อัตตลักษณะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ
อัตลักษณะของสภาที่ปรึกษาฯ
การมีสภาที่ปรึกษาฯ เป็นองค์กรที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารประเทศของรัฐบาล และเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมี “เอกลักษณ์” หรือคุณลักษณะพิเศษแตกต่างจากองค์กรอื่น ที่อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีองค์กรใดในประเทศไทยที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
(1) สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ จำนวน 99 คน เป็นผู้แทนองค์กรประชาสังคมทุกภาคส่วน
(2) กระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ที่มีขั้นตอนการดำเนินการยุ่งยากและมีความซับซ้อนมาก
(3) สภาที่ปรึกษาฯ มีองค์ประกอบที่มีความหลากหลายมาก
(4) สภาที่ปรึกษาฯ เป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด
(5) สภาที่ปรึกษาฯ เป็นองค์กรที่ปลอดการเมือง
(6) สภาที่ปรึกษาฯ เป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจในทางปกครอง
(7) สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและไม่เป็นข้าราชการการเมือง[1]
ลักษณะความสัมพันธ์ของสภาที่ปรึกษาฯ กับภาคประชาสังคม ภาคการเมือง และภาครัฐ
ด้วยเหตุดังกล่าว สภาที่ปรึกษาฯ จึงควรที่จะมีลักษณะความสัมพันธ์กับภาคประชาสังคม ภาคการเมือง และภาครัฐ ดังต่อไปนี้[2]
(1) สภาที่ปรึกษาฯมีบ่อเกิดและฐานที่มาจากองค์กรประชาสังคม มีผลผลิตที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาสังคม และมีผลลัพธ์ที่จะก่อประโยชน์ให้กับประชาสังคมและประชาชนโดยรวม สภาที่ปรึกษาฯ จึงเสมือนเป็นองค์รวมขององค์กรประชาสังคม ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางหรือกลไกที่เชื่อมโยงระหว่างประชาสังคมทุกภาคส่วนไปสู่ภาครัฐ
(2) สภาที่ปรึกษาฯ เป็นองค์กรที่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มิใช่ผลประโยชน์ของนักการเมือง กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ดังนั้น สภาที่ปรึกษาฯ จึงไม่น่าจะเป็นสภาที่สาม ที่มีความเหมือนหรือความใกล้เคียงกับสภาการเมือง หรือมีสถานะและมีวัฒนธรรมหรือวิถีปฏิบัติไม่ต่างไปจากสภาการเมือง ที่ทำให้รูปลักษณ์ของสภาที่ปรึกษาฯ ผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ของการมีสภาที่ปรึกษาฯ

(3) การที่สภาที่ปรึกษาฯ มิได้เป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองใด ๆ และ สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สภาที่ปรึกษาฯ จึงไม่ควรทำหน้าที่เช่นเดียวกับภาครัฐ และน่าจะรวมถึงการทำหน้าที่เช่นเดียวกับองค์กรที่มีอำนาจทางปกครอง หรือมีวัฒนธรรมหรือวิถีปฏิบัติในลักษณะเดียวกับภาครัฐ หรือองค์กรที่มีอำนาจทางปกครอง
สภาที่ปรึกษาฯ จึงต้องมีสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ที่เป็นผู้แทนประชาสังคมที่แท้จริงและมีความสัมพันธ์กับประชาสังคมนั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับภาคประชาชน และต้องประสานงานกับเครือข่ายประชาสังคมอย่างใกล้ชิด โดยให้ภาคประชาชนและเครือข่ายประชาสังคมได้มีส่วนร่วมในกระบวนงานของสภาที่ปรึกษาฯ ทั้งในกระบวนการผลิตและการนำผลผลิตไปใช้ที่จะก่อประโยชน์ต่อประเทศ
สภาที่ปรึกษาฯ ควรระมัดระวังมิให้เกิดพฤติการณ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของนักการเมือง กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง และกลุ่มต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด และไม่ควรมีวิถีปฏิบัติหรือวัฒนธรรมเช่นเดียวกับสภาการเมือง ที่เปลี่ยนไปจากเจตนารมณ์ของการมีสภาที่ปรึกษาฯ
