วิวัฒนาการสถาบันพระมหากษัตริย์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

วิวัฒนาการสถาบันพระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์คือใคร

คำว่า “กษัตริย์” เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาลาลีว่า “ขัตติยะ” แปลว่า นักรบ สำหรับพจนานุกรม จะให้ความหมายของคำว่า “กษัตริย์” หมายถึง นักรบหรือผู้ป้องกันภัย

ในอดีต กษัตริย์จำเป็นต้องรบเพื่อขยายอาณาเขตหาเมืองขึ้น หาที่ทำกินให้ราษฎร หาที่อยู่ในไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เมื่อได้บ้านได้เมือง ได้ผู้อยู่ใต้ร่มโพธิสมภารแล้ว ก็ต้องแผ่บารมีปกป้องคุ้มครองไม่ให้มีภัยใดๆ มาเบียดเบียน นับแต่ภัยจากข้าศึกศัตรู จนกระทั่งภัยจากธรรมชาติ หรือแม้แต่โรคภัยไข้เจ็บ ถ้ากษัตริย์ไม่สามารถป้องกันภัยเหล่านี้ได้ คนทั้งปวงก็จะกล่าวโทษกษัตริย์ อย่างที่มีคำกล่าวว่า “ถ้าหากน้ำท่าไม่ดี ผีป่าผีเมืองมันวิ่งเข้าเมือง เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกิดโรคระบาด ภัยทั้งหมดเกิดจากผู้ปกครองไม่เป็นธรรม” จึงเป็นความรับผิดชอบของกษัตริย์หรือขัตติยะมาตั้งแต่สมัยโบราณที่จะต้องรบให้ชนะ และป้องกันภัยแก่พลเมืองของตนให้จงได้ ข้อมูลการบรรยายวิชา สังคมและการปกครองไทย ครั้งที่ ๔

สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย(โดย พ.อ.อนุชาติ บุนนาค)

สถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคต่าง ๆ

ความเป็นมาของแนวคิดทางการพัฒนาประเทศ

แนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนา (Concept of Development)

พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยภายใต้ความเปลี่ยนแปลง

การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

การพัฒนายุคต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับระบบการเมืองและระบบราชการไทย


สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย

ในสังคมใด ๆ ก็ตาม เมื่อรวมตัวกันเป็นนครรัฐขึ้นมา ส่วนใหญ่ก็สถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป หรือประเทศไหน ๆ ก็ตาม วิวัฒนาการต่อมาได้มีการแก่งแย่งชิงดีกัน หรือหาผู้เหมาะสมเป็นกษัตริย์ไม่ได้ก็เกิดการปกครองระบบต่าง ๆ ขึ้นในโลก โดยคนในชาติยอมรับกฎเกณฑ์นั้น ๆ ยอมรับในระบอบนั้น ๆ ตามความเหมาะสมขึ้นกับเอกลักษณ์ อุปนิสัย และความต้องการของคนในชาติ

สำหรับประเทศไทยนั้น สังคมของคนไทยเป็นสังคมที่นิยม เคารพ เทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่โบราณกาล ทั้งนี้เพราะทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าคนไทยจะไปลงหลักปักฐานสร้างบ้านแปลงเมือง ณ ที่แห่งใดก็ตาม บ้านเมืองของคนไทยก็จะต้องมีพระมหากษัตริย์เสมอ แม้ในยามที่บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสูญสลายไปก็ตาม เช่น ในยุคของการเสียกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น ประเทศไทยก็จะต้องมีคนดีกอบกู้บ้านเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ เพื่อสืบสันติวงศ์ต่อไป

ในสังคมไทยนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญต่อวิถีชีวิต สังคม ขนมธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนการสืบทอดวัฒนธรรมไทย เป็นผลทำให้สังคมไทยมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากสถาบันกษัตริย์ของชาติอื่น โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความรัก เคารพ เทิดทูนอย่างสูงสุดของปวงชน ทั้งนี้เพราะคนไทยถือว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนสมมุติเทพ และเป็นเสาหลักของสังคมไทย ความคิดที่มาจากลัทธิพราหมณ์ และฮินดู อันเป็นความเจริญของขอมทำให้ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ตามความนับถือโบราณเหมือนเทพเจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่บนโลก และกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามมโนทัศน์ของพุทธและฮินดู ผสมผสานกันตั้งแต่สมัยสุโขทัย (พญาลิไท)เป็นต้นมา

ดังนั้นเมื่อเราจะศึกษาถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิวัฒนาการ ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง การปกครอง โดยเริ่มตั้งแต่ยุคต้น ๆ ของประเทศไทย

ยุคสุโขทัย

ราวศตวรรษที่ ๑๘ จากหลักศิลาจารึกของขอมสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ กล่าวว่า ชาวไทยอพยพปะปนกับชาวเขมร พ.ศ. ๑๗๖๓ ขุนศรีท้าวนำถม ผู้ก่อสร้างกรุงสุโขทัยและศรีสัชนาลัย โดยเรียกชื่อเมืองว่า “ศรีสัชนาลัยสุโขทัย” ในสมัยนั้นไทยอยู่ภายใต้อำนาจของขอมโดยมี “โขลญ” ตำแหน่งทหารของขอมมาปกครอง พ.ศ. ๑๗๖๓ อำนาจของขอมเริ่มเสื่อมลง โดยเริ่มถอนทหารที่ส่งไปปกครองอาณาจักรจามปาทางตะวันออกเพื่อมาควบคุมทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ย่อมเป็นหลักฐานว่าเขมรเริ่มหวั่นเกรงอำนาจไทย และใน พ.ศ. ๑๘๐๐ พ่อขุนผาเมือง โอรสของขุนศรีท้าวนำถมเจ้าเมืองราดได้คบคิดกับพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง ได้รวมกำลังกันเข้าตีเมืองเชลียงและเมืองสุโขทัย และสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรสุโขทัย นักวิชาการหลายฝ่ายมีความเห็นแตกต่างกันไป บ้างก็ว่าอพยพมาจากตอนใต้ของจีน บ้างก็ว่าคนไทยอยู่ที่นี่มานานแล้ว แต่อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรแห่งแรกของคนไทย ซึ่งปกครองโดยคนไทย ปัญหาการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย งานวิจัย บางคนเห็นว่า สุพรรณบุรี ลพบุรี เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ก็มีความเจริญรุ่งเรืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ประเภทที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนคงต้องให้เป็นธุระของนักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญต่อไป การกล่าวถึงอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ นั้น เป็นการศึกษาพัฒนาการทางสังคมไทยที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เพื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการพัฒนาจากยุคต้น ๆ จนถึงปัจจุบัน

ลักษณะการปกครอง

๑.การปกครองแบบพ่อปกครองลูก เป็นรูปแบบที่สะท้อนให้เห็นหลักการปกครองแบบครอบครัว โดยขยายบ้านเมืองแบบครอบครัวใหญ่ กษัตริย์เปรียบเสมือนพ่อของครอบครัวใหญ่ซึ่งเรียกว่า “พ่อขุน” พ่อจะให้ความเมตตาต่อลูกคือประชาชนให้มีความสุข ดังนั้นจึงมีความใกล้ชิดกันมากกว่าระบบกษัตริย์เป็นสมมุติเทพ แต่ทั้งนี้เพราะรัฐสุโขทัยยังคงเป็นรัฐเล็ก ๆ

๒.เสรีภาพ จากศิลาจารึก แสดงว่าสุโขทัยเป็นเมืองแห่งเสรีภาพ ใครใคร่ค้าค้า ด้วยหลักของเสรีภาพอาจจะถือว่าหลักศิลาจารึกนั้นเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยก็ได้

เขตการปกครอง

๑.เมืองลูกหลวง หรือเมืองหน้าด่าน ปกติจะมีอยู่สี่ทิศรอบราชธานี นอกจากนี้เป็นการแบ่งเมืองและตำแหน่งให้เชื้อพระวงศ์ เป็นการฝึกการปกครองและบริหารราชการแผ่นดิน เมืองลูกหลวงของสุโขทัย ได้แก่ เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสองแคว เมืองนครภูม และเมืองสระหลวง

