สูตรคำนวณ party list

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง: รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น เป็นการใช้สูตรในการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งครั้งแรก ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งสามารถนำเสนอตามประเด็นดังต่อไปนี้

 

1. ความหมาย หรือ แนวคิด

การเลือกตั้ง (election) เป็นกลไกที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประเทศใดที่ขาดการเลือกตั้งจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยมิได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นเงื่อนไขจำเป็น (Necessary Conditions) สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอ (Sufficient Conditions) ที่จะตัดสินว่าประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องดูปัจจัยและเงื่อนไขที่จำเป็นอื่น ๆ ประกอบด้วย อาทิ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน การตรวจสอบทางการเมือง ความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้ง เป็นต้น

ส่วนระบบการเลือกตั้งมีหลายประเภท สำหรับระบบการเลือกตั้งโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ[1] คือ ได้แก่

'1) ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา ('Plurality System) หรือ “First Past the Post” (FPTP) กล่าวคือ ใครได้คะแนนมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง เป็นระบบที่ง่ายที่สุด ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดาที่พบเห็นเป็นส่วนใหญ่ใช้ควบคู่กับเขตเลือกตั้งที่มีตัวแทนได้หนึ่งคน (Single-Member District/Constituency) หรือ แบบ 1 เขต 1 คน (ของประเทศไทยเรียกว่า แบบเขตเดียวเบอร์เดียว หรือแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ได้ ส.ส.เขตละ 1 คนซึ่งเป็นผู้ที่ได้คะแนนเลือกตั้งสูงสุดในแต่ละเขต)

2)ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด ('Majority Rule) ใช้ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แต่ละเขตมีตัวแทนได้ 1 คนผู้ชนะจะต้องได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) กล่าวคือ เกิน 50% ขึ้นไป เช่น มีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 100,000 คน ผู้ชนะจะต้องได้คะแนนเสียงเกิน 50,000 คะแนน ที่เป็นเช่นนี้เพื่อให้ผู้ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากพอที่จะมีความชอบธรรมในการทำหน้าที่ แต่ปัญหาคือ ถ้าไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดจะแก้ปัญหาอย่างไร?

3)ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน ('Proportional Representation) (ประเทศไทย เรียกว่า แบบบัญชีรายชื่อ) จะใช้กับเขตใหญ่ที่มีตัวแทนได้หลายคน เช่น ของประเทศไทยแบบบัญชีรายชื่อใช้พื้นที่ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง สามารถมีตัวแทนได้หลายคน ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า ระบบบัญชีรายชื่อ การนำระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาใช้สัมพันธ์กับปัจจัย 5 ประการ คือ ขนาดเขตเลือกตั้ง ลำดับชั้นของเขตเลือกตั้ง สูตรการคำนวณ เกณฑ์ขั้นต่ำ และการจัดลำดับผู้สมัครเลือกตั้ง

4)ระบบเลือกตั้งแบบผสม ('Mixed Electoral System) หมายถึง ระบบการเลือกตั้งที่ใช้ระบบเลือกตั้งสองระบบพร้อมกันในการเลือกตั้งครั้งเดียวกัน ระบบเลือกตั้งแบบผสมสามารถใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนพร้อมกับระบบเสียงข้างมากธรรมดา หรือแบบสัดส่วนพร้อมกับระบบเสียงข้างมากเด็ดขาดก็ได้ ระบบเลือกตั้งแบบผสมที่นิยม คือ แบบคู่ขนานระหว่างแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน  ในระบบนี้การจัดสรรที่นั่งของผู้สมัครในระบบเขตเลือกตั้ง และระบบสัดส่วนจากบัญชีรายชื่อของพรรค จะเป็นอิสระจากกัน  โดยไม่นำคะแนนจากระบบเลือกตั้งสองระบบมาคิดรวมกัน ระบบนี้พบได้ในประเทศญี่ปุ่นและไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 หรือฉบับ 2550

