สูตรเลือกตั้ง – เครื่องคิดเลข

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง      
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม 
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต  แก้วหานาม
3.นายอธิพงษ์ ภูมีแสง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ


สูตรเลือกตั้ง – เครื่องคิดเลข

1.ความนำ

          ประเทศไทยมีการใช้ระบบการเลือกตั้งมาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ แบบแบ่งเขตเบอร์เดียว แบบมีและไม่มีบัญชีรายชื่อ แบบบัญชีรายชื่อเดียวและแบบบัญชีสัดส่วน ซึ่งการเลือกตั้งสองแบบนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น แบบกำหนดและไม่กำหนดให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง แบบควบรวมพรรคได้และห้ามควบรวมพรรคที่มีผู้แทนเข้าด้วยกัน กับแบบให้ผู้แทนเปลี่ยนพรรคได้และห้ามเปลี่ยนพรรคสังกัด ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561  ได้นำสูตรการเลือกตั้งที่เรียกว่าระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมาใช้เป็นครั้งแรก ส่วนวลี “เครื่องคิดเลข” นั้นเกิดขึ้นภายหลังการนับคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส.
          ในปี พ.ศ. 2562 ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกทวงถามถึงความชัดเจนในการคิดจำนวน ส.ส. โดยเฉพาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ผนวกกับความเข้าใจและการตีความของสังคมในเรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส. ไม่ตรงกัน และยังไม่มีความชัดเจนในการคำนวณ แม้ว่า กกต.ได้มีการชี้แจงถึงข้อสงสัยของสังคมในหลายประเด็นต่างๆ บ้างแล้ว เช่น เรื่องยอดผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกับยอดบัตรเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า “บัตรเขย่ง” แต่ในเรื่องการคำนวณ ส.ส. กกต. ให้เหตุผลว่า “ไม่สามารถยืนยัน สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ชัดเจนได้ เพราะยังไม่เคยนำมาใช้คำนวณ” ต่อมา กกต. ได้แถลงสรุปผลเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในหลายประเด็น เช่น ภาพรวมการจัดการเลือกตั้ง การทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งหลังการแถลงสรุปผลได้มีสื่อมวลชนสอบถามถึงวิธีการหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ กกต.ได้ตอบคำถามประโยคสั้นๆว่า “ไม่มีเครื่องคิดเลข”[1] จึงกลายวลีที่สังคมหยิบยกขึ้นมาพูดถึงโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์

 

2.ปรากฏการณ์ กรณี ไม่มีเครื่องคิดเลข ในการเลือกตั้ง ส.ส.

          ภายหลังการนับผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี พ.ศ. 2562 การรายงานข่าวของสื่อสารมวลชนถึงการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ไม่ตรงกันหลายสำนักข่าว รวมไปถึงความสับสนในการแถลงข่าวและตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงแม้ว่า กกต. จะประกาศผลเลือกตั้งทั้งหมดอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 แล้วก็ตาม แต่ความสงสัยถึงการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ยังไม่ได้ข้อยุติ
          ด้าน กกต. ก็ยังสงวนท่าทีในการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยระบุว่าต้องรอการประกาศคะแนนอย่างเป็นทางการก่อน เนื่องจากอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งผลดังกล่าวอาจจะล่าช้าออกไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง[2] ก่อนจะถึงกำหนดวันตามกรอบกฎหมาย (9 พ.ค. 62) กกต. ต่างถูกทวงถามถึงความชัดเจนในการคิดจำนวน ส.ส. โดยเฉพาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ผนวกกับความเข้าใจและการตีความของสังคมในเรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส. ไม่ตรงกัน และยังไม่มีความชัดเจนในการคำนวณ แม้ว่า กกต.ได้มีการชี้แจงถึงข้อสงสัยของสังคมในหลายประเด็นต่างๆ บ้างแล้ว แต่ความชัดเจนในการคิดคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็ยังไม่ปรากฏ ส่วนวลีที่ว่า “ไม่มีเครื่องคิดเลข” ได้กลายเป็นประเด็นขึ้นในสังคมเมื่อสื่อมวลชนสอบถามถึงวิธีการหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในระหว่างการแถลงรายงานสรุปผลการเลือกตั้ง โดย กกต.ได้ตอบคำถามเพียงว่า “ไม่มีเครื่องคิดเลข” ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้สะท้อนผ่านการแสดงความเห็นบนสังคมออนไลน์ ทั้งโพสข้อความและแฮชแท็กในทวิตเตอร์ ที่แตกต่างกันออกไป เช่น #กกตไม่มีเครื่องคิดเลข  #กกตโป๊ะแตก #กกตโกงการเลือกตั้ง เป็นต้น