๒.เมืองท้าวพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่ของริมนอก เจ้าเมืองเป็นราชวงศ์ของเจ้าเมืองเดิม มีอำนาจปกครองบริหารเกือบสมบูรณ์ แต่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจ และการบังคับบัญชาของสุโขทัย เช่น เมืองพระบาง เมืองเชียงทอง

๓.เมืองออกหรือเมืองขึ้น คือเมืองที่ยกทัพไปตีได้และอยู่ในอำนาจ เช่น นครศรีธรรมราช เวียงจันทร์ หงสาวดี (มอญ)


โครงสร้างทางสังคม

สมัยสุโขทัย ชนชั้นของสังคมแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ชนชั้นปกครอง และชนชั้นถูกปกครองชนชั้นปกครอง ได้แก่ กษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และทั้งรวมพระภิกษุสงฆ์ ชนชั้นถูกปกครอง ได้แก่ สามัญชน ไพร่ และทาส ในสังคมของสุโขทัยยังไม่ถึงระดับจัดตั้ง และยังไม่เป็นสถาบัน การพัฒนาทางสังคมยังต่ำอยู่

ในยุคของสุโขทัยนั้น การพัฒนาทางสังคมที่สำคัญ ๆ ได้แก่

๑.รูปแบบการปกครอง แบบพ่อลูกหรือพ่อขุน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นของไทยแท้ ความคิดทำนองเดียวกันนี้เป็นรูปแบบที่ยังพูดถึงกันอยู่ในปัจจุบัน

๒.ลัทธิธรรมราชา คือ การใช้ธรรมและเมตตาธรรมเป็นฐาน

๓.มโนทัศน์ เรื่อง นครสวรรค์ เป็นอุดมการเพื่อจัดระเบียบสังคม และการปกครอง

๔.เสรีภาพของประชาชน คือ อิสระในการค้าขาย

๕.ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างผู้ปกครอง และประชาชน

๖.ความเจริญทางอุตสาหกรรม เช่น ชามสังคโลก

๗.การประดิษฐ์อักษรไทย เป็นสื่อและบันทึกเหตุการณ์ รวมทั้งวรรณคดี

๘.การขยายอาณาเขต ใช้ความสัมพันธ์ทางครอบครัว เช่น การแต่งงาน

๙.การติดต่อค้าขาย และการต่างประเทศ เช่น จีน และช่างทำสังคโลก

๑๐.การศาสนา เช่น ติดต่อสงฆ์จากนครศรีธรรมราช และลังกา

อาณาจักรศรีอยุธยา

ในบรรดาอาณาจักรของชาวไทยในอดีต กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด มรดกของอาณาจักรศรีอยุธยาในด้านสถาบันกษัตริย์ พุทธศาสนา ระบบความเชื่อ และวัฒนธรรม หลายอย่างยังคงยึดถือและใช้อยู่จนปัจจุบัน เพราะเป็นอาณาจักรที่ยืนยาวถึงสี่ศตวรรษ กรุงศรีอยุธยาสถาปนาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๒ โดยพระรามาธิบดีที่ ๑ (๑๘๙๓ - ๑๙๑๒) อยุธยามีกษัตริย์ปกครองถึง ๓๐ พระองค์ (๕ ราชวงศ์) คือตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๑๐ ความหลากหลายทางความเจริญวัฒนธรรม ศิลปกรรม การเมือง การปกครอง การสร้างเมืองของกรุงศรีอยุธยาก็ไม่แตกต่างจากนครรัฐอื่น ๆ ภาระหน้าที่ของรัฐในยุคนั้นย่อมมีเหมือน ๆ กัน การเตรียมพลเพื่อการสงคราม ผลิตผลทางเกษตร และเศรษฐกิจ การเกณฑ์แรงงาน การใช้ทาส สมัยอยุธยา ความยุ่งยาก ซับซ้อนมีมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของอาณาจักร การปกครองอาณาจักรที่ใหญ่ขึ้นจึงต้องปรับทั้งการบริหาร การปกครอง และอำนาจให้เป็นปึกแผ่น การคุมกำลังคน ซึ่งเป็นรากฐานของอำนาจ สถาบันที่สำคัญที่สุดของอยุธยา คือสถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจที่สมบูรณ์ เป็นเจ้าชีวิต เป็นเจ้าของแผ่นดิน จึงเป็นศูนย์กลางของสังคม การเมือง ซึ่งมีระบบศักดินากับระบบไพร่เป็นฐาน สังคมอยุธยานั้น ข้าราชการมียศตามลำดับดังนี้ เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย ซึ่งยศมีไว้กำกับศักดินา และเป็นของเฉพาะตัวมิได้สืบทอดไปถึงลูกหลาน ชั้นของบุคคลในสังคมอยุธยามิได้กำหนดตายตัว ทุกคนเป็นข้าของแผ่นดินเสมอภาคกันหมด

กรุงธนบุรี

การเสียกรุงครั้งที่ ๒ นับว่าเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทั้งด้านวัตถุ และจิตใจ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกู้เอกราช และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีของไทยต่อไป สมัยกรุงธนบุรีนับว่าเป็นระยะที่เปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ย้ายที่ตั้งศูนย์การปกครองแทนที่จะอยู่ที่อยุธยาต่อไป พระองค์ต้องทำงานหนักและไม่สะดวกราบรื่นนัก ราษฎรเสียขวัญ พระราชกรณีกิจเฉพาะหน้า คือขับไล่ข้าศึก การเสริมสร้างพระราชอำนาจให้มั่นคง และมีหลายกลุ่มที่จะยกตนเป็นกษัตริย์ นอกจากปัญหาการเมืองแล้วยังเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สงคราม ข้าวยากหมากแพง ต้องตั้งโรงทานแจกจ่ายข้าวปลาอาหารเพื่อประทังความอดอยาก ยุคของพระองค์จึงเป็นยุค ๑๕ ปี ของการสงคราม และการต่อสู้ทุพภิกขภัยต่าง ๆ แต่พระองค์ก็ทรงรักษาชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นไปด้วยดี

กรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงตัดสินใจที่จะสร้างอาณาจักรขึ้นใหม่ตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นความพยายามเนรมิตอาณาจักรเก่าขึ้นมาใหม่ สถาปัตยกรรมวัดต่าง ๆ ล้วนเลียนแบบจากอาณาจักรอยุธยา จึงเห็นได้ว่าผู้นำไทยยังคงอาลัยความรุ่งเรืองในอดีตและปักใจที่จะฟื้นความทรงจำเก่าขึ้นมา กฎหมายต่าง ๆ ที่สูญหายกระจัดกระจาย ก็มาเรียบเรียงใหม่ เช่น กฎหมายตราสามดวง ในด้านการปกครองและการบริหาร มีการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบการบริหารที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กรุงเทพฯ เป็นราชธานี และมีการขยายเขตการปกครองออกไปครอบคลุมพื้นที่รอบนอก มีการแบ่งหัวเมืองออกเป็น ๔ ประเภท ตามแบบอยุธยา ระบบราชการยังเป็นแบบอยุธยา ตำแหน่งขุนนาง ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าพระยา พระยา หลวง ขุน ตามลำดับ ด้านการจัดการทางสังคม มีการใช้ระบบศักดินาเป็นองค์ประกอบของระบบสังคม ด้านเศรษฐกิจก็ไม่ต่างจากอยุธยา แต่กรุงเทพอยู่ใกล้ทะเลกว่า การค้าโดยเฉพาะกับจีนเพิ่มปริมาณขึ้น ด้านการศาสนามีการชำระสะสางลัทธิความเชื่อ สังคยนาพระไตรปิฎก การสถาปนาอาณาจักรกรุงรัตนโกสินทร์โดยอาศัยกรุงศรีอยุธยาเป็นแม่แบบ ปัญหาบางอยางเคยรุมเร้าระบบเก่าก็พลอยติดมาด้วย ปัญหาการสืบราชสมบัติ ระบบอุปถัมภ์ ปัญหาที่ชัดที่สุด คือ ปัญหาสถาบัน วังหลวง วังหน้า การเมือง ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีผลมาจากระบบอุปถัมภ์ ผู้ที่จะกุมอำนาจต้องมีฐานสนับสนุน ที่กล่าวมานี้เป็นสถานการณ์ในยุคต้นรัตนโกสินทร์

