เลือกตั้งล่วงหน้า
ผู้เรียบเรียง รศ.ประณต นันทิยะกุล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร
การที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง มีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ และในขณะเดียวกันรัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อประกันการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งด้วย ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง มีสิทธิในการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีถิ่นที่อยู่ ซึ่งอยู่จังหวัดอื่น นอกจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านน้อยกว่า 90 วัน ถึงวันเลือกตั้ง ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายเกินกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง โดยให้ยื่นคำขอลงทะเบียนต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นของอำเภอหรือเทศบาลหรือเขตที่ที่ตนอยู่ เพื่อขอใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจยื่นคำขอด้วยตนเองทางไปรษณีย์ หรือทำหนังสือมอบหมายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่นดำเนินการแทนก็ได้ โดยการยื่นตามแบบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือทำเป็นหนังสือที่มีชื่อตัว ชื่อสกุล หมายเลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน เขตเลือกตั้งและจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน พร้อมทั้งสำเนาเอกสาร คำรับรอง และแนบซองเปล่าติดแสตมป์ จ่าหน้าซองถึงตนเองพร้อมกับคำขอด้วย
อนึ่ง ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับคำสั่งจากทางราชการ (อาทิเช่น ทหารประจำการ ทหารกองประจำการ ตำรวจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือข้าราชการ) ให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีภารกิจจะต้องเดินทางไปนอกเขตเลือกตั้งที่ตนจะต้องไปใช้สิทธิลงคะแนน ให้แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง