ส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การศึกษาได้แผ่ขยายออกไปมากขึ้น จากเดิมที่มีไว้เพื่อฝึกหัดคนเพื่อใช้ในราชการเท่านั้น ในสมัยรัชกาลของพระองค์มีผู้สำเร็จการศึกษามากขึ้น แต่จำนวนหน้าที่ตำแหน่งราชการมีไม่เพียงพอกับคนที่ประสงค์จะเข้ารับราชการ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องจัดการศึกษาให้กว้างขวางออกไปให้เป็นการศึกษาแห่งชาติ คือ การสอนให้ประชาชนมีความรู้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ จึงทรงเร่งรัดให้ขยายพื้นที่การประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๔๖๔ ในทันทีเพื่อให้ราษฎรทั่วประเทศได้เข้าถึงการศึกษา โดยได้เพิ่มจากร้อยละ ๔๕.๗๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นร้อยละ ๗๖.๗๖ ของจำนวนตำบลทั่วประเทศ ในปี ๒๔๖๙ ซึ่งเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๗

อีกทั้งในปี ๒๔๗๓ ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำได้โปรดให้ยกเลิกการเก็บเงินศึกษาพลีหรือภาษีการศึกษาประชาบาลเพื่อแบ่งเบาภาระของราษฎร และจ่ายเงินงบประมาณแทน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการที่รัฐถือเป็นหน้าที่ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังได้แก้ไขพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ให้ต้องใช้หลักสูตรที่มีมาตรฐานเหมือนโรงเรียนของรัฐบาล ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนทั้งของมิชชันนารี

การศึกษาถือเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ เพื่อการพัฒนาประชาชนและประเทศชาติ การจัดการศึกษาภาคบังคับและการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในรัชกาลนี้ นับว่าเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้รัฐจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับ ๙ ปี ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่จำเป็นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ที่มา

บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