรวมตัวกันของบุคคลที่มีความคิดเห็นคล้ายกันเข้าด้วยกัน หากแต่ถ้ากลุ่มดังกล่าวไม่ประสงค์จะเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ย่อมไม่ใช่พรรคการเมือง อาจเป็นสหภาพแรงงาน สมาคม หรือมูลนิธิเท่านั้น โดยสรุป ความหมายของพรรคการเมือง คือ กลุ่มบุคคลที่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมกันโดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน โดยกลุ่มดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะยึดกุมอำนาจรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เข้าเป็นรัฐบาลเพื่อดำเนินการตามอุดมการณ์ของตนให้สัมฤทธิ์ผล
ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองโดยตรง นั้นคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560[2] ซึ่งได้นิยาม “พรรคการเมือง” หมายความว่า
คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นมีขั้นตอนตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ดังนี้ มาตรา 9 บุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน และมีคุณสมบัติและ ไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ จํานวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนอาจร่วมกันดําเนินการเพื่อจัดตั้ง พรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี
(3) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ
(4) อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(5) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น
ในการดําเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง กำหนดไว้ในมาตรา 20 ให้พรรคการเมืองที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์สําคัญเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และมาตรา 22 กำหนดให้ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีหน้าที่ควบคุมและกํากับดูแลมิให้สมาชิกกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคําสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
สำหรับการปรับตัว – แตกพรรค นั้น หมายถึง การปรับตัวของพรรคการเมืองในการสู้ศึกการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส. ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ได้มีการจัดตั้งพรรคเล็ก พรรคย่อย เพื่อหวังจะทำให้ได้ที่นั่ง ส.ส. ในสังกัดมากขึ้น เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การเลือกตั้ง ซึ่งถูกบังคับโดยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่เคยชนะการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างพรรคเพื่อไทยจะต้องปรับตัว - แตกพรรค ตามยุทธศาสตร์การเลือกตั้งใหม่ของตนเองตามที่เกิดขึ้น
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
กลยุทธ์ "ปรับตัว - แตกพรรค" ถือเป็นยุทศาสตร์สำคัญของพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรที่ใช้เป็นตัวชี้วัดถึงอนาคตทางการเมืองและโอกาสการจัดตั้งรัฐบาล และถือเป็น "ทางเลือก" ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ภายใต้กฎกติกาการเมืองในระบบการเลือกตั้งใหม่ ที่เรียกว่าแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งทุกคะแนนเสียง ที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้รับมีผลต่อการนำมาคำนวณทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ
โดยเฉพาะเมื่อวิเคราะห์ระบบเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว จะพบว่าพรรคการเมือง ซึ่งเคยได้ ส.ส.ในระบบเขตเลือกตั้งจำนวนมาก ย่อมจะไปลดทอนโอกาสการได้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ จนยากจะมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบเดิม ด้วยเหตุนี้จึงแนวทางการจัดทัพเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เป็นพรรคหลักพรรคเดิมอย่างพรรคเพื่อไทย ด้วยการแตก/จัดตั้งพรรคย่อย หรือพรรคสาขา เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วเมื่อภายหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จพรรคสาขาต่างๆ เหล่านั้นก็ค่อยรวมตัวกันสนับสนุนพรรคหลักในการจัดตั้งเป็นรัฐบาลขึ้น ซึ่งที่เห็นได้ชัด ตามที่สื่อมวลชนมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่แตกออกจากพรรคเพื่อไทยที่สำคัญ มีดังนี้
1. พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่กำเนิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองที่เคยจดแจ้งจัดตั้งไว้เดิมตั้งแต่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 เดิมแรกจดแจ้งได้ใช้ชื่อพรรคการเมืองว่า พรรครัฐไทย ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคใหม่เป็นพรรคไทยรวมพลัง ซึ่งเคยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จนกระทั่งพรรคไทยรวมพลังได้จัดประชุมใหญ่ขึ้นเมื่อวันที่ 7ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคใหม่เป็นพรรคไทยรักษาชาติ ที่มีตัวย่อ ทษช. พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค อุดมการณ์ของพรรค นโยบายของพรรค รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งมี ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค และมีนักการเมืองอีกหลายคนที่ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ล้วนเป็นระดับแกนนำเดิมของพรรคเพื่อไทย