ในสูตรคำนวณ party list ขอกล่าวถึงเฉพาะระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation) ประเทศไทย เรียกว่า แบบบัญชีรายชื่อ จะใช้กับเขตใหญ่ที่มีตัวแทนได้หลายคน เช่น ของประเทศไทยแบบบัญชีรายชื่อใช้พื้นที่ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง  โดยเฉพาะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24  มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

 

2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ผู้เขียนขอนำหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ จากเว็บไชต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)[2] มาอธิบายถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นที่มาของจำนวน ส.ส.
ที่แต่ละพรรคที่พึงมีพึงได้จากคะแนนเสียงของการเลือกตั้ง ดังนี้

  1. การจัดทำผลรวมคะแนนทั้งประเทศของพรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัคร แบบบัญชีรายชื่อตามผลคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 เขตเลือกตั้ง ทำให้มีผลรวมคะแนน ทั้งประเทศ จำนวน 35,561,556 คะแนน จากพรรคการเมืองที่มีคะแนน ทั้งหมด 74 พรรคการเมือง เช่น 1) พลังประชารัฐ 8,441,274 คะแนน  2) เพื่อไทย 7,881,006 คะแนน 3) อนาคตใหม่ 6,330,617 คะแนน 4) ประชาธิปัตย์ 3,959,358 คะแนน  5) ภูมิใจไทย 3,734,459 คะแนน เป็นต้น
  2. การคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่จะจัดสรรให้ พรรคการเมืองกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตแล้ว ตามมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561[3] มีขั้นตอน ดังนี้

(1) ตามมาตรา 128 (1) นำคะแนนรวมที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัคร แบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หารด้วย 500 อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมด ของสภาผู้แทนราษฎร

35,561556/ 500   = 71,123.1120 คะแนน

                

(2) ตามมาตรา 128 (2) นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมของ
พรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น

  • 3) ตามมาตรา 128(3) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ ตาม (2) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง ในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ เบื้องต้น
  • 4) ผลลัพธ์จากการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่
    พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้นทั้งหมด เกินจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรค จะได้รับเบื้องต้นทั้งหมด จึงไม่สามารถนำมาตรา 128 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาบังคับใช้กับกรณีนี้ จึงต้องดำเนินการตามมาตรา 128 (5) (6) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 คือ

(ก) กรณีมีพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

(ข) ให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่ พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2) 8

(ค) ในกรณีที่เมื่อคำนวณตาม (ข) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกิน 150 คน ให้ดำเนินการคำนวณปรับจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคำนวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกิน 150 คน โดยให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วย 150 คน หารด้วยผลบวกของ 150 คน
กับจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจำนวน 150 คน

(ง) การจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง จะได้รับให้ครบ 150 คน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (ค) เป็นจำนวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบ จำนวน 150 คน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามล าดับจนครบจำนวน 150 คน

(จ) ในการจัดสรรตาม (ข) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อไม่ครบ 150 คน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวน 150 คน

    3. ผลจากการคำนวณตามข้อ 2 ปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของ พรรคไทรักธรรมที่ได้รับการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 131 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 25 พรรคการเมือง ดังนี้

 

ลำดับที่

ชื่อพรรคการเมือง

จำนวนที่ได้รับ (คน)

1

พลังประชารัฐ

19

2

อนาคตใหม่

50

3

ประชาธิปัตย์

20

4

ภูมิใจไทย

12

5

เสรีรวมไทย

10

6

ชาติไทยพัฒนา

4

7

เศรษฐกิจใหม่

6

8

ประชาชาติ

1

9

เพื่อชาติ

5

10

รวมพลังประชาชาติไทย

4

11

ชาติพัฒนา

2

12

พลังท้องถิ่นไท

3

13

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย

2

14

พลังปวงชนไทย

1

15

พลังชาติไทย

1

16

ประชาภิวัฒน์

1

17

ไทยศรีวิไลย์

1

18

พลังไทยรักไทย

1

19

ครูไทยเพื่อประชาชน

1

20

ประชานิยม

1

21

ประชาธรรมไทย

1

22

ประชาชนปฏิรูป

1

23

พลเมืองไทย

1

24

ประชาธิปไตยใหม่

1

25

พลังธรรมใหม่

1

รวม

150

 

