อนาคตการเมืองไทยและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน *บทความนี้เป็นบทที่กล่าวถึงหลักการและเนื้อหาใหญ่ๆ ประเด็นที่สำคัญจะมีรายละเอียดเป็นบทความพิเศษที่จะช่วยขยายความให้กระจ่างยิ่งขึ้น โดยหาอ่านได้จาก http://www.dhiravegin.com


วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2549 เล่มที่ 3


ความนำ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 หรือรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 99 คน ถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง โดยจุดประสงค์หลักก็คือการพยายามปฏิรูประบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน ประเด็นหลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ การประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน การให้ประชาชนมีบทบาททางการเมืองอย่างเต็มที่ มีการเปลี่ยนแปลงการเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจ รวมตลอดทั้งการควบคุมการใช้อำนาจ การผสมผสานระหว่างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบอังกฤษและระบบประธานาธิบดี นอกเหนือจากการมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 10 องค์กรด้วยกัน

การทดสอบการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาทั้งหมด 9 ปี แต่ในปีต้นๆ มีการคาบเกี่ยวระหว่างระบบเก่าและระบบใหม่ แต่การทดสอบที่สำคัญที่สุดก็คือระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รวมสองสมัย (สมัยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2548 และสมัยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549)[1] การทดสอบในครั้งนี้นำไปสู่การเห็นจุดอ่อนของสังคมไทย ระบบราชการ ระบบการเมือง ประเด็นเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม ฯลฯ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

จากสิ่งที่กล่าวมานั้น ถึงแม้รัฐบาลภายใต้พรรคไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองทั้งในทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการทำให้สภาอยู่ครบ 4 ปี และมีรัฐบาลพรรคเดียวนั้น ก็ถูกหักล้างโดยส่วนที่เป็นลบอย่างมาก ทำให้สังคมตกอยู่ในภาวะที่มีความขัดแย้งขนาดหนัก ประกอบกับมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่เรียกว่ากลุ่มพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย กลุ่ม “ม๊อบสนธิ” กลุ่มนักวิชาการทั่วประเทศ กลุ่มเครือข่ายสมานฉันท์ปฏิรูปการเมือง กลุ่มสมาพันธ์ประชาธิปไตย สมัชชาคนจน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ องค์กรครูกู้ชาติ พรรคฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา ได้แก่กลุ่ม ส.ว. เอ็นจีโอ ฯลฯ เป้าหมายเพื่อต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ล้มล้าง “ระบอบทักษิณ” ปฏิรูปการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และแก้ไขปัญหาของกลุ่มองค์กร[2] โดยบางครั้งกลุ่มต่อต้านมีจำนวนเป็นแสนๆ คน และยังขยายตัวไปต่างประเทศทั้งยุโรปและอเมริกา

จากสถานการณ์ต่างๆ ประชาชนเกิดความเครียดทางจิตใจ สับสนในแง่ความถูกความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับจริยธรรม ความดีความชั่ว จนมีแนวโน้มที่จะเกิดการประจันหน้าถึงขั้นเกิดการเสียชีวิตและเลือดเนื้อ เลยไปถึงการเกิดสงครามกลางเมืองได้ และได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนอกกติการัฐธรรมนูญ นั่นคือการยึดอำนาจโดยฝ่ายทหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ตามทฤษฎีรัฐศาสตร์ การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คือการรัฐประหาร (coup d’ etat) แต่มีหลายฝ่ายมองว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยถูกฉีกทำลายไปแล้วก่อนจะมีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน เสียด้วยซ้ำเนื่องด้วยสภาพการเมืองตกอยู่ในสภาวะที่พรรคการเมืองพรรคเดียวควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร วุฒิสมาชิกบางส่วน และองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางส่วน จนกลายเป็นเผด็จการประชาธิปไตย ดังนั้น เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 จึงเป็นเพียงกระบวนการการฉีกรัฐธรรมนูญเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ (coup de grace)

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงวกกลับมาสู่สภาวะที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คือเหตุการณ์เมื่อ 14 ตุลา 2516 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 33 ปีที่แล้ว เป็นแต่ว่า 14 ตุลาคม 2516 นั้นเป็นกรณีที่ประชาชนลุกฮือขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร กรณี 19 กันยายน 2549 เป็นกรณีที่ทหารโดยการยินยอมของประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีพฤติกรรมและการกระทำที่เป็นเผด็จการภายใต้กรอบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