ทั้งนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช นายแพทย์ เชิดชัย ตันติศิรินทร์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสุธรรม แสงประทุม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ และนางสาวขัตติยา สวัสดิผล ทำให้พรรคไทยรักษาชาติ ถูกมองว่าอาจเป็นพรรคที่จะมาร่วมเก็บคะแนนพรรค เพื่อนำคะแนนไปรวมกับพรรคเพื่อไทยหลังเลือกตั้ง ด้วยกติกาการเลือกตั้งที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้พรรคขนาดใหญ่อย่างเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติซึ่งเป็นพรรคที่แตกออกมา จึงมีหน้าที่เก็บคะแนนเขตที่พรรคเพื่อไทยเคยแพ้เลือกตั้ง เพื่อนำคะแนนดิบไปแลกเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเห็นได้ชัดจากอดีตแกนนำพรรคจากเพื่อไทย ที่ย้ายพรรคไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติต่างลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักษาชาติ แต่น่าเสียดายที่ต่อมาได้มีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญให้มีการยุบพรรคไทยรักษาชาติและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ[3]
2. พรรคเพื่อธรรมได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนว่าเป็นพรรคการเมืองที่ถูกเตรียมไว้เพื่อรองรับพรรคเพื่อไทย โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561 ทางพรรคเพื่อธรรมได้จัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งปรากฏว่า นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แกนนำของพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พรรคเพื่อธรรมได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2561 โดยมีวาระสำคัญในการเลือกคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 11 คนและการรับรองรายงานการประชุมในการเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จำนวน 7 คน นอกจากนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงตราโลโก้หรือสัญลักษณ์ของพรรคเป็นรูป พ ลายธงชาติไทย ซึ่งในเวลาต่อมาไม่นานนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคได้ขอลาออก ทำให้พรรคเพื่อธรรมได้เรียกประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2561 ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกนางนลินี ทวีสิน เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ สำหรับนายสมพงษ์ อดีตหัวหน้าพรรคได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในสังกัดพรรคเพื่อไทย ในเขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้ายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ด้วย ส่วนพรรคเพื่อธรรมนั้นแม้จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้ง และระบบัญชีรายชื่อ แต่ไม่มีที่นั่งสมาชิกผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎร เพราะคะแนนรวมที่ได้ไม่ถึงเกณฑ์คำนวนที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
3. พรรคเพื่อชาติ ถูกมองว่าเป็นพรรคสำรองของพรรคเพื่อไทยต่อจากพรรคเพื่อธรรม รวมถึงอีกกระแสหนึ่งเชื่อว่าเป็นพรรคตัวแทน (นอมินี) ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพราะมีกระแสข่าวว่าแกนนำ นปช. จะเข้ามานั่งบริหารพรรคส่วนหัวหน้าพรรคจะเป็นผู้รู้ทางด้านเศรษฐกิจ โดยผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเพื่อชาติ มีนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้สนับสนุน โดยได้มีการจัดประชุมสามัญใหญ่ของพรรคครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561 และเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าอิมพิเรียลสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมักถูกมองว่าเป็นแหล่งชุมนุมของผู้ที่ชื่มชมแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งก็พบว่าผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงเดิม เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค โลโก้พรรค รวมถึงย้ายที่ทำการพรรค อีกทั้งยังได้กำหนดการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ใรวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์
อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชน จังหวัดสมุทรปราการ และเคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปีเนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนซึ่งถูกยุบพรรค และยังมีความใกล้ชิดกับ
ดร. ทักษิณ ชินวัตร มาหลายปี เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ทั้งนี้พรรคเพื่อชาติได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้ง และระบบบัญชีรายชื่อ แม้ไม่ได้ที่นั่งสมาชิกผู้แทนราษฎรจากระบบเขตเลือกตั้ง แต่เนื่องจากคะแนนเลือกตั้งจากระบบเขตทั้งประเทศมีถึง 419,393 คะแนน และเมื่อคำนวนที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อแล้วทำให้พรรคเพื่อชาติได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 5 คน
