เลื่อนเลือกตั้ง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง :  รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม

ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย             


          การเลือกตั้ง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นกลไกสำคัญของรัฐที่ให้ประชาชนได้แสดงออกถึงการใช้อำนาจอธิปไตยผ่านกลไกการเลือกตั้ง ซึ่งต้องถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามวาระและโอกาสที่เหมาะสมซึ่งกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพื้นฐานของรัฐต่างๆ และการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอยังช่วยทำให้กระตุ้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองและทำให้ประชาชนเรียนรู้ทางการเมืองผ่านกิจกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ แต่สำหรับการเลือกตั้งของไทยที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นั้นกว่าที่จะสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ต้องถูกเลื่อนออกไปหลายคราวก่อนหน้านั้น ซึ่งผู้เขียนจะได้อธิบายดังต่อไปนี้

 

1. ความหมาย หรือ แนวคิด

การเลือกตั้ง (Election) หมายถึง กระบวนการเลือกผู้แทนโดยพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่แทนประชาชนในองค์กรต่าง ๆ การเลือกตั้งเป็นกระบวนการของการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยทางผู้แทน เพื่อให้ผู้แทนทำหน้าที่ในองค์การฝ่ายนิติบัญญัติ องค์การฝ่ายบริหาร ในบางประเทศมีการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ตุลาการด้วย[1]

สำหรับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์พื้นฐานบางประการ ดังนี้[2]

1. หลักการให้สิทธิเลือกตั้งโดยทั่วไป หมายถึง การที่พลเมืองทุกคนในรัฐนั้นมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ไม่อาจจำกัดหรือกีดกันไม่ให้สิทธิการเลือกตั้งโดยใช้ข้อพิจารณาทางการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพศ ภาษา ศาสนา เผ่าพันธุ์ ฐานะทางเศรษฐกิจ รายได้ จำนวนภาษีที่เสีย ลักษณะทางการศึกษาหรืออาชีพ ความคิดทางการเมือง ฯลฯ กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคนสามารถที่จะใช้สิทธิของตน หากมีความประสงค์ที่จะใช้สิทธิ แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการจำกัดสิทธิใดๆ เลย เพียงแต่ว่าการจำกัดสิทธิซึ่งขัดต่อการให้สิทธิเลือกตั้งโดยทั่วไป จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นที่อธิบายได้โดยชอบด้วยเหตุผล

2. หลักการเลือกตั้งโดยตรง หมายถึง การลงคะแนนเสียงของผู้ออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดว่าผู้ใดจะได้เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งโดยวิธีนี้เท่านั้นที่จะกล่าวได้ว่า
การเลือกตั้งเป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน

3. หลักการเลือกตั้งโดยเสรี หลักการนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเลือกตั้ง ซึ่งหากการเลือกตั้งมิได้เป็นไปตามหลักการนี้แล้ว หลักการพื้นฐานอย่างอื่นก็จะหมดความหมายไปโดยปริยาย และการเลือกตั้งนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หลักการเลือกตั้งโดยเสรี หมายความว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคนย่อมสามารถใช้สิทธิของตนได้โดยปราศจากการใช้กำลังบังคับ หรือความกดดันทางจิตใจหรือใช้อิทธิพลใดๆ ที่จะมีผลต่อการตัดสินใจ ไม่ว่าการใช้อิทธิพลเหล่านี้จะมาจากฝ่ายใด กล่าวโดยสรุปก็คือ
ผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะต้องสามารถใช้วิจารณญาณลงคะแนนเสียงได้อย่างอิสระในกระบวนการสร้างความคิดเห็นทางการเมืองที่เสรีและเปิดเผย

4. หลักการเลือกตั้งโดยเสมอภาค เป็นหลักการที่มีความสำคัญในทางปฏิบัติอย่างมากที่สุด ทำให้หลักสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งโดยทั่วไปมีความสมบูรณ์ขึ้นในแง่ที่ว่า จะทำให้คะแนนเสียงแต่ละคะแนนของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้มีโอกาสส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ อนึ่งหลักการนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการเลือกตั้งทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรับสมัคร การเตรียมการเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียง การนับคะแนน ตลอดจนการแบ่งสรรที่นั่ง ส.ส. ให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ

5. หลักการเลือกตั้งโดยลับ เป็นสิ่งสำคัญของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและเป็นหลักที่คุ้มครองหลักการเลือกตั้งโดยเสรี เพราะถ้าหากการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับแล้ว การเลือกตั้งนั้นไม่อาจที่จะเป็นการเลือกตั้งโดยเสรีได้ ตามหลักการในข้อนี้จะต้องดำเนินการโดยไม่ให้ผู้ใดทราบได้เลยว่า ผู้ลงคะแนนออกเสียงแต่ละคนตัดสินใจเลือกใคร แม้ว่าตัวผู้เลือกตั้งจะไม่ประสงค์ให้การเลือกตั้งของตนเป็นความลับก็ไม่อาจปฏิเสธหลักการนี้ และจะต้องดำเนินการเลือกตั้งของตนให้เป็นไปตามกติกาทั้งหลายที่ออกมาเพื่อรักษาความลับของการเลือกตั้งทุกประการ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เลือกตั้งจะปลอดจากการถูกข่มขู่ ซึ่งอาจมีขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งของประเทศไทยเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพื่อให้กลไกการเลือกตั้งได้มาซึ่งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในการใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนในการปกครองประเทศในตำแหน่งและระดับต่างๆ อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และผู้บริหารท้องถิ่นอื่น ๆ ด้วย จากการให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทำการลงคะแนนเลือกบุคคลที่พวกเขาเห็นสมควร ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปมาแล้ว 28 ครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา โดยครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562

 

2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

          ปรากฎการณ์ของการเลื่อนเลือกตั้งในประเทศไทย ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้นได้มีการรวบรวมไว้ดังนี้[3]

'1) การเลื่อนครั้งที่ '1: จากปลายปี พ.ศ. 2558 สู่การเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยย้อนไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงข่าวร่วมหลังการหารือกันระหว่างนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บอกว่าไทยจะมีการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2558
หรือต้นปี พ.ศ.2559 ซึ่งในเวลานั้นนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณา แต่แล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 สปช.
มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายบวรศักดิ์เป็นประธานยกร่างด้วยมติ 135 ต่อ 105 งดออกเสียง 7 ทำให้ต้องเริ่มนับหนึ่ง ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่

          2) การเลื่อนครั้งที่ 2: จากกลางปี พ.ศ. 2560 สู่ปลายปี พ.ศ. 2560 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับนายบันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ คาดว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี พ.ศ. 2560 ระหว่างการประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 23 กันยายน – 1 ตุลาคม 2558 ในเวลานั้นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ รับหน้าที่ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 แต่เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว กำหนดไว้ในมาตรา 267 ว่า กรธ. จะต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นที่มาของสูตรโรดแมปเลือกตั้ง 6+4 และ 8+5 คือร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน จากนั้นร่างกฎหมายลูก 8 เดือน และอีก 5 เดือนสำหรับจัดการเลือกตั้ง ดังนั้น ในเวลานั้นหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาลคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 แต่อย่างที่ทราบกันว่าการเลือกตั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

          3) การเลื่อนครั้งที่ '3:' จากปลายปี พ.ศ. 2560 สู่ปลายปี พ.ศ. 2561 แต่แล้วการเลือกตั้งก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในช่วงปลายปี พ.ศ.  2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ดังนั้น กระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือน จึงเพิ่งเริ่มนับหนึ่งได้ ตามกระบวนการนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะผ่านร่างกฎหมายลูกครบ 10 ฉบับภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 และคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2561

