สังคมใหม่ (พ.ศ. 2542)
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคสังคมใหม่
พรรคสังคมใหม่ เรียกชื่อย่อว่า “สคม” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “NEW SOCIAL PARTY” และเรียกชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “NSP” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 8/2542 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2542[1]
โดยมีเครื่องหมายพรรคและความหมายดังต่อไปนี้[2]
รวงข้าวสีทอง หมายถึง เกษตรกร
ฟันเฟืองสีน้ำเงิน หมายถึง กรรมกร
ภายในวงฟันเฟืองมีวงแหวนสีเขียวที่มีชื่อพรรคสังคมใหม่สีขาวอยู่ส่วนบน และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “NEW SOCIAL PARTY สีขาวอยู่ด้านล่าง”
มีดาว 5 แฉก สีทอง หมายถึง อุดมการณ์อันสูงส่งของกรรมกร เกษตรกร ปัญญาชน นายทุนน้อย นายทุนชาติและผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย เพื่อความมั่นคง รุ่งเรืองไพบูลย์ และความเป็นธรรมในสังคมที่ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบด้วยวิสัยทัศน์ให้ทันกับกระแสโลกาภิวัฒน์
ตรายางเครื่องหมายสำหรับประทับรับรองเอกสารของพรรคเป็นเครื่องหมายย่อในลักษณะเดียวกัน หากแต่ใช้สีเดียว [3]
ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคสังคมใหม่ ตั้งอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร เลขที่ 1074 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร [4]
นโยบายพรรคสังคมใหม่ พ.ศ. 2542[5]
1. นโยบายด้านการเมือง การปกครอง และด้านสังคม เสริมสร้างการเรียนรู้ของประชาชนซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แก้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องหรือไม่เป็นประชาธิปไตยที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน กระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ปฏิรูประบบราชการจากผู้ปฏิบัติควบคุมเป็นผู้อำนวยความสะดวก และกระจายความเจริญทุกด้านสู่ชนบท
2. นโยบายด้านเศรษฐกิจ ออกกฎหมายควบคุมการผูกขาดของต่างประเทศหรือบรรษัทข้ามชาติ คัดค้านการแก้ปัญหาหนี้ด้วยการสร้างและขยายหนี้ ใช้การระดมทุนจากภายในและลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาพความจริง
3. นโยบายด้านระบบราชการและด้านการป้องกันประเทศ ให้ข้าราชการประจำได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ปรับปรุงการบริหารงบประมาณแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาข้าราชการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังพลหลักและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง
4. นโยบายด้านการศึกษาและด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขยายการศึกษาภาคบังคับให้สูงขึ้นโดยสอดคล้องกับความเจริญทางเศรษฐกิจ ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสให้มีโอกาสด้านการศึกษาจากรัฐอย่างทั่วถึง และมุ่งค้นคว้าเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและการแปรเปลี่ยนมาใช้ใหม่ รวมทั้งเทคโนโลยีชาวบ้านที่มีขนาดเล็กและเหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนา
5. นโยบายด้านสาธารณสุขและด้านการกีฬา ปรับปรุงการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จัดตั้งแพทย์แผนโบราณของเอเชียขึ้นในประเทศไทย และส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพของประชาชน โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
6. นโยบายด้านศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนขนบธรรมเนียมประเพณี เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมอันดีของชาติ ส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน และพัฒนาชนกลุ่มน้อยทุกชนชาติ โดยเฉพาะชาวเขาโดยเคารพความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม
7. นโยบายด้านต่างประเทศ ทบทวนและแก้ไขบรรดาสนธิสัญญาและข้อตกลงต่างๆที่ทำไว้กับต่างประเทศให้สอดคล้องกับปัจจุบันให้ถูกต้องเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และกระชับสัมพันธไมตรีอันดีกับต่างประเทศทุกประเทศในโลก
8. นโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม แก้ไขกฎหมายและคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวงที่เกี่ยวกับแรงงาน ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มสหภาพสมาคมและชมรมที่เป็นประชาธิปไตย ขยายการจ้างงานภาครัฐและเอกชน เพิ่มความมั่นคงและหลักประกันในการทำงานแก่ผู้ใช้แรงงาน และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กเยาวชน และผู้ด้อยโอกาสไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม
9. นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดแผนการใช้ทรัพยากรและพิทักษ์ทรัพยากร ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่เสื่อมโทรม ยกระดับเทคโนโลยีให้ทันสมัย พึ่งตนเองได้ และให้ประชาชนช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