ทั้งนี้ ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวถึงกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้แยกไปตั้งพรรคใหม่ดังกล่าวนั้น เป็นเอกสิทธิ์แต่ละบุคคลสามารถตั้งพรรคใหม่ได้ ถือเป็นทางเลือกให้ประชาชนที่ไม่ยึดติดกับพรรคเดิมทางการเมืองอาจมองว่าเป็นพรรคสำรองหรืออะไหล่ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคใหม่ส่วนใหญ่เป็นพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่ออุดช่องว่างและเติมเต็มทางการเมืองนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต ดังนั้น การตั้งพรรคใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแกนนำพรรคเพื่อไทยเคยแตกมาเป็นพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคเพื่อชาติมาแล้ว แต่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค ดังนั้นแกนนำของพรรคไทยรักษาชาติจึงต้องรวบรวมสมาชิกตั้งพรรคใหม่เพื่อลุกขึ้นมาต่อสู้ทางการเมืองและทวงคืนประชาธิปไตยอีกครั้ง ภายใต้อุดมการณ์และทิศทางการเมืองแบบใหม่ที่ตอบโจทย์และสนองความต้องการประชาชนมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ การตั้งพรรคใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศและสังคมยังมีปัญหาที่รอแก้ไขอีกมาก จำเป็นต้องหาทางออกเพื่อให้เกิดทางเลือกที่หลากหลาย เพราะรัฐบาลไม่เปิดกว้างรับฟังปัญหาประชาชนมากนัก แต่ออกแบบการปกครองให้เดินตามระบอบทหาร หรือยุทธศาสตร์ 20 ปี โดยจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องเป็นสำคัญ ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเกิดการทะเลาะเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลา ในทางตรงกันข้าม หากเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะขัดแย้งอุดมการณ์และแนวนโยบายเท่านั้น จากปรากฏการณ์การแตกพรรคเพื่อตั้งใหม่ เชื่อว่าเป็นยุทธศาสตร์แตกเป็นลำน้ำสายย่อยเพื่อรวมตัวเป็นแม่น้ำสายใหญ่อีกครั้งเพียงแต่เปลี่ยนแนวคิดและยุทธวิธีใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม จับต้องได้ และพร้อมสู้ไปด้วยกันนั่นเอง[4]
3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
การปรับตัวของพรรคการเมืองภายใต้บริบทการเลือกตั้งระบบใหม่นั้น ยุทธพร อิสรชัย ได้อธิบายหลักการผ่านบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกติกาทางการเมืองเป็นอย่างมากทั้งในเรื่องระบบการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล และกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ บริบทการเลือกตั้งระบบใหม่ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2562 จึงมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่สำคัญอยู่ 5 ประการ ได้แก่[5]
ประการแรก ระบบการเลือกตั้งใหม่ที่เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 85 และ 91 ส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ค่อนข้างเสียเปรียบจากวิธีการลงคะแนนเสียง และวิธีการคำนวณคะแนนเสียง เนื่องจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่มีฐานที่มั่นในพื้นที่และ โครงสร้างเครือข่ายคะแนนเสียงค่อนข้างกว้างขวาง ทำให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมากตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีการคำนวณคะแนนเสียงที่มีลักษณะผกผันเมื่อได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจะน้อยลง
ประการที่สอง จำนวนเขตเลือกตั้งที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา มาตรา 83 ที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน โดย มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน มาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 คน การลดลงของจำนวนเขตเลือกตั้งจากเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่มี 375 เขตเลือกตั้งมาเป็น 350 เขตเลือกตั้ง ด้วยวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 86 เป็นผลให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลดลงทั้งสิ้น 23 จังหวัด จำนวน 25 คน หากพิจารณาจากจำนวนเขตเลือกตั้งและจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ลดลงดังกล่าว จะพบว่า พื้นที่ซึ่งลดลงส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์รวมถึงพรรคการเมืองขนาดกลางบางส่วน เช่น พรรคภูมิใจไทย และ พรรคชาติไทยพัฒนา ขณะที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อมีเพิ่มขึ้น ดังนั้น พรรคการเมือง ขนาดใหญ่จึงต้องปรับตัวโดยการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเดิมบางส่วนไปอยู่ในบัญชี รายชื่อของพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมพรรคการเมืองขนาด ใหญ่มีความเสียเปรียบในเรื่องวิธีการลงคะแนนเสียง และวิธีการคำนวณคะแนนเสียง ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใหญ่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเลือกตั้งเช่นเดียวกัน
ประการที่สาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนด บทลงโทษเข้มงวด มีโทษถึงขั้นยุบพรรค จนถูกกล่าวขานว่า ภายใต้กฎหมายฉบับนี้พรรคการเมืองจัดตั้งยาก แต่ถูกยุบง่าย เช่น มาตรา 28 ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรค การเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่ สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรค การเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เป็นต้น จากบทบัญญัติที่มีความ เข้มงวดในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองจึงเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ต้องปรับตัว เกิดข้อ วิพากษ์วิจารณ์พรรคสาขาหรือพรรคสำรองต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง
ประการที่สี่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตาม กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองเดิมหรือ พรรคการเมืองที่จัดตั้งก่อนกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันบังคับใช้กับพรรคการเมืองใหม่หรือพรรค การเมืองที่จัดตั้งหลังประกาศใช้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน ส่งผลให้พรรคการเมืองเดิมไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ครบถ้วนเท่ากับพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่
