แช่ม พรหมยงค์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


แช่ม พรหมยงค์ : จุฬาราชมนตรีหลังมีรัฐธรรมนูญ

          ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งผู้นำด้านศาสนาอิสลามที่สำคัญของไทยมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานีสืบต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งนี้ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ได้มีการแต่งตั้งพระจุฬาราชมนตรีขึ้นในปี 2473 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯแล้วหลายปีก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงตำแหน่งนี้จนกระทั่งถึงปี 2488 สมัยที่นายปรีดี พนมยงค์   ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และมีนาย ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการแต่งตั้งผู้นำทางศาสนาอิสลามคือ จุฬาราชมนตรี กันอีกครั้ง โดยแต่งตั้ง นาย แช่ม พรหมยงค์ ผู้ซึ่งมีความรู้ดีทางด้านศาสนาอิสลามและเคยมีบทบาทเป็นผู้ที่เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ สาย  พลเรือนที่มีนาย ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าสาย

          นาย แช่ม นั้นมีชื่อทางศาสนาว่า ซำซุดดิน นามสกุล มุมตาฟา มาเปลี่ยนเป็น พรหมยงค์ ในภายหลัง มีผู้เล่าว่าท่านเคารพรักในตัวนายปรีดี พนมยงค์ มากจึงได้ตั้งนามสกุลใหม่ให้คล้ายกัน  คุณแช่มเป็นคนเมืองพระประแดง ที่ปัจจุบันนี้คืออำเภอหนึ่งของจังหวัดสมุทรปราการ บิดาของท่านเป็นโต๊ะอิหม่าม ที่มัสยิดพระประแดง เป็นอาจารย์สอนศาสนาที่มีชื่อเสียง ตัวท่านเองเกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี 2444 ด้านการศึกษาระบุชัดต่างกว่าเด็กอื่นหลายๆ คน ว่าท่านได้เรียนเกี่ยวกับศาสนาและภาษาอาหรับตั้งแต่อายุประมาณ 8 ปี กับพี่เขย “ อาจารย์ยูซุฟ ศาสนกุล ” ที่มัสยิด  กูวะติลอิสลาม ที่ตำบลบ้านสมเด็จ จังหวัดธนบุรี และพออายุได้ 12 ปี บิดาก็ส่งไปเรียนที่นครเมกกะเป็นเวลาถึง 4 ปี แล้วจึงเดินทางกลับไทยเมื่ออายุได้ 16 ปี กลับมาอยู่เมืองไทยได้ไม่นานโต๊ะอิหม่ามมุสตาฟา ผู้เป็นบิดาก็ส่งท่านกลับไปยังตะวันออกกลางอีก คราวนี้ไปที่อียิปต์ซึ่งตอนนั้นยังถูกปกครองโดยอังกฤษไปนอกเที่ยวนี้นายแช่มได้เดินทางไปพร้อมกับนายบรรจง ศรีจรูญ และตวนกูมูไฮยิดดิน คนหลังนี้เป็นบุตรชายของ ตวนกู อับดุลกาเดร์ อดีตผู้ครองนครปัตตานี แต่เมื่อเดินทางถึงสิงคโปร์พอเรือจอด ตวนกู อับดุลกาเดร์ ก็ส่งคนมารับบุตรชายขึ้นฝั่งไปไม่ได้ให้เดินทางต่อไปอียิปต์ การไปอียิปต์ครั้งนี้ นาย แช่มได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ได้มีเพื่อนนักเรียนที่เป็นชาวมลายูหลายคนทำให้นายแช่ม สามารถใช้ภาษาได้ทั้งภาษามลายูและภาษาอาหรับ

          ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ปี 2475 นายแช่ม พรหมยงค์ ได้เข้าร่วมด้วย โดยอยู่ในสายพลเรือนที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า เขาเล่ากันว่านาย แช่ม ถูกชวนโดยนาย  บรรจง ศรีจรูญ เพื่อนที่เคยร่วมเดินทางไปเรียนหนังสือด้วยกันที่อียิปต์ นาย บรรจง นั้นเป็นเจ้าของร้านปืนที่บริเวณศาลาเฉลิมกรุง ตอนนั้นนาย แช่ม มีอายุได้ 31 ปี หน้าที่ของนาย บรรจง และ นาย แช่ม นั้นสำคัญทีเดียวเพราะต้องเข้าร่วมปฏิบัติการควบคุมตัวบุคคลสำคัญของฝ่ายรัฐบาลเดิมมากักไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ นาย แช่ม ยังได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ท่านมีความรู้และความสัมพันธ์อันดีคือเป็นผู้เข้าไปช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับดินแดนในตะวันออกกลางและคนไทยมุสลิมที่สามจังหวัดทางใต้

          จนกระทั่งถึงปี 2488 หลังจากมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 คน ในสมัยที่นายปรีดี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทางการได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามและแต่งตั้งนาย แช่ม พรหมยงค์ เป็นจุฬาราชมนตรี ว่ากันว่าท่านเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่มาจากนิกายสุหนี่ ตอนนั้นมีผู้คนคาดคะเนกันว่า นาย แช่ม จะเป็นผู้ไปเจรจากับฝ่ายที่ต้องการแยกตัวเพราะมีแรงหนุนจากมหาอำนาจที่ชนะสงครามถึงขนาดว่าจะให้บุตรชายของผู้ครองเมืองหนึ่งในสามจังหวัดกลับมาเป็นผู้ปกครองและท่านผู้นั้นรู้จักกับนาย แช่ม เป็นอย่างดี แต่การดำเนินการของนายแช่มยังไม่ปรากฏผลชัดเจนก็เกิดการผันเปลี่ยนทางการเมืองอย่างรุนแรงโดยมีการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 และต้องการลดชื่อเสียงของคนที่เคยทำงานเสรีไทย

          การยึดอำนาจครั้งนั้นมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของ นาย ปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าเสรีไทย เพราะคณะรัฐประหารต้องการจับกุมตัวให้ได้ แต่นาย ปรีดี ได้หลบพ้นการจับกุมตัวไปได้โดยนาย แช่ม ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยดังปรากฏความอยู่ในหนังสือ “ ประวัติผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง '24 มิถุนายน 2475 ”ที่มีว่า

          “...นาย ปรีดี พนมยงค์ ได้หลบภัยการเมืองเข้าไปอาศัยอยู่ในสถานทูตอังกฤษที่ถนนวิทยุ   มุมถนนสุขุมวิทขณะนั้นนาย แช่ม พรหมยงค์ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี มีสำนักงานและบ้านพักอยู่ที่ถนนราชดำริ(ตรงข้ามสนามม้าปทุมวัน) ทางฝ่ายทหารเรือได้ทำหน้าที่ประสานให้นาย แช่ม กับนาย ปรีดี พนมยงค์ ได้พบกัน และนาย แช่ม พรหมยงค์ ได้อาสาเป็นผู้นำทางพานาย ปรีดี พนมยงค์ เดินทางออกจากประเทศไทยทางทะเลไปหลบภัยอยู่ในสิงคโปร์และจีน ”

          คำบอกเล่านี้แสดงว่านาย แช่ม ได้มีส่วนในการพาออกนอกประเทศด้วย

          “...ส่วนตัวนาย แช่ม พรหมยงค์ ได้มาอาศัยลี้ภัยการเมืองอยู่ในรัฐกลันตัน อำเภอปาซีร์ปูเต๊ะ ประเทศมาเลเซีย และได้กลับเข้าประเทศไทยเมื่อ 10 มิถุนายน 2496 ”

          หลังจากลี้ภัยอยู่ที่มาเลเซียประมาณ 6 ปี นาย แช่ม จึงได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนในสมัยรัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม แต่ท่านก็พ้นจากตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแล้วเพราะรัฐบาลหลังการรัฐประหารได้ตั้งจุฬาราชมนตรีคนใหม่ขึ้นมาแทน

          นาย แช่ม พรหมยงค์ กลับมาไทยแล้วก็ไม่ปรากฏว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงอีก ท่านได้มีชีวิตอยู่สืบมาอีก 30 กว่าปี โดยได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 24 กรกฎาคม ปี 2532