เสด็จฯ มณฑลปัตตานี ทอดพระเนตรสุริยุปราคา
ปรากฏการณ์ธรรมชาติครั้งสำคัญของโลกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การเกิดสุริยุปราคาเต็มคราสอีกครั้งในรอบ ๕๔ ปี นับจากปี พุทธศักราช ๒๔๑๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๕
สุริยุปราคาในพุทธศักราช ๒๔๗๒ นี้มีพื้นที่เพียงไม่กี่แห่งที่สามารถมองเห็นเงาที่กลืนกินดวงอาทิตย์เต็มดวงได้ หนึ่งในนั้น คือ บริเวณจังหวัดปัตตานี ด้วยพระบรมราโชบายการทูตสาธารณะและความสนพระทัยในด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นักวิทยาศาสตร์ชาวต่างชาติ เข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ และทรงรับอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดปัตตานีพร้อมสมเด็จพระบรมราชินี เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคา ทั้งที่เคยเสด็จประพาสแล้วครั้งหนึ่งก่อนหน้านั้น
พระองค์ทรงเยี่ยมเยือนค่ายนักดาราศาสตร์ทุกคณะไม่ขาดทั้งของอังกฤษ ของเยอรมัน และสถานสำรวจของสยาม ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพระราชอาคันตุกะทุกคณะโดยเท่าเทียมกันดังที่ทรงมีลายพระราชหัตถ์ที่ว่า
“การที่จะไปดูสุริยุปราคา คราวนี้อยากดูสถานที่และเครื่องมือของนักวิทยาศาสตร์ต่างๆด้วย มีแต่ปัญหาว่าจะมีมากี่คณะ และจะไปดูสุริยุปราคาที่คณะใด ถ้ามีหลายคณะ เอาดังนี้เห็นจะได้ คือ ไปเยี่ยมสถานที่ทุกคณะ แต่การดูเวลาสุริยุปราคาจริงนั้นๆ คงดูที่คณะที่เชิญมานี้ เพราะเชิญมาก่อนคนอื่น”
บ่ายวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๗๒ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินสถานสำรวจของคณะนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษซึ่งอัญเชิญเสด็จมาก่อนชาติอื่น ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มคราสแต่น่าเสียดายที่ทัศนวิสัยไม่ดีพอที่จะได้มองเห็นได้ชัดเจน
ที่มา
บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