ประการสุดท้าย การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมลงคะแนนเสียงกับสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 272 ที่กำหนดว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่ง สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้ง บุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง สองสภา นอกจากนี้ หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้ง ไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง ในกรณีเช่นนั้นให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการ ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ หรือไม่ก็ได้ จากบทเฉพาะกาลดังกล่าว ส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภามีบทบาทสูงในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ บุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 269 กำหนดไว้ว่า ในวาระเริ่มแรกให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สรรหาและเสนอแต่งตั้ง คะแนนเสียงของสมาชิกวุฒิสภาจึงเป็น คะแนนเสียงที่ค่อนข้างมีเอกภาพเป็นอย่างมาก เมื่อการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ทั้งสองสภาหรือ 376 เสียงจาก 750 เสียงขึ้นไป ดังนั้น หากพรรคการเมืองขนาดกลางสามารถรวบรวมเสียงใน สภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่า 126 เสียงและร่วมกับเสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่มีเอกภาพดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะ จัดตั้ง “รัฐบาลผสม” ซึ่งเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร จนอาจกลายเป็นรัฐบาลผสมที่ขาด เสถียรภาพทางการเมืองและประสิทธิภาพทางการเมืองในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม หากมีการรวบรวมเสียงของ พรรคการเมืองขนาดใหญ่เข้ามาร่วมรัฐบาลด้วยก็อาจส่งผลให้รัฐบาลผสมดังกล่าวมีเสถียรภาพทางการเมือง มากขึ้น
4. สรุป
จากประเด็นต่างๆที่นำเสนอมาสามารถสรุปได้ว่า การปรับตัวของพรรคการเมืองภายใต้บริบทการเลือกตั้งระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวกับกติกาและบริบททางการเมืองใหม่ ประกอบกับภูมิทัศน์ทางการเมืองของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เหตุเพราะประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนานถึง 8 ปี ทำให้ความคิดทางการเมืองและสังคม รวมถึงอุดมการณ์ ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อทางการเมืองของผู้คนในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ยากต่อการประเมินของพรรคการเมืองต่างๆ ดังนั้นยุทธศาสตร์การปรับตัว – แตกพรรคของพรรคการเมืองในการสู้ศึกการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส. ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ได้มีการจัดตั้งพรรคเล็ก พรรคย่อย/พรรคสำรอง เพื่อหวังจะทำให้ได้ที่นั่ง ส.ส. ในสังกัดมากขึ้น เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การเลือกตั้ง ซึ่งถูกบังคับโดยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่เคยชนะการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากจะต้องปรับตัว - แตกพรรค ตามยุทธศาสตร์สู้ศึกการเลือกตั้งแบบใหม่ของตนเองตามที่เกิดขึ้น
5. บรรณานุกรม
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง. (ม.ป.ป.). “พรรคการเมือง”สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title,
สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก
https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
พีพีทีออนไลน์ (2561). กลยุทธ์! เพื่อไทย –ไทยรักษาชาติ แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แก้เกมรัฐธรรมนูญ.
สืบค้นจากhttps://www.pptvhd36.com/news/, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
มติชน. (2563). นักวิชาการส่อง ‘พท.’ แตกตัว-ตั้งพรรค (อีก) รับการเมืองวิถีใหม่. สืบค้นจาก
https://www.matichon.co.th/politics/news_2201709, เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
ยุทธพร อิสรชัย. (ม.ป.ป.). การปรับตัวของพรรคการเมืองภายใต้บริบทการเลือกตั้งระบบใหม่. สืบค้นจาก
https://image.makewebeasy.net/makeweb/0/aefC7RLgX/Document/ , เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
[1] เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง. (ม.ป.ป.). “พรรคการเมือง”สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title,
สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
[2] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก
https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[3] พีพีทีออนไลน์ (2561). กลยุทธ์! เพื่อไทย –ไทยรักษาชาติ แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แก้เกมรัฐธรรมนูญ.
สืบค้นจากhttps://www.pptvhd36.com/news/, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563
[4] มติชน. (2563). นักวิชาการส่อง ‘พท.’ แตกตัว-ตั้งพรรค (อีก) รับการเมืองวิถีใหม่. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2201709, เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563
[5]ยุทธพร อิสรชัย. (มปป.). การปรับตัวของพรรคการเมืองภายใต้บริบทการเลือกตั้งระบบใหม่. สืบค้นจาก https://image.makewebeasy.net/makeweb/0/aefC7RLgX/Document/ , เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563