บทความนี้จะพยายามชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์และประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ อันจะส่งผลถึงอนาคตทางการเมืองและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สถานภาพและประเด็นทางการเมืองหลัง 19 กันยายน 2549

สถานภาพทางการเมืองไทยในขณะนี้ ถือได้ว่ามีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความรู้สึกที่ไม่มั่นใจเนื่องจากสภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยสภาวะทางการเมืองยังไม่เข้าที่เข้าทาง ทั้งนี้เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าโครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองยังอยู่ในระหว่างถูกจัดเข้าสู่สภาวะปกติ และขณะเดียวกันประเด็นปัญหาทางการเมืองก็ยังอยู่ในระหว่างการจัดการแก้ไข จึงทำให้ทุกอย่างดูเสมือนว่าอยู่ในช่วงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ

เพื่อจะได้เห็นภาพจำเป็นต้องมีภาพรวมโดยมองที่ 4 มิติดังต่อไปนี้ คือ

1. ระบบการเมือง (political system)

2. สภาพแวดล้อมทางการเมือง (political parameter)

3. ประเด็นทางการเมือง (political issues)

4. ความคาดหวังและความชอบธรรมทางการเมือง (expectations and political legitimacy)

ในส่วนของระบบการเมืองนั้น หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จะมีอยู่ 5 ส่วนด้วยกันโดยไม่นับส่วนที่เป็นข้าราชการประจำ ใน 5 ส่วนดังกล่าวประกอบด้วย

ก) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งแปรสภาพจากผู้ก่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการปกครองบริหาร ที่เดิมเรียกว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติถือเป็นองค์กรสูงสุด มีอำนาจในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้ ภารกิจหลัก ก็คือการรักษาความมั่นคงของบ้านเมือง และต้องพิสูจน์ให้สาธารณชนเห็นชัดว่าเหตุผลที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งได้แก่ “ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบและเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างกว้างขวาง มีพฤติกรรมแทรกแซงอำนาจขององค์กรอิสระจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติให้ลุล่วงไปได้ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางโอกาสยังหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนชาวไทย”[3]

ข) คณะรัฐบาล นำโดย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีภารกิจสำคัญคือ บริหารประเทศเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและเรื่องที่คั่งค้างอยู่โดยดำเนินไปตามนโยบายที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติอย่างกว้างๆ ถือได้ว่าเป็นรัฐบาลรักษาการชั่วคราวก่อนที่จะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่

ค) สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้ง ทำหน้าที่ในการออกกฎหมายกระทู้ถามรัฐบาล และหน้าที่อื่นๆ ในรูปกรรมาธิการ แต่ไม่มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี นอกจากนั้นก็มีอำนาจและพิจารณาเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน และสภาร่างรัฐธรรมนูญ 100 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังมีอำนาจในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการจัดการเลือกตั้ง ฯลฯ

ง) สภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 100 คน โดยมีขั้นตอนการคัดเลือกดังต่อไปนี้คือ

1) มีการเสนอชื่อและแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,000 คน
2) สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 2,000 คนนั้นจะเลือกตั้งกันเอง โดยแต่ละคนจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงคนละ 3 เสียง เพื่อเลือกคนที่มีคะแนนสูงสุด 200 คน
3) สภามนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะคัดมา 100 คน จาก 200 คน ตามข้อ 2
4) จำนวน 100 คนที่คัดเลือกออกมาโดยสภามนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ

จ) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 35 คน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้คัดเลือก 25 คนจาก 100 คน หรือผสมผสานจากคนนอกด้วยก็ได้ และสภามนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะแต่งตั้ง 10 คน รวมเป็น 35 คน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ห้าส่วนที่กล่าวมานั้นคือกลุ่มที่อยู่ในระบบการเมือง

ในส่วนของสภาพแวดล้อมทางการเมือง ประกอบด้วยพรรคการเมือง 44 พรรค[4] กลุ่มการเมืองต่างๆ และประชาชนทั่วไป พรรคการเมือง 44 พรรคนั้นมีจำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยศาลรัฐธรรมนูญว่าจะถูกยุบพรรคหรือไม่ พรรคการเมืองไม่มีสิทธิ์มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ฐานะปัจเจกบุคคลและฐานะองค์กรทางการเมืองสามารถแสดงความคิดเห็นได้เกี่ยวกับกับการร่างรัฐธรรมนูญและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั่วๆ ไป ในส่วนของพรรคการเมืองนี้มีบางส่วนที่ทำหน้าที่ของพรรคไปตามปกติ และเตรียมพร้อมที่จะมีส่วนแสดงความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญและลงสมัครรับเลือกตั้ง บางส่วนก็ถูกมองว่าพยายามต่อรองทางการเมืองด้วยมาตรการที่เป็นไปตามปกติ และตามมาตรการที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “คลื่นใต้น้ำ”

