สว่าง สามโกเศศ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

สว่าง สามโกเศศ : เสรีไทยสายอังกฤษ

 

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

        มีคนบอกว่าผู้ที่ทำงานเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เหมือนกับการปิดทองหลังพระ
เพราะทำกันเงียบๆ และต้องเป็นความลับ หลังจากทำสำเร็จ เสร็จสงครามแล้วก็ยังมีแนวคิดของตน ที่จะไม่กล่าวอ้างเอาชื่อเอาเสียง ถือเป็นหน้าที่อันน่าภูมิใจ แล้วก็แยกย้ายกลับไปทำงานตามปกติในชีวิตต่อไป
ดังนั้นจึงมีผู้ที่ยังไม่ทราบเรื่องราวของเสรีไทยที่กล้าหาญทำงานเพื่อชาติอีกหลายกรณี คุณสว่าง สามโกเศศ
ก็เป็นเสรีไทยสายอังกฤษคนหนึ่งที่เคยมีบทบาทในตอนนั้น เมื่ออยากทราบเรื่องราวของท่านจึงต้องไปหาอ่านจากคำให้การของเพื่อนคนอื่นของท่านอีกทอดหนึ่ง เพราะเป็นที่น่าเสียดายว่าตัวท่านเองไม่ได้บันทึกเล่าความเอาไว้ให้ปรากฏ ตามความเป็นจริงนั้นท่านเป็นนักศึกษาอาวุโสในอังกฤษ ที่เกิดความคิดไม่ยอมรับการประกาศสงครามของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามในเดือนมกราคม ปี 2485 จึงได้คิดกันกับเพื่อนนักเรียนไทย
ที่อังกฤษอีกสามคน แล้วจึงพากันไปชักชวนคนไทยในอังกฤษเข้าร่วมเป็นเสรีไทย การคิดไม่ยอมรับคำสั่งรัฐบาลไทยในอังกฤษนั้นไม่สะดวกเหมือนอย่างที่เกิดกันในสหรัฐอเมริกา เพราะทูตไทยที่อังกฤษไม่เห็นด้วยและคัดค้าน นอกจากจะชักชวนให้มีคนมาร่วมงานแล้ว ตัวคุณสว่างเองก็เป็นหนึ่งในนักศึกษาชายไทยที่สมัครเข้าเป็นทหารประจำในกองทัพอังกฤษ เพื่อปฏิบัติการต่อต้านญี่ปุ่นในปี 2485 ด้วย

        สว่าง สามโกเศศ เป็นคนเมืองหลวง เกิดที่ตำบลบ้านทวาย อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2449 มีบิดารับราชการที่กระทรวงมหาดไทย เป็นหลวงประพันธ์พัฒนการ และมารดาคือนางสุดาสกุลเดิม “ณ ลำพูน” นอกจากเป็นคนกรุงเทพฯและมีบ้านพักอยู่ในละแวกยานนาวาด้วย จึงทำให้ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนฝรั่งที่มีชื่อในบริเวณนั้น ได้แก่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ตั้งแต่ต้นจนถึงชั้นมัธยม
ปีที่แปด ท่านเรียนเร็วจบเร็วได้ในขณะที่มีอายุเพียง 16 ปี จึงได้ไปเรียนซ้ำชั้นมัธยมแปดที่โรงเรียนรัฐบาล
ที่สำคัญคือโรงเรียนเทพศิรินทร์ทราวาส อีกปีหนึ่ง เมื่อสอบได้ชั้นมัธยมแปดแล้ว ท่านก็ได้ไปเข้าทำงาน
เป็นเสมียนที่กระทรวงพาณิชย์ในปี 2468 ต่อมาท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม
ในปี 2470 ตอนนั้นท่านมีอายุ ได้ 21 ปี เพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งของท่านคือนายสัญญาธรรมศักดิ์และคุณสว่าง
ก็เรียนจนสอบได้เป็นนิติบัณฑิตไทยในปี 2474 การทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ของท่านก็เจริญมาด้วยดี
ในปี 2478 ท่านจึงได้เลื่อนขั้นเป็นข้าราชการชั้นโท และในปีเดียวกันก็โชคดีสอบชิงทุนรัฐบาล
ตามความต้องการของสำนักงานข้าราชการพลเรือนได้ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ คุณสว่างจึงได้เข้าเรียน London School of Economics and Political Science  ที่กรุงลอนดอน และจบปริญญาตรีทางด้านพาณิชศาสตร์ ในปี 2481 สำหรับชีวิตสมรสนั้นท่านได้แต่งงานกับนางสาวเอื้อนประจิตร วสุวัต ในเดือนสิงหาคม ปี 2489