สภาที่ปรึกษาฯ ควรมีเส้นแบ่งเขตระหว่างสภาที่ปรึกษาฯ กับภาครัฐและองค์กรทางปกครองให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้สภาที่ปรึกษาฯ ในฐานะที่เป็นองค์รวมของประชาสังคมเสียไป และควร จะสร้างความสัมพันธ์กับภาครัฐในลักษณะของการมีส่วนร่วม และหากจะให้ดียิ่งขึ้น สภาที่ปรึกษาฯ ก็ควรจะพึ่งพิงรัฐและทุนให้น้อยที่สุด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 258 ได้ให้สภาที่ปรึกษาฯ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย และให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นนั้น หากมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ ทั้งคุณลักษณะพิเศษของสภาที่ปรึกษาฯ และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสภาที่ปรึกษาฯ กับประชาสังคม ภาคการเมือง และภาครัฐ ที่กล่าวแล้วนั้น ก็ควรจะหยิบยกไปพิจารณาเพื่อให้กระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังคงคุณลักษณะพิเศษและรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสภาที่ปรึกษาฯ กับประชาสังคม ภาคการเมือง และภาครัฐ ที่เหมาะสม ประกอบกันเป็นสภาที่ปรึกษาฯ หรืออาจเรียกได้ว่า คุณลักษณะพิเศษและรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าว เป็น “อัตตลักษณ์ของสภาที่ปรึกษาฯ” และหากมีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ ที่ทำให้องค์ประกอบของ “อัตตลักษณ์ของสภาที่ปรึกษา” ประการหนึ่งประการใดขาดหายไป เช่น สภาที่ปรึกษาฯ มีสถานะเป็นภาครัฐหรือองค์กรที่มีอำนาจทางปกครอง หรือมีวัฒนธรรมหรือวิถีปฏิบัติไม่ต่างไปจากภาครัฐ หรือองค์กรที่มีอำนาจทางปกครอง ก็อาจจะทำให้สภาที่ปรึกษาฯ มีความห่างไกลจากประชาสังคม หรือหากจัดให้สภาที่ปรึกษาฯ มีลักษณะใกล้เคียงกับสภาการเมือง ก็อาจจะทำให้บริบทของสภาที่ปรึกษาฯ เปลี่ยนไปได้
ท้ายนี้ สภาที่ปรึกษาฯ ยังคง “อัตตลักษณ์ของสภาที่ปรึกษาฯ” ดังกล่าว และสามารถสร้างระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์รวมเมล็ดพืชนานาพันธุ์ที่มีจิตสำนึกแห่งความดี และได้มีการรดน้ำ พรวนดิน และใส่ปุ๋ยอย่างเหมาะสม ก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่มีคุณูปการต่อบ้านเมือง เป็นรัตนะองค์กร[3] หรือองค์กรที่มีความประเสริฐ เจริญงอกงาม เป็นความร่มเย็น
ที่มา
พรรณราย ขันธกิจ. บทบาทและหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2548
วัชรา ไชยสาร. การพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รัฐสภาสาร. ปีที่ 56 ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2551 หน้า 64 – 91.
ดูเพิ่มเติม
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. 2546. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ. รัฐสภาสาร ปีที่ 51 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2546 : 1 – 16.
ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ชุดโครงการวิจัย การติดตามและประเมินผลบังคับใช้รัฐธรรมนูญ เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540. กรุงเทพมหานคร : สถาบันพระปกเกล้า., 2546
วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ และคณะ. รายงานการวิจัย เรื่อง สภาที่ปรึกษาฯ ในความคาดหวังของสังคมไทย และความเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาชน. สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ม.ป.ท., 2545.
_______. รายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การศึกษาการประสานความร่วมมือระหว่าง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับเครือข่ายภาคประชาชน และการศึกษาผลการพัฒนาตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ. สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ม.ป.ท., 2546.
อ้างอิง
- ↑ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิก สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (เรื่องเสร็จที่ 389/2548, 30 มิถุนายน 2548)
- ↑ วัชรา ไชยสาร. การพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รัฐสภาสาร. ปีที่ 56 ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2551 หน้า 64 – 91.
- ↑ ประเวศ วะสี. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สู่ความเป็นรัตนองค์กร. มติชน (22 กันยายน 2548).