การปฏิรูปเพื่อทำให้สยามทันสมัย

การขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์นั้น พระองค์ยังทรงพระเยาว์และประชวรจากไข้ป่า แต่พระอาการก็ดีขึ้นจนสุขภาพพลานามัยหายเป็นปกติ อย่างไรก็ดีพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการปฏิรูปและนำประเทศชาติไปสู่ยุคที่ทันสมัย ได้แก่

๑.ยกเลิกประเพณีที่ล้าสมัย เช่น หมอบ คลาน เลิกทาส และเลิกไพร่

๒.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน มีการรวมศูนย์อำนาจ มีผู้ว่าราชการจังหวัด

๓.การใช้ระบบการศึกษาที่มีหลักสูตรจากส่วนกลาง (ใช้ภาษากลาง)

๔.ปฏิรูปการทหารมีองค์กรสำคัญในการป้องกันประเทศ และรักษาความสงบภายใน มีโรงเรียนฝึกนายทหาร การเกณฑ์ทหาร

๕.ปฏิรูปการคลัง การเก็บภาษี การเสริมรายได้ของรัฐ

๖.ปฏิรูปการศาล แก้กฎหมายที่เสียเปรียบ สิทธิสภาพนอกอาณาเขต

๗.การปฏิรูปด้านอื่น ๆ สร้างถนน ขุดคลอง การไฟฟ้า ไปรษณีย์ โทรศัพท์ ธนาคาร ทางรถไฟ โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ คมนาคม และสื่อสาร

นับเป็นความโชคดีที่สยามมีกษัตริย์ที่ทรงเห็นการไกล ทรงเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมือง จึงได้ทุ่มเทการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่รัฐชาติสยาม

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยเกี่ยวข้องกับสังคมไทยอย่างมากมาย จากพัฒนาการของสังคมจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งตรงกับหลักและแนวความคิดของการพัฒนาประเทศ ซึ่งในทางทฤษฎีนั้น จะขอกล่าวถึงความเป็นมาของแนวความคิดทางการพัฒนาประเทศ ตามหลักทฤษฎี ดังนี้


พระมหากษัตริย์กับการพัฒนาประเทศ

ความเป็นมาของแนวความคิดทางการพัฒนาประเทศ

การพัฒนาเป็นคำที่มีความหมายไม่เป็นกลาง กล่าวคือ แฝงไปด้วยค่านิยม (Value-Laden) และดูเหมือนจะผูกพันกับวัฒนธรรม (Culture-Bound) การพัฒนาจึงมีความหมายแตกต่างกันมากมายขึ้นอยู่กับบุคคล สังคม วัฒนธรรม และกาลเวลา เป็นต้น อย่างไรก็ตามแนวความคิดโดยสรุปต่อไปนี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของแนวความคิดแห่งการพัฒนา (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรรมาธิราช, ๒๕๓๙:๙๓-๙๘)

๑. แนวความคิดแบบวิวัฒนาการ(Evolution)

นักสังคมศาสตร์ และ นักสังคมวิทยาในศตวรรษที่๑๙ ใช้คำว่า การพัฒนาเพื่ออธิบายประวัติศาสตร์ของมนุษย์ (Human History) เพราะเชื่อว่า มนุษยชาติเคลื่อนย้ายจากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่งที่สูงกว่า (Higher Stage) ในทิศทางเดียวกัน (Unidirectional) และการเคลื่อนย้ายดังกล่าวทำให้ชีวิติมนุษย์มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น มีความแตกต่างกันมากขึ้น ร่ำรวยขึ้นทั้งทางวัตถุและวัฒนธรรม มีเหตุผลมากขึ้น ฯลฯ เป็นต้น โดยเหตุนี้ การพัฒนาจึงมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ความก้าวหน้า (Progress) ซึ่งในบางครั้งมีการใช้คำทั้งสองแทนความหมายเดียวกัน

๒. แนวความคิดแบบการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change)

นักสังคมศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๐ เริ่มละทิ้งคำว่า การพัฒนาและความก้าวหน้า แล้วหันมาใช้คำว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change)เพราะมีความหมายเป็นกลางมากกว่าการพัฒนา คือ ไม่เกี่ยวข้องกับอดีตหรืออนาคตอันรุ่งโรจน์ แต่สนใจศึกษาการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ (Phenomena) เช่น การจัดชนชั้นทางสังคม (Social Stratification) เพื่อหาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในสังคม (Change in Society) หรือการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคม (Change of Society)

๓. แนวความคิดแบบเศรษฐศาสตร์ (Economic)

แม้คำว่าการพัฒนาจะเลือนหายไปจากแนวความคิดทางสังคมศาสตร์ไปบ้าง แต่กลับได้ความนิยมในทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อใช้สำหรับจำแนกประเทศต่าง ๆ ตามดัชนีบ่งชี้ (Index)บางตัว เช่นรายได้ประชาชาติ กล่าวคือ มีการเรียกประเทศที่มีรายได้ประชาชาติสูงกว่าว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเรียกประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่ำกว่าว่าด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ดังนั้น การพัฒนาจึงหมายถึง การเพิ่มค่าของกลุ่มดัชนีบางตัวที่ใช้วัด จึงแทบจะมีความหมายเดียวกับคำว่า ความเป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) ความทันสมัย (Modernization) หรือความจำเริญทางเศรษฐกิจ(Economic Growth)การพัฒนาในที่นี้จึงมีความหมายแคบกว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

๔. แนวความคิดแบบการปฏิบัติการทางสังคม (Social Action)

การพัฒนาในระยะต่อมานั้นไม่เพียงจะเกี่ยวพันกับเศรษฐศาสตร์ ยังเกี่ยวพันกับการปฏิบัติการทางสังคมมากขึ้น เพราะทุกสังคมโดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลต่างเพียรพยายามปรับปรุงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Conditions) เช่น รายได้ประชาชาติ คุณภาพชีวิต ฯลฯ จึงได้วางแผนปฏิบัติการขึ้น เช่น การปฏิรูปที่ดิน การจัดตั้งองค์กรสหกรณ์ชนบท ฯลฯ เพื่อเพิ่มค่าดัชนีทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (Socio-Economic and Cultural Index) ที่เลือกสรรไว้บางตัวดังนั้น การพัฒนาจึงเป็นผลของการปฏิบัติการทางสังคม

๕. แนวความคิดแบบขัดแย้งทางสังคม (Social Conflict)

เมื่อการพัฒนาเป็นผลของการปฏิบัติการทางสังคม ผลของการพัฒนาจึงก่อให้เกิดความตึงเครียด และความขัดแย้ง (Tension and Conflict) ขึ้น เช่น แบบแผนวัฒนธรรม สัดส่วนระหว่างอาชีพและจำนวนประชากร การทำงานในองค์การชนชั้นทางสังคม ฯลฯ เป็นต้น ความขัดแย้งทุกรูปแบบมีสหสัมพันธ์ต่อกัน (Interrelated) และมีผลกระทบ(Impact) ต่อกันมากน้อยต่างกัน แนวความคิดดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานของแนวความคิดในการพัฒนาประเทศแบบสังคมนิยม ที่ใช้ทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้งมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระบบสังคม เดิมเชื่อกันว่า การพัฒนาเป็นกระบวนการวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ผู้สนใจจึงศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ต่อมาความสนใจหันมาทางการศึกษาปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับดัชนีบ่งชี้การพัฒนาในแง่ของรายได้ และผลผลิตของชาติก็เริ่มมีบทบาท และในที่สุดการศึกษาอย่างจริงจังในเชิงปฏิบัติของการพัฒนาจึงเกิดขึ้น เป็นการศึกษาถึงแนวความคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางสังคม และความขัดแย้งทางสังคม