กลุ่มที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการที่อยู่ในสภาพแวดล้อมทางการเมือง ได้แก่ กลุ่มนักวิชาการอุดมคติ ที่ยืนหยัดอยู่กับหลักการระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย กลุ่มองค์กรเอกชน และกลุ่มซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 บางกลุ่มก็เป็นกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลเก่า นอกจากนั้นก็มีสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ซึ่งระบบการเมืองทั้งห้าส่วนที่กล่าวมาเบื้องต้นต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านี้

ที่สำคัญคือสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เป็นความคิดเห็นหรือแรงกดดันจากประเทศต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังยึดอำนาจทางการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการมีกฎอัยการศึก ในขณะเดียวกันก็มีประเทศที่ว่างเฉยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ประเทศที่ไม่เห็นด้วยได้แก่ประเทศในยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกาในระดับหนึ่ง

นอกเหนือจากความเห็นหรือแรงกดดันจากต่างประเทศดังกล่าวแล้ว กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ ก็เป็นตัวแปรอีกตัวหนึ่งที่ระบบการเมืองทั้งห้าส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาลต้องนำมาพิจารณาเพื่อการปฏิบัติงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางนโยบายเพื่อการแก้ปัญหา

ในส่วนของประเด็นทางการเมือง แบ่งออกได้ดังนี้คือ

ก) เหตุผลทั้ง 4 ข้อที่ใช้อ้างในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ดังที่กล่าวมาแล้วข้างบน ซึ่งจะต้องอธิบายให้ประชาชนได้ทราบว่าได้ดำเนินการไปขั้นใดแล้วในเรื่องดังกล่าว

ข) ขยายความที่กล่าวมาข้างบนนั้นก็คือ ประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและการก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่สำคัญและถือว่าเป็นวิกฤตทางการเมืองอันเป็นมรดกตกทอดจากรัฐบาลชุดเดิม รัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติมีภารกิจสำคัญที่จะบรรเทาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยมาตรการที่เข้าใจและเข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้ทางนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลก็ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร

ค) ในส่วนของการฉ้อราษฎร์บังหลวง การทำผิดกฎหมาย อันส่อไปในทางทุจริตต่อการใช้อำนาจหน้าที่นั้น ก็เป็นหนึ่งในสี่เหตุผลที่อ้างเพื่อนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็กำลังดำเนินการอยู่แต่ก็ดำเนินไปได้ไม่รวดเร็วฉับพลัน เพราะต้องทำตามกฎหมายอันมีหลายขั้นตอนที่กำหนดตามกฎเกณฑ์ มิได้ใช้อำนาจในการอายัดหรือยึดทรัพย์โดยใช้อำนาจเด็ดขาดเหมือนกรณีการยึดอำนาจในอดีต

ง) ความคาดหวังของประชาชนที่การเมืองจะเข้าสู่สภาวะปกติโดยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ดีกว่าในอดีต การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม มีรัฐบาลที่ซื่อสัตย์สุจริต ผู้นำมีความรู้ความสามารถ ที่สำคัญต้องมีศีลธรรมและจริยธรรม ขณะเดียวกันก็มีความกริ่งเกรงว่าสิ่งที่คิดว่าจะเกิดขึ้นนั้นอาจจะแปรเปลี่ยนเป็นอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ยอมปล่อยวางอำนาจของกลุ่มที่มีอำนาจในขณะนี้

จ) กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหารัฐธรรมนูญทั้งในแง่เจตนารมณ์และลายลักษณ์อักษร จะเป็นประเด็นทางการเมืองที่สำคัญที่สุด เพราะความคิดเกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในขณะนี้แบ่งอย่างคร่าวๆ มีอยู่สองฝ่ายด้วยกัน ฝ่ายหนึ่งต้องการให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นไปโดยสมบูรณ์ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิกต้องมีการเกี่ยวโยงกับประชาชนทางใดทางหนึ่ง ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งล้วนๆ และทหารจะต้องไม่อาศัยโอกาสดังกล่าวนี้เข้าเกาะเกี่ยวอำนาจรัฐนอกครรลองระบอบประชาธิปไตย ส่วนอีกความคิดหนึ่งนั้นมีแนวความคิดที่ว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่เรียกร้องโดยอีกฝ่ายหนึ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ซึ่งเห็นได้จากสภาวะทางการเมืองก่อน 19 กันยายน 2549 เพราะการผูกขาดอำนาจ ขาดการถ่วงดุลอำนาจ ผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้นำขาดจริยธรรม ที่สำคัญคือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิญญาณทางการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทย ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะกลับไปสู่ระบบที่มีการผสมผสานในลักษณะประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยนายกรัฐมนตรีอาจไม่ต้องมาจากบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง หรืออาจจะมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบโดยนายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่มีบทเฉพาะกาลไว้ 4 ปีเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

แนวความคิดในกลุ่มหลังนี้จะบอกว่าผิดเสียทีเดียวก็คงไม่ได้ เนื่องจากความเป็นจริงสามารถจะกล่าวอ้างได้ ส่วนความคิดของกลุ่มคนกลุ่มแรกนั้นย่อมรับฟังได้และถูกต้องตามหลักการ และอาจจะกล่าวได้ว่าแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลก่อนก็อาจจะเป็นเพียงอุบัติเหตุอันเนื่องจากคนกลุ่มเดียว เพราะถ้าหากรัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกใช้โดยบุคคลอื่นที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี สภาวะทางการเมืองก็อาจจะไม่ออกมาเหมือนกับที่เกิดขึ้นก่อนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ในส่วนของความคาดหวังและความชอบธรรมทางการเมือง ความคาดหวังเป็นตัวแปรสำคัญในทางการเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นคนส่วนใหญ่จะคาดหวังว่าสภาพทางการเมืองจะต้องดีขึ้นกว่าเดิม ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปในทางที่ดีกว่า ผู้นำทางการเมืองต้องมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต มีจริยธรรม มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยดีกว่าที่ผ่านมา ความคาดหวังดังกล่าวนี้เป็นเรื่องปกติซึ่งจะปรากฏให้เห็นได้นั้นขึ้นอยู่กับผลงาน (performance) ถ้าผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ สอดคล้องกับความคาดหวังก็จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่ถ้าประชาชนผิดหวังก็อาจจะเกิดผลลบทางการเมืองได้ และผลงานจะเกิดขึ้นได้นั้นประกอบด้วย 3 ตัวแปร คือ

ก) ปัญหาที่มีอยู่นั้นต้องไม่มีขอบเขตกว้างขวางและหนักหน่วงจนยากที่จะเยียวยาในระยะเวลาอันสั้น

ข) ต้องมีบุคคลที่มีความมุ่งมั่นทางการเมือง ความรู้ความสามารถ กล้าตัดสินใจ นำคณะรัฐบาลฟันฝ่าอุปสรรคโดยไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม มีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งการตัดสินปัญหา

ค) มิติแห่งเวลาจะต้องยาวพอ ถ้าเวลาที่มีอยู่นั้นเป็นช่วงสั้นๆ ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่วิกฤตได้ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ

นอกจากความคาดหวังก็คือความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy) ความชอบธรรมทางการเมืองมาจากสองส่วน คือ ส่วนที่เข้าสู่ตำแหน่งอำนาจจะต้องเป็นไปตามกติกา ถ้าไม่เป็นไปตามกติกาก็ต้องมีเหตุผลจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในกรณีของเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 นั้นย่อมไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองเพราะเป็นการใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่ก็มีความชอบธรรมในส่วนที่ว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นได้ถูกทำลายไปแล้วหมดสิ้นด้วยการละเมิดกรอบกติการับธรรมนูญ เพราะฉะนั้นปัญหาความชอบธรรมในส่วนนี้จึงเบาบางลง แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับผลงาน (performance) นั้น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหลายด้านและเนื่องจากช่วงระยะเวลาอันจำกัด ขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังของประชาชนที่อยากให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลและสภาความมั่นคงแห่งชาติตกอยู่ในที่นั่งลำบากในทางการเมือง การใช้ความเด็ดขาดรุนแรงเพื่อผลงานก็จะถูกมองว่าเป็นการแสดงออกถึงความเป็นเผด็จการ ทั้งจากสายตาในประเทศและต่างประเทศ แต่ถ้าดำเนินไปตามครรลองของกฎหมายและกฎระเบียบก็ย่อมจะมีความล่าช้า กระทบต่อความคาดหวังและความชอบธรรมในส่วนที่เป็นผลงาน ดังนั้น จึงเป็นสภาวะที่น่าหนักใจ กล่าวคือ ถ้าแก้ปัญหาอย่างเฉียบขาดและรวดเร็วก็จะเสียความชอบธรรมทางการเมืองจากมุมมองหนึ่ง ถ้าดำเนินไปอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรมก็จะเสียความชอบธรรมในส่วนของความรวดเร็วและความสัมฤทธิ์ผลในการแก้ปัญหาและการสร้างผลงานจากส่วนที่มีความคาดหวังสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประชาชนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

และนี่คือสภาวะทางการเมืองไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้

จากการประเมินดังกล่าวมาเบื้องต้น และจากการพิจารณาสภาวะทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงในการเมืองโลก เศรษฐกิจโลก ฯลฯ ทำให้สรุปได้ว่าประเทศไทยและสังคมไทยจะต้องมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนอย่างขนานใหญ่ เพื่อเผชิญกับปัญหาที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้นี้ ประเด็นที่จะต้องพิจารณาโดยผู้เกี่ยวข้องทั้งมวล ตั้งแต่ผู้บริหารประเทศ ระบบราชการ สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ฯลฯ มีดังต่อไปนี้คือ

ประการที่หนึ่ง การวางพื้นฐานทางการเมืองเพื่อให้เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน มีการเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจ ที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม คัดสรรคนดีเข้าสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูง สกัดกั้นคนไม่ดีไม่ให้เข้าสู่ระบบการเมืองเพื่อไม่ให้ก่อความวุ่นวาย ขณะเดียวกันการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงในทั้ง 3 อำนาจ อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรการเมืองอื่นๆ จะต้องมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน มีการควบคุมและตรวจสอบในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสังคมและจากสื่อมวลชน

การร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ซึ่งจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 นั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากไม่สามารถจะมีกฎกติกาที่ทำงานได้ผลในระดับหนึ่ง ย่อมจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหันต์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับชาติต่างๆ ในการค้าการลงทุน การเจรจาทางการทูต การเมือง และอื่นๆ ไม่สามารถกระทำได้อย่างสง่างาม ไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติและของประชาชนได้ การร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และจะเป็นเข็มบ่งชี้ถึงอนาคตของประเทศไทยว่าจะเป็นอย่างไร

ประการที่สอง สังคมโลกกำลังก้าวไปสู่คลื่นที่สามตามที่ อัลวิน ทอฟเฟอร์ ได้กล่าวไว้ โดยในยุคนี้จะเป็นสังคมเกษตรสมัยใหม่ซึ่งมีลักษณะเป็นเกษตรอุตสาหกรรม (Alvin Toffler) มีการผลิตทางอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และจะเป็นสังคมที่มีการสื่อสาร การขนส่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มุ่งเน้นข่าวสารข้อมูล และวิทยาการ สังคมคลื่นลูกที่สามจะเป็นสังคมที่มีการปรับตัว การดำรงชีวิตและการทำงานจะมีรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผล ขณะเดียวกันจะไม่มองข้ามความสงบสุขในสังคม ศีลธรรมและจริยธรรม และที่สำคัญจะต้องมีดุลยภาพการพัฒนาระหว่างวัตถุและทางจิตใจ ความมั่งคั่งในทรัพย์ศฤงคารและความสุขสงบทางใจด้วย

ภายใต้สังคมคลื่นลูกใหม่นี้คุณภาพของประชาชนจะเป็นตัวแปรสำคัญ จะต้องประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ร่างกายที่แข็งแรง มีความรู้ทางวิทยาการ ทำงานคล่องแคล่วว่องไว ในขณะเดียวกันต้องมีจิตวิญญาณโดยต้องเป็นบุคคลที่มีศีลธรรมและจริยธรรม นอกเหนือจากนั้นจะต้องมีความรู้ทางการเมืองและตื่นตัวทางการเมือง มีความรู้ทางสมองกลซึ่งจำเป็นต่อยุคข่าวสารข้อมูล มีความรู้ภาษาต่างประเทศคือภาษาอังกฤษใช้งานได้ดีทั้งเขียน อ่าน พูด และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้ารู้ภาษาจีนด้วย

