สกลวรรณากร
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
สกลวรรณากร : ผู้เริ่มใช้คำว่าเทศบาล
วันนี้ผู้คนทั้งหลายรู้จัก “ เทศบาล ” เป็นอย่างดีว่าเป็นระบบการบริหารงานท้องถิ่นที่มีความเป็นอิสระค่อนข้างมากจากการปกครองส่วนกลางแม้ว่าการกระจายอำนาจในการปกครองท้องถิ่นของไทยยังไม่บรรลุถึงการกระจายอำนาจ และหน้าที่ในการให้บริการประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ มากอย่างที่น่าจะเป็นก็ตาม ที่จริงความคิดเรื่องการปกครองท้องถิ่นที่จะให้ท้องถิ่นได้บริหารจัดการตนเองในการให้บริการพื้นฐานแก่คนในท้องถิ่นนั้นมีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และผู้ที่ได้คิดและบัญญัติคำไทยว่า “ เทศบาล ” แทนคำ municipality ในภาษาอังกฤษนั้นก็คือนักเรียนเก่าอังกฤษ หม่อมเจ้า สกลวรรณากร วรวรรณ ท่านเป็นคนไทยรุ่นแรกๆ ที่ได้นำเสนอในเรื่องการบริหารจัดการตนเองในท้องถิ่นที่เรียกว่าเทศบาลโดยท่านได้เขียนเอกสารสาธารณสุขพิเศษเป็นเล่มขึ้นมาเรื่องเทศบาล พิมพ์ออกเผยแพร่ในปี 2472 นับเป็นเวลา 3 ปีก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ขณะนั้น ม.จ.สกลวรรณากร รับราชการในระดับอธิบดีอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย มาดูชีวิตและงานของท่านกันบ้าง
หม่อมเจ้า สกลวรรณากร วรวรรณ ประสูติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ปี 2431 ที่วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้เป็นพระบิดา หม่อมมารดาคือหม่อมผัน ทางด้านการเรียนหนังสือนั้น ท่านได้เริ่มเรียนในบ้านก่อนตั้งแต่อายุเพียง 4 ขวบ คือเมื่อปี 2435 โดยครูผู้สอนนั้นก็เป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยคนหนึ่งคือพระยาโบราณราชธานินทร์ ต่อมาต้องเปลี่ยนครูเพราะพระยาโบราณฯท่านมีงานมากไม่สะดวกจะมาสอน ครั้นพออายุได้ 6 ขวบ ก็ได้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษกับครูสอนภาษาอังกฤษของพี่สาว ที่ชื่อ มิสซิส ซานเดอร์ซัน ท่านเรียนอยู่จนอายุได้ 9 ขวบ มีการเปิดโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นท่านก็ได้เข้าเรียนเป็นนักเรียนประจำรุ่นแรกของโรงเรียนในปี 2440 ได้เรียนจนจบชั้นสูงสุดของโรงเรียนคื ชั้นมัธยมปีที่ 6 ในปี 2447 และด้วยความที่เป็นคนเรียนเก่งจึงสอบชิงทุนได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เมื่อเดินทางไปถึงอังกฤษแล้วก็ได้ไปอยู่กับครอบครัวคนอังกฤษเพื่อให้คุ้นเคยกับภาษา จากนั้นจึงเข้าไปเรียนที่ปับลิคสกูล มองเวิน อีก 3 ปี แล้วจึงเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่ ม้อคลินยูนิเวอร์ซิตี้ เคมบริดจ์ จนจบปริญญาตรี ได้เกียรตินิยมทางด้าน “ ตำรารัฐนิติ์ ” ในปี 2453 และอีก 3 ปีถัดมาท่านได้ไปเข้าเรียนวิชากฎหมายที่ อินเนอร์เต็มเปิ้ล แต่ในปีต่อมาท่านได้เดินทางกลับประเทศไทยและได้เริ่มชีวิตรับราชการที่กระทรวงมหาดไทยในเดือนกรกฎาคม ปี 2457 เพราะว่าท่านเป็นนักเรียนทุนของกระทาวงมหาดไทย หน่วยงานแรกที่ไปทำงานคือกรมพลำพังหรือที่ทุกวันนี้คือกรมการปกครองแล้วจึงย้ายไปอยู่ที่กองการต่างประเทศก่อนที่จะย้ายอีกครั้งมาอยู่ที่กรมพยาบาลที่กระทรวงมหาดไทยนั่นเอง ในวันที่ 1 มกราคม ปี 2458 ขณะที่อายุเพียง 27 ปี ท่านก็ได้เป็นเจ้ากรมพยาบาลและท่านได้อยู่ทำงานที่กรมนี้ต่อมาอย่างยาวนานถึง 