สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน
ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ
ความเป็นมา
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน (China Economic and Social Council : CESC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 เพื่อเป็นสถาบันที่ให้คำแนะนำ ปรึกษาและค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และให้ความร่วมมือต่อองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ ของจีน ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆ ฝ่าย มีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ 6 คณะ และยังมีคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศละตินอเมริกัน รวมถึงคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
CESC เป็นสมาชิกของสมาคมระหว่างประเทศของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม และสถาบันที่คล้ายคลึง (AICESIS) ปัจจุบันประธาน CESC เป็นประธานสมาคม AICESIS
จุดประสงค์ของสภาที่ปรึกษาฯ ของจีน คือ การวิจัย ศึกษา ค้นคว้า ให้คำแนะนำและบริการเพื่อสนับสนุนความพยายามในการปฏิรูปจีนใหม่ สนับสนุนการปฏิรูปและการเปิดประเทศของรัฐบาลจีน และการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของจีน โดยถือว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความสงบต่อสังคม สมานสามัคคีกับบุคคลฝ่ายต่างๆ ทั่วประเทศ ได้มีการปรึกษาหารือในประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ประเทศกำลังเผชิญหน้าอยู่ เพื่อประมวลเป็นความเห็นข้อเสนอแนะ และจัดทำคำปรึกษาและข้อมูลที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สำหรับบทบาทระหว่างประเทศ คือ การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับสมาคมระหว่างประเทศของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม และสถาบันที่คล้ายคลึง (AICESIS) เพื่อเผยแพร่นโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และศึกษาเปรียบเทียบจากประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ที่มีความก้าวหน้า รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นที่หลากหลายด้านเศรษฐกิจและสังคมจากภาคส่วนต่างๆ ของโลก เพื่อให้มีความเข้าใจที่กว้างขวางขึ้น
บทบาทหน้าที่
การดำเนินการของ CESC มีดังนี้ คือ
(1) จัดเตรียมการให้แก่สมาชิกในการทำสำรวจและการศึกษาทางด้านสาขาเศรษฐกิจและสังคม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านวิชาการ และให้คำปรึกษา
(2) เข้าร่วมในกิจกรรมของสมาคมระหว่างประเทศของสภาที่ปรึกษาฯ และสถาบันที่คล้ายคลึง (AICESIS) รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคีหรือพหุภาคีกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอื่น ๆ
(3) ผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนและร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในระดับบุคคลของจีนกับต่างชาติ
(4) จัดประชุมหรือเข้าร่วมในการประชุมด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้งในจีนและต่างประเทศ
(5) จัดส่งและรับคณะบุคคลทางด้านวิชาการเพื่อการศึกษาดูงาน การเชิญบรรยายและการค้นคว้าวิจัยร่วมกัน
(6) เผยแพร่ข้อมูลสิ่งพิมพ์ รวมทั้งจัดทำเว็บไซด์ เพื่อใช้ข้อมูลร่วมกัน รวมทั้งเป็นการแนะนำ เกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการระหว่างกัน

หลังจากที่สภาเศรษฐกิจและสังคมของจีนได้จัดตั้งขึ้นแล้ว ได้มีการจัดกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ได้จัดสัมมนาในปี 2003 ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในปี 2005 ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับสภาของประเทศต่างๆ และความสัมพันธ์กับสมาคมระหว่างประเทศของสภาที่ปรึกษาฯ และสถาบันที่คล้ายคลึง (AICESIS) และยังได้จัดงานสัมมนากับองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เมื่อปี 2005 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมของจีนได้ร่วมกับสภาที่ปรึกษาการเมืองของเฉอเจียงของจีน และสมาคมนักธุรกิจ เอกชน และสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของประชาชนจีน ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาวิสาหกิจเอกชนของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มณฑลเฉอเจียง นับว่าการสัมมนาครั้งนี้ได้ประสบผลสำเร็จ เพราะว่าเป็นการสัมมนาเกี่ยวกับวิสาหกิจเอกชนของจีนครั้งแรก

ในด้านวิเทศสัมพันธ์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมของจีน ได้พยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับสภาของประเทศต่างๆ ตัวอย่างเช่น สภาเศรษฐกิจและสังคมของสหภาพยุโรป สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น ทั้งยังได้ลงนามในเอกสารแสดงเจตนารมณ์กับสภาเหล่านี้ ในปี 2005 ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมของจีน ได้นำคณะไปเยือนประเทศไทย เวียดนามและลาว ซึ่งประสบความสำเร็จในการเยือนครั้งนี้ เมื่อต้นปีนี้ที่ผ่านมาสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมของจีน ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สมาคมนักธุรกิจเอกชนของจีน ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาในสหัสวรรษใหม่ และประสบความสำเร็จในการจัดสัมมนาในครั้งนี้ พร้อมๆ กับที่จีนปฏิรูปและเปิดประเทศ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมของจีน จึงย่อมขยายบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนยิ่งขึ้นทุกวัน
องค์ประกอบ
CESC ประกอบด้วยคณะกรรมการต่างๆ คือ คณะกรรมการกิจการด้านเศรษฐกิจ คณะกรรมการกิจการด้านสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการกิจการด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการกิจการด้านสังคม คณะกรรมการกิจการด้านการต่างประเทศ คณะกรรมการกิจการด้านวัฒนธรรมและกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี จีน – ลาตินอเมริกา ทั้งนี้ ปัจจุบัน CESC มีสมาชิก 144 คน และมีสมาชิกฝ่ายบริหาร 72 คน [1]
ที่มา
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์และศึกษาดูงาน เพื่อเชื่อมสัมพันธภาพกับสภาที่ปรึกษาประชาชนแห่งชาติของจีน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 18-23 มิถุนายน 2549.
ดูเพิ่มเติม
http://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_People's_Political_Consultative_Conference, กันยายน 2553.
http://www.china.com.cn/english/chuangye/55437.htm, กันยายน 2553.
อ้างอิง
- ↑ รายงานการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์และศึกษาดูงาน เพื่อเชื่อมสัมพันธภาพกับสภาที่ปรึกษาประชาชนแห่งชาติของจีน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 18-23 มิถุนายน 2549.