10. นโยบายด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรมีที่ดินของตนเองอย่างมั่นคง ปลดเปลื้องภาวะหนี้สินเกษตรกร ส่งเสริมและแก้ไขปรับปรุงระบบสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มสาขาอาชีพทุกรูปแบบ ส่งเสริมระบบการเกษตรแบบครบวงจรพึ่งตนเองได้ และสร้างเครือข่ายการผลิตที่เชื่อมเกษตรกรรมเข้ากับอุตสาหกรรมแบบครบวงจรเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง
พรรคสังคมใหม่เคยมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 โดยยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ส่งผู้สมัครจำนวน 2 คน โดยได้หมายเลข 14 คือ นายจำลอง ทองดี อายุ 60 ปี และนายกมล พึ่งหลวง อายุ 56 ปี[6] แต่ไม่เคยชนะการเลือกตั้ง และเคยแถลงนโยบายของพรรคที่โทรทัศน์ช่อง 7 วันที่ 29 ธันวาคม 2543 เวลา 7.40 น.[7]
จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 4/2545 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 ให้ยุบพรรคสังคมใหม่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคสอง เนื่องจากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติว่า ต้องจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมา (พ.ศ. 2543) ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามวิธีการที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด และแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อประกาศให้สาธารณชนทราบ ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดแล้ว พรรคสังคมใหม่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามพรบ.ดังกล่าว ซึ่งหัวหน้าพรรคสังคมใหม่ส่งคำชี้แจงลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2544 ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ในการดำเนินงานที่ผ่านมาพรรคได้ใช้จ่ายเพื่อการสร้างพรรคเป็นจำนวนมาก และหลังการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2544 การดำเนินงานในสำนักงานใหญ่ของพรรคมีปัญหาเพราะหมดเงินไปกับการเลือกตั้ง ประกอบกับกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจ่ายเงินช้า นอกจากนี้หนังสือเตือนเรื่องการจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคส่งไปถึงสำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 แต่ผู้รับไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรค รับแล้วไม่แจ้งให้ทราบ หัวหน้าพรรคเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งเตือนเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2544 จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งไปถึงบ้านของหัวหน้าพรรคที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อได้รับหนังสือแจ้งเตือนแล้ว จึงได้รีบดำเนินการเพื่อส่งสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งในวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2544 โดยไม่ได้ถ่ายเอกสารจัดทำสำเนาไว้ ปรากฏว่า เอกสารได้สูญหายระหว่างทางโดยไม่ได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน หัวหน้าพรรคจึงทำเอกสารใหม่แล้วเดินทางเข้ากรุงเทพวันที่ 3 เมษายน 2544 และได้ส่งเอกสารให้คณะกรรมการการเลือกตั้งในวันที่ 5 เมษายน 2544 สาเหตุที่ส่งช้ากว่ากำหนดเพราะวันที่ 31 มีนาคม 2544 ตรงกับวันเสาร์และ 1 เมษายน 2544 ตรงกับวันอาทิตย์ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้พรรคสังคมใหม่สามารถดำเนินการทางการเมืองต่อไปได้ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นดังกล่าว พรรคไม่มีเจตนาบ่ายเบี่ยงแต่ประการใด ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง และคำชี้แจงพร้อมเอกสารประกอบของหัวหน้าพรรคสังคมใหม่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วจึงมีมติให้ยุบพรรคสังคมใหม่ เนื่องจากไม่สามารถจัดส่งรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปี พ.ศ. 2543 ได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2544 โดยข้ออ้างดังกล่าวของหัวหน้าพรรคสังคมใหม่ฟังไม่ขึ้น [8]
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 61 ง, วันที่ 27 สิงหาคม 2542, หน้า 79, 96.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 61 ง, วันที่ 27 สิงหาคม 2542, หน้า 96.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 61 ง, วันที่ 27 สิงหาคม 2542, หน้า 97.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 61 ง, วันที่ 27 สิงหาคม 2542, หน้า 97.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 61 ง, วันที่ 27 สิงหาคม 2542, หน้า 79-95.
- ↑ ไทยโพสต์, 16 พฤศจิกายน 2543.
- ↑ เดลินิวส์, 29 ธันวาคม 2543.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 41 ง, 8 พฤษภาคม 2545, หน้า 37. และราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 113 ก, 12 พฤศจิกายน 2545, หน้า 204-208.