สุนทร หงส์ลดารมภ์
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
สุนทร หงส์ลดารมภ์ : รัฐมนตรีผู้ไม่เคยลงเลือกตั้ง
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นเป็นผู้ที่ไม่ค่อยสนใจประชาธิปไตยที่ว่าด้วยการเลือกตั้งเท่าใดนัก สมัยที่ท่านเป็นใหญ่ในแผ่นดินเขาว่ากันว่า ท่านเข้าใจเลือกคนมีฝีมือมาทำงานให้บ้านเมือง ท่านเคยเลือกเอาทูตไทยที่ประจำอยู่ที่ต่างแดนถึงสามคนให้กลับมาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือทูตสุนทร หงส์ลดารมภ์ ตอนที่จอมพล สฤษดิ์ ยึดอำนาจนั้นคุณสุนทรเป็นเอกอัครราชทูตไทยอยู่ที่มาเลเซีย ถูกหัวหน้าคณะปฏิวัติเรียกมาหารือราชการ ช่วยงานอยู่พักหนึ่ง คงจะได้เห็นทั้งฝีมือและชอบใจ จึงขอให้อยู่ช่วยงานต่อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ มาดูเส้นทางชีวิตการเมืองของสุนทรกันบ้าง
สุนทร หงส์ลดารมภ์ เป็นคนต่างจังหวัด มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีบิดาชื่อ นายลองตอง และมารดาชื่อพลอย เกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2455 ที่อำเภอพยุหคิรี ที่เป็นอำเภอใหญ่ของจังหวัดทีเดียว ได้มาเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จังหวัดพระนคร และการที่เป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง สอบชั้นมัธยมปีที่ 8 ได้ที่ 1 จึงได้ทุนของราชตฤณมัยสมาคมไปเรียนทางด้านสัตวแพทย์ที่ประเทศอังกฤษ แต่ต่อมาเจ้าของทุนมีปัญหาเรื่องทุน จึงต้องย้ายมารับทุนของกระทรวงธรรมการเพื่อจะได้อยู่เรียนในอังกฤษต่อมา ที่อังกฤษนี้ท่านได้เริ่มเรียนที่วิทยาลัยเวย์มัธ และไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จนจบปริญญาตรีด้านอักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์ หลังปี 2475 ได้กลับมาทำงานเป็นครูของกระทรวงธรรมการผู้เป็นเจ้าของทุน ถึงปี 2482 ได้ย้ายไปรับราชการเป็นหัวหน้าแผนกต่างประเทศที่กรมโฆษณาการ ชีวิตครอบครัว นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ สมรสกับท่านผู้หญิง ลำเจียก
ท่านเริ่มมีประสบการณ์ด้านการเมืองในปี 2489 สมัยรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เพราะย้ายมาทำงานใกล้การเมืองเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปีถัดมามีการรัฐประหาร เปลี่ยนรัฐบาล ครั้นถึงปี 2493 สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ นายสุนทรได้เป็นเลขาธิการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (ชื่อในตอนนั้น) จนถึงปี 2499 ท่านจึงได้โอนมาอยู่กระทรวงการต่างประเทศ และออกไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตครั้งแรกที่มลายู ท่านเล่าว่า
“เหตุผลพิเศษ ฯพณฯ ตนกู อับดุล รามัน เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมลายู เป็นนักเรียนเก่าเทพ
ศิรินทร์เหมือนผม กระทรวงต่างประเทศเขาบอกว่า ให้ผมไปดีแล้ว จะได้ไปคุยกันรู้เรื่องหน่อย”
ถึงปี 2501 หลังการยึดอำนาจของจอมพล สฤษดิ์ ในประเทศไทยแล้วจอมพล สฤษดิ์ ได้เรียกทูตสุนทรให้มาช่วยงานอยู่ที่กองบัญชาการคณะปฏิวัติอยู่ประมาณ 2 เดือน ก็ขอให้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ไม่ต้องกลับไปเป็นทูต ซึ่งคุณสุนทรก็ตกลง “แกว่ายังงี้ แกเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ แล้วผมว่ายังไง”