          4) การเลื่อนครั้งที่ 4: จากพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 กลับสู่ความไม่ชัดเจน จากแผนกำหนดการจัดการเลือกตั้งของคณะ คสช. ที่ชัดเจนที่สุดปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะ คสช. ประกาศกลางทำเนียบรัฐบาลว่า ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561
จะประกาศวันเลือกตั้ง ส่วนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป โดยแผนการนี้สอดรับกับกระบวนการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ และดูมีความเป็นไปได้อย่างมากที่สุด สำหรับการประกาศวันเลือกตั้งดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก พลเอกประยุทธ์ บินไปเยือนทำเนียบขาว เพื่อพบกับ
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าว กระแสข่าวเลื่อนเลือกตั้งยังมีต่อเป็นระยะ โดยมีกระแสข่าวว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจลงมติคว่ำร่างกฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่ง
ทำให้แผนการจัดการเลือกตั้งก็ต้องขยับเลื่อนออกไปอีก แต่ในที่สุด สัญญาณเลื่อนเลือกตั้งก็ปรากฏชัดเจนขึ้นจนได้ เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎนมีมติเสียงข้างมาก ปรับแก้ในมาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ขณะที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 มีมติเห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมากในการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง
ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน เพื่อให้ทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมความพร้อมมากขึ้น ดังนั้น แผนการเตรียมความพร้อมที่จะไปสู่การเลือกตั้งต้องเลื่อนจากกำหนดการเดิมอีกครั้ง มากที่สุดคือ 3 เดือนจากเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

5) การเลื่อนครั้งที่ 5: จากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 สู่ไม่เกินกรอบ 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังจากเปิดศักราช 2562 จากที่เข้าใจว่าจะเป็นการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง แต่ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นนับกรอบเวลา 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. อีก ซึ่งในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2562 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หอบแฟ้มเอกสารหนาหลายหน้ากระดาษ บนปกแฟ้มเขียนว่า ‘การเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อหารือกับ กกต. ถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม ซึ่งมีกิจกรรมประมาณ 15 วัน ทั้งก่อนและหลังช่วงวันพระราชพิธีฯ ความสำคัญของนายวิษณุ เครืองาม คือวันเลือกตั้งต้องมีขึ้นก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งต้องอยู่ในกรอบ 150 วัน เพราะเขียนในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ปัญหาคือ 150 วัน ครอบคลุมเฉพาะวันเลือกตั้ง
หรือต้องรับรองผลและประกาศผลการเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐบาลตั้งธงต้องการเลือกตั้งปลายเดือนมีนาคม หรือ 24 มีนาคม เพื่อให้ห่างจากกิจกรรมพระราชพิธีสำคัญมากที่สุด พร้อมยืนยันว่า 150 วัน ครอบคลุมเฉพาะวันเลือกตั้ง โดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า การประกาศผลการเลือกตั้งไม่รวมอยู่ในกรอบ 150 วัน เพราะมีอีกมาตราหนึ่งระบุว่า หลังจากการเลือกตั้งแล้วเสร็จ กกต. ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน  ขณะที่ฝ่าย กกต. ต้องการให้วันเลือกตั้งเป็นวันที่ 10 มีนาคม 2562 เพื่อให้ระยะเวลาในการประกาศผลเลือกตั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 60 วัน จะอยู่ในกรอบ 150 วัน หรือไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตามได้มีการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งมีผลทำให้ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งขึ้น

 

3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

สำหรับในการเลือกตั้งทั่วไปของไทยนั้นกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอํานาจในจัดหรือดําเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้มีการออกแบบระบบการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้จัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งหมายถึง การที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการใช้สิทธิ อย่างมีเสรีภาพ เพื่อมอบอำนาจอธิปไตยและความชอบธรรม ให้แก่บุคคลที่เข้าไปให้อำนาจปกครองแทนตน ตามขั้นตอนของกระบวนการเลือกตั้ง อย่างมีความสุจริตและโปร่งใส และความเป็นอิสระในการจัดการเลือกตั้ง คือ การจัดการเลือกตั้งที่ได้รับการสนับสนุนและคุ้มครองให้ปราศจากการบังคับข่มขู่จนประชาชนสามารถใช้ดุลยพินิจในการลงคะแนนเสียงได้อย่างมีอิสระ ซึ่งการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะสามารถปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ จะต้องมีเครื่องมือและบุคลากรที่พร้อม ในการอำนวยการและบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควรมีการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งอย่างจริงจัง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้สมัครและประชาชนทุกฝ่าย จึงจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพการบริหารจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งในสภาวะปกติและในการเผชิญเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ

นอกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องยึดหลักศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมและความถูกต้องชอบธรรมแล้ว ยังต้องมียุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการจัดให้มีศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง ที่สามารถสั่งการและประสานงานการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อให้ กกต. สามารถบูรณาการขอบเขตอำนาจให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ได้อย่างมีเอกภาพ จึงจะเกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจทางการเมืองของประชาชน ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างมียุทธวิธีที่เหมาะสม ทั้งในการสร้างจุดแข็งจุดอ่อน ด้วยการนำนโยบายการบริหารจัดการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการบริหารจัดองค์กร ด้านการจัดการการเลือกตั้ง ด้านกิจการพรรคการเมือง ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดจึงจำเป็นต้องสร้างมาตรฐาน ด้วยการปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน เช่น การรับคำร้อง การรับฟังพยานหลักฐาน  การวินิจฉัยชี้ขาดและการเสนอความเห็นที่ถูกต้องชัดเจนในการส่งฟ้องคดีต่อศาลในข้อเท็จจริงและข้อกฏหมาย รวมทั้งจะต้องวางยุทธศาสตร์ในการป้องกันการกระทำทุจริตเลือกตั้ง "เชิงรุก” โดยถือเป็น "วาระแห่งชาติ” ในการจัดให้มีศูนย์ประสานงานด้านการข่าวและศูนย์ป้องปรามการกระทำทุจริต เพื่อผนึกกำลังความร่วมมือผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จึงจะทำให้การควบคุม สั่งการ
ในกระบวนการตรวจสอบ มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ เป็นไปโดยประหยัด จนในที่สุดก็จะนำไปสู่ กระบวนการจัดการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรมตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง[4]

 

4. สรุป

การเลือกตั้ง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นกลไกสำคัญของรัฐที่ให้ประชาชนได้แสดงออกถึงการใช้อำนาจอธิปไตยผ่านกลไกการเลือกตั้ง ซึ่งต้องถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามวาระและโอกาสที่เหมาะสมซึ่งกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพื้นฐานของรัฐต่างๆ และการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอยังช่วยทำให้กระตุ้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองและทำให้ประชาชนเรียนรู้ทางการเมืองผ่านกิจกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ แต่สำหรับการเลือกตั้งของไทยที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นั้นกว่าที่จะสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อย 5 ครั้งตามที่ได้มีการรวบรวมไว้

 

5. บรรณานุกรม

เดอะสแตนดาร์ด. (2562). ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญ

สืบค้นจาก https://thestandard.co/postpone-election-5-times/เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563

บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ. (2530). กฎหมายเลือกตั้งเยอรมัน. วารสารนิติศาสตร์ 17 (3): 14 – 20.

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,

ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สืบค้นจาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF, เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :

ราชบัณฑิตยสถาน.

ศุภชัย สมเจริญ. (2558). ลดอำนาจ กกต. ไม่แก้ทุจริตเลือกตั้ง, สืบค้นจาก

https://www.ect.go.th/ect_en/news_page.php?nid=924&filename=,

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563

 

อ้างอิง

[1] ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :

ราชบัณฑิตยสถาน. น. 105

[2] บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ. (2530). กฎหมายเลือกตั้งเยอรมัน. วารสารนิติศาสตร์ 17 (3): 14 – 20

[3] เดอะสแตนดาร์ด. (2562). ย้อนที่มาเลื่อนเลือกตั้ง 5 ครั้ง ยุค คสช. จากปลายปี 2558 สู่ก่อนพระราชพิธีสำคัญสืบค้นจาก https://thestandard.co/postpone-election-5-times/เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563

[4] อ้างถึงในศุภชัย สมเจริญ. (2558). ลดอำนาจ กกต. ไม่แก้ทุจริตเลือกตั้ง, สืบค้นจาก

https://www.ect.go.th/ect_en/news_page.php?nid=924&filename=, เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563