เสด็จฯ เยือน ชวา บาหลี 4

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวา บาหลี พุทธศักราช ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่หลากหลายของผู้คนบนเกาะชวา และบาหลี

ทรงบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้เป็นภาพยนตร์และยังทรงเล่าเรื่องราวที่ทรงพบเห็นไว้ในพระราชหัตถเลขา มีลักษณะการเล่าเรื่องคล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ไกลบ้านในรัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่าง ทรงเล่าในพระราชหัตถเลขาความตอนหนึ่งว่า

“น้ำเสวยของฉันนั้นเวลาเชิญมาต้องกั้นกลดทองด้วย ขุนนางยกใส่ถาดมาเสมอหัวไหล่ แล้วลงคลานเอามาตั้งแล้วถวายบังคมด้วย คนใช้ที่โซโลไม่ไหว้ใครนอกจากสุนันเท่านั้น ซึ่งสุนันหมายถึงเจ้าผู้ครองนครในชวา”

อีกทั้งยังสนพระราชหฤทัยในประเพณี และวัฒนธรรมของชาวพื้นเมือง โดยที่ซองกอริติได้ทอดพระเนตรการแต่งงานตามประเพณีของชาวบ้าน ซึ่งทางการได้จัดถวายเป็นประเพณีการแต่งงานที่ใช้ไก่เสมือนสินสอดสำหรับเจ้าสาว โดยพระราชทานเงิน ๕ บาทกับเสมาทองคำมีอักษรพระปรมาภิไธยแก่เจ้าสาว ไว้ในโอกาสสำคัญของคู่บ่าวสาวนั้น

เกาะบาหลีเป็นพื้นที่ที่ผู้คนนับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก พระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่สำคัญ ตลอดจนพิธีกรรมทางศาสนา ที่เดนปาซาได้ทอดพระเนตรการประกอบพิธีกรรมของหัวหน้านักพรต ซึ่งสวดมนต์และทำน้ำมนต์ตามแบบวัฒนธรรมท้องถิ่น ทรงบันทึกภาพยนตร์เก็บไว้ด้วยพระองค์เอง

ภาพยนตร์ชุดประพาสชวา บาหลีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถ่าย เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ถ่ายถอดเรื่องราวโบราณคดี วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คนที่หลากหลาย นับเป็นผลงานทรงคุณค่าต่อการเรียนรู้และศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง

ที่มา

บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