ความจำเป็นของการปรับตัวของสังคมไทยในส่วนนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วย 3 ตัวแปรใหญ่ๆ

ตัวแปรที่หนึ่ง จะต้องมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งเป็นทั้งรูปแบบและเนื้อหา โดยรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องนำไปใช้โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์และลายลักษณ์อักษรควบคู่กันไป การปกครองบริหารประเทศจะต้องมีหลักนิติธรรม (the rule of law) ผู้นำประเทศต้องมีความรู้ความสามารถและมีจริยธรรม ระบบราชการต้องมีประสิทธิภาพประสิทธิผล โดยมีหลักธรรมรัฐาภิบาล อันได้แก่ ความชอบธรรม (legitimacy) ความโปร่งใส (transparency) ตอบคำถามไล่เบี้ยได้ (accountability) การเปิดให้มีส่วนร่วมโดยประชาชน (participation) และมีประสิทธิภาพประสิทธิผล (efficiency & effectiveness)

ที่สำคัญที่สุด ผู้นำทางการเมืองต้องมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย มีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย (democratic spirit) บุคลิกลักษณะและทัศนคติที่เป็นประชาธิปไตย (democratic ethos) และประชาชนทั่วไปก็จะต้องมีลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยมีความตื่นตัวทางการเมือง มีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม ต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง เคารพสิทธิของผู้อื่น มีจิตใจที่ยุติธรรมและเป็นธรรม มีความนิยมชาติแต่ไม่ใช่ชาตินิยมแบบบ้าคลั่ง

ประการที่สอง ในทางเศรษฐกิจนั้นประเทศไทยต้องเกี่ยวพันกับโลกในยุคโลกาภิวัตน์ จะต้องมีการค้ากับต่างประเทศ จะต้องมีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพในลักษณะอุตสาหกรรมเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งสินค้าประเภทเครื่องไฟฟ้าหรือข่าวสารข้อมูลที่มีการวิจัยมาเป็นอย่างดี มีมาตรฐานระดับสากลหรือระดับโลก จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Research and Development – R&D) มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลตามหลักวิชาการสมัยใหม่ เพื่อสามารถแข่งขันกับชาติต่างๆ ในโลกได้ แต่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการขยายการประกอบธุรกิจหรือการกู้เงินโดยคำนึงถึงความเหมาะสมและข้อจำกัด กระทำในลักษณะที่ไม่เกินความสามารถในการกู้และชดใช้เงินกู้ จะไม่ขยายธุรกิจจนเกินตัว ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จฯ ในส่วนนี้ พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสว่า trade economy จะต้องมีอยู่ต่อไป ถ้าไม่มีก็ต้องอยู่ในถ้ำ แต่ก็ต้องมีในลักษณะ “พอเพียง” ไม่ก่อหนี้สินล้นพ้นตัว หรือขยายตัวจนเป็นฟองสบู่นำความหายนะมาสู่ประเทศชาติและเศรษฐกิจทั้งมวล

ในส่วนของทฤษฎีใหม่นั้นก็เป็นรูปแบบหนึ่งในเศรษฐกิจภาคเกษตรซึ่งเป็นที่ดินแปลงเล็กๆ ประมาณ 20-30 ไร่ โดยมีความชาญฉลาดในการใช้ที่ดิน ที่ดินส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ใช้ในการเพาะปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งใช้ในการขุดบ่อน้ำเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำ และเพื่อการใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภค อีกส่วนหนึ่งใช้ในการปลูกพืชผักผลไม้ และอีกส่วนหนึ่งใช้เพื่อการปลูกที่อยู่อาศัยและการเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงไก่ เป็นต้น ทฤษฎีใหม่นี้ไม่ทำให้คนร่ำรวยแต่อาจจะหารายได้เพิ่มจากการมีอาชีพเสริม การจัดการเช่นนี้จะเกิดภูมิต้านทานโดยไม่ถูกกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจประเทศ เพราะมีอาหารพอกิน มีที่อยู่อาศัยและไม่เดือดร้อนอะไรนัก ที่สำคัญชีวิตมีความสุข ซึ่งจะเป็นดัชนีอีกตัวหนึ่งของการวัดระดับการพัฒนานอกเหนือจากการวัดผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (Gross National Product - GNP) มาเป็นความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness - GNH)