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับการพัฒนาประเทศ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐแมสสาชูเซตต์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์

ภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมันนี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา กลับประเทศไทยและประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึง ๒ ปีและเมื่อมีพระชนมายุได้ ๕ ปีได้ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาในโรงเรียน Miremont ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ

จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียน Ecole Nouvelle de la Suisse Romande, Chailly-sur-Lausanne เมื่อทรงรับประกาศนียบัตร Bachelier es Lettres จาก Gymnase Classique Cantonal แห่งเมืองโลซานน์แล้ว ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิทยาศาสตร์ ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ และได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรกในพุทธศักราช ๒๔๘๑ โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราว แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๘๘ จึงโดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตโดยกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนไทย เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิมในครั้งนี้ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม

ต่อมาทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเมื่อ วันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปูนหยา วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการ ทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินแทนพระองค์ตลอดเวลา ๑๕ วันที่ทรงพระผนวชอยู่ และจากการที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกันนั้น และในวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ หลังจากที่ทรงประกอบพิธีเฉลิมพระตำหนักจิตลดารโหฐาน ซึ่งได้ต่อเติมขึ้นใหม่แล้วทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กลับไปประทับที่ตำหนักจิตลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จนถึงปัจจุบัน

สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยภายใต้ความเปลี่ยนแปลง

สถาบันหรือระบบการปกครองระบบกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบธรรมิกราชาหรือเทวราชาเป็นระบบที่สืบทอกมาจากยุคสมัยโบราณ ความคิดหลักมูลที่รองรับหรือสนับสนุนระบบนี้ก็คือพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรเป็นองค์อธิปัตย์ (Sovereign) ทรงมีอำนาจปกครองสูงสุดเหนือดินแดนและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในบ้านเมือง ตรงกันข้ามระบอบประชาธิปไตยเป็นกระแสความคิดใหม่ที่ตั้งอยู่บนความคิดหลักมูลที่ค้านและแย้งกันโดยตรงกล่าวคือ ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจึงมีระบบและกระบวนการที่จะเป็นตัวแทน(Representation) มีความโปร่งใส ตลอดจนพร้อมที่จะรับการตรวจสอบและสนองตอบต่อเจตนารมณ์ของปวงชนผู้เป็นอธิปัตย์ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในระบบการเมืองส่วนใหญ่ บางครั้งจึงมักจะเป็นไปในรูปของการยุติระบบกษัตริย์และเปลี่ยนไปเป็นระบบสาธารณรัฐ (Republic) ระบบกษัตริย์เป็นระบบการปกครองดั้งเดิม มีความเป็นมาที่ยาวนานทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก เช่น เพลโต ปรัชญาเมธีตะวันตกผู้โด่งดัง ก็เคยเสนอคุณสมบัติของพระมหากษัตริย์ในอุดมคติไว้ว่า กษัตริย์ที่น่าจะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบที่สุด น่าจะเป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถเป็นเลิศ หรือเป็นปรัชญาเมธีเสียเองที่เรียกกันว่า "ราชาปราชญ์"(Philosopher king) เช่น ระบบกษัตริย์ในโลกตะวันออกโบราณ

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในส่วนที่สัมพันธ์กับราชการของรัฐบาล โดยเฉพาะในแง่พฤตินัยนั้นจะมีอยู่ในลักษณะใด วอลเตอร์ เบชอท (Walter Bagehot) นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอังกฤษ ให้อรรถาธิบายในหนังสือเรื่อง English Constitution ถึงลักษณะของบทบาทหรือสิทธิของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ในส่วนสัมพันธ์กับรัฐบาลไว้ ๓ ประการ คือ (Walter Bagehot, 1988:14)

๑. การพระราชทานคำปรึกษาหารือ

๒. การสนับสนุนหรือให้กำลังใจ

๓. การตักเตือน

พิจารณาในแง่ของการบริหารราชการแผ่นดิน บทบาทดังกล่าวมีลักษณะเป็นเชิงสนับสนุนหรือเชิงรับ (passive) มิได้เป็นบทบาทเชิงหลักหรือเชิงรุก (active) พระราชดำริที่พระราชทานต่อรัฐบาล หรือในการบริหารราชการแผ่นดินตามทฤษฎีที่เบชอทได้ให้อรรถาธิบายไว้ มีฐานะเป็นการพระราชทานคำปรึกษาหารือ (Consultative) มิได้เป็นพระบรมราชโองการ รัฐบาลหรือระบบราชการมีโอกาสจะใช้วิจารณญาณ (Discretionary Authority) ในอันที่จะรับสนองพระราชดำริ การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง การศึกษาวิจัยเพิ่มเติม หรือการปรับเปลี่ยนสาระของโครงการก็ได้

บทปริทัศน์ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ทั้งโดยทั่วไป และในบริบทสังคมไทยที่ผ่านมามีความมุ่งหมายจะใช้เป็นพื้นฐานบ่งชี้บทบาทของพระมหากษัตริย์ในบริบทสังคมไทยทั้งสมัยก่อนและสมัยนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์ ประเมินและประมาณคุณค่าของโครงการพัฒนาของพระองค์ท่าน จากทัศนภาพและเกณฑ์(Criteria) ที่เป็นสากลและเป็นภาวะวิสัย (Objective)

กล่าวโดยสรุป พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีพระราชอำนาจในทางทฤษฎีเป็นล้นพ้น แต่ในทางปฏิบัติราชการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในยามสงบมักจะอยู่ในกรอบของทศพิธราชธรรมตามราชประเพณี ยิ่งกว่านั้นก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะกิจกรรมไม่กี่ด้านดังพิจารณามาแล้วข้างต้น ระบบราชการมีโครงสร้างและองค์ประกอบไม่สลับซับซ้อนและข้อสำคัญก็คือมีลักษณะเป็นระบบอุปถัมภ์ (Patrimonial) ไม่แยกแยะบทบาทและความสัมพันธ์ส่วนตัวออกอย่างชัดเจน ส่วนในระบอบประชาธิปไตยนั้น พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญมีบทบาทอันจำกัดดังกล่าวข้างต้น งานสาธารณะหรือราชการส่วนใหญ่ตกเป็นของระบบราชการ ระบบราชการสมัยใหม่มักจะมีการจัดระเบียบเสียใหม่เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างและหน้าที่ชัดเจน การปฏิบัติราชการมีลักษณะเป็นทางการในระดับสูง มีการแบ่งส่วนราชการหลากหลายลำดับขั้นการบังคับบัญชาซับซ้อนหลายระดับ

การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

แนวความคิดว่าด้วยพระราชกรณียกิจ

ในระบบการปกครองประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Constitution Monarchy) ในขณะที่หน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดและบริหารนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน ตกเป็นของคณะรัฐบาลที่ก่อตั้งและทำหน้าที่ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ก็ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะองค์พระประมุขของประเทศ ในที่นี้อาจจะจำแนกกรอบความคิด (Conceptual Scheme) โดยสังเขปได้ว่า

๑.บทบาทของประมุขของประเทศที่กำหนดไว้อย่างเจาะจง

๒.ส่วนของกรณียกิจที่องค์พระประมุข ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการบนพื้นฐานของพระราชวินิจฉัย (Discretion) และสมัครพระราชหฤทัย (Voluntary) มิใช่เพราะมีบทกฎหมายกำหนดไว้เป็นหน้าที่ (Compulsory)

สำหรับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในส่วนที่สอง ซึ่งอาจจะเป็นกิจกรรมตามพระราชดำริใด ๆ เพื่อประโยชน์ของราษฎรในประเทศ เพื่อมนุษยธรรม หรือเพื่อมนุษยชาติทั้งมวลก็ตาม ก็อาจจะใช้กรอบความคิดในแง่ของระดับการจัดตั้งองค์กรแล้วใช้จำแนกความแตกต่างย่อยลงไปได้อีกเป็น