3. จากผลลัพธ์ตามข้อ 3 และเมื่อรวมกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่ง เขตเลือกตั้งของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ทำให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ลำดับที่

ชื่อพรรคการเมือง

จำนวน ส.ส.

แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

จำนวน ส.ส.

แบบบัญชีรายชื่อ

ส.ส.

ทั้งหมด (คน)

1

พลังประชารัฐ

97

19

116

2

เพื่อไทย

136

0

136

3

อนาคตใหม่

31

50

81

4

ประชาธิปัตย์

33

20

53

5

ภูมิใจไทย

39

12

51

6

เสรีรวมไทย

0

10

10

7

ชาติไทยพัฒนา

6

4

10

8

เศรษฐกิจใหม่

0

6

6

9

ประชาชาติ

6

1

7

10

เพื่อชาติ

0

5

5

11

รวมพลังประชาชาติไทย

1

4

5

12

ชาติพัฒนา

1

2

3

13

พลังท้องถิ่นไท

0

3

3

14

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย

0

2

2

15

พลังปวงชนไทย

0

1

1

16

พลังชาติไทย

0

1

1

17

ประชาภิวัฒน์

0

1

1

18

ไทยศรีวิไลย์

0

1

1

19

พลังไทยรักไทย

0

1

1

20

ครูไทยเพื่อประชาชน

0

1

1

21

ประชานิยม

0

1

1

22

ประชาธรรมไทย

0

1

1

23

ประชาชนปฏิรูป

0

1

1

24

พลเมืองไทย

0

1

1

25

ประชาธิปไตยใหม่

0

1

1

26

พลังธรรมใหม่

0

1

1

รวม

350

150

500

 

3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ

การเลือกตั้งเป็นกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยหรือการมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนที่มีนโยบายตรงกับความต้องการของตนเองให้ไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนด้วยความชอบธรรม ในการปกป้องผลประโยชน์และดูแลทุกข์สุขของประชาชน รวมทั้งบริหารงบประมาณของประเทศชาติถึงปีละ 3.2 ล้านล้านบาท ดังนั้น การเลือกผู้แทนที่เป็น "คนดี” มีความซื่อสัตย์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนให้เข้าไปทำงานทางการเมือง จะทำให้สามารถใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่มาจากเงินภาษีของประชาชนไปพัฒนาประเทศชาติได้อย่างเต็มที่ซึ่ง ส.ส. มีทั้งหมด 500 คน มาจากการเลือกตั้ง 2 แบบ ได้แก่

1) ส.ส. แบบแบ่งเขต มีจำนวน 350 คน คือ ส.ส. ที่มาจากเขตเลือกตั้งโดยการแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกเป็น 350 เขต ในแต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส. ได้ 1 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.

2) ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มีจำนวน 150 คน โดยพรรคการเมืองจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งบัญชี ซึ่งรายชื่อไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ส่งให้กรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  การลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงจะได้รับ มาจากการจัดสรรคะแนนที่ประชาชนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จากพรรคต่าง ๆ ทั้งประเทศ มาคำนวณจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองที่จะได้รับในการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองจะมีจำนวน ส.ส. ทั้งสองประเภทได้ไม่เกินจำนวนโควตาที่พรรคการเมืองได้รับ

การได้มาของ ส.ส. ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มีการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงบัตรเดียว ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในอดีต ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกกันระหว่าง ส.ส. แบบแบ่งเขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้การคิดคำนวณการใช้สูตรคำนวณหาคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจากคะแนนรวมทั้งประเทศจึงมีความสำคัญของพรรคการเมืองต่างๆ ตามมา