การได้เป็นรัฐมนตรีครั้งนั้นจึงเป็นการเข้ามาเล่นการเมืองโดยไม่ได้ตั้งใจมาก่อน แต่ก็ทำให้ท่านเป็นรัฐมนตรีอยู่ติดต่อกันถึง 9 ปี กับรัฐบาลทั้งที่มีจอมพล สฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่มีจอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงปี 2511 จึงได้ขอนายกฯ จอมพลถนอม กลับไปตำแหน่งและอาชีพเก่า คือเป็นทูต
ที่น่าสังเกตก็คือ คุณสุนทรซึ่งจากนักการทูต ศึกษาจบมาทางประวัติศาสตร์และอักษรศาสตร์ จอมพล สฤษดิ์ส่งท่านไปดูแลกระทรวงเศรษฐการ ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าก่อนไปเป็นทูต ท่านเป็นเลขาธิการสภาเศรษฐกิจฯมาก่อน และที่น่าสนใจเข้าไปอีกก็คือท่านเป็นรัฐมนตรีอยู่กระทรวงเศรษฐการได้ไม่ทันครบ 100 วัน เกิดมีเรื่องที่กระทรวงการคลัง รัฐมนตรี โชค คุณเกษม ต้องพ้นตำแหน่ง จอมพล สฤษดิ์ได้ย้ายคุณสุนทรมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ปีเดียวกัน และอยู่มาจนสิ้นรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ เนื่องจากนายกฯถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2506 ที่น่าคิดก็คือท่านบอกว่าท่านเป็นขุนคลังตอนที่เงินคงคลังเป็นศูนย์
“ตอนที่ผมเข้าไปกระทรวงการคลัง เงินคงคลังนี้เหลือศูนย์เลย...ผมบอกว่ารัฐบาล เงินคงคลังไม่มีเลยนะ เราล่อแหลมมาก เราจะต้องหาเงินเข้าคลังให้ได้ทันทีและเร็ว และวิธี/ใดวิธีหนึ่งที่จะทำคือขึ้นภาษีศุลกากร ...”
เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลและมีจอมพล ถนอม เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา คุณสุนทรก็ยังเป็นรัฐมนตรีคลังต่อมาอีกปีครึ่ง ถึงกลางปี 2508 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการถึงแก่อนิจกรรม คุณสุนทรจึงขอย้ายกลับไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ และก็ได้อยู่ที่กระทรวงนี้มาจนถึงต้นปี 2511 ขณะที่เป็นรัฐมนตรีช่วงสุดท้ายนี้ท่านได้ไปช่วยงานด้านการศึกษาด้วย โดยไปเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ประมาณปีกว่าๆ จึงได้ขอนายกฯอีกครั้ง ขอลาออกจากรัฐมนตรีและอธิการบดีไปเป็นทูตที่อังกฤษ ท่านไปอยู่อังกฤษได้สามปีก็ย้ายข้ามมหาสมุทรไปเป็นทูตประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ตำแหน่งเอกอัครราชทูตทั้งที่สำนักเซนต์เจมส์ประเทศอังกฤษและที่สหรัฐฯนั้นถือว่าเป็นตำแหน่งทูตที่สำคัญมากที่สุด ท่านอยู่ที่สหรัฐฯประมาณสามปี ท่านก็กลับมาตุภูมิมาเป็นเลขาธิการองค์การ สปอ.ที่มีสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่อีก 5 ปี จนเลิกองค์การนี้ไปในปี 2520 ท่านจึงเป็นเลขาธิการคนสุดท้ายขององค์การ ครั้นถึงเดือนตุลาคม ปี 2520 นี่เอง คณะทหารได้ยึดอำนาจและพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คุณสุนทรก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลทางด้านเศรษฐกิจ อยู่มาจนมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2522 ท่านจึงได้พ้นออกมาจากวงการเมือง
แต่นาย สุนทร หงส์ลดารมภ์ ยังได้อยู่ดูการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสืบมาอีกนานถึง 28 ปี จนถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2548