หมายกำหนดการ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : นารี กิตติสมบูรณ์สุข

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง

หมายกำหนดการ

         ปัจจุบันมีการที่ใช้คำในภาษาไทยไม่ถูกต้องไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงและใช้ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่สื่อ ประชาชนทั่วไปได้รับข้อมูลข่าวสารที่มีการใช้คำในภาษาไทยไม่ถูกต้อง ประกอบกับความไม่รู้ของประชาชนเอง จึงนำคำที่ได้ยินได้อ่านมาซึ่งไม่ถูกต้องนั้นไปใช้มีผลเสียกระทบต่อการใช้ภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง หากยังคงปล่อยปละละเลยไม่รีบช่วยกันแก้ไขก็อาจส่งผลต่อการใช้ภาษาไทยของเยาวชนได้ โดยเยาวชนรุ่นหลังจะไม่รู้จักการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และที่สำคัญประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติที่มีเอกลักษณ์ มีระเบียบแบบแผนในการใช้ภาษาให้เหมาะสมกับฐานะและระดับของบุคคลโดยเฉพาะภาษาที่ใช้กับพระมหากษัตริย์   ซึ่งรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วยเช่นกัน คือการใช้ “คำราชาศัพท์” ที่มีความสำคัญยิ่ง แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางสังคมที่ประชาชนมีต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยความจงรักภักดี การยกย่องเทิดทูน และความผูกพันระหว่างกษัตริย์กับประชาชน การใช้ภาษาไทยทุกวันนี้ใช้คำผิดความหมาย ผิดกาลเทศะ ท้ายที่สุดจะส่งผลให้คำที่ใช้ผิดในปัจจุบันกลายเป็นคำที่ถูกต้องในอนาคต ทั้งนี้ เนื่องจากความไม่รู้และใช้ต่อ ๆ กันไป ในที่สุดจึงส่งผลให้ความหมายของคำและการใช้คำ ๆ นั้นกลายเป็นคำที่คนส่วนมากมักใช้ผิดหรือใช้สับสน[1]

ความหมาย

         หมายกำหนดการ เป็นคำนาม หมายถึง เอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีที่จะต้องอ้างพระบรมราชโองการ คือขึ้นต้นด้วยข้อความว่า “นายกรัฐมนตรีหรือเลขาธิการพระราชวัง รับสนองพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า” เสมอไป[2]

         หมายกำหนดการ ในภาษาอังกฤษ เป็นคำนาม ใช้คำว่า program มีความหมายว่า เอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของพระราชพิธีที่จะต้องอ้างพระบรมราชโองการ และมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า กำหนดการ แผนการ ตัวอย่างการใช้ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่สอง มีหมายกำหนดการเสด็จเยี่ยมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[3]

         กำหนดการ เป็นคำนาม หมายถึง ระเบียบการที่บอกถึงขั้นตอนของงานที่จะต้องทำตามลำดับ[4]

         กำหนดการ ในภาษาอังกฤษ เป็นคำนาม ใช้คำว่า schedule มีความหมายว่า ระเบียบการที่บอกถึงขั้นตอนของงานที่จะต้องทำตามลำดับ และมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ตาราง รายการ และหมายกำหนดการ  ตัวอย่างการใช้ เลขานุการมีหน้าที่จัดทำกำหนดการเดินทางของเจ้านาย[5]

ลักษณะการใช้

         คำว่า "หมายกำหนดการ" เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีโดยเฉพาะลักษณะของเอกสารจะต้องอ้างพระบรมราชโองการ และในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่จะต้องนำหมายกำหนดการดังกล่าวนี้เสนอนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เช่น หมายกำหนดการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หมายกำหนดการวันขึ้นปีใหม่

         ส่วนคำว่า "กำหนดการ" ใช้เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานทั่ว ๆ ไปที่ทางราชการหรือส่วนเอกชนจัดขึ้นเอง แม้ว่างานนั้น ๆ จะเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน แต่ถ้างานนั้นสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ก็ใช้ว่ากำหนดการเพราะงานนี้มิใช่งานพระราชพิธีที่มีพระบรมราชโองการให้จัดทำขึ้น หากแต่เป็นทางราชการทหารจัดขึ้นเพื่อแสดงความสวามิภักดิ์ต่อเบื้องพระยุคลบาท[6]

คำเหมือนที่แตกต่าง และมักใช้ผิด

          คำว่า “หมายกำหนดการ” กับคำว่า “กำหนดการ” เป็นคำที่มักนำไปใช้ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ ด้วยไม่เข้าใจ เรื่องความหมายและโอกาสในการนำไปใช้