ก.กิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นและดำเนินการโดยมีการจัดตั้งองค์กรและจัดหาทรัพยากรสนับสนุนอย่างเป็นสถาบัน (Institutionalized) ข.กิจกรรมที่ทรงพระราชดำริริเริ่มขึ้น หรือลงมือดำเนินการชั่วคราวในรูปโครงการ อาจมีการกำหนดอายุโครงการไว้ แล้วส่งมอบให้หน่วยงาน สถาบัน หรือชุมชนที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป

การพัฒนายุคต้น

การพิจารณาข้างต้นบ่งชี้ว่า บริบทด้านสถานการณ์บ้านเมืองไทยรวมทั้งเหตุการณ์และข้อจำกัดบางประการ ในทศวรรษแรกแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เปิดโอกาสให้ทรงมีพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาได้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ๕ ปีแรก ทรงมีพระราชภารกิจด้านอื่น ๆ อยู่มาก อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า ในวาระแรกที่พระองค์ทรงมีลู่ทางจะริเริ่มงานพัฒนาได้ ก็ทรงปฏิบัติทันที

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยรับสั่งเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนว่า แบ่งออกได้เป็น ๒ ช่วง งานช่วงแรกคือใน ๑๐ ปีแรก ฉะนั้น งานช่วงหลังจะครอบคลุมระยะเวลาหลังจากนั้นมีการบันทึกไว้ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เป็นกิจกรรมการช่วยเหลือประชาชน...ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๙๔ เป็นต้นมา ในแง่ของการพัฒนาสังคมและการปกครอง จากจุดเริ่มต้นนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนครใน วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๙๔ ช่วงที่ทรงเริ่มปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างจริงจังและสม่ำเสมอน่าจะได้แก่ปี ๒๔๙๕ อันเป็นปีที่ ๖ แห่งรัชกาลเป็นต้นมา พระราชกรณียกิจยุคต้น ๆ อาจจะจัดได้ว่ามีลักษณะเป็นงานพัฒนาสังคม เช่น ด้านสังคมสงเคราะห์หรือประชาสงเคราะห์ ได้แก่ กิจกรรมการรณรงค์หาทุนเพื่อก่อสร้างอาคารพยาบาลตามสถานพยาบาลหลายแห่ง การหาทุนดำเนินการในลักษณะโครงการจัดทำภาพยนตร์ส่วนพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อต่อสู้โรคเรื้อนของสถาบันราชประชาสมาสัย กิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันรักษาโรคโปลิโอ อหิวาตกโรค โครงการจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน ฯลฯ

ส่วนกิจกรรมอันมีลักษณะเป็นโครงการพัฒนาชนบทในต่างจังหวัดครั้งแรก ได้แก่ การพัฒนาในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรก ได้แก่ โครงการสร้างถนนเข้าหมู่บ้านห้วยคด (ภายหลังเปลี่ยนเป็น"ห้วยมงคล") ในเขตอำเภอหัวหิน เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ในปีต่อมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ก็มีโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ในเขตพื้นที่อำเภอเดียวกันติดตามมา

การพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแนวทางหนึ่ง ได้แก่การพิจารณาลักษณะของโครงการประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ องคมนตรี ได้เคยอรรถธิบายไว้ว่า บรรดาโครงการที่อยู่ในข่ายที่เกี่ยวข้องมีหลายประเภท ได้แก่ โครงการตามพระราชประสงค์ โครงการหลวง โครงการตามพระราชดำริ และโครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ ดังจะพิจารณารายละเอียดของโครงการแต่ละประเภทได้ดังต่อไปนี้

๑.โครงการตามพระราชประสงค์ คือ โครงการซึ่งทรงศึกษาและทดลองปฏิบัติเป็นการส่วนพระองค์ ทรงศึกษาและหารือกับผู้เชี่ยวชาญในวงงาน ทรงแสวงหาวิธีทดลองปฏิบัติ ทรงพัฒนาและส่งเสริม แก้ไขดัดแปลงวิธีการเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อดูแลผลผลิตทั้งในพระราชฐานและนอกพระราชฐาน ซึ่งทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินงานทดลองจนกว่าจะเกิดผลดี เมื่อทรงแน่พระทัยว่าโครงการนั้น ๆ จะได้ผลดี เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้รัฐบาลได้เข้ามาร่วมสนับสนุนงานในภายหลัง

๒.โครงการหลวง เป็นโครงการที่ทรงเจาะจงดำเนินการและพัฒนาบำรุงรักษาต้นน้ำลำธารในบริเวณป่าเขาทางภาคเหนือ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในที่ลุ่มล่างทั้งภาคเหนือตอนใต้ และภาคกลาง เพื่อถนอมน้ำไว้เลี้ยงแม่น้ำลำธารของที่ลุ่มล่างในฤดูแล้ง และด้วยเหตุที่พื้นที่เหล่านี้เป็นแดนชาวเขาจึงได้พัฒนาชาวเขาชาวดอยให้อยู่ดีกินดี ให้เลิกการปลูกฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และเลิกการค้าของเถื่อนผิดกฎหมาย ทรงพัฒนาช่วยเหลือให้ปลูกพืชหมุนเวียนที่มีคุณค่าสูง ปลูกข้าวไร่และเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภค รวมคุณค่าแล้วให้ได้คุ้มค่าแทนการปลูกฝิ่น ดังนั้น โครงการหลวงก็คือโครงการตามพระราชดำริที่ร่วมปฏิบัติผสมผสานกับหน่วยงานของรัฐบาลในบริเวณต่าง ๆ ในภาคเหนือเพื่อพัฒนาอาชีพชาวเขาชาวดอยนั่นเอง

๓.โครงการตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามพระราชดำริ หน่วยงานร่วมของรัฐบาลนั้นมีทั้งฝ่ายพลเรือน ฝ่ายทหาร และฝ่ายทหารร่วมกับพลเรือน โครงการประเภทนี้ในปัจจุบันมีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศ

๔.โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นโครงการที่พระองค์ได้พระราชทานข้อแนะนำและ แนวพระราชดำริให้เอกชนรับไปดำเนินการด้วยกำลังเงินกำลังปัญญา และกำลังแรงงาน พร้อมทั้งติดตามผลงานต่อเนื่องโดยภาคเอกชนเอง เช่น โครงการหมู่บ้านสหกรณ์เนินดินแดง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสโมสรโรตารี่แห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดและดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ

โครงการทุกประเภทดังกล่าวข้างต้นล้วนแต่เป็น "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ทั้งสิ้นจำนวนโครงการที่เริ่มใหม่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง จากจำนวนจำกัดในระยะต้นเป็นจำนวนมากขึ้นในระยะหลัง มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ ได้เสนอผลการวิเคราะห์ลักษณะของโครงการในระยะเริ่มแรกไว้ว่า อาจจะพิจารณาแบ่งเป็น ๒ รูปแบบ คือ (มนูญ มุกข์ประดิษฐ์, ๒๕๓๘:๒๖-๒๙)

๑.โครงการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เพื่อจะนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้ สาขาการศึกษาที่ทรงเน้นหนัก ได้แก่ ด้านเกษตร เช่น เรื่องข้าว พืชไร่ น้ำ และประมง เป็นต้น

๒.โครงการปฏิบัติการพัฒนา หรือแก้ปัญหาในพื้นที่มีลักษณะเป็นระบบการพัฒนาแบบผสมผสาน (Integrated development) จุดเน้นของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการศึกษาหรือโครงการปฏิบัติการพัฒนาก็ตามจะให้ความสำคัญต่อปัจจัยหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้อง ๕ ประการอย่างครบวงจร ได้แก่ น้ำ ที่ดินทำกิน ทุน เทคโนโลยี และการตลาด

