วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง
ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง
1. บทนำ
คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่กำหนด “วิธีการหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมือง” ต้องปฏิบัติภายในกำหนดเวลาจนถึงก่อนวันเลือกตั้งเพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อย[1] โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเที่ยงธรรมของผู้สมัคร และพรรคการเมือง
2. วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองใช้ประกอบกันเพื่อควบคุมการหาเสียงเลือกตั้ง โดยได้นิยามการหาเสียงเลือกตั้ง หมายความว่า การแสวงหาคะแนนนิยมจากประชาชนหรือสมาชิก จากชุมชน เพื่อให้ได้คะแนนโหวตให้แก่ตนเอง ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี[2]
ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้โดยวิธีต่าง ๆ เช่น แจกเอกสารหรือวีดีทัศน์เกี่ยวกับตนและพรรคการเมืองที่สังกัด สามารถใช้พาหนะต่าง ๆ และเครื่องขยายเสียงเพื่อช่วยประกอบการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้[3] สามารถปิดประกาศแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้เฉพาะในสถานที่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด[4] โดยผู้สมัครและพรรคการเมืองสามารถหาเสียงผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้[5] (1) เว็บไซต์ (2) โซเซียลมีเดีย (3) ยูทูป (4) แอปพลิเคชัน (5) อีเมล์
(6) เอสเอ็มเอส (7) สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท
3. ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง
เพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ควบคุมการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนี้
1) ห้ามมิให้ทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง นับตั้งแต่เวลา 18.00 นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง[6]
2) ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือ กระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง[7]
3) ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วยหาเสียงเลือกตั้ง[8]
4) ห้ามิให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ[9]
5) ห้ามหาเสียงเลือกตั้งขัดหรือแย้งกับแนวทาง ที่กำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง[10]
6) ห้ามสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการชี้นำ หรือมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัคร[11]
7) ห้ามมิให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการให้ เสนอให้ จัดมหรสพหรือการรื่นเริง เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยง หลองกหลง บังคับ ขู่เข็ญ ให้อิทธิพลคุกคาม เป็นต้น[12]
8) ห้ามหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่ได้รับการสนับสนุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด[13]
นอกจากนี้ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ยังกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง[14] ดังนี้[15]
1) ห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง
2) ห้ามผู้ประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับรายการทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง แต่มิได้ห้ามผู้สมัครที่ใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตน หาเสียงเลือกตั้ง ให้แก่ตนเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดง
3) ห้ามแจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ
4) ห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม
5) ห้ามช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใด ตามประเพณีต่าง ๆ
4. บรรณานุกรม
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนที่ 68ก/12 กันยายน 2561. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136/ตอนที่ 6ก/11 มกราคม 2562. ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[1] มาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[2] มาตรา 4 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[3] ข้อ 6 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[4] มาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[5] ข้อ 7 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[6] มาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[7] มาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[8] มาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[9] มาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[10] มาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[11] มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[12] มาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[13] มาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[14] มาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[15] ข้อ 17 และข้อ 18 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561