       การเข้าร่วมงานปฏิบัติงานเป็นเสรีไทยของท่านนั้น กองทัพบกอังกฤษได้รับท่านเข้าประจำการ
แล้วได้ส่งไปฝึกที่เมืองบอมเบย์ประเทศอินเดีย ซึ่งในตอนนั้นเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ ตามคำให้การของสวัสดิ์ ศรีสุข บอกว่า สว่าง สามโกเศศ ได้รับฉายาว่า"กล้วยตาก"และเป็นผู้ที่มีอายุมากเป็นลำดับสอง
กลุ่มพวกเสรีไทยกลุ่มเดียวกัน จึงเรียกกันว่า"พี่ตาก" ไปฝึกอยู่ประมาณสองปีถึงเดือนเมษายนปี 2488
คุณสว่างก็ได้รับมอบหมายให้จับคู่กันมากับคุณพัฒนพงษ์ รินทกุล ให้เดินทางเข้ามาไทย ท่านทั้งสองนี้โชคดีเดินทางด้วยเครื่องบินดาโคตามาแวะเติมน้ำมัน ที่สนามบินกรุงร่างกุ้งของพม่าได้สบาย เพราะอังกฤษยึดเอากรุงร่างกุ้งคืนมาจากญี่ปุ่นได้ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2488 เสรีไทยสองนายได้บินต่อจากร่างกุ้ง “มาลงที่สนามบินนาอาน จ.เลย” ในเดือนมิถุนายนปี 2488 “วันที่เท่าใดไม่มีใครจำได้” ค้างแรมอยู่ระยะเวลาหนึ่ง
แล้วทั้งสองก็ขึ้นเครื่องบินต่อไปที่สนามบินโนนหันจังหวัดขอนแก่น และขึ้นเครื่องบินต่อไปที่จังหวัดสระบุรี จากนั้นขึ้นรถยนต์ที่หลวงอดุลเดชจรัส ส่งมารับเดินทางเข้าไปสถานที่พักที่กำหนดในกรุงเทพฯ การปฏิบัติงานของคุณ สว่างกับคุณพัฒนพงศ์นั้น สวัสดิ์ ศรีสุข เล่าเอาไว้ว่า

        “พี่ตากไปกับผู้นำทางไปสำรวจผลของการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร แล้วกลับมาเขียนรายงาน
แล้วคุณพัฒนพงษ์ก็เข้าระหัส เมื่อถึงกำหนดนัด คุณพัฒนพงษ์ก็เคาะวิทยุไปคัลคัตตา ทางคัลคัตตา มีอะไร
จะส่งมาคุณพัฒนพงษ์ก็รับมาถอดระหัส...”

        เสรีไทยทั้งสองท่านได้ทำงานเป็นผู้รับส่งข่าวสงครามอยู่จนถึงวันที่ 16 สิงหาคมปี 2488 จึงได้หยุดปฏิบัติงาน เพราะได้มีการประกาศสันติภาพโดยรัฐบาลของนาย ควง อภัยวงศ์ และอีกปีต่อมา หลังออกมา
จากกองทัพอังกฤษ และเดินทางกลับไทยแล้ว คุณสว่างได้เข้าทำงานการเมืองมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 1 สิงหาคม ปี 2489 ขณะนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
คือ หม่อมหลวง กรี เดชาติวงศ์และนายกรัฐมนตรีคือนาย ปรีดี พนมยงค์ คุณ สว่างต้องพ้นจากการ
เป็นข้าราชการประจำด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489
ได้ห้ามข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองในเวลาเดียวกัน ท่านได้เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี สืบต่อมาในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ด้วย จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาล ท่านจึงพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง และได้ไปทำงาน
ที่องค์การข้าว กระทรวงพาณิชย์ ในปี 2491 อยู่ประมาณ 6 ปี จึงย้ายไปทำงานที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และได้ตำแหน่งสูงเป็นรองผู้อำนวยการ ที่การท่าเรือนี้ท่านได้ทำงานจนเกษียณอายุและยังได้รับการต่อเวลาทำงานจนอายุถึง 65 ปี

         สว่าง สามโกเศศ ได้มีชีวิตสืบมาอีก 26 ปี จึงได้วายชนม์ไปในวันที่ 20 กันยายน ปี 2540