สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสยามในรัชสมัย
ตั้งแต่สยามทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษ เมื่อปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการค้าเสรี เปิดระบบเศรษฐกิจสยามสู่ระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตรา เชื่อมโยงกับระบบเงินตราต่างประเทศ หลังจากนั้นชาติตะวันตกได้ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีและทำสนธิสัญญาตามแบบอังกฤษอีกหลายประเทศ
ในรัชกาลนี้ทรงสานต่อพระราชดำริที่จะทบทวนและแก้ไขสนธิสัญญาไมตรีการพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างสยามกับชาติตะวันตกจากสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเพื่อให้สยามมีเอกราชในอำนาจศาลและการเก็บภาษีโดยสมบูรณ์ เพียง ๒ ปีแรกในรัชกาลของพระองค์การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับชาติตะวันตก ๕ ประเทศ คือ สวีเดน ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยม นอร์เวย์ ก็สำเร็จลุล่วงและดำเนินการตามสิทธิที่ได้คืนมาโดยสมบูรณ์ในอีก ๑๐ ปี ต่อมา
บุคคลที่รับสนองพระบรมราโชบายคนสำคัญ คือ ดร.ฟรานซิส บี แซร์ ที่ปรึกษาชาวอเมริกันซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยากัลยาณไมตรี” เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๗๐ นับเป็นชาวตะวันตกที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยคนหนึ่ง
ที่มา
บทสารคดี “ปกเกล้าธรรมราชา” สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ในวโรกาสครบ ๑๒๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพและเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประจำปี ๒๕๕๖