เสวต เปี่ยมพงษ์สานต์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


เสวต เปี่ยมพงษ์สานต์ : นักการเมืองอาชีพ

            นักการเมืองไทยที่จะมีโอกาสทำงานการเมืองได้นานและค่อนข้างจะต่อเนื่องกันมีอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่มากนัก ส่วนเหตุนั้นก็มีทั้งที่มาจากปัจจัยภายนอก คือ ระบบเลือกตั้ง ไม่ได้มีอยู่ต่อเนื่องเพราะมีการปฏิวัติ รัฐประหารและปัจจัยจากการเลือกตั้งเอง เพราะไม่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้เข้าสภา คราวนี้มาลองดูชีวิตและงานการเมืองของนักการเมืองท่านหนึ่งที่มีโอกาสอยู่ในวงการเมืองมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ชนะการเลือกตั้งถึง 8 ครั้ง แพ้ในสนามเลือกตั้ง 3 ครั้ง ได้เป็นรัฐมนตรีและเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 รัฐบาล แต่ที่ท่านเป็นที่จดจำมากเป็นพิเศษ คือ ท่านเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งในสองพรรคที่กล้าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในยามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจในการตั้งรัฐบาล และล้มรัฐบาลให้อยู่ในมือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง และรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่พรรคของท่านเข้าร่วมโดยท่านได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีก็อยู่ได้เพียงระยะเวลาที่สั้นมาก ไม่ทันได้เข้าบริหารประเทศก็ต้องพ้นตำแหน่ง เพราะรัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสแรกที่เข้าแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร นักการเมืองท่านนี้ คือ นาย เสวต เปี่ยมพงษ์สานต์ หัวหน้าพรรคเกษตรสังคม ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดระยอง

            นาย เสวต เปี่ยมพงษ์สานต์ เป็นคนเมืองระยอง โดยเกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2453 ที่จังหวัดระยอง มีบิดาชื่อ เหลียง มารดาชื่อ เจียม ดังนั้น การศึกษาในเบื้องต้นของท่านจึงเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดระยอง จนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 ซึ่งในสมัยนั้นเป็นชั้นเรียนสูงสุดที่มีการจัดการเรียนการสอนอยู่ในจังหวัดระยอง ตอนที่เรียนอยู่ในระดับประถม ท่านเป็นผู้มีประวัติการเรียนดี เรียนเก่งจนได้เรียนข้ามชั้น เขาเล่ากันว่าท่านเรียนปีเดียวข้าม 2 ชั้น เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 แล้ว ต้องเดินทางเข้าเมืองหลวง มาหาที่เรียนใหม่ในกรุงเทพฯ และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 เมื่อมีอายุได้ 18 ปี ต่อมาในปี 2472 จึงได้เข้าเรียนวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ท่านเรียนอยู่ 3 ปี จบได้เป็นเนติบัณฑิตทางกฎหมายในปี 2475 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ  แม้จะมีนักเรียนกฎหมายบางคนเข้าร่วมงานเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ก็ตามแต่เสวต เปี่ยมพงษ์สานต์ ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น ครั้นมีการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นในปี 2477 และได้เปิดให้มีการศึกษาในระดับมหาบัณฑิต เสวตก็ยังได้ไปเรียนระดับปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยใหม่แห่งนี้ด้วย ย่อมแสดงว่าท่านสนใจเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ หรือการเงินการคลังมาตั้งแต่ต้นแล้ว และท่านก็ศึกษาจบได้เป็นมหาบัณฑิตทางเศรษฐศาสตร์เป็นคนที่ 2 ของมหาวิทยาลัย  ในปี 2482 ด้านชีวิตครอบครัว ท่านได้แต่งงานกับคุณ โสภา กาญจนาคพันธุ์  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2476 แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม คือประชาชนต้องเลือกผู้แทนตำบล จากนั้นผู้แทนตำบลจึงไปเลือกผู้แทนราษฎรอีกทีหนึ่ง ในวันที่ 15 พฤศจิกายน  และต่อมาอีก 4 ปี ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 2480 เสวต เปี่ยมพงษ์สานต์ มีความสนใจการเมืองมาก ตอนนั้นท่านรับราชการอยู่ที่ต่างจังหวัด ได้ติดตามข่าวเรื่องการเลือกตั้ง และอยากลงสมัครแข่งขันที่บ้านเกิด คือ จังหวัดระยอง แต่ก็คิดว่าตนยังไม่พร้อม เพราะไม่ได้เตรียมตัว ผู้คนที่ระยองยังไม่รู้จัก จึงคิดว่าจะไปลงสมัครในคราวหน้า และคงเกินความคาดหมายของท่าน การเลือกตั้งครั้งต่อไปมาถึงเร็วกว่ากำหนด ถัดมาอีกเพียงปีเดียวรัฐบาลแพ้เสียงในสภา นายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนาจะขอลาออกแต่ประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ เห็นว่าควรยุบสภา จึงให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 12 พฤศจิกายน ปี 2481 คุณเสวตทราบข่าวขณะที่กำลังบวชเป็นพระอยู่จึงได้ลาสิกขามาลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3  แต่ท่านก็สู้ผู้แทนคนเก่าไม่ได้ ต่อมาบ้านเมืองต้องเข้าสู่ภาวะสงคราม ทำให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางเลื่อนการเลือกตั้งได้ และมีการเลื่อนการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง จนสงครามสงบลง นายกรัฐมนตรีหลังสงคราม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 6 มกราคม ปี 2489