18 ปี กรมพยาบาลนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาภิบาล และท้ายที่สุดก็มาเป็นกรมสาธารณสุขที่แยกออกมาตั้งเป็นกระทรวงสาธารณสุขในภายหลัง ตอนที่ท่านดูแลกรมนี้ ท่านได้ตั้งใจที่จะพัฒนาหน่วยงานและพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานเป็นอย่างมาก พยายามส่งเสริมให้แพทย์ไทยได้ไปศึกษาหาความรู้ต่อที่ต่างประเทศโดยจัดหาทุนให้ สำหรับชีวิตครอบครัวของท่านนั้นท่านได้สมรสกับหม่อมโยฮันนา
อันตำแหน่งสำคัญที่ท่านเคยดำรงตำแหน่งก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 นั้นก็คือท่านได้เคยเป็นองคมนตรีในปี 2464 และอีก 9 ปีต่อมา ในปี 2473 ก็ได้เป็นกรรมการองคมนตรี ดังนั้นตอนที่เขียนเรื่องเทศบาลออกเผยแพร่ เมื่อปี 2472 จึงเป็นช่วงเวลาที่ท่านยังทำงานอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย และจากประสบการณ์งานที่ท่านทำได้เกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นในชนบทให้มีการให้บริการประชาชนในด้านการรักษาสุขภาพและอนามัยเพื่อให้คนในท้องถิ่นมีความเป็นอยู่ดีนั่นเอง ในการทำงานที่กระทรวงมหาดไทยนี้ก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบท่าน คนที่ชอบก็จะนิยมชมท่านว่าเป็นผู้มีความรู้และขยันทำงานเพราะท่านจะจริงจังกับการทำงานมาก คนที่ไม่ค่อยชอบก็จะว่าท่านเป็นคนเจ้าระเบียบ ถือตัว ดุ และเข้มงวดมากไป
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ม.จ.สกลวรรณากร ได้ย้ายงานข้ามกระทรวงมา อยู่ที่กระทรวงเศรษฐการ คาดว่าเป็นการถูกย้ายแต่ก็ยังได้ตำแหน่งดีเป็นปลัดทูลฉลองของกระทรวง แต่ต่อมาอีกหนึ่งปีในเดือนสิงหาคม ปี 2476 ท่านก็ถูกย้ายกลับมาเป็นที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย เชื่อกันว่าทางราชการต้องการให้ท่านมาช่วยดูแลเรื่องการจัดตั้ง “ เทศบาล ” เพราะในเดือนมีนาคม ปีเดียวกันนั้นรัฐบาลของคณะราษฎรสามารถผลักดันให้สภาฯออกกฎหมายเทศบาลฉบับแรกออกมาได้ และม.จ.สกลวรรณากร ท่านนี้เองที่ร่วมกับพระยาสุนทรพิพิธได้ร่วมกันเขียนหนังสือว่าด้วยเทศบาลเล่มแรกออกมา พิมพ์เผยแพร่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ชื่อ “ สากลเทศบาล ” ในปี 2478 หนังสือเล่มนี้พิมพ์โดยโรงพิมพ์สยามวิทยากรณ์ จำนวนที่พิมพ์ครั้งนั้นนับว่ามากเพราะพิมพ์จำนวนมากถึง 2,000 เล่ม
ที่จริงก็ดูว่าท่านเป็นเชื้อพระวงศ์ที่ทำงานต่อมาได้กับทางรัฐบาลของคณะราษฎรตั้งแต่รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาและรัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม ผ่านการขัดแย้งทางการเมืองมาได้จนถึงเดือนมีนาคม ปี 2484 ม.จ.สกลวรรณากร จึงลาออกจากราชการเพื่อรับบำนาญ นับเป็นการลาออกอย่างกะทันหันในขณะที่ท่านมีอายุเพียง 53 ปี ไม่มีโรคร้ายแรงอะไร ดังนั้นจึงทำให้เชื่อว่าท่านน่าจะมีความขัดแย้งทางความคิดและการทำงานในหน่วยงานของท่านและเมื่อลาออกมาไม่นาน ท่านก็ยังไปทำงานอื่นๆ ในสังคมอีก รวมทั้งไปทำงานที่สภากาชาด และท่านก็ยังได้ไปถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไปเป็นอาจารย์บรรยายทั้งที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หม่อมเจ้า สกลวรรณากร วรวรรณ ได้สิ้นชีพตักษัย ในวันที่ 19 มิถุนายน ปี 2496