สินาดโยธารักษ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



สินาดโยธารักษ์ หรือ ‘จัมปา’

          สินาดโยธารักษ์ เป็นบรรดาศักดิ์คุณหลวง ของนายทหารใหญ่ที่มีชื่อเดิมว่า ชิต นามสกุล มั่นศิลป์ ยศทางทหารตำแหน่งสุดท้ายของท่านคือ “พลโท”  ในชีวิตการทำงานของท่านนั้นได้มีส่วนทำงานทั้งทางทหารและทางการเมืองของไทยอยู่หลายสมัย นับว่าท่านเป็นนายทหารที่มีประสบการณ์สูงทั้งด้านการทหารและการเมือง ส่วน “จัมปา” เป็นชื่อรหัส ที่ใช้ขณะทำงานเสรีไทยในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นคือในช่วงเวลาต้นปี  2488  ตอนนั้นเป็นรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ หลังจากนายกฯจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูกสภาบีบให้ลาออกได้โดยมีมติไม่ผ่านกฎหมายอนุมัติพระราชกำหนด ติดๆกันถึง 2 ฉบับ และในสมัยรัฐบาลนายควง นี่เองที่หลวงสินาดโยธารักษ์ได้รับแต่งตั้งเป็น “รองแม่ทัพใหญ่” ที่ตัวแม่ทัพใหญ่คือพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำรุ่นแรกของคณะผู้ก่อการฯ ที่ขณะนั้นมีสุขภาพไม่ดี ดังนั้นรองแม่ทัพใหญ่อย่างหลวงสินาดโยธารักษ์จึงเสมือนเป็นแม่ทัพตัวจริง ถือว่าในกองทัพเป็นคนมีบารมีและอาวุโสมาก ตำแหน่งนี้มีอำนาจคุมผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ และตอนนั้นเองที่หลวงสินาดโยธารักษ์ได้เป็นผู้มีบทบาทเป็นผู้นำสำคัญด้วยคนหนึ่ง ดังที่ในวันเสรีไทยสวนสนามในเดือนกันยายน ปี 2488 นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าใหญ่เสรีไทยยังเอ่ยนามและกล่าวขอบคุณท่านเอาไว้ด้วย ในวงการเมืองและการทหารท่านจึงเคยมีบทบาทสำคัญ

          ชิต มั่นศิลป์ เป็นคนกรุงธนบุรี ตามประวัติระบุว่าท่านเกิดในปี 2439 หลังผ่านการศึกษาเบื้องต้นแล้ว ท่านได้เตรียมตัวเป็นรั้วของชาติ โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก จบจากโรงเรียนนายร้อยออกมารับราชการเป็นนายทหารในปี 2456 และไปฝึกฝนต่อทางด้านทหารปืนใหญ่ จึงไปเป็นทหารเหล่าปืนใหญ่อยู่นาน ที่น่าแปลกจนเป็นที่สังเกต คือ ท่านเป็นนายทหารที่เป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกับนายทหารผู้ก่อการฯ ทั้งทหารบกและทหารเรือ อย่างนายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม  นายนาวาตรีหลวงสินสงครามชัย และนายนาวาตรีหลวงศุภชลาศัย แต่เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่น่าสังเกตเข้าไปอีกก็คือทั้งๆ ที่ไม่ได้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ แต่ก็เป็นนายทหารระดับกลางที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อการฯที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกในจำนวน 70 คนด้วย

          ยิ่งไปกว่านั้นก็คือในวันที่ 28 มิถุนายน ปี 2475 สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะอนุกรรมการไปยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมการชุดนี้มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานกรรมการราษฎร หรือนายกรัฐมนตรีคนแรกเป็นประธาน นายพันตรีหลวงสินาดโยธารักษ์ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการด้วยคนหนึ่งในจำนวน 7 คน ในจำนวนนี้มีท่านเป็นนายทหารอยู่คนเดียวในบรรดาผู้รู้กฎหมาย ต่อมาจึงมีการตั้งอนุกรรมการเพิ่มเติม เข้ามาอีก 2 คน จึงมีนายพลเรือโทพระยาราชวังสันเป็นนายทหารเข้ามาอีกคนหนึ่ง ดังนั้น ถึงแม้ท่านจะไม่ได้เป็นผู้ก่อการฯ ท่านก็น่าจะเป็นคนที่คณะผู้ก่อการฯสนับสนุนและไว้วางใจ สำหรับชีวิตครอบครัวนั้นท่านได้สมรสกับคุณ สนอง สินาดโยธารักษ์

