สุภาพ รักตประจิต

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

สุภาพ รักตประจิต : เสรีไทยสตรีสายอังกฤษ

 

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

        ตอนที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สองนั้น มีนักเรียนไทยสตรีไปเรียนอยู่ที่อังกฤษด้วย ดังนั้นเมื่อมีการรวมกลุ่มกันเป็นเสรีไทยที่อังกฤษ จึงมีนักเรียนไทยที่เป็นสตรีได้อาสาเข้าทำงานเสรีไทย และหนึ่งในเสรีไทยสตรีที่อังกฤษนั้นก็คือ นางสาวสุภาพ รักตประจิต ที่ภายหลังต่อมา ท่านได้เป็นที่รู้จักกันในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
ในนาม คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร การที่ท่านได้เข้ามาร่วมเป็นเสรีไทยสายอังกฤษ ก็เพราะว่าในปี 2485
สุภาพ รักตประจิต ซึ่งเรียนจบปริญญาตรีด้านพาณิชยศาสตร์และได้เกียรตินิยมอันดับสองจากมหาวิทยาลัย
เบอร์มิงแฮม และได้ทำงานอยู่ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ปรากฏว่ารัฐบาลไทยของหลวงพิบูลสงครามได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ ท่านจึงได้สมัครเข้าเป็นเสรีไทยเหมือนเพื่อนนักเรียนไทยที่เป็นชายอีกหลายคนในอังกฤษ
ในบันทึกเล่าเรื่องของท่านมีว่า

        “ในระยะแรกหลังสำเร็จการศึกษา คุณหญิงสุภาพได้เข้าทำงานที่บริษัทผู้สอบบัญชีแห่งหนึ่งในเมือง
เบอร์มิงแฮม ต่อมาได้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ นายมณี สานะเสน ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทาง
กรุงวอชิงตันได้ส่งมาเพื่อก่อตั้งคณะเสรีไทยในอังกฤษปี 2485”

        นี่แสดงว่าสุภาพ รักตประจิต ได้เริ่มงานกับผู้ประสานงานจากเสรีไทยสายอเมริกาตั้งแต่ต้นทีเดียว
ต่อมาท่านก็ยังไปทำงานกับรัฐบาลพลัดถิ่นของนอร์เวย์ ดังมีบันทึกเล่าว่า

        “หลังจากที่ทหารเสรีไทยได้เดินทางมาอินเดียแล้ว คุณหญิง สุภาพ ได้ไปทำงานกับรัฐบาลพลัดถิ่น
ของนอร์เวย์ ซึ่งขณะนั้นอพยพไปอยู่ลอนดอนชั่วคราว หลังจากได้ทำงานกับรัฐบาลพลัดถิ่นของนอร์เวย์ได้ราว
แปดเดือน คุณหญิง สุภาพ ได้ไปทำงานกับกระทรวงโฆษณาการของอังกฤษเพื่อเตรียมตัวออกมาปฏิบัติงาน
เสรีไทย”

        ตอนที่มาปฏิบัติงานเสรีไทยนอกประเทศอังกฤษนั้น ท่านต้องเดินทางมาอินเดียในปี 2487
ม.ล.จิรยุ นพวงศ์ เล่าถึง สุภาพ รักตประจิต เมื่อมาทำงานท่ีอินเดียเอาไว้ว่า

        “คุณหญิงสุภาพเป็นคนคล่องแคล่วและมีเสน่ห์ในทางการสมาคม เป็นดาราดวงเด่นในระหว่างเพื่อนร่วมงานทั้งกระทรวง เมื่อเสรีไทยในนิวเดลีจะมีงานสังสรรค์หรืองานเลี้ยงรับรองใคร คุณหญิงสุภาพเป็นทั้งแม่บ้านต้อนรับแขกคุณหญิงสุภาพได้ร่วมทำงานร่วมทุกข์และร่วมลำบากกับพวกเราที่กรุงนิวเดลีอยู่หลายเดือนภายหลัง คุณหญิงสุภาพ ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานบางอย่างที่เมืองกัลกัตตา”

