หลวงนิเทศกลกิจ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


หลวงนิเทศกลกิจ : เท้าไวกว่าไกปืน

         นายเรือเอก หลวงนิเทศกลกิจ เป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 สายทหารเรือ ที่นำโดยนายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย ท่านเป็นผู้ปฏิบัติการที่กล้าตัดสินใจอย่างรวดเร็วในเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 ที่หากท่านแก้สถานะการณ์ไม่ได้ทันท่วงที อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หมู่คณะของท่านได้ และที่ว่า “ เท้าไวกว่าไกปืน ” นั้น ได้เกิดขึ้นที่วังบางขุนพรหม ขณะที่นายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธพยายามจะขอร้องแกมบังคับให้กรม พระนครสวรรค์ฯยอมไปด้วยกับคณะทหารที่มารับตัวนั้น ปรากฏว่าพระยาอธิกรณ์ประกาศอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุการณ์ด้วยได้ควักปืนออกมาหมายจะยิงพระประศาสน์ฯ ทันทีนั้นก็มีผู้เตะมือเจ้าคุณอธิกรณ์ฯ จนปืนกระเด็นตกไปทำให้พระประศาสน์ฯรอดพ้นจากการถูกยิงหรือรอดตายได้จึงไม่มีการเสียเลือดเนื้อตามมาในวันนั้นผู้ที่ปฏิบัติการได้ไวทันกาลก็คือ นายเรือเอก  หลวงนิเทศกลกิจ นี่เอง แต่นี่เป็นเหตุการณ์ครั้งที่สองที่หลวงนิเทศฯได้ทำในวันนั้นอันสำคัญมากต่อการยึดอำนาจก่อนหน้านี้นประมาณ 3 ชั่วโมงท่านได้ถูกมอบหมายให้ไปคุ้มกันชุดปฏิบัติการตัดสายโทรศัพท์และสายโทรเลขที่มีนายควง อภัยวงศ์ และนายประยูร ภมรมนตรี เป็นหัวหน้านั้นท่านก็ได้ทำหน้าที่ดีสมกับที่ได้รับมอบหมาย

         หลวงนิเทศกลกิจ ผู้นี้มีชื่อเดิมว่า กลาง นามสกุล โรจนเสนา เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน  ปี 2441 มีบิดาชื่อ วอน และมีมารดาชื่อ สำริด หลังจากจบการศึกษาเบื้องต้นมาแล้วท่านได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนนายเรือเป็นพวกพรรคกลินหรือฝ่ายช่างกล ครั้นเรียนจบจากโรงเรียนนายเรือได้เข้ารับราชการเป็นนายทหารเรือยศนายเรือตรี ตั้งแต่ปี 2463 ฃณะนั้นมีอายุได้ 22 ปี ทำงานจนถึงปี 2467 ก็ได้เลื่อนยศเป็นนายเรือโท จนถึงปี 2472 ก็ได้เลื่อนยศเป็นนายเรือเอก ส่วนบรรดาศักดิ์ที่เป็นหลวงนิเทศกลกิจนั้นได้รับในวันที่ 18 พฤษภาคม ปี 2475 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เพียงเดือนกว่าๆเท่านั้นเอง

         ดังที่ได้บอกมาแล้วว่าในการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯท่านได้ร่วมปฏิวัติด้วยโดยอยู่ในสายทหารเรือที่มีนายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัยเป็นหัวหน้าสาย และหลวงสินธุฯได้มอบหมายให้หลวงนิเทศฯนำกำลังทหารเรืออีก 5 คน ไปคุ้มกันการทำงานชุดคุณ ควง อภัยวงศ์

           “...มีนายทหารเรือมากัน 2 คน คือหลวงนิเทศกลกิจ กับนายกิจ จ่าเอก 2 คน จ่าโท อีก 2 คน...”

         เมื่อคณะปฏิบัติการตัดสายโทรศัพท์และสายโทรเลขไปถึงสำนักงานใหญ่ที่วัดเลียบแล้วต้องงัดประตูเข้าไปแขกยามที่เฝ้าอยู่ก็ร้องโวยวายขึ้นทำให้ตำรวจที่อยู่ในบริเวณนั้นวิ่งมาดู หลวงนิเทศฯที่แต่งชุดทหารเรือแก้ปัญหาได้ไว ท่านกลับสั่งให้ตำรวจจับแขกยามไปอ้างว่ายุ่งจะทำให้ราชการเสียหาย และพอพวกช่างที่อยู่เวรต่อสายโทรศัพท์ได้ยินเสียงดังจึงตื่นขึ้นมาเอะอะ หลวงนิเทศฯก็ไวท่านชักปืนออกมาจะยิงพวกช่างที่เอะอะ นาย ควง เล่าว่าท่านต้องร้องห้าม “ เฮ้ย อย่ายิง ” หลวงนิเทศฯจึงไม่ได้เหนี่ยวไกปืน ทำให้มีช่างวิ่งหลบหนีไปได้คนหนึ่ง

         แสดงว่าหลวงนิเทศกลกิจนี้สมกับเป็นฝ่ายบู้ตัดสินใจเร็ว และชักปืนเร็วด้วย

         เสร็จจากการปฏิบัติการตัดสายโทรศัพท์และสายโทรเลขแล้ว หลวงนิเทศฯก็เดินทางไปสมทบกับคณะทหารเรือของหลวงสินธุฯที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ทันเวลา 6.00 น.ของวันนั้น และเมื่อพระประศาสน์ฯได้รับมอบหมายให้เดินทางไปวังบางขุนพรหมเพื่อเชิญกรมพระนครสวรรค์ฯมา  พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่านก็ได้ขอให้หลวงนิเทศฯไปด้วยหน้าที่สำคัญคือคุ้มกันชุดที่ไปนั่นเองและที่วังบางขุนพรหมเมื่อมีเหตุการณ์ที่จะยิงกันเกิดขึ้น หลวงนิเทศกลกิจก็ได้ ทำการ “ คุ้มกันชีวิต ” ของนายพันโทพระประศาสน์ฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดได้อย่างรวดเร็วและทันกาล ดังที่มีบันทึกของพระประศาสน์ฯเองเล่าเอาไว้ว่า ตอนที่เข้าไปในวังได้แล้วนั้น ท่านเจ้าของวังและบริวารได้ลงมาอยู่ที่พื้นล่างและมีนายตำรวจคนสำคัญคือพระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจอยู่ด้วยขณะที่ท่านกำลังเจรจาขอเชิญตัวกรมพระนครสวรรค์ฯไปพระที่นั่งอนันตสมาคมกับท่านอยู่นั้น พระยาอธิกรณ์ฯได้ควักปืนออกมาจะยิงพระประศาสน์ฯแต่หลวงนิเทศฯผู้มีตาไวและเท้าไวได้ตัดสินใจกระโดดเตะมือพระยาอธิกรณ์ฯจนปืนหลุดจากมือ

          “ พระยาอธกรณ์ประกาศได้ควักปืนพกออก เงื้อฟาดลงจะยิงข้าพเจ้า ในทันที...คุณหลวงนิเทศกลกิจกระโดดเข้าเตะมือพะยาอธิกรณ์ประกาศ ปืนกระเด็นตกลงมายังพื้นดิน...”

         ความปลอดภัยของพระประศาสน์ฯครั้งนั้นทำให้คณะราษฎรทำงานยึดอำนาจได้อย่างไม่ต้องเสียเลือดเนื้อและนำไปสู่การประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ในเวลาอีก 3 วันต่อมา หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯหลวงนิเทศฯก็กลับไปประจำทำงานเป็นทหารเรือดังเดิม และในวันที่ 1 เมษายน ปี 2477 สมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็ได้เลื่อนยศเป็นนายนาวาตรีอันเป็นยศสุดท้ายของท่านโดยอีกสองปีต่อมา ในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 2479 ท่านก็ได้รับตำแหน่งเป็น “ นายช่างใหญ่กองเรือรบ ” ครั้นถึงปี 2481 ในสมัยรัฐบาลของนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม หลวงนิเทศฯจึงได้ลาออกจากตำแหน่งทางทหารเรือออกรับเบี้ยหวัดและทางกระทรวงการคลังได้ขอตัวท่านไปรับราชการที่  กรมสรรพสามิตเข้าใจว่าทางคณะราษฎรขอให้ท่านไปช่วยงานอธิบดีกรมสรรพสามิต คือ  หลวงนฤเบศร์มานิต ผู้ก่อการฝ่ายพลเรือนที่ได้ถูกส่งตัวไปเป็นอธิบดีกรมนี้มาตั้งแต่ปี 2476

         นาวาตรี  หลวงนิเทศกลกิจ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคตับพิการ ในวันที่ 4 กันยายน ปี 2491