อาสาสมัครเพื่อสังเกตการเลือกตั้ง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


อาสาสมัครเพื่อสังเกตการเลือกตั้ง

           อาสาสมัครเพื่อสังเกตการเลือกตั้ง เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการจัดตั้งหรือรวมกลุ่มใน 2 ลักษณะ ได้แก่

           ลักษณะที่ 1 การรวมกันเป็นองค์การเอกชนที่ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งองค์การเอกชนในที่นี้ หมายความถึง ชมรม หรือกลุ่มบุคคล สมาคม มูลนิธิ หรือองค์การอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล ซึ่งก่อตั้งโดยเอกชนเพื่อดำเนินกิจการอันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกันโดยมิใช่เป็นการแสวงหากำไร รายได้ หรือผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน มีความเป็นกลางทางการเมืองและไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยองค์การเอกชนที่มีความประสงค์จะช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หรือการช่วยเหลือในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง และต้องดำเนินกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อสาธารณประโยชน์มาเป็นเวลาต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

           อย่างไรก็ดี การยื่นคำขอรับรององค์การเอกชน จะต้องยื่นคำขอต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การเอกชนนั้นตั้งอยู่และยื่นคำขอตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรับรององคก์ารเอกชน โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองเมื่อมีประกาศให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งองค์การเอกชนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว มีสิทธิเสนอขอรับงบประมาณสนับสุนนกิจกรรมตรวจสอบการเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยการช่วยเหลือตรวจสอบการเลือกตั้ง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

           (1) การรับแจ้งเหตุ เป็นการรับแจ้งเหตุการณ์จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร พรรคการเมือง อาสาสมัคร หรือบุคคลใด ในเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้สมัคร พรรคการเมือง อาสาสมัครหรือบุคคลใด กระทำการอันอาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

           (2) การสำรวจค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแต่ละคนที่ใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี และค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแต่ละพรรคที่ใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

           (3) การสอดส่องและสังเกตการณ์เพื่อป้องกันการทุจริต เป็นการสอดส่องเพื่อป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้ง การสังเกตการณ์การหาเสียง ของผู้สมัครพรรคการเมือง หรือบุคคลใด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี การสอดส่องเพื่อป้องกันการทุจริตการลงคะแนน การนับคะแนน และการประกาศผลการนับคะแนน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี

           ทั้งนี้ ในการดำเนินการจะมีการแต่งตั้งอาสาสมัคร (อสส.) ประจำหน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วยปฏิบัติหน้าที่ก่อนวันเลือกตั้ง โดยหาข่าว ข้อมูล เบาะแส การกระทำความผิดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น และรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในวันเลือกตั้ง ทั้งนี้ คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จะอำนวยความสะดวก โดยจัดที่นั่งให้อาสาสมัคร (อสส.) นั่งสังเกตการณ์การการลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนนเลือกตั้ง และประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้งนั้น

           ลักษณะที่ 2 การจัดตั้งโดยพรรคการเมืองหรือองค์กรเอกชนอื่นๆ โดยทั่วไปเกิดขึ้นในช่วงของการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองและองค์กรเอกชนนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการฝึกอบรม ติดตามและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของอาสาสมัครด้วยตนเอง รูปแบบที่เกิดขึ้นมักเป็นการจัดตั้งอาสาสมัครเท่ากับจำนวนหน่วยเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดในการเลือกตั้งนั้นๆ เพื่อติดตามตรวจสอบการเลือกตั้งไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตั้งแต่การลงคะแนน ไปจนถึงในช่วงนับคะแนน ในอดีตองค์กรที่มีบทบาทอย่างมากในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ได้แก่ เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง และมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันอาสาสมัครเพื่อสังเกตการเลือกตั้งยังขยายขอบข่ายการดำเนินการไปยังองค์กรเอกชนนานาชาติ อาทิ เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) เป็นต้น

บรรณานุกรม

“เปิดศูนย์องค์กรเอกชนสนับสนุนการเลือกตั้ง กทม. ที่บ้านมนังคศิลา 13 ก.ค. นี้”.สืบค้นจาก https://www.   ryt9.com/s/prg/270888(21 กรกฎาคม 2563).

“ปชป.ตั้งอาสาสมัครจับตาทุกหน่วยเลือกตั้ง”.สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/politic/news/    206806(21 กรกฎาคม 2563).

“ภารกิจสังเกตการณ์การเลือกตั้งนานาชาติสำหรับการเลือกตัง้ทั่วไปของราชอาณาจักรประเทศไทยในปี           2562”. สืบค้นจาก https://anfrel.org/wp-content/uploads/2019/03/ANFREL-Thailand-       Interim-Report-Thai-2.0.pdf(21 กรกฎาคม 2563).

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. “การมีส่วนร่วม”. สืบค้นจาก https://www.ect.go.th/ect_th/Ewt_    w3c/ewt_news.php?nid=767&filename=(21 กรกฎาคม 2563).

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.2562.ความรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งท้องถิ่น. สืบค้นจาก        https://www.dlt.go.th/th/download.php?ref=M2E0LJyirTkjoz13q29ZMT1sM2I0oTycrTM           jpJ1Sq2IZoT1vM2S0qTysrPMjAz0kqmWZAz1kM0I0MTycrS8oSo3Q (21 กรกฎาคม 2563).