วิมล วิริยะวิทย์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วิมล วิริยะวิทย์ : ตัวเชื่อมเสรีไทยสายอเมริกา

          ผู้คนอาจเคยได้ยินชื่อนาวาอากาศเอก วิมล วิริยะวิทย์ และอาจรู้ว่าท่านเป็นเสรีไทยด้วยคนหนึ่ง แต่อาจไม่ทราบว่าท่านเป็นตัวจักรสำคัญในการติดต่อของเสรีไทยสายอเมริกากับขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย ที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทั้งนี้เพราะภายหลังที่ไทย โดยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ในตอนต้นปี 2485 แล้ว ที่สหรัฐอเมริกานั้น ตัวทูตคือหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ก็ได้คิดตั้งกลุ่มเสรีไทยขึ้น โดยมีนักเรียนไทยในสหรัฐหลายรายเข้าร่วมเป็นเสรีไทย และนักเรียนไทยที่เป็นเสรีไทย 2 คน ที่กระโดดร่มลงที่จังหวัดแพร่เมื่อวันที่ 9 กันยายนปี 2487 นั้นได้แก่ วิมล วิริยะวิทย์ กับ บุญมาก เทศบุตร แต่เมื่อลงมาถึงพื้นดินแล้ว สองคนก็หากัน ไม่พบ วิมลจึงเดินออกจากป่าเข้าหมู่บ้านและยอมให้ผู้ใหญ่บ้านจับตัวในวันที่ 18 กันยายน ปีเดียวกัน เพื่อจะได้ถูกส่งตัวเข้ามากรุงเทพฯ ให้พบกับอธิบดีกรมตำรวจ โดยวิมลบอกเจ้าหน้าที่ว่าต้องรายงานข้อราชการลับ กับอธิบดีกรมตำรวจ คือ หลวงอดุลยเดชจรัส เมื่อตำรวจเมืองแพร่ติดต่อไปที่อธิบดีกรมตำรวจ ท่านก็มีโทรเลขตอบกลับมาให้อารักขา วิมล วิริยะวิทย์ ส่งไปที่กรุงเทพด่วน จึงทำให้วิมลได้พบหลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งได้นำวิมลไปพบกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่บ้านนายดิเรก ชัยนาม ที่ถนนรองเมือง ดังที่วิมลได้เขียนเล่าภายหลังว่าตนได้

“... ย้ำอย่างหนักแน่นว่าฝ่ายอเมริกาทราบดีว่าเสรีไทยจากอเมริกาที่เสี่ยงตายเข้ามานั้น ถูกหลวงอดุลฯ จับและไม่สามารถประกอบภารกิจได้ จึงต้องการให้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ถ้าทำได้ สหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทุกประการ ถ้าไม่ร่วมมือกัน การปฏิบัติงานก็คงมีอุปสรรค และสหรัฐอเมริกาคงไม่ยอม
ให้การสนับสนุนอย่างแน่นอน”

ความร่วมมือของกลุ่มผู้ต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยครั้งนั้นได้นำไปสู่การที่โอเอสเอสส่งคณะนายทหารนำบริการชุดแรก คือ พ.ต.ดิ๊ค กรีนลี และ ร.อ.จอห์น เวสเตอร์ เข้ามาไทย โดยเดินทางทางเครื่องบินน้ำ ลงที่บริเวณใกล้กับเกาะกระดาษ จังหวัดตราด เมื่อปลายเดือนมกราคม ปี 2488

        วิมลเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปี 2464 มีบิดาชื่อตุ่ย วิริยะวิทย์ และมารดาชื่อจิ๋ว การศึกษาระดับมัธยมนั้น ท่านจบจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2480 ขณะที่อายุได้ 16 ปี จากนั้นได้เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนยังไม่ทันจบในขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่สอง ได้สอบชิงทุนของกองทัพอากาศได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ที่สถาบันเอ็มไอที  ในปี 2483 ตอนที่วิมลเรียนอยู่ปีสุดท้ายของการศึกษาระดับปริญญาตรีที่สถาบันเอ็มไอทีนี่เอง ก็คือเมื่อปี 2485 ทางสถานทูตไทยซึ่ง ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมิกา ได้จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันกับนักเรียนไทย

        ในสหรัฐอเมริกาจัดตั้งกลุ่มเสรีไทยขึ้น วิมลกับเพื่อนคือบุญมาก เทศบุตร ตัดสินใจลาพักการศึกษาในขณะนั้นอาสาเข้าร่วมงานเสรีไทยเพื่อรับใช้ชาติ แต่ท่านก็เป็นคนเดียวในรุ่นแรกที่ไม่ผ่านการคัดเลือกด้วยเหตุที่มีเพื่อนร่วมห้องพักเป็นคนเยอรมัน ซึ่งถือว่าเป็นคนชาติศัตรู จึงต้องเสียเวลาตรวจสอบประวัติเพื่อนผู้นั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน จนแน่ใจแล้วท่านจึงผ่านการคัดเลือกเข้าปฏิบัติงานเป็นรุ่นที่ 2 เมื่อได้รับการฝึกอบรมเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว วิมลจึงถูกส่งให้มาขึ้นเรือเดินทางออกจากเมืองลอสแองเจลีส เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ปี 2487 เดินทางด้วยเรืออ้อมลงไปทางใต้หลบเรือดำน้ำของญี่ปุ่นมาขึ้นบกที่เมืองกัลกัตตาของอินเดีย โดยวิมล วิริยะวิทย์ มีชื่อรหัสว่า “ไวแมน” ช่วงเวลานั้นเป็นสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม

        เมื่อถึงเวลาในเดือนกันยายน ปี 2489 สมัยรัฐบาลนาย ควง อภัยวงศ์ ที่มีความร่วมมืออย่างดีกับนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทย วิมลกับบุญมาก ได้มาโดดร่มลงที่จังหวัดแพร่ เมื่อถูกนำตัวเข้ากรุงเทพฯแล้ว วิมลสามารถติดต่อกลับไปที่ฐานปฏิบัติการของเสรีไทยสายอเมริกา ที่เมืองซื้อเหมาได้สำเร็จในเดือนตุลาคม ปี 2487 จนทางเสรีไทยสายอเมริกาได้ส่งพลพรรคเสรีไทยมาโดดร่มเข้าไทยอีกที่จังหวัดเชียงใหม่ และทยอยส่งทั้งบุคลากรและอาวุธเข้ามาช่วยขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทย ดังนั้นจึงถือได้ว่าวิมลทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายลุล่วงไปด้วยดี รวมถึงได้ทำงานงานอื่นต่อมาจนสงครามยุติลง

        หลังสงครามสงบ วิมล ได้รับยศทหารชั่วคราวเป็นร้อยเอก แล้วจึงได้กลับไปเรียนต่อที่สถาบันเอ็มไอทีจนจบปริญญาตรีและปริญญาโท ในปี 2490 จากนั้นจึงกลับมารับราชการใช้ทุนที่กองทัพอากาศผู้เป็นเจ้าของทุนจนได้ยศทหารจริงๆ เป็นนาวาอากาศเอก (พิเศษ) เมื่อปี 2501 ตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิทยาการกรมช่างอากาศ จากนั้นในปี 2504 จึงย้ายออกจากกองทัพอากาศไปเป็นอาจารย์ที่บัณฑิตวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าที่ท่านเคยเรียนอยู่ก่อนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา และต่อมาก็ได้ย้ายจากการเป็นอาจารย์ไปรับราชการพลเรือนที่กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งก็ได้รับความเจริญก้าวหน้ามาด้วยดีจากการเป็นนายช่างใหญ่ รองปลัดกระทรวง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จนเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการประจำ ชีวิตครอบครัวท่านได้สมรสกับคุณปยงค์ วิริยะวิทย์

        ครั้นถึงปี 2522 ในสมัยที่พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี วิมลก็ได้ร่วมรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นับว่าเป็นการเข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองเป็นครั้งแรก ครั้นออกจากรัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์แล้ว วิมลก็ยังได้มีตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปี 2529 เมื่อพ้นจากตำแหน่งการเมืองแล้ว นาวาอากาศเอก วิมล วิริยะวิทย์ ก็ได้มีชีวิตอยู่ดูการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองต่อมาอีกหลายปี ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 16 มกราคม ปี 2454