          หลวงสินาดโยธารักษ์ ได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลของนายกฯ ควง อภัยวงศ์ ในเดือนสิงหาคม  ปี 2488 ตอนนั้น จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แล้วก็ไปตั้งป้อมอยู่ที่ลพบุรี มีตำแหน่งสูงสุดทางทหาร จนต่อมานายกฯควง ไปเจรจากันได้จึงยกเลิกตำแหน่งทหารของจอมพล ป. และมาตั้งพระยาพหลฯเป็นแม่ทัพใหญ่กับตั้งหลวงสินาดฯ เป็นรองแม่ทัพใหญ่ ท่านอยู่ร่วมรัฐบาลของนายควงจนสิ้นสงคราม  ส่วนงานด้านเสรีไทยนั้นหลวงสินาดฯ ได้เป็นผู้มีบทบาทจัดหาทหารไทยให้เข้ามาร่วมงานเสรีไทย นายทหารคนหนึ่งที่มีฝีมือและชื่อเสียงต่อมา คือ พ.ท. เนตร เขมะโยธิน หลวงสินาดฯ ได้เชิญคุณเนตร มาถามความสมัครใจก่อนที่จะพาไปพบนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำเนียบท่าช้างหรือบ้านรับรองท่านผู้สำเร็จราชการ คุณเนตรถูกส่งไปฝึกและทำงานประสานกับทางฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกาในวันนี้ สมัยโน้นยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่

          ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง นายควงได้ลาออกจากนายกรัฐมนตรี นายทวี บุณยเกตุ ได้เข้ามาเป็นนายกฯ รอเวลาตั้งนายกฯคนใหม่ หลวงสินาดก็ได้ร่วมรัฐบาลชุดนี้ โดยได้ตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แม้ต่อมาเมื่อเปลี่ยนนายกฯเป็น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หลวงสินาดฯ ก็ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมต่อมา แต่ก็น่าแปลกใจที่ท่านเป็นต่อมาเพียงเดือนกว่าๆ ตอนกลางเดือนตุลาคม ปี 2488 หลวงสินาดฯ ได้ขอลาออกจากรัฐมนตรีโดยอ้างสุขภาพ เชื่อกันว่าน่าจะมีความขัดแย้งบางอย่างเกิดขึ้นเพราะถ้าสุขภาพไม่ดีทำไมจึงกลับมาร่วมรัฐบาลของนายควงได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2489 แต่รัฐบาลชุดนี้อายุสั้น นายควงลาออกจากนายกฯในเดือนถัดมา จากนั้นหลวงสินาดฯก็ไม่ได้ร่วมรัฐบาลที่ตามมา จนรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหาร และนายควงเข้ามาเป็นนายกฯ ตามคำชวนของคณะรัฐประหาร คราวนี้หลวงสินาดฯ ได้ตำแหน่งใหญ่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และเขาก็มีเรื่องเล่าว่าท่านเป็นคนที่คัดค้านไม่ให้โอน พ.ท. เผ่า ศรียานนท์ จากทหารมาเป็นตำรวจในครั้งแรก ดังนั้นอาจเป็นเรื่องนี้ก็ได้ที่ท่านไม่ได้ร่วมรัฐบาลของนายควงภายหลังการเลือกตั้ง พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีได้ไม่กี่เดือนท่านก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสภาแรกซึ่งมีสมาชิกอยู่ 40 คน แต่ตอนปลายปี 2491 นี่เอง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แทนราษฎรพระนครลาออกประท้วงการขึ้นเงินเดือนผู้แทนจึงต้องมีการเลือกตั้งซ่อม และผู้ที่ลงเลือกตั้งและชนะก็คือหลวงสินาดฯ และเป็นตำแหน่งจากการเลือกตั้งตำแหน่งสุดท้ายของท่าน

          พลโท หลวงสินาดโยธารักษ์ อายุยืนต่อมาอีกหลายปี ท่านถึงแก่อนิจกรรมในปี 2532