หลวงเสรีเริงฤทธิ์
ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
หลวงเสรีเริงฤทธิ์ เชลยกันเอง
การเป็น"เชลยกันเอง"นี้ ก็เพราะรบกันเอง เมื่อครั้งที่มีการชิงอำนาจทางการเมืองจนมีเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “กบฏบวรเดช” ในครั้งนั้นหลวงเสรีเริงฤทธิ์เป็นนายทหารฝ่ายรัฐบาลที่ออกไปเจรจากับนายทหารฝ่ายกบฎซึ่งรู้จักกันดี แต่กลับถูกเพื่อนนายทหารที่รู้จักหลอกจับตัวเอาไปเป็นเชลยทันที ตอนนั้นคิดว่าจะถูกยิงเป้าไปเสียแล้วแต่ก็รอดมาได้ ฝ่ายรัฐบาลที่พระนครเป็นฝ่ายชนะในการสู้รบ ที่เป็นสงครามกลางเมืองขนาดย่อมในครั้งนั้น ชีวิตนายทหารของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ผู้นี้ท่านมีบทบาทอื่นอยู่อีกในช่วงชีวิตของท่าน ดังนั้นจึงขอเก็บมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้
หลวงเสรีเริงฤทธิ์เป็นคนกรุงเทพฯ มีชื่อเดิมว่า จรูญ เกิดที่บ้านถนนเจริญกรุง อำเภอสัมพันธ์วงศ์ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2438 โดยเป็นบุตรชายนายทหารชื่อ นายร้อยเอก จิตร รัตนกุล มีมารดาชื่อชื่น ในการศึกษาเบื้องต้นได้เข้าเรียนที่อยู่ไม่ไกลบ้าน คือ โรงเรียนวัดปทุมคงคาจนจบชั้นสูงสุดในสมัยนั้น ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกในปี 2454 จนจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้เข้ารับ
ราชทหาร ได้เป็นว่าที่นายร้อยตรี ในปี 2460 ประจำกรมทหารบกช่าง ที่ 3 การรับราชการทหารก็เจริญก้าวหน้ามาด้วยดี ได้เลื่อนยศทางทหาร ได้เป็นนายร้อยโทในปี 2465 และขึ้นเป็นนายร้อยเอกในปี 2470 ส่วนบรรดาศักดิ์ของท่านนั้นท่านได้เป็นขุนเสรีเริงฤทธิ์ ในปี 2468 ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน ปี 2472 ท่านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงในชื่อเดิม ชีวิตสมรสนั้นท่านได้สมรสกับคุณหญิงเอิบและคุณประไพ
ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นายร้อยเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์ ซึ่งตอนนั้นเป็นนายทหารสื่อสาร ได้เข้าร่วมในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองฯด้วย ในรูปของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองฝ่ายทหารบกนั้น มีท่านยืนอยู่แถวหลังด้านซ้ายเป็นคนที่ 2 หลังวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 ท่านจึงได้เป็นผู้บังคับกองพันทหารสื่อสาร ได้ยศเป็นนายพันตรีในวันที่ 1 เมษายน ปี 2476
ประมาณอีก 6 เดือนต่อมา ได้เกิดกบฎบวรเดชที่ทหารหัวเมืองทางเหนือพระนคร นำโดยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช ยกทัพหมายเข้าล้อมพระนครและบีบให้รัฐบาลยอมจำนน โดยมีกองทหารช่างอยุธยาที่เพิ่งแยกจากกองทหารสื่อสารที่บางซื่อไปอยู่ที่อยุธยา ได้เป็นกองกำลังส่วนหน้าบุกเข้ามาประชิดพระนครที่ทุ่งบางเขนในวันที่ 11 ตุลาคม ปี 2476 นั้น มีนายทหารซึ่งรู้จักกันดีกับหลวงเสรีฯ คือนายพันตรีหลวงลบบาดาลควบคุมมา ทางนายกฯ พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงสั่งการให้หลวงเสรีฯเดินทางไปเจรจาให้เข้าใจฝ่ายรัฐบาลและให้มาเข้าข้างรัฐบาล ทางหลวงลบบาดาลยื่นข้อเสนอให้นายกฯออกจดหมายรับรอง ครั้นหลวงเสรีฯและคณะได้จดหมายรับรองและกลับออกไปพบอีกครั้ง กลับถูกหลวงลบบาดาลสั่งจับทั้งคณะทันที และหลวงเสรีฯถูกนำตัวไปพบหัวหน้าฝ่ายกบฎ ก่อนที่จะส่งหลวงเสรีฯและคณะไปคุมตัวรอการตัดสินโทษอยู่ที่อยุธยา ดังที่ พ.อ.แสง จุละจาริตต์ ได้เขียนเล่าเอาไว้ว่า
“…คณะของเราถูกคุมตัวไปขึ้นรถไฟและลงสถานีดอนเมือง...พ.ต.หลวงเสรีเริงฤทธ์ ถูกนำไปเฝ้าพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช...จากนั้นประมาณ 2-3 ชั่วโมง พวกเราก็ถูกคุมตัวขึ้นรถไฟไปลงสถานีอยุธยา มีเรือยนต์มารับแล่นจากหลังสถานีรถไฟ ตามลำน้ำรอบเกาะไปขึ้นที่ท่าของกรมทหารช่าง พ.ท.พระวิเศษโยธาภิบาล (ปาน สุนทรจันทร์) ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอยุธยา ผู้อำนวยการเขตหลังของทหารช่าง ได้สั่งกักเราทั้งสี่คนไว้ที่กองรักษาการณ์...”
