สมพงษ์ ศัลยพงษ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


สมพงษ์ ศัลยพงษ์ : เพื่อนตายของการะเวก

            วันที่ 11 มิถุนายน ปี 2487 ก่อนจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จะประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ถึงสองสัปดาห์ เสรีไทยสองคนพร้อมกับล่ามผู้นำทางได้ถูกยิงทิ้งกลางแม่น้ำโขงโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เสรีไทยที่ถูกฆ่าคนหนึ่งคือ การะเวก ศรีวิจารณ์ และอีกคนหนึ่งคือ สมพงษ์ ศัลยพงษ์ ต่อมาเมื่อสงครามสิ้นสุดลงในวันที่ 25 กันยายนปีเดียวกันในงานชุมนุมผู้ร่วมงานเสรีไทยในประเทศไทยครั้งใหญ่ นาย ปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นหัวหน้าใหญ่เสรีไทย ได้กล่าวคำปราศรัยที่มีความตอนหนึ่งให้รำลึกถึงความกล้าหาญของเพื่อนเสรีไทยที่สละชีวิตในการทำงานให้เสรีไทย 3 คนและสองท่านที่หัวหน้าเสรีไทยได้เอ่ยนามก็คือ การะเวก ศรีวิจารณ์ กับ สมพงษ์ ศัลยพงษ์ เอาไว้ดังนี้

           “ ข้าพเจ้าขอบใจหัวหน้าใหญ่ในกองบัญชาการทุกท่านซึ่งได้เป็นหัวหน้าบัญชาการในการต่อต้านให้ดำเนินไปด้วยดี และขอให้ท่านได้สำนึกถึงวีรกรรมของเพื่อนร่วมตายซึ่งต้องเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ คือ นายจำกัด พลางกูร นายการะเวก ศรีวิจารณ์ และนายสมพงษ์ ศัลยพงษ์ ชีวิตเขาสิ้นไปเพื่อได้มาซึ่งเอกราช และความคงอยู่ของชาติไทยซึ่งชาวไทยไม่ควรลืม ”

           การเสียชีวิตของสมพงษ์ ศัลยพงษ์ และการะเวก ศรีวิจารณ์ เกิดขึ้นวันเดียวกัน คือ วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ซึ่งตามคำให้การของพยานที่เห็นเหตุการณ์นั้นทั้งสองถูกยิงพร้อมกันโดยการระเวกเสียชีวิตในทันทีส่วนสมพงษ์นั้นยังไม่เสียชีวิตแต่ถูกจับโยนลงแม่น้ำโขง และยังถูกยิงซ้ำอีกจนจมหายไปในลำน้ำเป็นการจงใจฆ่าอย่างโหดเหี้ยมและเลือดเย็น เจ้าหน้าที่อ้างว่าทั้งสองจะต่อสู้ แต่พยานระบุว่าคนในเรือเองพูดว่าไปยิงทำไม เขาไม่สบายนอนอยู่ในเรือเฉยๆ

           สองเสรีไทยคือ การะเวก และ สมพงษ์ นั้นไม่ได้เป็นเพื่อนเก่ากันมาก่อน เพราะเกิดกันคนละเมือง เรียนจบกันมาจากโรงเรียนคนละแห่ง และเมื่อโตแล้วการะเวกซึ่งเป็นบุรุษร่างเล็กได้ไปเลือกเรียนทหารที่โรงเรียนนายร้อยเทคนิค และเรียนยังไม่ทันจบก็ได้รับทุนจากราชการทหารให้ไปเรียนด้านวิชาแผนที่ ณ สหรัฐอเมริกา ส่วนสมพงษ์ ซึ่งเป็นบุรุษร่างสูงใหญ่ท่าทางบึกบึน ได้เข้าเรียน แพทย์ศาสตร์ ยังไม่ทันจบก็สอบชิงทุนรัฐบาลให้ไปเรียนด้านเภสัชกรรมศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ทั้งสองคนจะไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวกัน กระนั้นทั้งสองคนก็เรียนห่างไกลกันทั้งคนละเมืองและคนละรัฐ การะเวกเรียนที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาซูเซตส์ ก่อนที่จะไปต่อที่มหาวิทยาลัย  สิลาคิวส์ รัฐนิวยอร์ค ทางด้านสมพงษ์นั้นไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฟิลลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนีย แต่ที่มาเป็นเพื่อนตายกันก็เมื่อทั้ง 2 อาสามาเป็นเสรีไทย ทั้ง 2 ออกฝึกทหารอยู่ประมาณ 9 เดือน ได้เป็นทหารเสรีไทยสายอเมริกาโดยการะเวกซึ่งเรียนทางทหารมาก่อนได้ยศเป็นนายร้อยเอกของทหารเสรีไทย และสมพงษ์ซึ่งเรียนมาสายพลเรือนมาได้ยศเป็นนายร้อยโทของทหารเสรีไทย ทั้งสองมาถูกกำหนดตอนสุดท้ายให้เป็นเพื่อนร่วมรบและร่วมตายคู่กัน โดยเดินทางเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทหารญี่ปุ่นอยู่เต็มเมืองไทย และทั้งสองก็ต้องมาเสียชีวิตลงเพราะความโลภของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันนั้น เรามาดูชีวิตของสมพงษ์ ศัลยพงษ์ ก่อนวันสิ้นชีวิตดูบ้าง