พระองค์ทรงดำเนินกิจกรรมตามพระราชดำริอีกมากมาย จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๔ รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของโครงการพระราชดำริ จึงได้จัดให้วางระบบการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ.๒๕๒๔ ขึ้น และเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๔ เป็นต้นไป ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ มีกล่าวไว้ในหมวด ๒ ข้อ ๖ ถึงคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรียกโดยย่อว่า "กปร." มีสำนักงานเลขานุการ กปร เรียกโดยย่อว่า "สน.กปร" ตั้งอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่วนความแตกต่างของลักษณะโครงการ มีกล่าวไว้ในหมวด ๓ ข้อ ๙ แยกได้เป็น ๓ ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ ๑ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีลักษณะเป็นงานด้านวิชาการ เช่น โครงการประเภทเพื่อการศึกษา ค้นคว้า ทดลองหรือโครงการที่มีลักษณะเป็นงานวิจัยและโครงการใด ๆ ที่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ๑ ปี

ประเภทที่ ๒ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีลักษณะเป็นโครงการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยทั่วไป ที่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในไม่เกิน ๖ ปี

ประเภทที่ ๓ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีลักษณะเป็นโครงการใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินงานเกินกว่า ๖ ปีขึ้นไป จึงแล้วเสร็จ

ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับระบบการเมืองและระบบราชการไทย สถาบันและกระบวนการทางการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบที่จัดตั้งและดำเนินการโดยอาศัยรากฐาน จากปรัชญาโครงสร้าง และกระบวนการการต้นแบบจากระบบตะวันตก ก่อตั้งขึ้นมารับภาระราชการนิติบัญญัติ ราชการบริหาร และตุลาการ ทั้งระดับนโยบายและการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ บทบาทของสถาบันการเมืองแบบอุดมคติในระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การสดับตรับฟัง ติดตาม ตรวจสอบ กลั่นกรอง บูรณาการสารพันปัญหาและความต้องการของสาธารณชน เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการกำหนดนโยบายในการจัดระเบียบและบริหารราชการแผ่นดินหลัง จากนั้นก็ดำเนินการเพื่อรักษา(Maintain)ความศักดิ์สิทธิ์ บริหาร (Execute) หรือปฏิบัติตาม (Implement) นโยบายดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผล

ตามหลักการอุดมคติของระบอบประชาธิปไตย สมาชิกของระบบการเมืองที่มีคุณภาพย่อมจะผ่านกระบวนการฝึกฝนอบรมและพัฒนาทางการเมือง (Political Socialization) และการประชาสัมพันธ์ (Informed) ให้มีความรู้ความเข้าใจตื้นลึกหนาบางของประเด็นและปัญหาทางการเมืองเป็นอย่างดี เมื่อปัญหาและความต้องการของประชาชนมีหลากหลายตามปกติวิสัยของระบบพหุนิยม (Pluralism) ก็จะมีการรวมตัวกันของบรรดาผู้มีผลประโยชน์หรืออุดมการณ์สอดคล้องกันเป็นกลุ่มทางการเมือง (Pressure Groups/Interest Groups)

จากนั้นก็จะมีสถาบันพรรคการเมืองทำหน้าที่บูรณาการ เลือก และตัดสินประโยชน์และความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นเป็นนโยบายแม่บท (Policy Platform) แสดงจุดยืน แนวทาง วัตถุประสงค์ ตลอดจนสาขากิจกรรม เลือกสรรแล้วว่าจะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการ เป็นความคิดที่จะนำไป "ขาย" หรือหาเสียง หรือความสนับสนุนในการรณรงค์หาเสียงเพื่อรับเลือกตั้งตามอุดมคติย่อมต้องเป็นการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้มีผู้ใช้สิทธิอย่างกว้างขวาง (Universal Suffrage) เป็นการใช้สิทธิแสดงเจตนารมณ์โดยเสรีและมีการกำหนดระยะเวลา หรืออายุการดำรงตำแหน่งของนักการเมืองไว้เป็นหลักประกันในการตรวจสอบความโปร่งใสความรับผิดชอบและสนองตอบความต้องการของนักการเมือง อุดมคติสำคัญของการเมืองประชาธิปไตยในระดับชาติก็คือการคำนึงถึงสาธารณประโยชน์

การรักษาสาธารณประโยชน์จะเป็นไปได้ดีก็ต่อเมื่อมีกลไก กระบวนการ และมาตรการกำหนดและบริหารนโยบาย โดยมองปรากฎการณ์ในภาพรวมหรือมองเป็นระบบ (Systemic) โดยมีปรัชญายึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งเหนือประโยชน์ส่วนย่อย หรือประโยชน์ส่วนท้องถิ่น (Partial Consideration หรือ Parochialism) จะเห็นได้ว่ามาตรการหรือกลไกที่จะช่วยเสริมปรัชญาดังกล่าวได้แก่ การกำหนดให้แถลงนโยบายแม่บทล่วงหน้า การประชุมองค์กรกลางระดับชาติ เช่น คณะรัฐมนตรี เป็นประจำ ตลอดจนการตรวจสอบของรัฐสภา

หลักการและอุดมคติของระบบราชการที่จัดตั้งขึ้นบนพื้นฐาน และกรอบของกฎหมาย บริหารงานโดยอาศัยหลักวิชาการและเหตุผล (Legal-Rational Basis) ยึดถือบทบาทและอำนาจหน้าที่ราชการ หรือเป็นทางการไว้เหนือความสัมพันธ์ส่วนตัว บันทึกและประมวลหลักฐานข้อมูลไว้เพื่อรักษาความต่อเนื่อง และเป็นพื้นฐานในการดำเนินงานแบบถาวรในระยะยาว ที่เรียกว่าเป็นระบบราชการตามแบบแผน (bureaucratized) เหล่านี้น่าจะเป็นเงื่อนไขอย่างเพียงพอที่จะทำให้ระบบราชการสมัยใหม่ ทำหน้าที่รับใช้ระบบการเมืองสมัยบริหารราชการแผ่นดินไปได้ โดยสามารถสนองและรักษาสาธารณประโยชน์เป็นที่ตั้ง ทำงานแก้ไขปัญหาให้บริการรักษากฎหมาย หรือพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างได้ผลถูกต้องทั่วถึง เป็นธรรมและเสมอหน้า

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมา กล่าวได้ว่ามีความแตกต่างห่างไกลจากสภาพอุดมคติ ในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏมีการเสนอข่าว การวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบ กระบวนการ และพฤติกรรมการเมืองและการบริหารราชการไทยมาเป็นจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่ได้ระบุ บ่งชี้ และบันทึกถึงจุดอ่อน ข้อบกพร่อง ตลอดจนสารพันปัญหาทั้งทางการเมืองและการบริหารไว้บ่อยครั้ง และมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทั้งทางการเมืองและการบริหารอย่างรีบด่วน การบริหารของไทยเฉพาะในส่วนโครงการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีบทบาทเกี่ยวข้อง และเสริมจุดอ่อนลักษณะปัญหาเหล่านั้น ๓ ประการ ดังนี้

๑.สภาวะการไร้หรือขาดแคลนนักการเมืองและข้าราชการ ที่เป็นรัฐบุรุษยึดปัญหาและประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มักยึดมั่นในหน่วยส่วนย่อยเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม พรรค สถาบัน ท้องถิ่น หรือหน่วยงาน

๒. การขาดความต่อเนื่องระหว่าง รัฐบาล นักการเมือง หรือข้าราชการระดับบริหารต่างยุคต่างสมัย แต่ละคนก็พยายามจะเน้นและชูความสำคัญของแนวทางพันธกิจและกิจกรรมในสมัยของตน