 

4. สาระบัญญัติ หรือ เนื้อหาหลัก

จากผลการใช้สูตรคำนวณคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำให้สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,123.1120คะแนน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่พรรคการเมืองที่มีคะแนนขั้นต่ำเมื่อรวบรวมจากจำนวนคะแนนเสียงทั่วประเทศที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจึงเป็นพรรคที่ควรได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส. พึงมีได้ แต่เมื่อการประกาศวิธีการใช้สูตรคำนวณของ กกต. และประกาศจำนวนที่นั่ง ส.ส. ของบรรดาพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,123.1120 คะแนนซึ่งมีกว่า 10 พรรคตามที่ปรากฏออกมา จึงทำให้ผู้เขียนเห็นด้วยกับความเห็นของสิริพรรณ นกสวน สวัสดี ที่อธิบายว่า ตัวสูตรมันนิ่งอยู่แล้ว แต่วลีที่เขียนในกฎหมายมันไม่ชัดเจน คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญมีการใช้วลีว่าให้จัดสรรกับพรรคที่ ส.ส.ต่ำกว่าจำนวนที่พรรคจะพึงมีแต่ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส.พึงมีได้ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 91 แต่ผลปรากฏว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ไม่ให้มีการปัดเลขทศนิยม แต่ตามสูตรและวิธีการคำนวณของ กกต. มีการใช้วิธีให้เกลี่ยที่นั่งให้พรรคเล็กที่มีคะแนนรวมต่ำกว่าจำนวนที่พรรคจะพึงมี ส.ส. 1 คน แม้ว่าจะได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่คำนวณได้ ซึ่งเรียกว่าระบบ Loser Bonus System (ให้รางวัลกับพรรคที่ได้เสียงน้อย) เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ ส.ส.จะไม่ถึงจำนวน 150 ตามรัฐธรรมนูญ[4]

 

5. สรุป

          สูตรคำนวณ Party list เป็นสูตรการคำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งปรากฏสูตรคำนวนไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 91 และมีการนำไปขยายความเพิ่มเติมเป็นบัญญัติวิธีการคำนวณสูตรหาที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 อีก ทำให้เกิดการตีความวิธีการใช้สูตรคำนวณดังกล่าวแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อโดยอ้างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีการเกลี่ยที่นั่ง ส.ส. ให้กับพรรคการเมืองเล็กที่มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ส.ส. พึงมีตามรัฐธรรมนูญ จึงเกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์และเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมจับตาความเคลื่อนไหวในการปรับใช้สูตรคำนวณ ส.ส. แบบ Party list ครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562

 

6. บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561,

ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81

สิริพรรณ นกสวน. (2551). Election and Electoral System : การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง. ใน

พฤทธิสาณ ชุมพล และเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา บรรณาธิการ, คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย เล่ม 2, หน้า 98-118. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2562). ไขปัญหาสูตรคำนวณเลือกตั้ง 62 เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563

เข้าถึงจาก https://www.chula.ac.th/cuinside/19196/

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2562). หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สืบค้น

จากเว็บไซต์ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190528140635.pdf สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563.

อ้างอิง

[1] สิริพรรณ นกสวน, (2551). Election and Electoral System : การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง. ในพฤทธิสาณ ชุมพล
และเอก ตั้งทรัพย์วัฒนา บรรณาธิการ, คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย เล่ม 2, หน้า 98-118. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. น. 98 - 118

[2] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. (2562). หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ สืบค้น

จากเว็บไซต์ https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190528140635.pdf สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563.

[3] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561, หน้า 81

[4] สิริพรรณ นกสวน สวัสดี (2562). ไขปัญหาสูตรคำนวณเลือกตั้ง 62 เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563

เข้าถึงจาก https://www.chula.ac.th/cuinside/19196/