 

3.เปรียบเทียบสูตรการเลือกตั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 – ปี 2560

          การเลือกตั้ง เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตยที่ถือว่าเป็นระบอบการปกครองที่ยอมรับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจปกครองประเทศอย่างทั่วถึง และมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ ประชาชนมีอำนาจในการปกครองตนเอง แต่ในทางปฏิบัติประชาชนทุกคนไม่สามารถเข้าไปร่วมปกครองประเทศได้ทั้งหมด จึงต้องใช้วิธีเลือกตัวแทนเข้าไปดำเนินการแทน สำหรับประเทศไทยการเลือกตั้งผู้แทนประชาชนในระดับชาติ ได้แก่ การเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัตินั้นคือการออกกฎหมายต่าง ๆ ในการปกครองประเทศ และเลือกสรรบุคคลจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นผู้นำคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดิน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจึงเป็นวิธีการที่ทำให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศอย่างเสมอภาค[3] เมื่อพิจารณาถึงสูตรการเลือกตั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมาภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ. 2560 ซึ่งสรุปได้ดังนี้

          รัฐธรรมนูญ ปี 2540 นำเสนอสูตรการเลือกตั้งแบบใหม่ที่พลิกโฉมการเมืองไทย โดยใช้ระบบ
"ปาร์ตี้ลิสต์" หรือ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเป็นครั้งแรกเพื่อเพิ่มบทบาทของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรค ขณะที่ ส.ว. ก็มาจากการทั้งเลือกตั้งทั้งหมด แต่ระบบนี้ใช้ในการเลือกตั้งได้เพียง 2 ครั้ง (การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548) นำไปสู่ชัยชนะของพรรคไทยรักไทย ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เป็นนายกรัฐมนตรีและต่อมาเกิดการรัฐประหาร ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ฉบับปี 2550

          รัฐธรรมนูญ ปี 2550 นำเสนอสูตรเลือกตั้งแบบใหม่ ใช้ระบบ "สัดส่วน" คล้ายระบบบัญชีรายชื่อแต่ไม่ใช้บัญชีเดียวทั้งประเทศ แบ่งพื้นที่การเลือกตั้งออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด สร้างความสับสนตามมา ใช้ได้เพียง 1 ครั้ง (ในการเลือกตั้งปี 2550) พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง ได้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ส. กลับไปใช้บัญชีรายชื่อบัญชีเดียวทั่วประเทศ จำนวน 125 คน

          รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นสูตรเลือกตั้งแบบใหม่อีกครั้ง เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม”
เพิ่มจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อขึ้นเป็น 150 คน และให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกตั้งทั้ง ส.ส. ระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งก็ยังพบปัญหาแบบใหม่ตามมา แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะส่งให้พรรคเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองในเครือข่ายเดิมกลับมาครองที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดได้อีกครั้ง หากแต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี[4]

 

4.แนวคิด กฎหมาย กับกรณีสูตรเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562

          ผู้เขียนขออ้างอิงสาระสำคัญภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสูตรเลือกตั้งไว้ในส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร มาตรา 91 การคํานวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ดังนี้

  1. นําคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดของ
    สภาผู้แทนราษฎร
  2. นําผลลัพธ์ตาม 1) ไปหารจํานวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จํานวนที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้
  3. นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม 2) ลบด้วยจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งผลลัพธ์คือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ
  4. ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ํากว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม 2)
  5. เมื่อได้จํานวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[5]

           เมื่อพิจารณาการนับคะแนนตามวรรคท้ายของมาตราข้างต้น ที่ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการคํานวณ การคิดอัตราส่วน และการประกาศผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ระบุไว้ใน มาตรา 128 ความว่า

          ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งแล้ว การคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะพึงได้รับ
ให้คํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตําแหน่ง

          1) นําคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

          2) นําผลลัพธ์ตาม 1) ไปหารจํานวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จํานวนที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คํานวณตาม 5) 6) หรือ 7) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

          3) นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม 2) ลบด้วยจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น

          4) ภายใต้บังคับ 5) ให้จัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม 3) เป็นจํานวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคนในกรณีมีเศษเท่ากัน ให้ดําเนินการตาม 6)

          5) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม 2)

          6) ในการจัดสรรตาม 5) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน กรณีที่เศษที่เหลือของแต่ละพรรคการเมืองเท่ากันจนทําให้ไม่สามารถจัดสรรสมาชิกสภาผ้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้นําค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน และหากยังมีจํานวนค่าเฉลี่ยดังกล่าวเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลาก

          7) ในกรณีที่เมื่อคํานวณตาม 5) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดําเนินการคํานวณปรับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคํานวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบและให้นํา 4) มาใช้ในการคํานวณด้วยโดยอนุโลม

          8) เมื่อได้จํานวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          ในกรณีที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนเวลาปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นําคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้ มาคํานวณตาม 1) และ 2) ด้วย

          ทั้งนี้ การดําเนินการตาม 1) ถึง 8) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกําหนด[6]

 

5.บทสรุป

          จากข้อมูลข้างต้นอาจกล่าวได้ว่าสูตรการเลือกตั้งในแต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนแปรไปตามเงื่อนไขทางการเมือง ณ เวลานั้น ส่งผลให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกำหนดรูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส. ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสูตรการเลือกตั้งในแต่ละแบบล้วนมีข้อดีที่ต่างกัน เช่น สูตรเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มความสำคัญให้แก่พรรคการเมือง รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งมีเสถียรภาพ ประชาชนได้ประโยชน์จากนโยบายของพรรคการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 การเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตคะแนนการเลือกตั้งของประชาชนมีการกระจายเนื่องจากประชาชนสามารถออกเสียงเลือก ส.ส. ได้มากกว่า 1 คน ขณะที่การเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้มีการแบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็น 8 กลุ่ม ซึ่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อยังมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ไม่แยกขาดจากพื้นที่ และ รัฐธรรมนูญ 2560 คะแนนเสียงของประชาชนที่ออกเสียงไปนั้นมีค่าทุกคะแนน (คะแนนไม่ตกน้ำ) เพราะสามารถนำไปคำนวณเป็นคะแนนรวมของพรรคเพื่อหาจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคอีกครั้ง เพียงแต่การคำนวณจำนวน ส.ส.ต้องดำเนินการภายใต้ขอบเขตของกฎหมายอย่างรอบคอบและสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อลดประเด็นปัญหาที่จะตามมาจากการอธิบายหรือชี้แจงข้อมูลที่ยังขาดความชัดเจนได้

 

บรรณานุกรม

 

“การเลือกตั้ง.” สถาบันประปกเกล้า (4 กุมภาพันธ์ 2552),

เข้าถึงจาก < http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การ เลือกตั้ง>, สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563.

“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561.”

ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 82.

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก วันที่ 6 เมษายน 2560, หน้า 24.

“ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปฏิรูป.” สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ,

เข้าถึงจาก <http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php?nid=1463>, สืบค้นเมื่อ 15    พฤษภาคม 2563.

“เลือกตั้ง 5 ครั้งใช้ 4 ระบบ เปรียบเทียบระบบเลือกตั้ง 2540 ถึงปัจจุบัน.” ไอลอว์ (8 มีนาคม 2563),

เข้าถึงจาก <      https://ilaw.or.th/node/5572>, สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563.

“เลือกตั้ง 2562 : ก่อน 7 พ.ค. กกต.ทำอะไรบ้าง หลังปิดหีบเลือกตั้ง” ข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ (7 พฤษภาคม 2562),         เข้าถึงจาก < https://news.thaipbs.or.th/content/279767>, สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563.

“วิเคราะห์ 2 สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ไทยพับลิก้า (30 มีนาคม 2562), เข้าถึงจาก<           https://thaipublica.org/2019/03/thailand-election-2562-65>, สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563.

อ้างอิง 

            [1] “เลือกตั้ง 2562 : ก่อน 7 พ.ค. กกต.ทำอะไรบ้าง หลังปิดหีบเลือกตั้ง” ข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ (7 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก < https://news.thaipbs.or.th/content/279767>, สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563.

            [2] “วิเคราะห์ 2 สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ไทยพับลิก้า (30 มีนาคม 2562),

เข้าถึงจาก < https://thaipublica.org/2019/03/thailand-election-2562-65>, สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563.

            [3] “การเลือกตั้ง.” สถาบันประปกเกล้า (4 กุมภาพันธ์ 2552),

เข้าถึงจาก < http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเลือกตั้ง>, สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563.

            [4] “เลือกตั้ง 5 ครั้งใช้ 4 ระบบ เปรียบเทียบระบบเลือกตั้ง 2540 ถึงปัจจุบัน.” ไอลอว์ (8 มีนาคม 2563), เข้าถึงจาก < https://ilaw.or.th/node/5572>, สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563.

            [5] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนที่ 40 ก วันที่ 6 เมษายน 2560, หน้า 24.

            [6] “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561.” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 82.