ครั้นถึงวันที่ 16 ตุลาคม ปี 2476 นั่นเอง เรือรบหลวงสุริยะมณฑล ของรัฐบาลก็นำกำลังขึ้นมาที่อยุธยาควบคุมพื้นที่ได้ และได้ปลดปล่อยเชลยกันเองทั้งสี่คน ในปีเดียวกันนี้ ถึงเดือนธันวาคม หลวงเสรีฯก็ได้ตำแหน่งทางการเมือง โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท ที่ 2 และในสมัยนายกฯ พระยาพหลฯ อีกเช่นกันที่ท่านได้ไปรับตำแหน่งสำคัญนอกกองทัพ ได้เป็นอธิบดีกรมรถไฟเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2479 แต่ท่านน่าจะมีความสนิทกับหลวงพิบูลสงคราม ดังนั้นเมื่อหลวงพิบูลฯขึ้นเป็นนายกฯ หลวงเสรีฯ จึงได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ในปี 2481 เพียงปีเดียวถัดมาท่านก็ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเดียวกัน ในรัฐบาลของหลวงพิบูลฯ ท่านได้รับความไว้วางใจและตำแหน่งมากขึ้น เมื่อไทยต้องเตรียมตัวเผชิญภาวะสงคราม ในวันที่ 4 ธันวาคม ปี 2483 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นรองแม่ทัพบูรพา ที่มีหลวงพรหมโยธีเป็นแม่ทัพ ยังไม่ถึงปีต่อมาท่านก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกไปพร้อมกัน หลังกองทัพญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านไทยในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2484 ได้เพียง 15 วัน รัฐบาลก็ตั้งท่านไปเป็นแม่ทัพภาคพายัพ ในวันที่ 10 มีนาคม ปี 2485 ท่านพ้นตำแหน่งอธิบดีกรมรถไฟไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ และต่อมาย้ายไปอยู่กระทรวงคมนาคม ท่านได้อยู่ร่วมรัฐบาลของหลวงพิบูลฯ จนหลวงพิบูลฯ ลาออกจากนายกฯในปี 2487 เมื่อหลวง
พิบูลฯ ถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรสงครามท่านก็ถูกกล่าวหาด้วย แต่พ้นคดีเพราะกฎหมายเป็นโมฆะใช้ย้อนหลังไม่ได้ จึงพ้นคดีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปี 2489
จนคณะรัฐประหารยึดอำนาจ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 เปิดทางให้หลวงพิบูลฯ ฟื้นคืนชีพทางการเมืองกลับมามีบทบาทสำคัญและเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง คราวนี้หลวงเสรีเริงฤทธิ์จึงได้กลับมามีตำแหน่งสำคัญแม้จะมิใช่ตำแหน่งทางการเมืองนั่นคือตำแหน่งอธิบดีกรมรถไฟ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 2492 และเป็นผู้ว่าการรถไฟตามชื่อใหม่ต่อมาจนถึงวันที่ 11 กันยายน ปี 2502 นั่นคือหลังจากจอมพล สฤษดิ์ และคณะยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501
หลวงเสรีเริงฤทธิ์ ได้มีชีวิตเห็นการเปลี่ยนแปลงต่อมา จนถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 2526