๓. ปัญหาความทั่วถึงและเสมอภาคในการบริหารราชการ สืบเนื่องมาจากความคิดอ่าน(Mentality) และทัศนคติทั้งสองประการข้างต้น การบริการที่เน้นให้ความประสงค์หรือความสะดวกของผู้ให้บริการมากกว่าผู้รับ ตลอดจนข้อจำกัดในด้านทรัพยากรการบริหาร ผลที่ปรากฎก็คือขอบข่ายหรือการครอบคลุมของการอำนวยบริการจะขาดตกบกพร่อง ไม่ทั่วถึงมีผู้ยากไร้และเดือดร้อนจำนวนไม่น้อยที่ลอดหูลอดตา ความคิดหรือเงื้อมมือของข่ายงานและกลไกของรัฐเอื้อมไปไม่ถึง

ในกรณีของนักการเมือง ถึงแม้จะมีบทบัญญัติและปทัสถานตามกฎหมายกำหนดแบบแผนและขอบข่ายของการเป็นตัวแทน (Representation) ไว้ชัดเจนว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยทั้งมวลแต่เงื่อนไขและข้อกำหนดบทบัญญัติว่าด้วยระบบการแบ่งเขตและกรรมวิธีในการเลือกตั้ง อาจกล่าวได้ว่าคำพังเพยทางการเมืองที่ว่า "ประชาชนอยู่ในระดับไหน ก็จะเลือกผู้แทนได้แค่นั้น" น่าจะยืนยันได้โดยความเป็นจริงของการเมืองในประเทศไทย ทั้งผู้เลือกตั้งและนักการเมืองต่างก็ทราบดีว่า ถ้าเฝ้าแต่ทำตัวและพูดจาเป็น "ตัวแทนของประชาชน" จริง ๆ แล้ว ผู้นั้นจะไม่มีวันได้รับเลือกจากเขตเลือกตั้งนั้น หรือเขตเลือกตั้งใด ๆ ดูเหมือนจะยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าผู้ออกเสียงเลือกตั้งมีความนิยมในผู้สมัครที่พูดและลงมือทำเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเอง ของพวกพ้องของเขา และของท้องถิ่นเขตเลือกตั้ง (Constituency) ของเขา ซึ่งเป็นรูปธรรมและอยู่ใกล้ตัว

ผู้สนับสนุนเขาฟังรู้เรื่องง่ายกว่าผู้ที่นิยมกล่าวถึงปัญหาระดับชาติ ประโยชน์ส่วนรวมหรืออุดมการณ์ที่ไกลตัวและเป็นนามธรรม ฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่จะได้ยินได้ฟังกรณีที่นักการเมืองมีการพูดกับการกระทำกันไปคนละทางพฤติกรรมที่พบเห็นบ่อยครั้งในระยะหลัง ๆ นี้ก็คือแนวโน้มที่ผู้คนมักจะชูจุดขายหรือค่านิยมของการมีวิสัยทัศน์กว้างไกล แต่ในขณะเดียวกันผู้พูดก็มีพฤติกรรมที่แสดงวิสัยทัศน์คับแคบของตนเอง โดยตีกรอบการพิจารณาการดำเนินกิจกรรม หรือไม่ก็ประชาสัมพันธ์ผลงาน โดยอ้างอิงปรากฎการณ์หรือข้อมูลเฉพาะส่วน ทั้งนี้เพื่อสร้างภาพสร้างเครดิต หรือหาคะแนนนิยมเฉพาะตน หรือเฉพาะองค์กรที่ตนสังกัดหรือมีส่วนได้เสีย พรรคการเมืองที่ร่วมในรัฐบาลผสมพยายามแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ชูบทบาทและผลงานของพรรคของตนให้เด่นไว้โดยไม่ปริปากถึงงานของพรรคอื่น การพูดปราศรัยต่อสาธารณะมักห่วงใยบ้านเมือง แต่ภาคปฏิบัติมักปรากฎกรณีที่ถือประโยชน์ส่วนย่อยเหนือประโยชน์ส่วนรวม การอภิปรายถ่ายทอดวิทยุโทรทัศน์ในสภามักจะลากประเด็นหาโอกาสระบุถึงเขตเลือกตั้งของตน นักการเมืองพยายามวิ่งเต้นหรือผลักดันให้ริเริ่ม หรือโยกย้ายโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลไปลงในพื้นที่เขตเลือกตั้งของตน รัฐบาลหรือผู้บริหารที่เข้าดำรงตำแหน่งใหม่ ๆ พยายามเรียกคะแนนนิยมโดยทับถมหรือจี้จุดอ่อนของผู้ดำรงตำแหน่งรุ่นก่อน

กรณีของข้าราชการประจำ ถึงแม้จะมีเงื่อนไขและบทบาทแตกต่างไปจากนักการเมืองในแง่งที่มีคุณสมบัติด้านคุณวุฒิหรือความเป็นวิชาชีพ (Professionalism) และมีกติกาด้านความมั่นคง หรือความต่อเนื่องของข้าราชการและองค์การเหนือกว่านักการเมือง แต่ก็มีความโน้มเอียงที่จะมีโลกทัศน์และการดำเนินงานในลักษณะ "แยกส่วน" เช่นเดียวกัน หน่วยราชการส่วนกลางจำเป็นจะต้องสนใจเฉพาะงานในหน้าที่ของตน เช่นเดียวกับที่ส่วนภูมิภาคหรือท้องถิ่นต่างก็สนใจพื้นที่เฉพาะในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนเช่นเดียวกัน การให้ความสนใจ หรือปฏิบัติงานนอกเหนือขอบเขตอำนาจหน้าที่ไม่ใช่เรื่องที่ทางราชการจะตกรางวัล แต่น่าจะได้ผลตอบแทนทางลบมากกว่า เพราะอาจจะถูกตำหนิติเตียนหรือไม่ก็ดำเนินการทางวินัย คุณสมบัติ และอาการของนักการเมือง และราชการที่หย่อนวิสัยทัศน์ภาพรวม หรือวิสัยทัศน์เชิงระบบดังกล่าวเป็นปรากฎการณ์ที่เห็นได้ง่าย แต่ยากที่จะแก้ไข และตราบใดที่ยังแก้ไขไม่ได้ก็จะเห็นคุณค่าของกิจกรรมโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างชัดเจน โครงการพัฒนาของพระองค์เปรียบเสมือนหนึ่งเป็นฉัตรหรือร่มขนาดกว้างใหญ่ที่อยู่ระดับสูงสุด เหนือกว่านโยบายของแต่ละรัฐบาล และทำหน้าที่เชื่อมโยงหรือประสานกิจกรรมในระบบย่อยต่างสังกัด ต่างกรมกอง ต่างอาณาเขตการบริหารหลากหลาย ที่มีความโน้มเอียงจะสนใจแต่กิจในส่วนของตนเท่านั้น

คุณประโยชน์อีกส่วนหนึ่งก็คือ โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีลักษณะริเริ่ม บุกเบิกหรือนำร่อง ที่มุ่งสงเคราะห์ความเดือดร้อน ที่ยังมิได้รับการแก้ไข จากลไกปกติของรัฐ เท่ากับเป็นการเสริมช่องโหว่หรือจุดอ่อนที่อาจจะพึงมีในการดำเนินงานการเมืองและงานราชการ สำหรับประเด็นเรื่องความต่อเนื่อง (Continuity) ของงานของนักการเมืองหรือของข้าราชการประจำนั้น เป็นเรื่องที่อาจจะมองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนกับกรณีการมีวิสัยทัศน์คับแคบเฉพาะส่วน (ยุคสมัย รัฐบาล พรรคการเมือง เขตเลือกตั้ง ท้องถิ่น หน่วยงาน ฯลฯ ) ของนักการเมืองหรือข้าราชการข้อแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างสภาวะขาดการมองภาพรวมและสภาวะที่ขาดความต่อเนื่อง ในการดำเนินงานก็คือ ภาพรวมของปรากฎการณ์ กิจกรรม องค์กรหรือระบบงาน หรือพื้นที่ปฏิบัติการเป็นปัญหาของมิติด้านการครอบคลุมปรากฎการณ์หรือการครอบคลุมพื้นที่ ในขณะที่เรื่องความต่อเนื่องในการดำเนินงานเป็นมิติด้านเวลา