            ตอนที่รัฐบาลยุบสภาในวันที่ 18 ตุลาคม ปี 2488 นั้น คุณเสวต ได้รับราชการอยู่ที่กระทรวงการคลังแล้ว ท่านได้ตัดสินใจลาราชการไปลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดระยอง โดยไม่ต้องลาออกจากราชการ เพราะไม่ได้ลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ตนทำงานอยู่ คุณเสวตเขียนเล่าถึงการหาเสียงที่น่าสังเกตว่า

            “สำหรับการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนั้น ไม่มีการใส่ร้ายป้ายสีกัน ไม่มีการซื้อขายเสียง และไม่มีการแจกข้าวของหรือแจกเงิน เพราะผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีอยู่ 6 คน ต่างรู้จักมักคุ้นกันทั้งนั้น เฉพาะตัวข้าพเจ้าเองมีผู้สมัครเป็นญาติอยู่ถึง 2 คน และคนหนึ่งเป็นส.ส.ที่ถูกยุบสภา ผู้สมัครอีก 2 คนเป็นทนายความชั้น 2 และอีกคนหนึ่งเป็นอดีตนายกเทศมนตรี...”

            ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นเสวต เปี่ยมพงษ์สานต์ ชนะผู้สมัครทั้ง 5 ด้วยคะแนนนำลิ่วได้เป็นผู้แทนครั้งแรกในชีวิตการเมืองที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2481 ขณะที่มีอายุได้ 37 ปี โดยเป็นผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด และเสวตก็ได้เล่าว่าตอนแรกทางสภาฯ ได้ให้ไปทาบทามนาย ปรีดี พนมยงค์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ท่านปฏิเสธจึงได้เลือกนาย ควง อภัยวงศ์ กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และ คุณเสวต ก็ยังเล่าต่อไปอีกว่าท่านได้รับการทาบทามจากทางกลุ่มของนายกฯ ให้เป็นเลขานุการรัฐมนตรี แต่รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ มีอายุสั้น เพราะแพ้เสียงในสภา นายกรัฐมนตรีควงได้ลาออก ทางสภาหยั่งเสียงกันแล้วได้ไปขอให้นายปรีดี พนมยงค์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายปรีดี ครั้งนี้ปรากฏว่าคุณเสวตได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ ตัวนายปรีดี ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง แต่นายปรีดีก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ท่านลาออกในเดือนสิงหาคมปี 2489 คุณเสวตจึงเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลถัดมา คือ นายวิจิตร ลุลิตานนท์ สืบต่อมาจนเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ปี 2490 ล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์และล้มรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489

            นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเข้ามาเป็นนายกมนตรีจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2491 คุณเสวตจึงกลับ ไปลงเลือกตั้งที่จังหวัดระยองอีกและชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนอีกเป็นครั้งที่สอง  พอเปิดสภาผู้แทนราษฎร ทางสภาฯ เลือกนาย ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่นายควง เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้สั้นนิดเดียว ในวันที่ 6 เมษายนปี 2491 คณะรัฐประหารก็ส่งนายทหาร 4 นาย ไปจี้ให้นายกฯควง อภัยวงศ์ ลาออก ซึ่งท่านยอมลาออกในวันที่ 8 เมษายน ปีนั้นนั่นเอง คราวนี้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลจอมพล ป. รู้ตัวดีว่าแม้ตนจะมีคณะรัฐประหารสนับสนุนอยู่ แต่ถ้าจะทำงานในสภาผู้แทนราษฎรให้ราบรื่น ก็ต้องมีเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนให้มาก พอดังนั้น จึงมองไปที่บรรดาสมาชิกสภาฯ ที่ไม่สังกัดพรรคและสมาชิกสภาฯ ที่อยู่พรรคประชาธิปัตย์ให้ออกจากพรรคมาสนับสนุนรัฐบาล เช่นได้นายเลียง ไชยกาล จากพรรคประชาธิปัตย์มา ครั้งนั้นคุณเสวตได้สนับสนุนรัฐบาลจอมพล ป. อยู่ด้วย ท่านจึงได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นรัฐมนตรีที่ทำให้พระยาเทพหัสดินลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี 2493

            สภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกมาในปี 2492 นี้ ก็อยู่มาได้ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายนปี 2494 เท่านั้น เพราะคณะผู้ปกครองประเทศชั่วคราวที่ มีพลเอก ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าได้เข้ามายึดอำนาจ ล้มรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2492 ล้มรัฐบาลจอมพล ป. ไปชั่วคราว แล้วก็กลับเอา จอมพล ป. มาเป็นนายกฯ ใหม่อีกครั้ง จึงไม่มีสภาผู้แทนราษฎรไปจนถึงต้นปี 2495 จึงมีรัฐธรรมนูญใหม่และมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นในปี 2495 คุณเสวตจึงกลับไปลงเลือกตั้งที่จังหวัดระยองอีก และก็ได้รับเลือกตั้งอีกเป็นครั้งที่ 3 แต่ครั้งนี้ท่านไม่ได้เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของจอมพล ป. แต่ก็เป็นสมัยแรกที่ท่านได้เป็นผู้แทนฯ อยู่จนครบวาระ 5 ปี จนมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี2500 ที่คุณเสวตลงเลือกตั้งในนามพรรคเสรีมนังคศิลา และชนะเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 4 แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกประท้วงจากนักศึกษาและคนจำนวนมากในกรุงเทพฯ ว่ามีการทุจริตจากฝ่ายรัฐบาล

            หลังเลือกตั้ง จอมพล ป. ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล และคุณเสวต ก็ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่มีพระบริภัณฑ์ยุทธกิจเป็นรัฐมนตรี รัฐบาลนี้อยู่ได้ไม่นานเพราะนอกจากจะเจอการประท้วงเลือกตั้งสกปรกจากนักศึกษาและประชาชนแล้ว ยังมีการขัดแย้งภายในรัฐบาลที่สนับสนุนจอมพล ป. คือ พล. ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ กับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ผลก็คือจอมพล สฤษดิ์ ได้เข้ายึดอำนาจในวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 ล้มรัฐบาล ล้มสภาผู้แทนราษฎรแต่ก็ไม่ได้ล้มรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2500 คุณเสวต จึงกลับไปลงเลือกตั้งที่เดิมโดยไม่สังกัดพรรค และก็ชนะเข้าสภาได้เป็นผู้แทนราษฎร อีกเป็นครั้งที่ 5 และได้เป็นรัฐมนตรีลอยร่วมรัฐบาลพลโท ถนอม และขยับเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่มี ดร.เสริม วินิจฉัยกุล เป็นรัฐมนตรี ต่อมาจอมพล สฤษดิ์ก็กลับมายึดอำนาจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่กว่าจะร่างเสร็จกินเวลา 10 ปี

            ในการเลือกตั้งปี 2512 คุณเสวตกลับไปลงเลือกตั้งที่บ้านเกิด อีกเป็นครั้งที่ 6 และชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ต่อมาจอมพล ถนอม และคณะได้ยึดอำนาจ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 ที่จอมพล ถนอม ยังคงเป็นหัวหน้ารัฐบาล จนนำไปสู่เหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” ที่มีการขับไล่รัฐบาลออกได้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จัดให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 และจัดการเลือกตั้งในปี 2518  ครั้งนี้ คุณเสวตบารมีทางการเมืองสูงได้เป็นหัวหน้าพรรคเกษตรสังคม นำพรรคเข้าสนามเลือกตั้ง ท่านเองก็ชนะเลือกตั้งอีกเป็นครั้งที่ 7 โดยพรรคของท่านจึงได้ร่วมตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยกับพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกฯ แต่รัฐบาลไม่ได้รับเสียงไว้วางใจ ดังที่กล่าวมาแล้ว

            รัฐบาลชุดต่อมามี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ได้ถึงปลายปี 2518 เกิดความแตกแยกจนมีการยุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่ตอนต้นปี 2519 คราวนี้ คุณเสวต ย้ายไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์ และลงเลือกตั้งที่เดิม ก็ยังชนะเลือกตั้งเข้าสภาเป็นครั้งที่ 9 เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ชนะ ได้เป็นแกนตั้งรัฐบาล คุณเสวต ก็ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี จนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง เกิดความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในเย็นวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 คุณเสวตจึงพ้นตำแหน่งการเมืองและเป็นการพ้นอย่างถาวร แม้ว่าหลังจากนั้นท่านยังกลับเข้ามาลงเลือกตั้งอีก 2 ครั้งที่จังหวัดระยอง แต่ก็แพ้เลือกตั้งทั้ง 2 ครั้งติดกันท่านจึงได้ยุติบทบาททางการเมือง

            เสวต เปี่ยมพงษ์สานต์ พ้นจากวงการเมืองมานาน จึงถึงแก่กรรมในวันที่ 10 ตุลาคม ปี 2445