        งานที่ท่านทำที่กรุงนิวเดลีนั้นคือการแปลและช่วยอ่านข่าวเป็นภาษาไทยของวิทยุ All India Radio
ส่วนงานท่ีกัลกัตตานั้น มีบันทึกว่า

        “ต่อมาย้ายไปทำหน้าที่แปลและเขียนข่าวลงไปในใบปลิวของกองบัญชาการทหารอังกฤษเอเชียอาคเนย์
ที่กัลกัตตา”

สุภาพ รักตประจิต เป็นคนกรุงเทพ เกิดที่บ้านบางขุนพรหม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมปี 2463 บิดาคือหลวงรถรัฐวิจารณ์ (พุด รักประจิต) มารดาชื่อ ศิริพร การศึกษาของสุภาพนั้น ท่านเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ได้เป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ
จึงนับว่าเป็นนักเรียนที่เรียนเก่งมาก ทำให้ได้ทุนกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2479 เรียนอยู่ประมาณปีครึ่งก็สอบได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษในปี 2481 การที่ไปเรียนที่อังกฤษนี่เอง ทำให้สุภาพ รักตประจิต ได้เข้าร่วมงานเสรีไทยและได้พบรัก ตอนที่เรียนที่มหาวิทยาลัยเบอมิ่งแฮมในประเทศอังกฤษ ท่านได้รู้จักกับ ประจิต ยศสุนทร นักเรียนไทยซึ่งมาเรียนอยู่ที่เดียวกัน ก็ได้สมัครรักใคร่กันแล้วได้แต่งงานกันในวันที่ 12 พฤศจิกายนปี 2485 ที่เมืองสเตนส์
มิลเดิลเซ็กซ์ นับเป็นความรักระหว่างสงครามเลยทีเดียว ขณะนั้นที่ประเทศอังกฤษได้อยู่ในสถานะสงคราม
ถูกเครื่องบินเยอรมันมาทิ้งระเบิด สุภาพจึงเปลี่ยนนามสกุลมาเป็น “ยศสุนทร” ในตอนนั้น

สุภาพ ยศสุนทร ได้เข้าร่วมงานเสรีไทย จนต้องเดินทางมาประจำอยู่ที่ประเทศอินเดียกับสามี
คือ ประจิต ยศสุนทร เสร็จสงครามแล้วในปี 2488 สุภาพจึงเดินทางกลับประเทศไทย แต่ยังไม่ได้ทำงานทันที
ท่านเริ่มทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2490 ระหว่างที่ทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านได้เดินทางไปเข้ารับการอบรมหลักสูตรกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่กรุงวอชิงตันและได้ดูงานธนาคารกลาง
ของสหรัฐอเมริกา และยังได้ดูงานธนาคารแห่งชาติอังกฤษด้วยเมื่อปี 2494 อีกสี่ปีต่อมาสุภาพได้ไปช่วยงานองค์การอีคาเฟ่เป็นการชั่วคราวประมาณหกเดือนในปี 2498 ในปีถัดมากระทรวงการคลังได้ยืมตัวท่านไปช่วยงานที่ปรึกษาอเมริกันที่มาศึกษาและประเมินผลโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในหน่วยงานต่างๆของราชการไทยถึงปี 2500 ท่านใดเป็นเลขานุการ คณะกรรมการฝ่ายไทยผู้ประสานกับธนาคารโลกเพื่อจัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ถึงปี 2503 จึงได้กลับไปทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในปี 2514 ก็ต้องไปเป็นกรรมการบริหารธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตัน ในฐานะผู้แทน ของเจ็ดประเทศเล็กๆในเอเชีย
อยู่จนถึงปี 2515 จึงกลับมาทำงานต่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้ง

แต่คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ก็ได้อยู่ทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เพียงประมาณสองปีเท่านั้น
เพราะโรคภัยไข้เจ็บได้ทำให้ท่านเสียชีวิตลงในวันที่ 26 มีนาคมปี 2517 ในขณะที่ท่านมีอายุเพียง 54 ปีเท่านั้น