เกษม ศรีพยัคฆ์
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เกษม ศรีพยัคฆ์ : รัฐมนตรีข้าราชการ
เมื่อครั้งที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีคนชมว่าท่านรู้จักเลือกใช้คนดีมาดำรงตำแหน่งการเมืองที่สำคัญ และคนดีหลายคนสมัยโน้นนั้นจอมพล สฤษดิ์ ก็เลือกเอามาจากข้าราชการเก่าบ้าง ข้าราชการที่ยังประจำอยู่บ้างจากหลายกระทรวงในสมัยนั้น บางที่จึงเรียกเจ้ากระทรวงประเภทนี้ว่า " รัฐมนตรีข้าราชการ" คือเป็นนักการเมืองที่ไม่เคยลงเลือกตั้ง รับราชการมาด้วยความซื่อสัตย์และมีวิชาความรู้ดี ในบรรดารัฐมนตรีข้าราชการนี้ มีเกษม ศรีพยัคฆ์ อดีตปลัดกระทรวงเศรษฐการ อยู่ด้วยท่านหนึ่ง ดังนั้นจึงน่าจะมารู้จัก เกษม ศรีพยัคฆ์ กันบ้าง
เกษม ศรีพยัคฆ์ เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ตำบลพาหุรัด ซึ่งสมัยก่อนเรียกตำบลถนนทหารบกทหารเรือ อำเภอพระนคร เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2446 มีบิดาชื่อ แขก มารดาชื่อ ซ่วน บิดาของท่านมีอาชีพทนาย ดังนั้นฐานะทางบ้านจึงถือว่าดี การศึกษาเบื้องต้นนั้นเรียนที่โรงเรียนวัดสุทัศน์เทพวราราม และไปต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ จนจบชั้นมัธยม จากนั้นก็เข้าทำงานเป็นครูฝึกสอน ก่อนที่จะสอบชิงทุนกรมรถไฟหลวงไปเรียนวิชาการพาณิชย์ ที่สหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2463 จึงแสดงว่าท่านเป็นคนเรียนเก่ง ที่อังกฤษนั้นท่านได้เข้าเรียนที่ไบรตัน เทคนิคเกิล คอลเลจ ก่อนแล้วจึงไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ไปเรียนที่อังกฤษท่านก็ยังรักษาชื่อเสียงในเรื่องเรียนเก่งไว้ได้ จึงเรียนจบปริญญาตรีได้เกียรตินิยม เดินทางกลับประเทศไทยในปี 2468 มาเริ่มทำงานใช้ทุนอยู่ที่กรมรถไฟหลวงเมื่อวันที่ 8 มกราคม ปี 2468 โดยประจำที่กองเดินรถ และก็ก้าวหน้าในงานที่กรมรถไฟหลวงมาด้วยดี ส่วนชีวิตครอบครัวได้สมรสกับคุณหญิงประมูล
ท่านทำงานเป็นข้าราชการประจำผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่และผ่านสงครามการเมืองของไทยที่เรียกว่ากบฏบวรเดชในปี 2476 ทั้งสองครั้งนี้มีคนมีความรู้และข้าราชการได้รับความกระทบกระเทือนไปกันมาก แต่เกษม ศรีพยัคฆ์ ก็ยังคงทำงานอยู่ที่กรมรถไฟหลวงต่อมาได้
จนถึงปี 2485 เวลานั้นหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านต้องย้ายงานจากกรมรถไฟหลวงข้ามกระทรวงไปทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ และที่ต้องย้ายก็เพราะกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าท่านเป็นคนดีมีความรู้ต้องการเอาท่านมาเป็นหัวหน้ากรมส่งเสริมองค์การค้า ตอนนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คือพลตรี จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ว่าการรถไฟด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง การโยกย้ายตำแหน่งข้ามกระทรวงจึงไม่เป็นปัญหา และในปีถัดมากรมรถไฟก็ย้ายเอานักเรียนทุนของกรมรถไฟคือ นายเกษม ศรีพยัคฆ์ กลับที่ทำงานเก่ามาเป็นรองอธิบดีกรมรถไฟ
การเมืองภายในของไทยช่วงเวลาสงครามก็มิได้ราบเรียบ ถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2487 รัฐบาลที่เคยเข้มแข็งของหลวงพิบูลสงครามก็ถูกสภาผู้แทนราษฎรเล่นงาน สภาฯไม่ยอมผ่านกฎหมายอนุมัติพระราชกำหนดสองฉบับติดต่อกัน นายกฯจึงต้องลาออก หลังจากนั้นมีนายกฯตามมาอีก อีก 5 ราย เกษม ศรีพยัคฆ์ ก็ยังอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน
จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2489 ในสมัยรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ระยะเวลาหลังสงคราม รัฐบาลเห็นปัญหาเรื่องสินค้าว่าสำคัญมาก รัฐบาลจึงขอตัวเกษม ศรีพยัคฆ์ มาเป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน ท่านจึงต้องออกมาจากกรมรถไฟที่ท่านรัก ท่านทำงานอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ต่อมาอีกประมาณ 5 ปี ในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2494 ในสมัยที่หลวงพิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกฯ ทางกรมรถไฟต้องการท่านมาเป็นกรรมการรถไฟ ท่านก็ยินยอมลาออกจากราชการเพื่อไปเป็นกรรมการรถไฟ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ 48 ปี เขาว่ากันว่าการเป็นกรรมการรถไฟของท่านนั้นท่านต้องไปทำงานทุกวัน และอีก 3 ปีต่อมากระทรวงเศรษฐการซึ่งยังติดใจฝีมือ ขอให้ท่านกลับเข้ารับราชการเป็นปลัดกระทรวง ตอนนั้นหัวหน้ารัฐบาลก็ยังคงเป็นหลวงพิบูลสงคราม แต่ท่านก็เป็นปลัดกระทรวงเศรษฐการได้ไม่นาน ในวันที่ 25 กรกฎาคม ปี 2498 รัฐบาลก็เอาตัวท่านข้ามกระทรวงไปเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
จนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม ปี 2501 ในสมัยที่พลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี เกษม ศรีพยัคฆ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคาร ที่ท่านลาออกนี้ก็มิใช่ว่ามีแรงบีบทางการเมือง หากเป็นเรื่องที่ภายในองค์การธนาคารแห่งประเทศไทยเอง มีผู้เล่าว่า เพราะพนักงานธนาคาร “ร่วมกันกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกเงินของธนาคารไป” แต่ท่านก็ออกไปว่างงานรับบำนาญอยู่ได้ไม่นาน ประมาณ 3 เดือนต่อมามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเมืองไทย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับมายึดอำนาจซ้ำอีกครั้ง ที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” ในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 คราวนี้หัวหน้าปฏิวัติได้เชิญ เกษม ศรีพยัคฆ์ ไปเป็นกรรมการที่ปรึกษาเศรษฐกิจของคณะปฏิวัติ ครั้นถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ปี 2502 จอมพล สฤษดิ์ ได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญนับเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่สองของไทยขึ้นมา เกษม ศรีพยัคฆ์ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย ต่อมาเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล เกษม ศรีพยัคฆ์ ก็ได้รับการชวนเข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ หลวงถวิลเศรษฐพณิชย์การ อดีตปลัดกระทรวงเขียนเอาไว้ว่า
“การกลับมากระทรวงเศรษฐการของท่านครั้งนี้ เป็นที่ชื่นชมยินดีของข้าราชการ ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยในกระทรวง ส่วนท่านเองก็มีความรู้สึกว่าได้กลับบ้านเดิม ความสุขใจเกิดขึ้นแก่ทุกคน ...”
เกษม ศรีพยัคฆ์ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการอยู่ในรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ จนสิ้นสุดอายุรัฐบาลเพราะนายกรัฐมนตรีถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่ง แต่ในรัฐบาลต่อมาของพลเอก ถนอม กิตติขจร ท่านก็ยังอยู่ร่วมรัฐบาลในตำแหน่งเดิมมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รวมเวลาได้ 6 ปี ท่านเสียชีวิตในวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 2508