เสด็จฯ เยือน ชวา บาหลี 2
ด้วยทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในการเสด็จเยือนชวาและบาหลีในปีพุทธศักราช ๒๔๗๒ นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธหลายแห่ง โดยทรงบันทึกภาพยนตร์วัดวาอารามต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างละเอียดลออดุจดั่งทรงเป็นนักโบราณคดี โดยเฉพาะที่บุโรพุทโธนี้ ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๘-๙ โดยกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ ผู้ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงทรงสร้างพุทธสถานนี้ขึ้นเพื่อแสดงถึงศรัทธาอันเปี่ยมล้น
บุโรพุทโธ ก่อสร้างตามแบบศิลปะฮินดู-ชวา ซึ่งเป็นศิลปะชวาภาคกลางที่ผสมผสานระหว่างอินเดียและชวาได้อย่างกลมกลืนที่สุด บุโรพุทโธเปรียบเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ชั้น แต่ละชั้นแสดงคติธรรมทางพุทธศาสนา ชั้นแรกเป็นชั้นที่มีความหมายถึงการที่มนุษย์ยังวนอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด ชั้นที่สอง แสดงถึงการที่มนุษย์หลุดพ้นจากกิเลสทางโลกได้บ้าง และชั้นสุดท้าย คือ เป็นชั้นของการปฏิบัติธรรมขั้นสูงหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งปวง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปที่วัดเมนดุตแห่งนี้ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงด้วย วัดเมนดุตเป็นวัดในพุทธศาสนามหายานเช่นเดียวกับบุโรพุทโธ ตัวอาคารวัดเมนดุตทำจากศิลาและสลักรูปพระโพธิสัตว์ที่ผนังด้านนอกโดยรอบ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่เป็นต้นแบบศิลปะชวาที่งดงามมากองค์หนึ่ง มีพระพุทธรูปที่ประทับนั่งห้อยพระบาทในปางปฐมเทศนา ด้านขวาของพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ด้านซ้ายเป็นพระโพธิสัตว์วัชรปาณี ซึ่งเป็นแนวคิดในการสร้างพระศากยมุนีประกอบกับพระโพธิสัตว์อันเป็นแนวคิดแบบมหายาน
ปัจจุบันแม้ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธแล้วก็ตาม แต่โบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธก็ยังคงได้รับการบูรณะและดูแลรักษาเป็นอย่างดี
ที่มา
บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