ที่ว่าประเด็นปัญหาเรื่อง ความต่อเนื่องของราชการจะชี้ชัดได้ยากกว่าปัญหาการเชื่อมโยงหรือประสานงานราชการ (ระดับการเมืองหรือระดับปฏิบัติการ) ร่วมสมัยระหว่างองค์กร ระหว่างสังกัดหรือระหว่างพื้นที่นั้น อาจจะพิจารณาเชิงเปรียบเทียบได้ว่า ธรรมชาติขององค์ราชการแบบเป็นทางการ (Bureaucratic Organizations) ก็จะมีอายุ มีความถาวรและความต่อเนื่องเหนือกว่าองค์กรที่อาศัยความสัมพันธ์เชิงส่วนตัวหรือยึดบุคลาธิษฐานเป็นหลักแบบดั้งเดิม(Patrimonial Systems) อยู่แล้ว แม้กระทั่งองค์กรทางการเมือง เช่น รัฐบาล รัฐสภา หรือพรรคการเมืองก็ดี หากสร้างองค์กรรองรับสนับสนุนที่มีการจัดตั้งและจัดระเบียบเป็นอย่างดีแล้ว ก็อาจมีความต่อเนื่องในการดำเนินงานได้เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่า เมื่อนักการเมือง โดยเฉพาะผู้ปฎิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีกำกับดูแลส่วนราชการประจำ ในการปฏิบัติงานตามความเป็นจริงก็ต้องพึ่งพาอาศัยความสนับสนุน ด้านหลักกฎหมาย ระเบียบวิธี หลักวิชา แนวทางปฏิบัติ ประสบการณ์ ตลอดจนความรอบรู้จักระบบงาน พื้นที่ภูมิประเทศ เหตุการณ์สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอยู่มาก ทั้งนี้เพราะข้าราช

การประจำมีอายุการปฏิบัติราชการในสายงานหรือวงการนั้น ๆ มาก่อน จะเห็นว่าระบบองค์กรที่รองรับ และเป็นฐานสนับสนุนการทำงานของนักการเมืองและข้าราชการประจำ เปิดโอกาสให้รักษาแนวทาง หรือความต่อเนื่องในการดำเนินงานได้ ฉะนั้น การตัดสินใจที่จะให้นโยบายหรือการปฏิบัติราชการมีความต่อเนื่องหรือไม่ จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้ดำรงตำแหน่งแต่ละคน ความไม่ต่อเนื่องหรือการหักเหในนโยบายของรัฐ หรือขององค์กรอาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลหลายประการ เหตุผลบางประการก็มีความชอบธรรม เช่น นโยบายหรือแนวทางเดิมมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องในแง่หลักการหรือวิธีการ หรือนโนบายเดิมขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับนโนบายของคณะหรือตัวบุคคลผู้เข้าดำรงตำแหน่งใหม่ เป็นต้น

การขาดความต่อเนื่อง หรือการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือกิจกรรมหลายประการ อาจจะไม่สมเหตุสมผล หากการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุจูงใจที่กุศล(Ulterior Motives) เช่น การเปลี่ยนแปลงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนพรรคพวก การเปลี่ยนแปลงที่มีเจตนามุ่งเน้นที่ "อัตตา" ของผู้ปฏิบัติ ได้แก่เปลี่ยนให้เห็นความแตกต่างจากแนวทางเดิม เพื่อลดเครดิตของนโยบายหรือเจ้าของนโยบายเดิมเพื่อชูความเด่น หรือเพื่อประโคมเอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของเจ้าของนโยบายใหม่ สรุปความว่า ความมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงก็คือ ตัวการเปลี่ยนแปลงนั้นเองที่ขอให้มีความแตกต่างออกไป ไม่ใช่เปลี่ยนเนี้อหาให้ถูกต้องขึ้น ให้มีผลงานที่มีคุณภาพขึ้น หรือให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจมากขึ้น

คูณค่าของพระราชดำริ หรือพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ในระบบประชาธิปไตยที่จะมีบทบาทในการสร้างความต่อเนื่องและความคงเส้นคงวาเสริมแก่งานการเมืองและราชการแผ่นดินเห็นได้ชัดเจนจากข้อเท็จจริงที่ระบบการครองราชสมบัติโดยปกติวิสัยจะมีความจีรัง และต่อเนื่องมากกว่าผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองหรือราชการ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานรัฐสภาประธานศาลฎีกา ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด เอกอัครราชทูต ฯลฯ อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างสำหรับพระมหากษัตริย์ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ เท่านั้น ประสบการณ์อันยาวนานในราชสมบัติ กอปรกับทรงสนพระราชหฤทัยใฝ่ค้นคว้าแสวงหาความรู้โดยไม่หยุดยั้งทั้งในข้อเท็จจริง และวิชาการนานาสาขาจากระบบองค์กรและฐานระบบสนเทศที่สมบูรณ์แบบ พัฒนาให้พระมหากษัตริย์โดยเฉพาะผู้ทรงครองราชย์มานานอยู่ในฐานของปราชญ์ หรือสัพพัญญู หรือขุมคลังปัญญาและประสบการณ์ ที่จะช่วยสร้างความต่อเนื่องในราชการแผ่นดินได้อย่างยิ่ง

ในแง่ของความครอบคลุม ของนโยบายการเมืองและบริการของราชการก็ปรากฏจุดอ่อนหรือช่องว่างหลายประการ ที่เปิดโอกาสให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเข้าช่วยเสริมได้ จุดอ่อนดังกล่าวได้แก่ ความต่อเนื่องของนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติราชการของผู้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกัน ของเขตอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการเอง ตลอดจนเขตพื้นที่ปกครองหรือพื้นที่การบริหารที่กำหนดไว้ กล่าวโดยสรุป ข้อเสนอที่ประมวลได้จากการพิจารณาและอภิปรายในส่วนนี้ก็คือ จากข้อยุติที่ประมวลได้จากการพิจารณาข้างต้นว่า บทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยในโลกหรือสังคมสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องพ้นสมัย และไม่จำเป็นจะจำกัดอยู่เฉพาะบทบาทด้านรูปแบบหรือพิธีการแท้ที่จริงมีโอกาส ครรลอง และความเหมาะสมที่พระมหากษัตริย์จะทรงมีพระราชดำริในโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยพระราชขัตติยมานะด้วยพระราชอุตสาหวิริยะอย่างแรงกล้า คุณค่าของบรรดาโครงการของพระองค์ยิ่งเห็นเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาควบคู่กับปรากฎการณ์เกี่ยวกับข้อจำกัดและจุดด้อยบางประการของระบบการเมือง และระบบบริหารราชการในภาคปฏิบัติดังกล่าว

บรรณานุกรม

คณะกรรมการประสานงานโครงการตามพระราชดำริ. โครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพ:สำนักนายกรัฐมนตรี. ๒๕๓๘ ฑิตยา สุวรรณะชฎ. พัฒนาสังคม:ขอบเขตและแนวความคิด. กรุงเทพ:โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๓๘. สุนทรี โคมิน. ผลกระทบ-การพัฒนา-ในแง่มุมจิตวิทยาสังคม. กรุงเทพ:สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. ๒๕๓๒. สัญญา สัญญาวิวัฒน์. การพัฒนาชุมชน. กรุงเทพ:ไทยวัฒนาพานิช. ๒๕๑๕. เย็นใจ เลาหวนิช. ความสมดุลย์ในการพัฒนา. กรุงเทพ:สถาบันเทคโนโลยีสังคม. ๒๕๓๒. อมร รักษาสัตย์. ทฤษฎีและแนวความคิดในการพัฒนาประเทศ. กรุงเทพ:สถาบันบัณฑิตพัฒน-บริหารศาสตร์. ๒๕๓๖. Jacobs Griffin. Modernization without development. New York:Praaeger Publisher. 1971. Mwiioe J. The Economics Development. Itheca:Cornell University Press. 1966.