สุกิจ นิมมานเหมินท์
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
สุกิจ นิมมานเหมินท์ : หัวหน้าพรรคสหภูมิ
พรรคสหภูมิเป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลัง “การเลือกตั้งสกปรก” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 และคณะทหารที่นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เวลานั้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 2 ของ ปี 2500 ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2500 พรรครัฐบาลที่ล้มไปคือพรรคเสรีมนังคศิลา ที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยเป็นรองหัวหน้าพรรคมาก่อน ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญคือพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายควงเป็นหัวหน้าพรรค ในขณะที่คนทั่วไปนึกกันว่าคงไม่มีพรรคใดในตอนนั้นจะสู้พรรคประชาธิปัตย์ได้ ก็ปรากฏว่ามีการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่ มีนักการเมืองเก่าหลายคนเปลี่ยนพรรคมาอยู่ด้วยช่วยกันสร้างพรรค ที่น่าสังเกตคือมีน้องชายต่างบิดาของจอมพล สฤษดิ์ ที่ชื่อ สงวน จันทรสาขา เป็นเลขาธิการพรรค และมีนักวิชาการฝีมือดีระดับศาสตราจารย์มาเป็นหัวหน้าพรรค ท่านผู้นี้ก็คือ ศาสตราจารย์ สุกิจ นิมมานเหมินท์ นั่นเอง เรามารู้จักนักวิชาการผู้เป็นนักการเมืองท่านนี้กันดีกว่า
นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นคนเชียงใหม่โดยกำเหนิด มีบิดาชื่อหยี และมีมารดาชื่อจันทร์ทิพย์ ท่านเกิดที่ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2449 ดังนั้นท่านจึงเรียนหนังสือแต่แรกเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่โรงเรียนชัวย่งเส็งอนุกูลวิทยา แล้วจึงมาเรียนต่อจนจบชั้นมัธยม ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จากนั้นจึงเดินทางเข้ามาเรียนในเมืองหลวง ที่โรงเรียนอัสสัมชัน ก่อนที่ทางครอบครัวจะส่งไปเรียนที่อังกฤษ ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน จนจบปริญญาตรี และปริญญาโททางด้านวิศวกรรมศาสตร์ แล้วจึงเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน มาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางด้านวิชาฟิสิกส์ เมื่อปี 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจารย์สุกิจ รับราชการเจริญก้าวหน้ามาด้วยดี ได้ทำหน้าที่เลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย
ใน พ.ศ.2483 ในช่วงเวลาสงครามมหาเอเชียบูรพา สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้ย้ายท่านไปเป็นอธิบดีกรมอาชีวศึกษา อาจารย์สุกิจ เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกโดยสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภาชุดแรก เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 ที่กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภา กับสภาผู้แทนราษฎร แต่อายุของสภาชุดนี้ก็สั้น เพราะในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 ได้เกิดการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาจึงต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปที่ตามมาในวันที่ 29 มกราคม ปีถัดมา อาจารย์สุกิจ ก็กลับไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนที่บ้านเกิด จังหวัดเชียงใหม่ และก็ไม่ผิดหวังท่านได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร
หลังการเลือกตั้งในปี 2491ได้ไม่นาน นายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงค์ ก็ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนต่อมา กลับมาเป็นหลวงพิบูลสงครามอีกครั้ง และอาจารย์สุกิจก็ได้ร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรก โดยเป็นรัฐมนตรีลอย แต่ช่วยสั่งราชการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 และมีการเลือกตั้งเพิ่มเติมผู้แทนราษฎรตอนต้นเดือนมิถุนายนของปีเดียวกันแล้ว หลวงพิบูลฯยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาล อาจารย์สุกิจยังคงได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ครั้นมีการยึดอำนาจโดยคณะทหาร สมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาจึงหมดไป แต่เมื่อมีการตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ตามมาในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 อาจารย์สุกิจ ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวน 123 คนที่ได้รับแต่งตั้งด้วยและก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสืบมา ดังนั้นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 ท่านจึงไม่ได้ลงเลือกตั้งที่เชียงใหม่ โดยก็ยังคงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
แต่การร่วมรัฐบาลคราวนี้ค่อนข้างสั้น ท่านร่วมรัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลฯหรือจอมพล ป. อยู่ต่อมาได้เพียงวันที่ 12 มิถุนายน ปี 2495 ท่านก็ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เขาเล่ากันว่าเพราะท่านทนการแทรกแซงการทำงานในกระทรวงไม่ไหว ด้วยมีผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจต้องการความสะดวกเป็นอย่างมากในการทำกิจการ จนร่ำลือกัน เว้นว่างจากการเมืองไปห้าปี อาจารย์สุกิจก็กลับไปลงเลือกตั้งและชนะเลือกตั้งที่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นผู้แทนฯจนจอมพล สฤษดิ์ ยึดอำนาจ และอาจารย์สุกิจก็ได้เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคสหภูมิ ในการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2500 นั้นพรรคสหภูมิของท่านชนะที่ 1 ได้มีผู้แทนฯถึง 44 คน มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ผู้แทนฯ 39 คน แต่ท่านก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะอีกเจ็ดวันต่อมาจอมพล สฤษดิ์ก็จัดตั้งพรรคชาติสังคมที่มีท่านเองเป็นหัวหน้าพรรค และพรรคนี้ที่มีสมาชิกสภาทั้งสองประเภทรวมกันถึง 202 คนก็ได้จัดตั้งรัฐบาล มีพลโท ถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคสหภูมิจึงจบลง และอาจารย์สุกิจก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ จนถึงเดือนสิงหาคม ปี2501 ท่านจึงออกจากรัฐมนตรีไปเป็นทูตไทยประจำอินเดีย และต่อมาย้ายไปเป็นทูตที่สหรัฐฯจนเกษียณราชการในปี 2510 อีกสองปีต่อมาก็ได้มาร่วมรัฐบาลของนายกฯถนอมอีก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ได้ลาออกในปี 2514 ก่อนจอมพลถนอมฯจะปฏิวัติตัวเอง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในปี 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ มาเป็นนายกฯ อาจารย์สุกิจก็ได้มาเป็นรองนายกฯ และต่อมายังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานสมัชชาแห่งชาติด้วย
ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ มีชีวิตนอกวงการเมืองเป็นนักวิชาการและนักเขียน เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศต่อมา ท่านถึงอสัญกรรมในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2519 ภรรยาคนแรกของท่านคือคุณอนงค์ อิศรภักดี