เดือน บุนนาค
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เดือน บุนนาค : หัวหน้าพรรคสหชีพ
ในอดีตตอนที่มีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อเตรียมส่งคนลงเลือกตั้ง เมื่อ 70 กว่าปีที่แล้วนั้น มีพรรคการเมืองชื่อพรรคสหชีพเกิดขึ้น พรรคนี้เป็นพรรคที่มีนักการเมืองหัวก้าวหน้าซึ่งมีชื่อเสียงของภาคอิสานที่เคยเป็นเสรีไทยทำงานต่อต้านญี่ปุ่นหลายคนเข้าร่วมและคนที่เป็นหัวหน้าในตอนเริ่มตั้งก็คือ “ นายพลตาดุ” หลวงอดุลเดชจรัสอดีตอธิบดีกรมตำรวจและผู้ที่เป็นเลขาธิการนั้นได้แก่นักวิชาการสำคัญของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่ชื่อ เดือน บุนนาค และต่อมาไม่นานหลวงอดุลฯก็พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคไป ดร.เดือน บุนนาค จึงขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคสหชีพ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอุบลราชธานี นาย ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เข้ามาเป็นเลขาธิการพรรคแทนท่าน ในการเลือกตั้งที่มีขึ้นครั้งแรกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 6 มกราคม ปี 2489 นั้น พรรคสหชีพซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่น ปรากฏว่าพรรคการเมืองนี้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเป็นอย่างดีคู่กันมากับพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยเหมือนกัน พรรคแนวรัฐธรรมนูญนี้มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 สายทหารเรือเป็นหัวหน้าพรรค แต่บทบาททางการเมืองในพรรคสหชีพของ ดร.เดือน บุนนาค ไม่ปรากฏมากนักหากแต่บทบาทอื่นที่นำในสังคมได้ปรากฏมากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาททางด้านการศึกษา
เดือน บุนนาค เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน ปี 2448 ในตระกูลขุนนางสำคัญของแผ่นดิน คือตระกูลบุนนาค ที่บ้านริมถนนสินค้าในกรุงเทพมหานคร มีบิดาเป็นพระยา ชื่อ พระยาประเสนชิตศรี- พิลัย มีมารดาเป็นคุณหญิง ชื่อทรัพย์ ด้านการศึกษานั้นน่าจะเรียนเบื้องต้นในบ้านก่อนที่จะมาเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดราชบูรณะ จากนั้นจึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนดังที่อยู่ใกล้ๆกันคือ โรงเรียนสวนกุหลาบ ในปี 2455 และย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชันจนจบชั้นมัธยมปีที่ 4 ในปี 2459 แล้วจึงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสที่โรงเรียนระดับมัธยมปลายหรือ “ ลิเซ่ ” ที่เมืองเกรอนอบล์ และสอบเทียบได้จบ Baccalaureat ก่อนที่จะได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย คณะที่เข้าเรียนคือคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกรอนอบล์ ท่านเรียนจบปริญญาตรีเมื่อเดือน มิถุนายน ปี 2471 จากนั้นได้ย้ายเข้าไปเรียนที่เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสคือ นครปารีส ที่มหาวิทยาลัยปารีส จนจบปริญญาเอกด้านกฎหมาย ในเดือนพฤษภาคม ปี 2473 ขณะที่มีอายุเพียง 25 ปี นับว่าเป็นคนเรียนเก่งมากคนหนึ่งและได้เดินทางกลับไปฝึกงานที่กระทรวงยุติธรรม ได้เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2474 แต่ก็เป็นนักเรียนนอกที่ไม่ได้ร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯแล้วได้ถูกดึงตัวไปทำงานปรับปรุงกรมร่างกฎหมาย ส่วนชีวิตครอบครัวนั้นท่านได้สมรสกับคุณหญิงเยาวมาลย์
การย้ายมาทำงานที่คณะกรรมการร่างกฎหมายสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนั้นต้องถือว่าท่านเป็นตัวจักรที่สำคัญทำงานที่ใหม่อยู่ประมาณสองปีท่านก็ได้ขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในวันที่ 30 ตุลาคม ปี 2478 และดำรงตำแหน่งอยู่นานถึง 10 ปี ครั้นมีการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมาโดยเปิดเรียนตอนต้นปี 2477 ท่านก็ได้มาช่วยงานผู้ประศาสน์การ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และได้รับความไว้วางใจให้เป็นเลขาธิการคนแรกของมหาวิทยาลัย โดยได้ช่วยเป็นผู้บรรยายมาตั้งแต่เริ่มตั้ง
ในด้านการเมือง เดือน บุนนาค ได้ตำแหน่งทางการเมืองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้งในวันที่8 ตุลาคม ปี 2478 และอยู่ยาวนานจนถึงปี 2486 และกลับมาเป็นอีกตอนต้นปี 2489 ในเดือนมกราคม ปี 2489 สภาผู้แทนฯได้เลือกท่านขึ้นเป็นรองประธานสภาฯ ที่มีพระยามานวราชเสวี เป็นประธานฯแต่ก็เป็นอยู่ระยะสั้นเพราะได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี ต่อมามีรัฐธรรมนูญ ปี 2489 มีพฤฒสภา ท่านก็ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนฯให้เป็นสมาชิกพฤฒสภา
ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นท่านเริ่มเป็นรัฐมนตรีลอยในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามในเดือนมีนาคม ปี 2485 และต่อมาก็ได้เป็นรัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นสืบต่อมาในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ด้วย จากนั้นจึงไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ ทั้งของรัฐบาลนายควงและรัฐบาลของนายทวี บุณยเกตุ ท่านเว้นว่างไม่ได้เป็นรัฐมนตรีอยู่พักหนึ่ง พอนายปรีดี พนมยงค์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ดร.เดือน ก็กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ เมื่อเปลี่ยนตัวนายกฯมาเป็นหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ดร.เดือน ก็ยังเป็นสืบต่อมา และได้ขยับขึ้นเป็นรองนายกฯและควบรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯกับกระทรวงพานิชย์อยู่จนรัฐบาลถูกคณะรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490
เป็นคณบดีคณะพาณิชย์ฯและคณบดีคนแรกของคณะเศรษฐศาสตร์อีกด้วย ทั้งยังต้องเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ประศาสน์การ เมื่อนาย ปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางลี้ภัยจากการัฐประหารไปต่างประเทศอีกด้วย เรื่องการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ ท่านก็เป็นศาสตราจารย์ที่มีผลงานวิชาการเป็นที่ยอมรับกันมากหลังจากถูกรัฐประหารเมื่อปี 2490 แล้วท่านได้หันหลังให้การเมืองและมุ่งทำงานทางวิชาการสอนหนังสือนักศึกษาและให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป
ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค ได้อยู่ดูการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยต่อมาหลังจากหันหลังให้การเมืองนานถึง 35 ปี โดยประมาณ ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 2525