          หมายกำหนดการ คือ เอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีโดยเฉพาะ ลักษณะของเอกสารจะต้องอ้างพระบรมโองการ คือขึ้นต้นด้วยข้อความว่า “นายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการพระราชวังรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า...” เสมอไปและในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่จะต้องส่งต้นฉบับหมายกำหนดการนี้กราบเรียนนายกรัฐมนตรีให้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อให้เป็นพระบรมราชโองการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญตัวอย่างเช่น หมายกำหนดการวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรี    บรมราชวงศ์

          กำหนดการ คือ เอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานทั่วไปหรือรายการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในการทำงานหรือพิธีที่ทางราชการหรือเอกชนจัดขึ้น แม้ว่างานนั้นจะเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ไปและเกี่ยวข้องถึงเบื้องพระยุคลบาท เช่น งานพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์เพื่อแสดงความจงรักภักดี ซึ่งทางราชการกำหนดจัดขึ้น ก็ไม่ใช้ว่า “หมายกำหนดการ” เพราะไม่ใช่งานพระราชพิธีซึ่งกำหนดขึ้นโดยพระบรมราชโองการ ตลอดจนงานต่าง ๆ ของรัฐหรือเอกชนที่กราบบังคมทูลเจ้านายให้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานหรือไปทรงเปิดงานหรือกราบทูลเจ้านายให้เสด็จไปทรงเป็นประธานหรือไปทรงเปิดงาน ขั้นตอนต่าง ๆ ของงานที่จัดขึ้นดังกล่าวก็ใช้ว่า “กำหนดการ” ไม่ใช้ว่า “หมายกำหนดการ” เพราะมิใช่ขั้นตอนของงานพระราชพิธี

          ข้อสังเกตที่จะทำให้จำง่ายขึ้นก็คือหากมีคำว่า “หมาย” อยู่หน้าคำว่า “กำหนดการ” ก็คือ เอกสารขั้นตอนของงานพระราชพิธีหากใช้คำว่า “กำหนดการ” โดยไม่มีคำว่า “หมาย” อยู่หน้าคำ ก็หมายถึง เอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของานทั่ว ๆ ไป[7]

บรรณานุกรม

งานประชาสัมพันธ์ สำนักพระราชวัง, รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก, สำนักพิมพ์ บริษัท วิคตอรี เพาเวอร์พอยท์ จำกัด, กรุงเทพมหานคร, 2528.

พัชณี สวัสดิ์ตยวงศ์, หนังสือชุดความรู้ภาษาไทย ภาษาไทยวันนี้ เล่ม 4. สำนักพิมพ์กรมวิชาการ,กระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร, 2554.

ม.ร.ว. สฤษดิคุณ กิติยากร, พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย 'English-Thai Dictionary', พิมพ์ครั้งที่ 4 . จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร, 2550.

ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์ ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน) :  กรุงเทพมหานคร, 2556.

ราชบัณฑิตยสถาน, จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน, ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 กันยายน 2532 . สำนักพิมพ์ อักษรเจริญทัศน์, กรุงเทพมหานคร,2532.

อ้างอิง

  1. พัชณี สวัสดิ์ตยวงศ์, หนังสือชุดความรู้ภาษาไทย ภาษาไทยวันนี้ เล่ม 4. สำนักพิมพ์กรมวิชาการ,กระทรวงศึกษาธิการ : กรุงเทพมหานคร, 2554. หน้า 112.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์ ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน) : กรุงเทพมหานคร, 2556. หน้า 1302.
  3. ม.ร.ว. สฤษดิคุณ กิติยากร, พจนานุกรม อังกฤษ- ไทย English-Thai Dictionary, พิมพ์ครั้งที่ 4 . จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร, 2550. หน้า 521.
  4. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. สำนักพิมพ์บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์ ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน) : กรุงเทพมหานคร, 2556. หน้า 127.
  5. ม.ร.ว. สฤษดิคุณ กิติยากร, พจนานุกรม อังกฤษ- ไทย English-Thai Dictionary, พิมพ์ครั้งที่ 4 . จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร,2550. หน้า 600.
  6. ราชบัณฑิตยสถาน, จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน, ปีที่ 1 ฉบับที่ 9 กันยายน 2532 . สำนักพิมพ์ อักษรเจริญทัศน์ : กรุงเทพมหานคร,2532. หน้า 25.
  7. งานประชาสัมพันธ์ สำนักพระราชวัง, รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก, สำนักพิมพ์ บริษัท วิคตอรี เพาเวอร์พอยท์ จำกัด  : กรุงเทพมหานคร, 2528. หน้า 107.