ศาลกับการเลือกตั้ง
ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
ศาลกับการเลือกตั้ง
1. แนวคิดในควบคุมตรวจสอบการเลือกตั้ง
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้สร้างรูปแบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเพื่อให้เป็นตัวแทนในการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ภายใต้สังคมที่มีประชากรจำนวนมากเป็นผลให้ทุกคนไม่อาจใช้อำนาจอธิปไตยของตนในทางตรงได้ ระบบการเลือกตั้งจึงได้ถูกนำมาใช้ในการคัดเลือกตัวแทนของประชาชนทั้งในการเลือกตั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โปร่งใส และเป็นธรรม จำเป็นต้องกำหนดกฎ ระเบียบเพื่อควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตและยุติธรรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการเลือกตั้ง” ขึ้นเป็นครั้งแรกและยังคงกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน โดยกำหนดให้มีหน้าที่หลักในการจัดการและควบคุมการเลือกตั้งในทุกระดับ ตลอดทั้งการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบพบว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือ การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และหากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการเลือกนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมก็มีอำนาจสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวได้ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อ “ศาลฎีกา” เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น[1] ทั้งนี้ หากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเกิดจากหัวหน้าพรรคการเมือง หรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมกำกับการกระทำในกรณีดังกล่าวนี้จะอยู่ภายใต้เขตอำนาจของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ในการพิจารณายุบพรรคการเมืองหรือเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของบุคคลที่เกี่ยวข้อง[2] นอกจากนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดให้การฟ้องคดีหรือการยื่นคำร้องเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการจัดหรือดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งอันมิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นต่อ “ศาลปกครองสูงสุด” ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุที่จะฟ้องคดีหรือยื่นคำร้อง[3]
หลักการในการยื่นคำร้อง หรือ คำฟ้องต่อศาลฎีกา ศาลปกครอง ตลอดจนศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นผลจากหลักการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีอำนาจในการตรวจสอบและสั่งการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และหากการดำเนินการเหล่านั้นในบางกรณีย่อมถือเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น เช่น การสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือ การสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องให้ตุลาการเข้ามาตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลและเป็นการควบคุมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครองมิให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตแห่งกฎหมาย
2. หลักการควบคุมการเลือกตั้งโดยองค์กรตุลาการ
ในส่วนของการควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในระบอบประชาธิปไตยให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม สำหรับบทบาทของศาลในการเลือกตั้งได้ถูกกำหนดขึ้นโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ดังนี้
1) อำนาจหน้าที่ของ “ศาลฎีกา”
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดให้องค์กร “ศาลฎีกา” เป็นองค์กรหลักในการทำหน้าที่ในการพิจารณาและวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยยึดหลักตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องกำหนดให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ในการนี้ อาจกำหนดให้ศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจในเขตเลือกตั้งเป็นผู้รับคำร้องแทนเพื่อจัดส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หรือ อาจให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้ไต่สวนพยานหลักฐานหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นแทนศาลฎีกาก็ได้[4]
ขอบเขตอำนาจของศาลฎีกาในการควบคุมการเลือกตั้ง เช่น
- อำนาจวินิจฉัยหากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่รับผู้ใดเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[5]
- อำนาจวินิจฉัยการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น[6]
- อำนาจวินิจฉัยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[7]
- อำนาจวินิจฉัยเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งพบหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น[8]
2) อำนาจหน้าที่ของ “ศาลปกครองสูงสุด”
การฟ้องคดีหรือการยื่นคําร้องเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการจัด หรือดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งอันมิใช่เป็นการใช้อำอนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญให้ยื่นต่อ “ศาลปกครองสูงสุด” ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่มีเหตุที่จะฟ้องคดีหรือยื่นคำอร้อง แต่มิให้นำอมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับ
การพิจารณาคดีและการทำคําพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องกำหนดให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดไม่กระทบถึงการดำเนินการเลือกตั้งหรือการกระทำอื่นใดที่ได้ดำเนินการไปก่อนศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง[9]
3) อำนาจหน้าที่ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีอำนาจในการออกคำสั่ง “ยุบพรรคการเมือง” “เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” และ “สั่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย รายละเอียดดังนี้
- ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนหรือไต่สวนแล้วปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมือง หรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือ เที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจ ให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนอคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น[10]
- อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการออกคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในกรณีที่ผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิด หรือไม่แจ้งข้อความจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม[11]
- อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการออกคำสั่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ถูกร้องว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย[12]
4) ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่ง
อำนาจหน้าที่ของศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดให้ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่ง ศาลวินิจฉัยในกรณีดังต่อไปนี้
- การขอเพิ่มชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง[13]
- การยึดหรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินอันน่าจะได้ใช้หรือจะใช้เพื่อการเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย[14]
'3'. บรรณานุกรม
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนที่ 68ก/12 กันยายน 2561. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114/ตอนที่ 55 ก/11 ตุลาคม 2540'. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '2540
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/6 เมษายน 2560. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '25'60
[1] มาตรา 224 - 226 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
[2] มาตรา 132 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[3] มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[4] มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[5] มาตรา 49 และ มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[6] มาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[7] มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[8] มาตรา 138 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[9] มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[10] มาตรา 132 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[11] มาตรา ๕๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑
[12] มาตรา 54 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑
[13] มาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑
[14] มาตรา ๑๓๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