องค์กรแห่งความหลากหลาย
ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ
ความแตกต่างและความหลากหลายของสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ
ก่อนที่จะมีการบัญญัติมาตรา 89 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นั้น ที่ประชุมของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาฯ อย่างกว้างขวาง ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1) การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาฯ เป็นกลไกใหม่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจของรัฐ
2) สำหรับหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ นั้น ไม่ควรรวมเรื่องการเมืองไปด้วย
3) กรณีการให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายกำหนดก่อนการประกาศใช้นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผน ตามทฤษฎีความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Needs Theory) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นพื้นฐานของประชาชน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาแผนดังกล่าวดำเนินการโดยกลุ่มเทคโนแครท (Technocrat) ทำให้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนโดยรวม
ดังนั้น พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 จึงให้ความสำคัญต่อความแตกต่างและความหลากหลาย โดยการกำหนดให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ประกอบด้วย สมาชิก จำนวน 99 คนมีองค์ประกอบตามกลุ่มในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ พ.ศ. 2543[1]
บัญชีกลุ่มในภาคเศรษฐกิจและกลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ
1. กลุ่มในภาคเศรษฐกิจ จำนวน 50 คน
- (1) การผลิตด้านการเกษตร เช่น การทำนา
- การทำไร่ การทำสวน การเลี้ยงสัตว์
- การเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์
- การประมง การแปรรูปสินค้าเกษตรชุมชน
- หรืองานเกษตรกรรมอื่นๆ จำนวน 16 คน
- (2) การผลิตด้านการอุตสาหกรรม เช่น การทำเหมือง
- รวมทั้งการระเบิดหรือย่อยหิน การผลิตอาหาร
- เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง
- การผลิตไม้ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ การผลิตเคมีภัณฑ์
- ยา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยางธรรมชาติ แก้ว
- ปูนซีเมนต์ เซรามิค วัสดุก่อสร้าง อัญมณี เครื่องประดับ
- โลหะ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ยานยนต์และอะไหล่
- เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์
- หรือการผลิตอุตสาหกรรมอื่นๆ จำนวน 17 คน
- (3) การผลิตด้านการบริการ เช่น กิจการด้านการคมนาคม
- การขนส่ง การสื่อสาร การโทรคมนาคม
- และเทคโนโลยีสารสนเทศ การนำเข้า-ส่งออก
- การค้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม
- ภายในประเทศ การท่องเที่ยว การบริการทางกฎหมาย
- การบริการทางบัญชี การบริการทางสถาปัตยกรรม
- การบริการทางวิศวกรรม การก่อสร้าง การกีฬา
- และนันทนาการ ศิลปินและนักประพันธ์ ข้าราชการ
- ธุรกิจร้านอาหาร สื่อมวลชนหรือการบริการอื่นๆ จำนวน 17 คน
2. กลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 49 คน
- กลุ่มในภาคสังคม จำนวน 19 คน
- (1) การพัฒนาชุมชน จำนวน 2 คน
- (2) การสาธารณสุข จำนวน 2 คน
- (3) การศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและศาสนา จำนวน 4 คน
- (4) การพัฒนาและสงเคราะห์คนพิการ จำนวน 2 คน
- (5) การพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ จำนวน 4 คน
- (6) การพัฒนาแรงงาน จำนวน 4 คน
- (7) การคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน
- กลุ่มในภาคฐานทรัพยากร
- (8) ฐานทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ
- ลุ่มน้ำ ทะเล อากาศ หรือความหลากหลาย
- ทางชีวภาพ จำนวน 10 คน
- (9) การพัฒนาระบบการเกษตร จำนวน 4 คน
- (10) การพัฒนาระบบการอุตสาหกรรม จำนวน 1 คน
- (11) การพัฒนาระบบการบริการ จำนวน 1 คน
กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 14 คน
สภาที่ปรึกษาฯ มิใช่สภาการเมือง ไม่มีพรรคและไม่มีพวกโดยแท้จริง
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ พ.ศ. 2543 มาตรา 7 (4) ระบุว่า สมาชิกต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และมาตรา 10 กำหนดให้สภาที่ปรึกษาฯ เป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด

สภาที่ปรึกษาฯ จึงเป็นองค์กรที่รวบรวมบุคคลจำนวน 99 คน จากการกระจายในเรื่องของอาชีพและกิจกรรมตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ พ.ศ. 2543 ที่ต้องการให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มาจากองค์ประกอบที่หลากหลาย เพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชนจากฐานอาชีพและกิจกรรมจากทุกภาคส่วนของสังคมไทย ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ หรือมีภูมิปัญญา ที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีอย่างรอบด้าน สภาที่ปรึกษาฯ จึงต่างจากสภาการเมือง
ภาพของสภาที่ปรึกษาฯ จึงเป็นภาพของความแตกต่าง .... เสมือนเป็นการจำลองประเทศไทยไว้ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
โดยจะเห็นได้จากการที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีสมาชิกหลายท่านมาจากภาคธุรกิจ ได้แก่ คุณแสงชัย โสตถีวรกุล คุณชนะ รุ่งแสง คุณวิจิตร ณ ระนอง คุณปรีชา ส่งวัฒนา คุณชุมพล พรประภา คุณสุรพล ว่องวัฒนโรจน์ ฯลฯ ภาคเกษตร ได้แก่ คุณนิพา นันตา คุณสารีเพาะ เด็งสาแม คุณบุญเพ็ง รัตนะพันธ์ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีสมาชิกที่ได้ดำเนินการอยู่ในส่วนของการพัฒนาทางด้านสังคมหลายท่าน เช่น อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ คุณรัชนีภรณ์ คุปรัตน์ คุณชัยวัฒน์ สุรวิชัย คุณรัชนี ธงไชย คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และพ่อหลวงจอนิ โอ่โดเชา รวมทั้งใครต่อใครอีกหลายคน เป็นต้น
ที่มา
พรรณราย ขันธกิจ. การวางยุทธวิธี และกระบวนการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. เอกสารผลงานลำดับที่ 1 เพื่อเสนอพิจารณาให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 10 (ชช.) ที่ปรึกษากลุ่มงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรุงเทพฯ 2543.
สถาพร วชิรโรจน์. ความคิดเห็นของประชาชนต่อสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ภาคนิพนธ์ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์, 2543.
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2544). สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : เพชรรุ่งการพิมพ์.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30/2542-2543 วันที่ 15 มีนาคม 2543.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5/2543 วันที่ 12 กรกฎาคม 2543.
รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5/2543 วันที่ 28 สิงหาคม 2543.
รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 19/2543 วันที่ 13 ตุลาคม 2543.
รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 20/2543 วันที่ 16 ตุลาคม 2543.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34/2543 วันที่ 19 ตุลาคม 2543.
www.nesac.go.th/
อ้างอิง
- ↑ พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543.