หลวงเดชประดิยุทธ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


'หลวงเดชประดิยุทธ์กับการเลือกตั้งปี '2500

           ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 นั้น แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 จะยังให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้งอยู่ก็ตาม แต่การแข่งขันในการเลือกตั้งก็เข้มข้นมาก ทางพรรคเสรีมนังคศิลาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลนั้นนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศนำทีมรัฐมนตรี รวม 9 คนทั้งตัวท่านลงแข่งขันในเขตเลือกตั้งจังหวัดพระนคร อันเป็นเขตรวมทั้งจังหวัดทที่มีผู้แทนทั้งหมด 9 คน ชนกับทีมผู้สมัครของพรรคฝ่ายค้านสำคัญ คือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดยหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ การเลือกตั้งครั้งนั้นดุเดือด มีการใช้กลเม็ดทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดพระนครที่เป็นเมืองหลวง ทั้งก่อนวันเลือกตั้งและในวันเลือกตั้งถึงขนาดที่มีการนับคะแนนในวันเลือกตั้ง ยังมีไฟฟ้าดับมากกว่าหนึ่งครั้ง ผลการนับคะแนนที่ผลัดกันนำนั้น ท้ายที่สุดพรรครัฐบาลชนะ 7 คนและแพ้ 2 คน ทำให้ฝ่ายค้าน คือ นาย ควง อภัยวงศ์ และลูกพรรคประชาธิปัตย์อีกท่านหนึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ผู้สมัครระดับรัฐมนตรีของรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามที่แพ้เลือกตั้งในครั้งนั้นท่านหนึ่งคือ พลเอก หลวงเดชประดิยุทธ์ที่มีชีวิตทางทหารที่พัวพันกับการเมืองมาก

           หลวงเดชประดิยุทธ์เป็นคนกรุงธนบุรี ชื่อเดิมว่า เดช นามสกุล แสงเงิน เกิดที่บ้านตำบลสะพานยาว คลองมอญ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2445 มีบิดาคือ นายร้อยเอก หลวงธนมัยพิบูลย์ (สว่าง แสงเงิน) มารดาชื่อไผ่ แสงเงิน สำหรับการศึกษาเบื้องต้นนั้นท่านได้เรียนที่โรงเรียนในพื้นที่ คือโรงเรียนวัดชิโนรสาราม จากนั้นจึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกในปี 2455 จนถึงปี 2464 โดยเข้าเรียนตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ครั้นจบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแล้วได้เข้ารับราชการทหารเป็นนายร้อยตรี ในปี 2465 เป็นทหารอยู่ถึงปี 2474 ท่านก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเดชประดิยุทธ์ และได้ใช้บรรดาศักดิ์นี้สืบมาจนถึง ปี 2485 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ท่านจึงขอคืนบรรดาศักดิ์  ในปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ นั้น ท่านมียศเป็นนายร้อยเอกแต่ไม่มีชื่อเข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ครั้งนั้น ส่วนชีวิตครอบครัว ภรรยาของท่าน คือ คุณหญิงแฉล้ม

           ชีวิตการรับราชการทหารของหลวงเดชประดิยุทธ์เจริญมาด้วยดี ในปี 2475 ท่านยังได้ยศเป็นนายพันตรี ชีวิตทหารได้ผ่านเหตุการณ์กบฏที่ทหารได้เข้าไปมีส่วนร่วมมาก คือ กรณีกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม ปี2476  และกรณีกบฏ ปี 2481 ที่อ้างว่าเป็นกบฏพระยาทรงสุรเดช ที่มีนายทหารถูกกล่าวหาและดำเนินคดีเป็นที่เดือดร้อนกันอยู่หลายคน แต่หลวงเดชประดิยุทธ์ก็ไม่กระทบกระเทือน และในสมัยหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงเวลาแรกนี้ ในปี 2484 หลวงเดชฯ ก็ได้รับยศเป็นนายพันเอก และอีก 3 ปีต่อมา สมัยที่นาย ควงอภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลวงเดชฯ ก็ยังเจริญก้าวหน้าทางทหาร ได้ขึ้นเป็นนายพลตรี ในปี 2487 ตอนที่เกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ปี 2490 หลวงเดชฯ มีตำแหน่งเป็นจเรทหารบก และรักษาการณ์ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยฯ แต่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในคณะรัฐประหาร หลังการรัฐประหารแล้วก็ยังเจริญในหน้าที่ทหารจนได้เป็นนายพลโทในปี 2492 และที่สำคัญปรากฏว่าในเดือนเมษายน ปี 2494 ก็ได้ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก จึงนับว่าเป็นนายทหารที่ได้รับการยอมรับมากคนหนึ่ง และการที่ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ที่มีพลเอก ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ดังนั้น ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2494 ท่านจึงเป็นหนึ่งในสามนายทหารบกที่มีรายชื่ออยู่ใน “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” ที่ร่วมกันประกาศยึดอำนาจประเทศ นายทหารบก 3 ท่านนี้มี พลเอก ผิน ชุณหะวัณ พลโท เดช เดชประดิยุทธ์ และพลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำหรับคณะบริหารประเทศชั่วคราวนี้มีอยู่ทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วยนายทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ กองทัพละ 3 คน

           การยึดอำนาจครั้งนั้นทำให้มีการล้มรัฐบาลจอมพล ป. ไปด้วย แต่ก็เพียงระยะเวลาสั้นมากไม่ถึงวัน เพราะได้มีการตั้งจอมพล ป. กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกในวันเดียวกัน และหลังวันที่ 6 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้นก็ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่พลโท เดช ได้เข้ามาร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรกได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีพลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการ พลโท เดช ซึ่งต่อมาได้ยศเป็นพลเอก ได้เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อเนื่องกันมาในรัฐบาลจอมพล ป. ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม ปี 2494 จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 2500 โดยมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปถึง 3 คน นั่นคือท่านเป็นอยู่จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 นั่นเอง

            การเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 ได้ถูกหนังสือพิมพ์และคนนอกรัฐบาลเรียกว่า “การเลือกตั้งสกปรก” และเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการประท้วงรัฐบาลอย่างกว้างขวาง จนรัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน และท้ายที่สุดก็เปิดโอกาสให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกนำคณะทหารเข้ายึดอำนาจ ล้มรัฐบาลจอมพล ป. และจัดการเลือกตั้งใหม่ พลเอก เดช ซึ่งพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วจึงมิได้กลับเข้าสู่วงการเมืองอีก ที่จริงในคณะทหารที่ร่วมกันยึดอำนาจครั้งนั้นก็มีเพื่อนร่วมรุ่นของพลเอก เดช อยู่หลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลเอก ขุนไสวแสนยากร ที่เป็นสมาชิกคนสำคัญของทหารฝ่ายจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ย้ายข้ามทัพมาเป็นอธิบดีกรมตำรวจ หลังการยึดอำนาจ

           พลเอก เดช เดชประดิยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพล ป. ไปได้ประมาณ 1 ปี ท่านก็ถึงแก่อนิจกรรม ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี 2501