           สมพงษ์ ศัลยพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2461 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบิดาคือ ร.ต.เกียรติ ศัลยพงษ์ ที่รับราชการและเป็นผู้พิพากษา มารดาได้แก่นางบุญมี ทางด้านการศึกษา สมพงษ์ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนหลวงที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นคือโรงเรียนสวนกุหลาบและความที่เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้วจึงสอบได้เข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ และต่อมาก็ชิงทุนรัฐบาลได้ไปเรียนเภสัชกรรมศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา ท่านจึงไปศึกษาที่สหรัฐฯตอนที่เกิดสงครามพอดี

           เมื่อมีการตั้งกลุ่มเสรีไทยสายอเมริกาขึ้นในสหรัฐอเมริกาเพื่อปฏิบัติการต่อต้านการที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามามีอำนาจในเมืองไทย สมพงษ์ซึ่งเป็นนักศึกษาที่แม้จะไม่ได้เรียนทหารมาก่อนก็ได้อาสาเป็นเสรีไทยด้วย และได้รับการฝึกอย่างหนักก่อนที่จะเดินทางเข้ามาทำงานใต้ดินในเมืองไทย ท่านได้รับชื่อรหัสหรือนามในการสงครามว่า “ แซล ” ในขณะที่การะเวกได้มีชื่อรหัสว่า “ แกรี ” ทั้งสองคนได้เดินทางเข้ามาที่จังหวัดลานช้างที่ตอนนั้นยังเป็นดินแดนของไทย และทีนี่เองที่ล่ามได้พาเสรีไม่ไทยสองคนไปพักที่บ้านสารวัตรกำนันทำให้มีการแจ้งไปที่ตำรวจให้มารับตัวไประหว่างทางที่ตำรวจพาเดินทางก็ได้มีการยิงทิ้งสองเสรีไทยกับล่ามบนเรือพายกลางแม่นำโขงโดยตำรวจที่มาควบคุมตัวเป็นผู้ยิง พยานให้การว่าเขาเห็น การะเวก ล่าม และสมพงษ์ ถูกยิงล้มลง 2 คนแรกตายที่กลางเรือ ส่วนสมพงษ์ยังครวญครางอยู่ต่อมาคนพายเรือได้อุ้มสมพงษ์โยนลงน้ำดังมีคำให้การว่า

           “ พอถึงกลางน้ำโขง ข้าฯเห็น...อุ้มร.ท.สมพงษ์โยนลงน้ำ...ร.ท.สมพงษ์ตกน้ำแล้วยังว่ายเข้าเกาะเรือ...ใช้ไม้ถ่อค้ำไปที่ร.ท.สมพงษ์ ๆดำน้ำไปเกาะอยู่ที่แก่งหินกลางน้ำ ...ก็ตามไปเอาไม้ถ่อค้ำร.ท.สมพงษ์อีก ร.ท.สมพงษ์ยังโผล่น้ำร้องโอยๆอีก...ก็ใช้ปืนยิง ร.ท.สมพงษ์ 2-3นัด ร.ท.สมพงษ์จมน้ำเงียบไป ”

           เสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วประมาฌเดือนตุลาคม ปี 2488 รัฐบาลที่มีเสรีไทย  ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ทางเพื่อนเสรีไทยสายอเมริกา พันตรี โผน อินทรทัต ก็ได้นำตำราจจากส่วนกลางขึ้นไปสอบสวนและดำเนินคดีนายตำรวจบางท่านในคดีเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่แต่ในส่วนตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมทั้ง 3 คนนั้นได้หลบหนีไปได้และไม่เคยได้ตัวมาดำเนินคดี และทางญาติของสมพงษ์ ศัลยพงษ์ ก็ไม่เคยได้รับศพหรือแม้แต่กระดูกของเขากลับมาเลย