ศิลปิน (พ.ศ. 2550)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคศิลปิน

พรรคศิลปินก่อตั้งขึ้นโดยมีแกนนำคือนายวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินอิสระที่มาความสนใจการเมือง โดยเข้าใจว่านายวสันต์ น่าจะมีความคิดที่จะจัดตั้งพรรคศิลปินนี้ขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2548 จากการที่เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่จะตั้งพรรคศิลปินในช่วงนั้นว่า “คิดว่ามันเป็นวิถีหนึ่ง... ที่จะผ่าทางตันของการเมืองไทยได้” แต่ก็ยังมิได้มีการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองในช่วงนั้น และต่อมานายวสันต์ ก็ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

กระทั่งวันที่ 3 ตุลาคม 2550 จึงได้มีการยื่นจดทะเบียนจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองขึ้น โดยกล่าวถึงเหตุผลที่จัดตั้งพรรคการเมืองนี้ขึ้นเนื่องมาจากที่ผ่านมาระบอบประชาธิปไตย บรรดานักการเมืองไทยล้วนมาจากพ่อค้าและผู้มีอิทธิพล ข้าราชการ นายพลทหาร-ตำรวจ ที่ขาดจริยธรรมทางการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทำให้เกิดความเดือดร้อนในสังคม เกิดปัญหาวัฒนธรรมชุมชน ทำให้โครงสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่นอ่อนแอและรวบอำนาจทางการเมือง ตลอดจนผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม จึงได้จัดตั้งพรรคศิลปินขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองใหม่ และล้างระบบเก่าที่ขาดคุณธรรมให้หมดสิ้นไป

ต่อมาในวันที่ 4 มีนาคม 2552 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้พรรคการเมืองจำนวน 26 พรรคสิ้นสภาพพรรคการเมือง จากสาเหตุการมีสมาชิพรรคการเมืองไม่ถึงห้าพันคน และมีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 โดยในจำนวนนั้นมีพรรคศิลปินรวมอยู่ด้วย ซึ่งในขณะนั้นพรรคศิลปินมีสมาชิกจำนวน 58 คน และไม่มีสาขาพรรคแต่อย่างใด จึงทำให้พรรคศิลปินสิ้นสภาพพรรคการเมืองไป

ในช่วงที่มีการตั้งศิลปินอยู่นั้นได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นหนึ่งครั้ง คือ การเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แต่พรรคศิลปินก็มิได้ปรากฏว่ามีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงสมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด


นโยบายพรรคศิลปิน

1. ดำเนินการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรมจริงจังโดยทั่วถึงเท่าเทียม และจัดการปลดหนี้สินที่ไม่เป็นธรรมทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไขเป็นอันดับแรก และกำหนดแนวทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ยุติกระบวนการผูกขาด ตัดตอน เอารัดเอาเปรียบที่เป็นการบ่อนทำลายทางวัฒนธรรมและสังคมไทยมาหลายทศวรรษ

2. ปฏิรูปการศึกษาพัฒนาหลักสูตร มีเป้าหมายสร้างเยาวชนให้มีจิตสำนึกรักชาติ รักประชาธิปไตย และสิ่งแวดล้อม มีจิตใจรับใช้ประชาชน รักความเป็นธรรม กล้าแสดงออก รับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างมีเหตุผล โดยการจัดเก็บภาษีก้าวหน้าภาษีมรดก ใครมีรายได้มากเก็บมาก เพื่อเด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาฟรีจนกระทั่งจบปริญญาตรี มีหลักประกันรายได้อาชีพการงานรองรับ

3. สร้างรัฐสวัสดิการ ทุกคนต้องมีบ้านอยู่อาศัยสุขสบาย เด็กและสตรีได้รับการคุ้มครอง การล่วงละเมิดทางเพศจักต้องได้รับโทษสถานหนัก ระบบสาธารณูปโภคเพื่อประชาชนจักต้องเป็นไปเพื่อสุขภาพดีโดยถ้วนหน้า การคมนาคมสื่อสารทั้งเมืองและชนบทจักต้องจัดโครงสร้างให้ทุกคนได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว เพียงพอ และราคาย่อมเยา

