อัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากัน
ผู้เรียบเรียง พัชร์ นิยมศิลป
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู
ข้อมูลพื้นฐานและความหมาย
อัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากัน (Common Effective Preferential Tariff : CEPT) เป็นการลดอัตราภาษีศุลกากรแก่สินค้าที่นำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) จุดเริ่มต้นการใช้อัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากันเริ่มมาจากปฎิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนฉบับที่ 1 ค.ศ.1976 (Declaration of ASEAN Concord I) ซึ่งเป็นตราสารอาเซียนฉบับแรกที่วางรากฐานความร่วมมือทางด้านความมั่นคง การเมืองและเศรษฐกิจ ต่อมาใน ค.ศ. 1977 ผู้นำอาเซียนได้ตกลงให้มีการให้สิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางการค้าของอาเซียน (ASEAN Preferential Trading Arrangement: PTA) อย่างไรก็ดีแม้จะได้มีการเริ่มต้นการลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1978 แต่การลดหย่อนตามข้อตกลงนี้ก็ไม่ได้ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศอาเซียนขยายตัวเท่าที่ควรเนื่องจาก สิทธิพิเศษทางการค้าที่ตกลงกันได้ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นไม่ตรงกับความต้องการของแต่ละประเทศสมาชิก อีกทั้งมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอีกด้วย
จากปัญหาที่อาเซียนยังไม่เปิดตลาดให้แก่กัน ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 23 ( 23rd Meeting of the ASEAN Economic Ministers) ระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม ค.ศ. 1991 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศไทยได้เสนอแนวความคิดในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนขึ้น ที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับแนวความคิดนี้และมีมติให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนโดยใช้อัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากัน (CEPT) เป็นกลไกสำคัญในการลดภาษีขาเข้า ส่วนสินค้าที่มิได้อยู่ในบัญชีรายการ CEPT ก็ให้ใช้ PTA หรือกลไกอื่นๆ ที่คู่กรณีได้ตกลง ต่อมาใน ค.ศ. 1992 ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 ประเทศสิงคโปร์ นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีของไทยได้เสนอตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนขึ้น โดยกำหนดกรอบเวลาให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายใน 15 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 1993 เป้าหมายนี้ได้ถูกลดลงจาก 15 ปี เป็น 10 ปี ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 26 โดยกำหนดให้ AFTA เสร็จสิ้นภายใน 1 มกราคม ค.ศ. 2003
วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
CEPT มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การค้าภายในภูมิภาคอาเซียนเป็นไปโดยเสรี มีอัตราภาษีศุลกากรที่ต่ำสุดและปราศจากข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกที่มุ่งเปิดเสรีทางการค้า ประเทศและภูมิภาคต่างๆ ต่างปรับตัวเข้าสู่ระบบการค้าเสรี นอกจากนั้นการรวมกลุ่มและการให้สิทธิพิเศษทางภาษีเป็นกลไกหนึ่งที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
สำหรับเป้าหมายในการดำเนินการลดภาษีนั้น ประเทศอาเซียน 6 (บรูไน อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทยและสิงคโปร์) ได้กำหนดให้ลดอัตราอากรสินค้าผูกพันภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนลงเหลือร้อยละ 0 จากจำนวนสินค้าในบัญชีลดภาษี (Inclusion Lists) ภายใน ค.ศ. 2003 และลดภาษีในบัญชีดังกล่าวทั้งหมดภายใน ค.ศ. 2010 ส่วนประเทสมาชิกอาเซียนใหม่ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม จะได้รับการผ่อนปรนการดำเนินการ ดังนี้
เวียดนามและกัมพูชาจะลดอัตราอากรสินค้าตาม CEPT ลงเหลือร้อยละ 0 เป็นจำนวนร้อยละ 80 ของสินค้าในบัญชีลดภาษี (Inclusion Lists) ภายใน ค.ศ. 2010 และจะลดทั้งบัญชีภายใน ค.ศ. 2015 ส่วนลาวและพม่าจะลดภาษีสินค้าในบัญชีเหลือร้อยละ 80 จากสิ้นค้าทั้งหมด ภายใน ค.ศ. 2012 และลดเพิ่มเป็นทั้งบัญชีภายใน ค.ศ. 2015 ทั้งนี้อาจมีบ้างสินค้าที่จะได้รับการยืดหยุ่นให้ยืดเวลาที่จะต้องลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ได้ถึง ค.ศ. 2018
สาระของ CEPT
CEPT ใช้หลักการลดภาษีต่างตอบแทน กล่าวคือ ประเทศสมาชิกจะสามารถใช้สิทธิพิเศษฯ จากการลดภาษีสินค้าใดสินค้าหนึ่งบนบัญชีได้ต่อเมื่อได้ลดสินค้าชนิดเดียวกับนั้นลงเหลือร้อยละ 20 หรือต่ำกว่า ดังนั้นหากประเทศสมาชิกได้แม้จะได้ลดภาษีสินค้าขาเข้าของตนแล้วแต่อัตราภาษียังคงสูงกว่าร้อยละ 20 ก็จะใช้สิทธิพิเศษได้เฉพาะกับประเทศสมาชิกที่ลดภาษีสินค้าชนิดเดียวกันซึ่งมีอัตราภาษีสูงกว่าร้อยละ 20 เท่านั้น ไม่สามามารถใช้สิทธิพิเศษจากประเทศสมาชิกที่มีอัตราภาษีสินค้าชนิดนั้นที่มีอัตราภาษีที่ร้อยละ 20 หรือต่ำกว่าได้
CEPT กำหนดเงื่อนไขของสินค้าที่จะได้รับสิทธิพิเศษไว้สามประการหลัก ได้แก่
(1) จะต้องเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีการลดภาษีตาม CEPT
(2) สินค้าจะต้องมีคุณสมบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์แหล่งกำหนดสินค้า ( Rules of Origin: ROO)
(3) สินค้าจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การขนส่งโดยตรงภายใต้ CEPT
เอกสารอ้างอิง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ . 2552. “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและ AFTA” accessed on July 13. 2014<http://www.thaifta.com/thaifta/Home/tabid/36/ctl/Details/mid/436/ItemID/5689/Default.aspx>.
ASEAN Framework Agreement on Enhancing Economic Cooperation Article 2 A.2.
Rule of Origin for the Agreement on the Common Effective Preferential Tariff Scheme For the ASEAN Free Trade Area (CEPT-AFTA- ROO) accessed on July 13, 2014. <http://www.asean.org/images/archive/17293.pdf>.