ประการที่สาม ในทางสังคมนั้นสังคมไทยคงไม่สามารถต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกได้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัว แต่การปรับตัวไม่จำเป็นต้องสูญเสียเอกลักษณ์ หรือทำให้ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่สร้างสมมาเป็นศตวรรษต้องสูญสลายไปโดยสิ้นเชิง สังคมไทยเป็นสังคมที่ผสมผสานวัฒนธรรมต่างๆ อยู่แล้วในอดีต ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ คนไทยเป็นคนที่มีหลากวัฒนธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมไทยในหมู่บ้านซึ่งเป็นสังคมเกษตร ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีความเอื้ออารี มีน้ำใจ ไม่สุดโต่งในลัทธิใดๆ รู้จักรักสนุก มีความสุข ไม่รังเกียจศาสนาและเผ่าพันธุ์ มีภูมิปัญญาพื้นบ้านในการดำรงชีวิต ต่อมาก็รับวัฒนธรรมอินเดียโดยผ่านศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ รากศัพท์บาลีสันสกฤต ลัทธิการปกครอง พิธีกรรมต่างๆ วัฒนธรรมจีนก็มีบทบาทอย่างมากในสังคมไทย ทั้งในแง่ลัทธิขงจื้อ ค่านิยม ความสัมพันธ์มนุษย์ การแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ และที่สำคัญประเทศไทยก็รับเอาวัฒนธรรมตะวันตก ทั้งในด้านการปกครองและบริหาร ด้านการเมือง ฯลฯ มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานและการดำรงชีวิต คนไทยจึงเป็นชาติที่มี 4 วัฒนธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมไทยในลักษณะของไทยาภิวัตน์ วัฒนธรรมอินเดียหรือภารตาภิวัตน์ วัฒนธรรมจีนคือจีนาภิวัตน์ วัฒนธรรมตะวันตกคืออัสดงคตาภิวัฒน์ และวัฒนธรรมยุคใหม่คือโลกยุคข่าวสารข้อมูลคือโลกยุคโลกาภิวัตน์

สังคมไทยจึงไม่ใช่สังคมที่หยุดนิ่ง แต่การปรับตัวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยสองตัวแปร คือ ตัวแปรแรกคือ การศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนให้ทันกับโลก วิทยาการความรู้ใหม่ๆ ต้องนำมาเป็นหลักสูตรทันที วิธีการสอนต้องให้ข้อมูลความรู้และการคิดวิเคราะห์ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การท่องจำ ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมที่ล้าสมัยหลายส่วนคงต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข ตัวอย่างเช่น ความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติในลักษณะ งมงาย การขาดวิธีคิดแบบมีเหตุมีผลแบบวิทยาศาสตร์ การขาดระเบียบวินัย ไม่รับผิดชอบ ไม่ตรงต่อเวลา ระบบอุปถัมภ์ที่ขัดต่อระบบคุณธรรม วัฒนธรรมประจบสอพลอ วัฒนธรรมที่มุ่งเน้นอาวุโสจนลืมหลักการและเหตุผล

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้จะต้องมีภาพของคนไทยในอุดมคติเพื่อจะได้เป็นแบบอย่างของการกล่อมเกลาเรียนรู้ทั้งในครอบครัวและในโรงเรียน และคนไทยในแบบอย่างที่จะพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นพลังสำคัญในการต่อสู้ เจรจาความเมือง การค้า และอื่นๆ ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อสามารถจะนำประเทศชาติฝ่ากระแสโลกาภิวัตน์ได้โดยมีระบบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล ระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสานความเป็นเลิศเพื่อต่อสู้ในการค้าระหว่างประเทศ และการสร้างภูมิต้านทานของเกษตรกรในกรอบทฤษฎีใหม่ โดยทั้งสองส่วนนั้นคำนึงถึงเศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economy) ขององค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนสังคมโดยมุ่งเน้นระบบการศึกษาและวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นสังคมที่มีประชาชนที่มีคุณภาพ สามารถจะปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ และสามารถนำประเทศไทยก้าวไปในสังคมโลกอย่างมีสง่างาม และมีศักดิ์ศรีของชาติเอกราชที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมมายาวนาน


อ้างอิง

  1. http://www.cabinet.thaigov.go.th/cab_pol.htm
  2. http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9490000017289
  3. แถลงการณ์ของ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ
  4. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (http://www.ect.go.th)