ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย
ผู้เรียบเรียง วีระศักดิ์ กีรติวรนันท์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย (ศรท.)
ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย(ศรท.) ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2515 จากมติของตัวแทนนักเรียน 20 สถาบัน ซึ่งรวมกลุ่มกันภายหลังจากการเข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ในระยะแรก ศรท. มีผู้ปฏิบัติงานเพียงไม่กี่คน จนกระทั่งเดือนเมษายน 2516 หลังจาก ศรท. พิมพ์หนังสือชื่อ "กด กด กด กด" ออกเผยแพร่ในหมู่นักเรียนและประชาชนทั่วไป ทำให้ ศรท. เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ศรท. ไม่เป็นที่ยอมรับจากโรงเรียนและทางราชการ
ศรท. และนักเรียนหลายกลุ่ม ได้เข้าร่วมการประท้วง ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ กรณีลบชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คน จนกระทรวงศึกษาธิการสั่งห้ามนักเรียนนักศึกษาในสังกัดห้ามเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ต่อจากนั้นยังมีการเข้าร่วมกับกรณีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญอันต่อเนื่องมาจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้จำนวนผู้ปฏิบัติงานของ ศรท. เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้สำนักงานของ ศรท. ที่สมาคมครูและผู้ปกครองของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ถนนสามเสน คับแคบลงไป
ศรท. ได้จัดโครงการ “ประชาธิปไตยในโรงเรียน” ขึ้นมา โดยจัดสัมมนาตัวแทนนักเรียนจาก 150 โรงเรียน แล้วต่อมาก็เชิญครูใหญ่มาสัมมนาร่วมกับตัวแทนนักเรียนอีกครั้งหนึ่ง โดยมุ่งรณรงค์ให้มีสภานักเรียนขึ้นในทุกโรงเรียน นอกจากนี้ ศรท. ได้จัดส่งผู้ปฏิบัติงานเดินทางไปอภิปรายตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการก็ประกาศให้โรงเรียนต่างๆ มีสภานักเรียน
ศรท. ได้จัดสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนในเรื่องหลักสูตรการศึกษา หลังจากนั้นได้จัดหาตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ มาร่วมกันค้นคว้า วิเคราะห์ วิจารณ์ เกี่ยวกับหลักสูตร อันนำไปสู่การจัดพิมพ์หนังสือชื่อ ชำแหละหลักสูตร นอกจากนี้ ยังได้สรุปเนื้อหา ข้อเสนอแนะต่างๆ จัดแสดงไว้ในนิทรรศการ “โฉมหน้าการศึกษาไทย” ในเดือนธันวาคม 2517 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกจากนี้ ศรท. ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนตำราเรียนและรับบริจาคหนังสือเรียน เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่ขาดแคลนในชนบท, โครงการจัดค่ายนักเรียนในชนบท, โครงการจัดหาเงินทุนเพื่อใช้จ่ายในกิจกรรมขององค์กร, โครงการจัดการศึกษาค้นคว้าในส่วนผู้ปฏิบัติงาน, การรณรงค์ทางวัฒนธรรมและความคิดผ่านทางคณะละครกับวงดนตรีของ ศรท.,
บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ ศรท. คือการทำหน้าที่ประสานงานองค์กรนักเรียนต่างๆ ร่วมไปกับการเข้าร่วมการเรียกร้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศรท.) และองค์กรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอื่นๆ จนในที่สุดต้องยุติบทบาทลงทั้งหมดจากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519
ที่มา
แสงชัย. เล่าเรื่อง “ยุวชนสยาม” นักเรียนกลุ่มแรกที่ขบถต่อระบบการศึกษา. ปาจารยสาร ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2527). หน้า 33-45.
ปิยวัลย์. บางส่วนแห่งกาลเวลากับงานใหญ่ของเด็กน้อย: ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย (ศรท.). ปาจารยสาร ปีที่ 12 ฉบับที่ 3 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2528). หน้า 49-56.