หน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

หน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ถูกตราขึ้นเพื่อเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยกำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ด้วยการบัญญัติรับรองหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน (มาตรา 4) บุคคลจึงย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น (มาตรา 25) ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเมื่อได้รับการรับรองสิทธิของปวงชนชาวไทยแล้วก็ย่อมมีหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามมาด้วยเช่นกัน หรือ อาจกล่าวได้ว่า เมื่อมี “สิทธิและเสรีภาพ” ก็ย่อมมี “หน้าที่” ควบคู่กันเสมอ ฉะนั้นแล้วในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจึงต้องมีการตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติขึ้นไปมาใช้บังคับเพื่อคุ้มครองไม่ให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการจำกัดจนเกินขอบเขต

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงได้กำหนดให้ประชาชนไทยมีหน้าที่ต้องยึดถือและปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย รายละเอียดดังนี้

 

ความหมายของคำว่า “หน้าที่” และ “กฎหมาย”

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “หน้าที่” คือ กิจที่จะต้องทำด้วยความรับผิดชอบ[1]

          ในขณะที่รัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจึงถือเป็นกฎหมายประเภทหนึ่งที่มีลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ 1) เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ 2) กฎเกณฑ์ข้อบังคับนั้นถูกออกโดยผู้ที่มีอำนาจสูงสุดภายในรัฐ 3) กฎเกณฑ์นั้นต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป 4) หากไม่กระทำตามจะได้รับโทษหรือผลร้าย

เมื่อนำความหมายของหน้าที่มาประกอบเข้ากับลักษณะของกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงอธิบายได้ว่า รัฐธรรมนูญประสงค์จะกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้แก่ปวงชนชาวไทยให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ
และ หากไม่ทำหน้าที่ในบางเรื่องที่สำคัญบุคคลนั้นอาจจะได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

 

หน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 50 ได้กำหนดให้ประชาชนไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติทั้งสิ้น 10 อย่าง อันถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ประชาชานชาวไทยจำเป็นต้องให้ความใส่ใจเพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ

(1) หน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ หากบุคคลใดใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะถูกดำเนินคดีอาญาโดยอัยการสูงสุดผ่านศาลรัฐธรรมนูญให้เลิกการกระทำดังกล่าว (มาตรา 49) หน้าที่นี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดเนื่องจากหากไม่มีชาติก็จะไม่มีวัฒนธรรม ภาษาของตนเอง หากไม่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ทุกคนทำความดี สังคม ย่อมเกิดความเสื่อมทราม หากไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ ประเทศชาติย่อมขาดความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน[2]

(2) ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดินรวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คนไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องร่วมกันเสียสละทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แก้ไขปัญหาของสังคม ของประเทศชาติด้วยการร่วมแสดงความคิดเห็น ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและชุมชนร่วมคัดค้าน ตรวจสอบ หากมีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นในสังคม ร่วมส่งเสริมสนับสนุนแนวทางดำเนินงานของรัฐที่มีประโยชน์ต่อสังคม[3]

ในส่วนของสาธารณภัยเป็นบทบัญญัติที่เพิ่มเติมขึ้นในรัฐธรรมนูญเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาตินับวันเกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่สังคมจะต้องให้ความสำคัญ จึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องร่วมมือและช่วยเหลือกัน

(3) ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประเทศเป็นสังคมที่พัฒนาด้วยการที่พลเมืองรู้จักหน้าที่และเคารพต่อกฎเกณฑ์หรือกติกาของสังคมอย่างเคร่งครัด เนื่องจากกฎหมายทุกฉบับล้วนมีเป้าประสงค์เพื่อให้คนในสังคมได้รับสิทธิ เสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ด้วยความชอบธรรม ในฐานะปวงชนชาวไทยจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมาย เพื่อจะได้ไม่มีการละเมิดสิทธิหรือกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย

(4) เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ หมายถึง การบังคับให้เด็กทุกคนต้องมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาอบรมตามการศึกษาภาคบังคับ และขณะเดียวกันบิดามารดา หรือผู้ปกครองย่อมต้องมีหน้าที่พาเด็กไปเข้ารับการศึกษาอบรมภาคบังคับ ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน (อายุ 3 ปีบริบูรณ์) จนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3)
เป็นอย่างน้อย

รัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ต่อประชาชนด้วยการจัดให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาล และต้องจัดให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปีอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

(5) รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ สำหรับชายที่มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปี มีหน้าที่ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกิน และเมื่ออายุ 21 ปี ต้องไปรับการตรวจเลือกรับราชการทหาร แต่หากผู้ใดยังเรียนอยู่ก็สามารถผ่อนผันได้จนกว่าจะสำเร็จการศึกษาได้ หรือสามารถสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหารเพื่อเป็นกองกำลังสำรองสำหรับเตรียมพร้อมรับใช้ชาติได้อีกทาง

(6) เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม เป็นการเพิ่มเหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในการใช้สิทธิและเสรีภาพที่จะต้องไม่ละเมิดต่อผู้อื่นและยังต้องใช้สิทธิและเสรีภาพโดยสุจริตในทางสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการวิกฤติการณ์ของประเทศที่มีประสิทธิภาพ และทำให้สังคมไทยได้รับการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

(7) ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญเป็นการวางหลักเพื่อรองรับการจัดทำประชามติต่าง ๆ ในอนาคตด้วย และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งหรือลงประชามติในระบอบประชาธิปไตย และสร้างจิตสำนึกทางการเมืองให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

ประชาชนชาวไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ใด  ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองอีกประการหนึ่ง

(8) ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม ถือเป็นหน้าที่ที่สอดคล้องกับสิทธิชุมชนตามมาตรา 43 ประกอบกับบทบัญญัติด้านสิ่งแวดล้อมในมาตรา 50 (8) มาตรา 57 และมาตรา 58 เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนในการปกป้องรักษาและสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในชาติในการดูแลรักษาด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มหน้าที่โดยกำหนดหลักการให้ประชาชนมีหน้าที่ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมอันจะทำให้เกิดการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมไทย เช่น ภาพวาดโบราณ วัด เจดีย์โบราณ หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นต้น

(9) เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่สำคัญเมื่อมีรายได้เกิดขึ้นก็จำเป็นต้องเสียภาษี เรียกว่า “ภาษีทางตรง” นอกจากนี้ พลเมืองยังต้องเสียภาษีทางอ้อมที่เก็บจากการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เรียกว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” หน้าที่ในการเสียภาษีจึงเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศเพราะเงินภาษีที่ได้มาถือเป็นรายได้ของรัฐในการนำไปพัฒนาประเทศและย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อทุกคน

(10) ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ การทุจริตย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติให้เกิดความเสียหายจึงเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่จะต้องคัดค้าน ต่อต้าน ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ

 

บรรณานุกรม

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. เข้าถึงจาก http://www.royin.go.th/dictionary/. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2562.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562.

 

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

"สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. สาระน่ารู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ชุด “สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของปวงชนชาวไทย”. พฤศจิกายน 2560.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562.

 

อ้างอิง

[1] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เข้าถึงจาก http://www.royin.go.th/dictionary/, เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2562.

[2] "สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, สาระน่ารู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ชุด “สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของปวงชนชาวไทย”, พฤศจิกายน 2560, หน้า 19.

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 20.