4. ดำเนินการปฏิวัติการเกษตร ลด เลิก การใช้สารเคมีพิษ ผลิตโดยการวางแผนอย่างมีสติ และมิให้กลุ่มนายทุนส่งออก พ่อค้าคนกลางผูกขาดการกำหนดราคา ฟื้นฟูคุณภาพของพื้นดินโดยระบบปุ๋ยชีวภาพอย่างจริงจัง ยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินกับต่างชาติที่ทำลายแผ่นดินไทยโดยการปลูกพืชพันธุ์อันตราย เช่น ยูคาลิปตัส ทั้งหมด

5. ดำเนินนโยบายเอกราชทางเศรษฐกิจการค้าที่เป็นธรรมมีประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยทบทวนสัญญาการค้าทุกฉบับที่รัฐบาลก่อนหน้าทำมาทั้งหมด และจะยกเลิกสัญญาการค้าเสรีที่เสียเปรียบโดยอำนาจนามประชาคม เช่น FTA กฎหมายแปรรูปที่มีแนวทางที่เป็นกลฉ้อฉลมิชอบทางกฎหมาย ยึดเอารัฐวิสาหกิจที่กลุ่มทุนผูกขาดโอนไป เช่น ปตท. คืนให้เป็นของประชาชน ถือหลักการยืนบนขาของตนเอง ผลิตเพื่อเลี้ยงดูพลเมืองให้กินอิ่ม นอนอุ่น ทั่วถึง ที่เหลือจึงขายส่งออกบนหลักยุติธรรม

6. ดำเนินการจัดตั้งองค์กรประชาชนพื้นฐาน เพื่อปกป้องดูแลชุมชน กำจัดอิทธิพลท้องถิ่น ไม่ยอมให้ผูกขาดคุณธรรมหรือชอบใช้อำนาจได้มีอำนาจ การค้ายาเสพติด บ่อนการพนัน หวยเถื่อน กำหนดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ใช้อำนาจโดยมิชอบริบที่ดินของชาวบ้านได้เดินอยู่ในสังคมอีกต่อไป และหยุดโครงการสร้างเขื่อนทั้งหมด เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิวเคลียร์ ส่งเสริมการผลิตพลังงานทางเลือก เช่น พลังลมและแสงอาทิตย์ย่างจริงจัง

7. ดำเนินการปฏิรูปสื่อมวลชนให้องค์ความรู้ ให้การศึกษาชุมชน รายการวิทยุ โทรทัศน์ที่มอมเมาประชาชนให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม โดยส่งเสริมสนับสนุนรายการที่มีความคิดสร้างสรรค์ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางความคิด การพูด การเขียนโฆษณา ศิลปะ ภาพยนตร์ สื่อทั้งมวลต้องแพร่หลายเพื่อเผยแพร่ความรู้ศิลปะวิทยาการกล้าหาญ เผยเบื้องหลังที่เป็นภัยทางสังคม ปกป้องเชิดชูคนดีมีคุณธรรม สร้างชุมชนให้เข้มแข็งมีสติปัญญา


ที่มา

“กกต. สั่ง 26 พรรคสิ้นสภาพพรรคการเมือง”. <http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=192531&NewsType=1&Template=1>.

ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ (จำนวน 71 พรรคการเมือง) ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552. <http://www.ect.go.th/newweb/upload/cms02/download/502-1356-0.pdf>.

“ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งการตั้งพรรคศิลปิน”. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 202 ง (25 ธันวาคม 2550): 44-69.

สำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้ง. ข้อมูลสิติ และผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2550. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์. 2551.

“สัมภาษณ์วสันต์ สิทธิเขตต์”. นิตยสาร questionmark ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2548):14–17.